รายงานพิเศษ : จาก ระเบิด ถึง ปฏิวัติซ้อน ...กลเกมอำนาจเก่า?

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี

ควันระเบิดถล่มกรุงยังไม่ทันจาง ปฏิบัติการที่ไม่มีใครต้องการก็ถูกส่งสัญญาณออกมาอีกแล้ว หลังข่าวสะพัดว่า จะมีการ ปฏิวัติซ้อน ...ไม่ว่าผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดเมื่อคืน 31 ธ.ค.จะเป็นใคร และการปฏิวัติซ้อน-ปฏิวัติซ้ำ จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

และโดยกลุ่มใด แต่ถือว่า ทั้ง 2 เรื่องนี้ไม่เป็นผลดีต่อประเทศและประชาชน รวมทั้งต่อรัฐบาล-คมช.เอง ดังนั้น ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของอำนาจเก่า ที่ไม่เพียงเสียประโยชน์ทางการเมือง แต่กำลังถูกตรวจสอบเอาผิดเรื่องทุจริตอย่างเข้มข้นแล้วละก็ งานนี้หลังฉากคงต้องมีการต่อรอง ถ้าต่อรองสำเร็จ เหตุการณ์อาจสงบ แต่ถ้าไม่...อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?
หลังสิ้นเสียงระเบิด 8 จุดใน กทม.เมื่อคืนวันที่ 31 ธ.ค.ที่ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 38 ราย และเสียชีวิต 3 ราย โดยในจำนวนนี้ มีชาวต่างชาติบาดเจ็บถึง 9 รายนั้น สารพัดคำถามตามมาทันทีว่า นี่คือฝีมือของกลุ่มผู้ก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ลามมายัง กทม.หรือว่าเป็นระเบิดการเมือง? ถ้าเป็นระเบิดที่หวังผลทางการเมืองแล้วใครกันคือผู้ที่บงการอยู่เบื้องหลัง?

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.และประธาน คมช.พูดตรงกันหลังเกิดเหตุระเบิด 1 วัน ว่า จากการข่าวและหลักฐานต่างๆ น่าจะเป็นเรื่องของกลุ่มที่เสียประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าที่จะเชื่อมโยงกับเหตุไม่สงบที่ภาคใต้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจเก่าในรัฐบาลที่แล้วหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ บอก คงรวมทั้งหมด ทั้งรัฐบาลที่แล้วและผู้ที่เสียประโยชน์ทางการเมืองทั้งหมด แต่ยังไม่สามารถชี้ได้ชัดเจนว่า กลุ่มใดบ้าง


กระทั่งมีข่าวว่า คมช.ได้เรียกอดีตแกนนำในรัฐบาลทักษิณ และตำรวจยุคทักษิณบางนายเข้าพบ


ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกฯ, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกฯ, พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย อดีต ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และ พล.ต.ท.ชลอ ชูวงศ์ ช่วยราชการสำนักนายกฯ แต่สุดท้ายได้มีการเลื่อนการเรียกเข้าพบออกไป เพราะไม่ใช่เรื่องรีบด่วน ไม่เฉพาะบุคคลที่กล่าวมาเท่านั้น แต่ยังมีข่าวถึงขนาดว่า มีการควบคุมตัว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ด้วย แต่สุดท้ายก็มีการออกมาปฏิเสธข่าว


นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า คมช.ได้เรียก พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต หรือ เสธ.ไอซ์ อดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งเป็นนายทหารคนสนิทของ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เข้าพบ

รวมทั้งมีการสอบถามความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ชวลิต โดยผ่าน พล.ท.พิรัช สวามิวัสดิ์ นายทหารคนสนิท พล.อ.ชวลิต ด้วย

ไม่แค่นั้น ยังมีข่าวว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้น อาจโยงใยกับนายทหารนอกราชการยศ ร.อ.นายหนึ่งย่านบางบัวทอง ที่เป็นมือขวาของ พล.อ.คนหนึ่ง ซึ่งเป็นนายทหารใกล้ชิดอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่อาจเสียประโยชน์จากการตรวจสอบทุจริตโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ


หลังกระแสโฟกัสไปที่ผู้เสียประโยชน์ทางการเมืองและกลุ่มอำนาจเก่า จึงร้อนถึงแกนนำในพรรคไทยรักไทย ต่างออกมาตอบโต้รัฐบาล

นพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายฯ โชว์ จม.ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดใน กทม.

