ราเมศแนะใช้หมวด12ถอดถอน แก้ปัญหาถกเถียงนิคม-สมศักดิ์

ราเมศแนะใช้หมวด12ถอดถอน แก้ปัญหาถกเถียงนิคม-สมศักดิ์

20 ต.ค.57 นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกและคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์

กล่าวถึงกรณีที่ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังไม่สามารถพิจารณาถอดถอนนักการเมือง โดยอ้างว่ายังมีปัญหาทางข้อกฎหมาย ว่า ตนมีความเป็นห่วงว่า เรื่องการถอดถอนนักการเมืองจะเป็นปัญหาสำคัญ เพราะไม่มีความชัดเจนในเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งก็ไม่ได้รับการแก้ไขหรือคำตอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยจนบัดนี้เรื่องการถอดถอนเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ก็ดูเหมือนว่าเรื่องนี้ จะเป็นประเด็นปัญหาที่ถกเถียงกันจนไม่สามารถหาข้อยุติได้ เมื่อความไม่ชัดเจนในข้อกฎหมาย แล้วเหตุใด คสช.จึงไม่ดำเนินการให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้ สนช.จะได้ข้อกฎหมายที่ยุติ ส่วนข้อเท็จจริงก็ว่ากันไป คนที่ถูกถอดถอนจะสู้ยังไงก็ว่ากันไปเป็นสิทธิ์ แต่ถ้ามีช่องว่างกฎหมายให้เขาเหล่านั้นพ้นผิดไปก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ

ทั้งนี้ นายราเมศ กล่าวต่อว่า ผมใช้ความตั้งใจในการร่างคำร้องรวบรวมพยานหลักฐานเรื่องถอดถอนในหลายคดี

ทั้งกรณี นายสมศักดิ์ เกียรติ์สุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอีกหลายคน ถึงแม้จะเสียแรงไม่เท่ากับประชาชนที่ต้องเสียความรู้สึกถ้าคนที่ทำผิดต้องลอยนวล แต่ขณะนี้ที่บางคนออกมาบอกว่าเพื่อความปรองดองก็ปล่อยๆ กันไป อยากให้เข้าใจถึงความหมายของคำว่าปรองดอง ความปรองดองคือการออมชอม ยอมกัน ซึ่งไม่มีความหมายที่ระบุไว้ที่ไหนว่า ความปรองดองคือการปล่อยคนผิด ปรองดองที่ถูกต้องคือยอมกันให้ผิดว่ากันตามผิด ถูกว่ากันตามถูก ยอมเคารพกฎหมาย เท่านี้ทุกปัญหาก็จะจบ ถ้าปรองดองที่พูดกันคือคนที่ทำผิดก็ยอมๆ กันไป ประชาชนที่ติดคุกอยู่ก็ปล่อยให้หมดคุกเพื่อความปรองดองทั้งประเทศ จะได้เสมอภาคเท่าเทียมกัน

"นักการเมืองทำผิดจะมีอภิสิทธิ์อะไรที่เหนือกว่าประชาชน เพราะทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน คนที่ทำผิดรัฐธรรมนูญร้ายแรงยิ่งกว่าความผิดอาญาแผ่นดิน เพราะสิ่งที่นักการเมืองทำมีผลเสียหายต่อประเทศอย่างใหญ่หลวง ต่อไปนักการเมืองทำผิดก็ไม่ต้องดำเนินการอะไร มีเสียงข้างมากก็ออกกฎหมายล้างผิดเสีย อย่าแปลกใจนักการเมืองที่ทำผิด เมื่อมีการดำเนินคดีจึงดิ้นเหมือนโดนน้ำร้อนลวก ก็ต้องให้กำลังใจ สนช.ว่าขอให้ทำให้สำเร็จ"

อย่างไรก็ตาม นายราเมศ กล่าวอีกว่า ประเด็นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนี้

ถ้าตนเป็นที่ปรึกษากฎหมายของ คสช.จะแนะนำให้ คสช.ใช้อำนาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในการแก้ปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ โดยตนแนะนำ 2 ขั้นตอน คือ ให้ใช้อำนาจในการเรียกประชุมร่วมกันระหว่าง คสช.กับ ครม.เพื่อมีมติแก้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้หมวดที่ 12 ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 3 ในเรื่องการถอดถอน ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจในการถอดถอนต่อไป และให้บุคคลใดที่กระทำการอันเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นเหตุให้มีการถอดถอน ให้ถือว่าเป็นความผิดที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีอำนาจถอดถอนต่อไปได้ และให้รีบนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ใช้เวลา 15 วัน เมื่อ สนช.พิจารณาแล้ว สามารถนำขึ้นทูลเกล้าภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ สนช.ได้มีมติ ซึ่งตนยืนยันว่าทำได้ และเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสมควรทำ ซึ่งทั้งหมดน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน


ส่วนผลที่คาดว่าจะได้รับภายหลังจากการดำเนินการตามที่ตนแนะนำนั้น ทำให้ประเด็นเรื่องการถอดถอนมีความชัดเจนในข้อกฎหมายมากยิ่งขึ้น

และไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการยัดเยียดความผิดให้ผู้ที่ถูกถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะเป็นความผิดที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้ร่างกฎหมายเพื่อเอาผิดใคร จะมีความชัดเจนดังเช่นกรณีการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ที่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ถูกยกเลิกก็ได้มีประกาศคณะรักษาความสงงบ ฉบับที่ 51 และ 57 ที่ประกาศให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาได้ต่อไป และประชาชนก็จะชื่นชมว่า หลักความถูกต้องเท่าเทียมกัน ในประเทศนี้ยังคงดำรงคงอยู่ต่อไป


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์