รัฐสภาแห่งใหม่:ความจริงหรือแค่ความฝัน

คมชัดลึก : หลังล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่ปี 2535 กับแนวคิดที่จะก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ สาเหตุเพราะความไม่มั่นใจในความโปร่งใสของการจัดหาสถานที่ การก่อสร้าง โดยทุกครั้งมักจะมีข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองในรั้วสภาหินอ่อน

 จนกระทั่งปี 2551 ก็มีการฟื้นโครงการดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยคณะกรรมการจัดหาสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ได้ดำเนินการหาสถานที่ และสุดท้ายได้มีมติเลือก “รัฐสภาแห่งใหม่" บนที่ดินราชพัสดุ ถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต จำนวน 119 ไร่ มูลค่าโครงการถึง 1.2 หมื่นล้านบาท

 ล่าสุด...คณะกรรมการก็เดินหน้าเต็มสูบ...“แบบอาคารรัฐสภาใหม่” ก็ได้คลอดออกมาแล้ว จำนวน 5 แบบ

 หลังคณะกรรมการตัดสินการประกวดออกแบบแนวความคิด "อาคารรัฐสภาแห่งใหม่” ได้ดำเนินการเปิดให้สถาปนิกไทยส่งแบบเข้าประกวด เน้น "เอกลักษณ์ความเป็นไทย” ผสมผสานกับความทันสมัย ประหยัดพลังงาน ภูมิทัศน์สวยงามที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม

 ที่สำคัญ สถาปนิกที่ออกแบบประกวดนั้น คณะกรรมการได้ "ล็อกสเปก” เขียนทีโออาร์ว่า เฉพาะ “สถาปนิกไทย” เท่านั้น และไม่จำกัดประสบการณ์

 ในที่สุด คณะกรรมการก็ตัดสินจากผู้เข้าประกวดจำนวน 131 ทีม เหลือเพียง 5 ทีม !!!! ซึ่งประกอบด้วย 1.นายธรรมศักดิ์ อังศุสิงห์ บริษัท สถาปนิก 110 จำกัด 2.บริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 3.บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (ประภากร วทานยกุล) 4.ทีมสงบ 1051 ผู้ร่วมทีม นายธีรพล นิยม อาศรมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ นายเอนก เจริญพิริยะเวศ บริษัท แปลนสตูดิโอ จำกัด นายชาตรี ลดาลลิตสกุล บริษัท ต้นศิลป์ สตูดิโอ จำกัด นายปิยเมศ ไกรฤกษ์ บริษัท บลูแพลนเนต ดีไซน์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 5.ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิเชษฎ์ สุวิสิทฐ์ และนายกฤตนู เพชรวราภา

 โดยทั้ง 5 ทีมนี้ ล้วนเป็นฝีมือของ "สถาปนิกคนไทย” โดยทั้ง 5 ทีมนี้ จะได้รับเงินจากการผ่านคัดเลือกไป ทีมละ 1 ล้านบาท !!!!! หลังส่งแบบพร้อมโมเดล
 ว่ากันว่าทั้ง 5 แบบนี้สวย อลังการ โออ่า ทันสมัย ไฮเทค สุดๆๆ แถมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม...

 “นิคม ไวยรัชพานิช" รองประธานวุฒิสภา ในฐานะคณะกรรมการตัดสินการประกวดออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งเป็นตัวหลักในการดำเนินการ บอกว่า 5 ทีมนี้จะต้องไปจับมือกับนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมที่เป็นนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท และมีผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมในประเทศไทย เพื่อทำการออกแบบอย่างละเอียดส่งเข้าประกวดในรอบสองจะต้องส่งรายละเอียดการออกแบบ เช่น แบบจำลอง ลักษณะภาพวาด รูปปั้นโมเดล ฯลฯ

 ส่วนข้อครหาที่ว่า อาจไม่โปร่งใสในการคัดเลือก นายนิคมยืนยันว่า โปร่งใส ตรวจสอบได้แน่นอน เพราะได้มีการกำหนดให้เจ้าของผลงานเป็นคนกำหนดรหัสแล้วเก็บใส่ซองปิดผนึกไว้ รหัสดังกล่าวจะติดอยู่ด้านหลังผลงาน ทำให้คณะกรรมการไม่สามารถรู้ได้ว่าผลงานที่จะตัดสินเป็นผลงานของใคร

 นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้การตัดสินต้องกระทำการให้เสร็จภายในวันเดียว เพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงผลการตัดสิน และเพื่อเป็นการตัดปัญหาเรื่องการวิ่งเต้นอีกด้วย

 ทั้ง 5 ทีมนี้ จะต้องกำหนดให้มีการส่งเอกสารเข้าประกวดวันที่ 24 พฤศจิกายน และให้มาชี้แจงรายละเอียดของแบบในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 และจะมีการประกาศผลตัดสินผู้ชนะการประกวดแบบในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2552 พร้อมทั้งจัดแสดงนิทรรศการผลงานการประกวดทั้งหมดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมด้วย

 24 พฤศจิกายนนี้ เป็นวันที่ทั้ง 5 ทีม...ต้องกำหนดส่งเอกสารเข้าประกวด และ 27 พฤศจิกายน ต้องมาชี้แจงรายละเอียดของแบบ

 2 ธันวาคม ก็จะได้รู้ดำรู้แดง ว่า ทีมใด แบบไหนได้ "เข้าวิน” ชนะประกวดแบบ

 จากนั้นทางรัฐสภาก็จะมีการว่าจ้างบริษัทก่อสร้างดำเนินการก่อสร้างรัฐสภาตามแบบที่ชนะเลิศ ซึ่งต้องจับตามองถึงการก่อสร้างทั้งหมด จะเป็นการ "กินรวบ”หรือ "กินแบ่ง” ทั้งการก่อสร้างอาคาร ตกแต่งภายใน วางระบบสาธารณูปโภค ระบบไอที เพราะโครงการที่มีมูลค่าถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ถือเป็นโครงการเมกะโปรเจกท์ ที่ความสามารถ ศักยภาพ ในการก่อสร้างจะมีเพียง 5 บริษัท ที่จะสามารดำเนินการก่อสร้างได้

 “รัฐสภาแห่งใหม่” จะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี หากเป็นไปตามกำหนดไร้ข้อครหา เอื้อประโยชน์ ทุจริต ประมาณปี พ.ศ.2556 เราก็คงได้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ไว้ใช้งาน ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองเสียก่อน

 “อาถรรพณ์”ที่เล่าลือกัน ว่าเมื่อใดจะสร้างหรือย้ายอาคารรัฐสภาก็มักจะมี "อันเป็นไป”ตลอด มาครั้งนี้จะทำลาย "อาถรรพณ์” ได้หรือไม่ คงได้รู้กัน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์