และ คมช.โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงกับลงทุนเขียนจดหมายตอบโต้ข้ามประเทศจากกรุงปักกิ่ง (เมื่อ 2 ม.ค.) โดยสาบานว่า ตนไม่เคยแม้แต่จะคิดทำร้ายและทำลายความสุขของประชาชน ทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศ เพียงเพื่อหวังผลทางการเมือง พร้อมชี้ เหตุระเบิดครั้งนี้ เป็นฝีมือผู้ก่อเหตุไม่สงบในภาคใต้!?!


ขณะที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ท้าชน คมช.-รัฐบาล เช่นกัน (เมื่อ 3 ม.ค.)

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี


โดยท้าให้บอกมาว่า ตนอยู่เบื้องหลังใคร และว่า ถ้ารู้แล้วว่าใครอยู่ข้างหลัง ทำไมไม่จับแม่งให้หมดเลย จะปล่อยไว้ทำไม พร้อมท้าให้มีการตรวจสอบกรณีที่ประชุมตำรวจสันติบาล มีการระบุว่า ตนรับเงิน 1,500 ล้าน จาก พ.ต.ท.ทักษิณ พล.อ.ชวลิต ยังพูดทำนองดิสเครดิต คมช.ด้วยว่า ต่างประเทศรายงานข่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า คมช.เป็นคนก่อระเบิดเอง ซึ่งตนได้ชี้แจงแทน นอกจากนี้ พล.อ.ชวลิต ยังอ้างด้วยว่า ตนมีเทปเหตุระเบิดในครั้งนี้ว่า ใครทำอะไรไว้บ้าง!


ซึ่งทางฟาก คมช.ก็ยืนยันเช่นกันว่า มีเทปวงจรปิดเหตุระเบิดใน 2 จุด โดย พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วย ผบ.ทบ.และผู้ช่วยเลขาธิการ คมช.บอก หากผู้ก่อเหตุเป็นทหารหรือตำรวจนอกแถว จะต้องถูกประหารชีวิต


ส่วนผู้บังคับบัญชาที่แม้ไม่ใช่คนสั่งการ แต่กลับปล่อยปละละเลยให้ลูกน้องทำชั่ว ถือว่าเป็นคนบกพร่อง สมควรถูกปลด ฐานไม่ดูแลลูกน้อง (งานนี้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.ถูกหลายฝ่ายมองว่า ควรถูกปลดด้วย เพื่อสังเวยการไม่ให้ความร่วมมือและไม่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างเกิดเหตุระเบิด)


ส่วนเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นจะเป็นฝีมือใครแน่ ตราบใดที่ยังจับผู้ก่อเหตุไม่ได้ ต่างฝ่ายย่อมโยนกลองกันได้

ซึ่งล่าสุด ผลพวงจากเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.ไม่เพียงนำมาซึ่งการโทร.ขู่ระเบิดสถานที่ต่างๆ ของคนวิกลจริต และผู้ไม่หวังดีเท่านั้น แต่ยังเกิดข่าวลือว่า จะมีการปฏิวัติซ้อน-ปฏิวัติซ้ำอีกหรือไม่? แล้วสถานการณ์หลังจากนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป และจะทวีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิมหรือไม่?


นายพิภพ ธงไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และ 1 ในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มองเหตุระเบิด 8 จุดใน กทม.ว่า

แม้รูปแบบจะคล้ายเหตุระเบิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่คิดว่าไม่ใช่ น่าจะเป็นระเบิดการเมืองมากกว่า โดยกลุ่มอำนาจเก่าที่ไม่ได้จำกัดวงเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น แต่มีทั้งทหาร-ตำรวจ-ข้าราชการ ที่อาจเสียประโยชน์จากการถูกตรวจสอบทุจริตขณะนี้ จึงพยายามสร้างเงื่อนไขเพื่อต่อรองทางการเมือง

เป็นระเบิดการเมือง ความเกี่ยวข้องผมคิดว่าไปวิเคราะห์เฉพาะอำนาจเก่า เฉพาะวงการทหารอย่างเดียวขัดแย้งกัน สำหรับเราอยู่วงนอก ไม่ได้อยู่วงในการสอบสวน ไปสรุปอย่างนั้นไม่ได้ แต่มันชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอของการทำงานของทั้ง สนช.-ครม.และ คมช. รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์หรือขีดในการทำงาน

ผมคิดว่า คนที่ไม่พอใจ คมช.หรือไม่พอใจที่ไม่ได้รับประโยชน์จาก คมช.เริ่มเห็นจุดอ่อนก็สามารถที่จะแหย่ได้ เพราะระเบิดนี่ไม่ได้ต้องการให้เกิดความรุนแรงมากมาย และถ้าผิดสังเกต ก็คือ จุดที่ไปเกี่ยวกับหน่วยงานราชการหรือคนมีสีด้วยกัน เช่น ป้อมตำรวจกลับไม่มีเชื้อปะทุหรืออะไรต่ออะไร ...

ผมว่า (เหตุระเบิดที่เกิดขึ้น) คงแก้ไขไม่ได้ ถ้าจับไม่ได้ 2.การแก้ไขต้องแก้ไขด้วยความมีประสิทธิภาพของ คมช.กับรัฐบาลในการที่จะทำงานตรวจสอบอะไรต่างๆ

นี่มันเรื่องของอำนาจนักการเมืองน่ะ ในการทดสอบผู้มีอำนาจ ผู้ที่ยึดกุมอำนาจรัฐอยู่ว่าจะมีน้ำยามั้ย และผมว่ามีการต่อรองทางการเมืองด้วย เพราะฉะนั้นต้องมีการต่อรองทางการเมืองข้างหลังฉากนี้ แต่เราไม่รู้เท่านั้นเองว่าจะมีการต่อรองอะไรบ้าง ซึ่งไม่ได้ปิดทั้งอำนาจเก่า และอำนาจในคนมีสี คือ ไม่ว่าตำรวจหรือทหารที่เสียผลประโยชน์ ผมคิดว่าการทำงานของ คมช.และรัฐบาลมันไม่ชัดเจนไงว่า

จะเอาอย่างไรในการตรวจสอบการใช้อำนาจในการทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาลเก่า ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับทหารบางส่วน และตำรวจหลายส่วนที่อดีตนายกฯ และกลุ่มทุนที่ได้เข้ามาร่วมทำผิดกฎหมาย รธน.ในการบริหารประเทศในคราวที่แล้ว เพราะฉะนั้น วิธีการสอบสวนสืบสวนของ คตส.มันเลยกระทบไปทุกส่วนเลย

และรวมทั้งอำนาจมันไม่ได้รับการยอมรับเป็นเอกภาพ คือ การรัฐประหารครั้งนี้มันไม่ได้รับการยอมรับเป็นเอกภาพ แม้แต่ในหมู่ประชาชนและในหมู่ของผู้มีอำนาจด้วยกัน เพราะฉะนั้นพอมันมีจุดที่อ่อนแอเกิดขึ้นในการรัฐประหารครั้งนี้ ก็เป็นการทดสอบเท่านั้นเอง


ส่วนโอกาสที่จะเกิดการปฏิวัติซ้อนอีกนั้น นายพิภพ มองว่า มีโอกาส ทั้งจากทหารใน คมช.เอง และทหารกลุ่มอื่นที่อาจรู้สึกว่า ตัวเองไม่ได้รับประโยชน์จากการรัฐประหารที่ผ่านมา

แต่คงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะไม่มีใครคาดเดาได้ว่า ประชาชนจะตอบรับดังเช่นการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.หรือจะลุกฮือขึ้นมาต่อต้านกันแน่

โอกาสมี คือ มันมี 2 ด้าน ผมว่าโดยศักยภาพ คนที่จะทำรัฐประหารซ้อนได้ก็คือ ทหารในกลุ่ม คมช.เอง รองลงไปก็คือ ถ้าจุดความไม่พอใจมีมากขึ้น ทหารกลุ่มอื่นที่รู้สึกตัวเองไม่ได้รับผลประโยชน์จากการรัฐประหารครั้งนี้ ถ้ารวมตัวกันได้ ก็คงอยากทำ แต่ก็เป็นเรื่องยากมาก เพราะการรัฐประหารซ้อน รัฐประหารซ้ำเนี่ย การต่อต้านจากภาคประชาชน ประชาชนจะลุกฮือมากน้อยแค่ไหน

ผมคิดว่า เดายากมาก ไม่เหมือนตอนรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ซึ่ง คมช.อาศัยกระแสของประชาชนทำรัฐประหาร

แต่ถ้ารัฐประหารซ้ำเนี่ย ผมไม่แน่ใจว่า กระแสประชาชนจะรับมั้ย เพราะกระแสเรื่องการเขียน รธน.กำลังจะขึ้นมา และดูแล้ว ส.ส.ร.ก็ไม่ขี้เหร่ด้วยใช่มั้ย ทำให้ประชาชนมีความหวังว่า การเมืองจะสิ้นสุดยุคการรัฐประหารในเร็ววัน แต่แน่นอนในแง่ของ

คมช.-รัฐบาล ก็อาจจะพะวงถ้าจัดการนักการเมืองเก่าไม่ได้ แล้วเขามีโอกาสที่จะกลับมามีอำนาจเนี่ย ผมว่าอันนี้เป็นข้อกังวลของเขา มันไม่เหมือนคุณชาติชาย หรือคุณชวลิต หรือคุณบรรหาร หรือคุณชวน ที่กลับมาก็ไม่มีอำนาจที่จะมาจัดการ แต่กรณีคุณทักษิณนี่ ถ้าแกกลับมาได้ แกสามารถจะจัดการ คมช.เอาผิดในฐานะล้มล้าง รธน.ได้ด้วยนะนี่เรื่องใหญ่มากนะ


แล้วแนวโน้มที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง เป็นไปได้มากน้อยเพียงใดนั้น นายพิภพ วิเคราะห์ว่า ขึ้นอยู่ว่า

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

คตส.จะเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณได้หรือไม่ และว่า พ.ต.ท.ทักษิณอายุยังน้อย หากเว้นวรรคสัก 1 สมัย แล้วค่อยมาลงเลือกตั้งครั้งต่อไป โอกาสจะได้กลับมาก็มีสูง

กระบวนการของ คมช.ตอนนี้ไปใช้กระบวนการแบบศาล ซึ่งโอกาสที่คุณทักษิณจะมีเวลาในการต่อสู้คดีของตัวมันยาวมาก และถ้าคุณทักษิณฉลาด ไม่รีบร้อนเนี่ย ปล่อยให้มีการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยใช้พรรคนอมินีของตัวเข้าไปสู่อำนาจดีกว่า และเขาอายุยังน้อยด้วย อายุแค่ยังไม่ถึง 60 ใช่มั้ย

โอกาสกลับมาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็มีสูง ซึ่งเราไม่สามารถจะรู้ได้ว่า เลือกตั้งครั้งที่ 1 หลัง รธน.ฉบับ 2550 แล้ว อายุรัฐบาลจะอยู่กี่ปี อาจจะปีเดียวก็ได้ เพราะฉะนั้นคุณทักษิณกลับมาแน่ ถ้า คมช.กับ คตส.ไม่สามารถจะจัดการคุณทักษิณในเรื่องสำคัญๆ เกี่ยวกับเรื่องคดีความได้

สำหรับความเห็นของผมเรื่องซื้อที่ของคุณหญิงพจมานเนี่ย จริงอยู่มันผิดกฎหมายจริง แต่มันไม่ใช่เป็นประเด็นที่จะต้องลงทุนถึงกับทำรัฐประหารใช่มั้ย

ประเด็นที่ต้องลงทุนทำรัฐประหารมันจะต้องเป็นเรื่องใหญ่กว่านั้นที่จะเอาผิดคุณทักษิณ ปัญหาว่า คมช.-คตส.จะสามารถเอาผิดตัวนี้ได้มั้ย ถ้าเอาผิดไม่ได้ คุณทักษิณก็ต้องกลับมาแน่ เพราะการกลับมาจะทำให้เขาสามารถเคลียร์การที่จะเอาเรื่องเขาจาก คมช.ได้ อันนี้เป็นการต่อสู้ทางการเมืองนะ เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องความถูกต้องชอบธรรม


ด้าน อ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ ก็มองแนวโน้มที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับมามีอำนาจอีกครั้งว่า

ถ้า คมช.ไม่สามารถทำให้เห็นได้ชัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณโกงหรือคอร์รัปชัน พ.ต.ท.ทักษิณก็จะกลับมาแน่ เพราะเขายังไม่แก่ และตราบใดที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังมีเงินเยอะ ก็มีสิทธิชนะเลือกตั้ง

ตรงนี้มันอยู่ที่เงื่อนเวลาของประเทศไทย พูดง่ายๆ ถ้าเขาโดนเล่นงานมากๆ กลับมาแน่ๆ เพียงแต่ระยะเวลาอาจจะทอดไป เขายังไม่แก่ และไม่มีใครรวยเท่าเขา วิธีการทางการเมืองเขาไม่ธรรมดา เขารู้จุดอ่อนของประชาชนไทยว่า เป็นรูปไหน ถ้าเขาหยุดไปแค่สมัยเดียว ให้ใครมาเป็นนายกฯ ก็ตาม แล้วเขากลับมาเลือกตั้งใหม่

ผมว่า โอกาสที่เขาจะชนะก็มี ขึ้นอยู่กับวิธีการดำเนินการทางการเมืองของเขาเป็นลักษณะใด เพราะฉะนั้นอย่าประมาทเป็นอันขาด พวกนี้มันมาได้เสมอ ตราบใดที่มันมีสตางค์ มีเงินเยอะ การเลือกตั้งในกรุงเทพฯ มีสิทธิชนะแน่นอนในประเทศไทย อาจจะในนามคนอื่นก็ได้ อาจจะไม่ใช่ตัวเขาเองก็ได้ เรียกว่ากิจกรรมทางการเมือง

เขามองในภาพว่า เขาโดนรังแกใช่มั้ย เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องหาทางกลับมา แต่ถ้าเราทำภาพให้เห็นชัดว่า นาย(พ.ต.ท.ทักษิณ)โกงประเทศแน่ๆ ทำให้ประชาชนทั้งประเทศส่วนใหญ่เชื่อมั่นเนี่ย (พ.ต.ท.ทักษิณ)กลับยาก เป้ามันอยู่ตรงนี้ ...

ถ้าจะเล่นงานคุณทักษิณว่า คอร์รัปชั่นเนี่ย เล่นยากที่สุด แต่ถ้าเอาแต่โครงการๆ มันก็เจอแต่รัฐมนตรีถูกมั้ย รัฐมนตรีร่วมคณะเขา เขากระจายความรับผิดชอบไปแล้วนี่ มีโครงการไหนบ้างที่เขาทำด้วยตัวเองแทบจะไม่มี เขาใช้สั่งผ่านระบบราชการ เขาใช้สั่งผ่านการใช้กฎหมายของเขาเอง ตั้งแต่ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินที่เขาเป็นนายกฯ อยู่ เขาใช้ผ่าน มันก็ขึ้นอยู่ที่ว่า กระบวนการยุติธรรม ถ้าถูกต้องเนี่ย ผมว่าเล่นงานเขายาก


อ.อัษฎางค์ ยังแนะด้วยว่า การจะเล่นงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องไปไล่บี้เรื่องทุจริตเชิงนโยบาย เพราะเท่าที่ทราบมา โครงการต่างๆ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ จะใช้วิธีตั้งราคากลางให้สูง

ดังนั้นต้องไปเค้นแต่ละโครงการของผู้ออกแบบหรือข้าราชการว่า มันสูงอย่างนี้ได้อย่างไร? คนที่ประมูลได้เป็นใคร? รับรองเจอแน่


ขณะที่นายพิภพ ธงไชย ก็ช่วยกระทุ้งรัฐบาล-คมช.อีกแรงว่า มีหลายเรื่องที่น่าจะตรวจสอบเพื่อเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ แต่กลับไม่ทำ คือ เรื่องฆ่าตัดตอน และการออกนโยบายบนผลประโยชน์ทับซ้อน


ผมผิดสังเกตว่า คมช.-รัฐบาลไม่เล่นเรื่องอาชญากรรม ไม่ว่าการฆ่าตัดตอนที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดี เรื่องปราบยาเสพติดก็ดี

2.ไม่มีคณะทำงานที่ไปทบทวนว่า นโยบายของคุณทักษิณและการประชุมมติ ครม.มีเอื้อผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างไรบ้าง อันนี้ยังไม่เห็น เขามุ่งไปจับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันตรงๆ มากกว่า แต่เรื่องอาชญากรรม ไม่ว่า 3 จังหวัดภาคใต้ก็ดี ยาเสพติดก็ดี ไม่เข้าไปแตะเท่าไหร่

เพราะพอไปแตะเนี่ย มันจะไม่ใช่โดนแต่คุณทักษิณ มันจะโดนนายทหารระดับสูงบางคน และนายตำรวจ เพราะฉะนั้นอันนี้มันเป็นรัฐราชการนะสำหรับประเทศไทย มันไม่ใช่อำนาจนักการเมือง มันจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบสหรัฐฯ หรือในยุโรป

แต่ราชการเนี่ยมีอำนาจอยู่ เพราะฉะนั้นการทำผิดร่วมกันระหว่างนักการเมือง-ข้าราชการเนี่ย มันจึงได้เห็นชัดเจนในระบบการเมืองของสังคมไทย และเวลาจะเล่นงานกลับไปยังรัฐบาลเก่า มันจะไม่โดนกับนักการเมืองเท่านั้น จะไปโดนข้าราชการประจำเป็นหางว่าวเลย


นายพิภพ ยังทิ้งท้ายด้วยว่า หากรัฐบาล-คมช. สามารถทำเรื่องการก่ออาชญากรรมหรือการฆ่าตัดตอน และการออกนโยบายบนผลประโยชน์ทับซ้อนของ พ.ต.ท.ทักษิณให้จริงจัง


ผลที่จะเกิดขึ้นไม่เพียงจะสามารถจัดการกับ พ.ต.ท.ทักษิณได้ แต่ยังจะเป็นบทเรียนสำหรับนักการเมืองในยุคหน้าด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องอยู่บนกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส ดังที่ คมช.ได้เน้นมาโดยตลอด และต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพด้วย อย่างไรก็ตาม นายพิภพ ยอมรับว่า ความยากของการตรวจสอบก็คือ ข้าราชการเป็นคนสอบสวนด้วย หาข้อมูลด้วย ขณะเดียวกันนักการเมืองกับข้าราชการก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนกันด้วย จึงเป็นเรื่องที่อีนุงตุงนังไปหมด และไม่ง่าย หากคิดจะเล่นงานเพียงนักการเมืองโดดๆ

เฉกเช่นเดียวกับกรณีที่ข้าราชการ-ตำรวจ-ทหารบางคนที่อาจจะมีผลประโยชน์หรือเคยร่วมกระทำผิดกับรัฐบาลทักษิณ เมื่อถูก คมช.-คตส.-ป.ป.ช.ขุดคุ้ยตรวจสอบเพื่อล้มเลิกโครงการหรือเอาผิด ก็อาจเป็นชนวนเหตุให้มีการสร้างสถานการณ์เพื่อแหย่ คมช.-รัฐบาล ดังเช่นเหตุระเบิดที่ผ่านมา ส่วนหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่ว่า...จะต่อรองกันสำเร็จหรือไม่ ถ้าสำเร็จ เหตุการณ์ก็คงยุติ แต่ถ้าไม่สำเร็จ เราคงต้องระแวดระวังภัยรูปแบบใหม่ดังเช่นที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้เตือนไว้!!

ขอขอบคุณ :ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ
จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
โดย ผู้จัดการออนไลน์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์