รัฐย้ำเลื่อนเลือกตั้งไม่เกิน ม.ค. 51

รัฐย้ำเลื่อนเลือกตั้งไม่เกิน ม.ค. 51


หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ออกมาพูดเป็นนัยว่าการเลือกตั้งอาจต้องเลื่อนออกไป ถ้ามีปัญหาหรือปัจจัยอย่างอื่นมาเป็นเหตุให้ต้องเลื่อน บรรดานักการเมืองต่างออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะพรรคพลังประชาชนหรือกลุ่มไทยรักไทยเดิมได้ออกมาเตือนว่าอาจเป็นการฝ่าฝืนมติมหาชนที่ต้องการเห็นการเลือกตั้งเร็วๆ

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. เวลา 13.00 น. นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า
 
การที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงปัจจัยอื่นที่อาจทำให้ต้องเลื่อนวันเลือกตั้งนั้น เป็นการพูดในหลักการ การเลื่อนอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ในเมื่อยังไม่มีปัจจัยอะไรปรากฏ รัฐบาลต้องยืนยันสร้างความเชื่อมั่นยืนอยู่กับสิ่งที่ท่านนายกฯ ได้ประกาศไว้ร่วมกับ กกต.ไปแล้วว่า วันที่ 23 ธ.ค. เป็นวันที่เหมาะสมที่สุด ประชาชนและพรรคการเมืองไม่ต้องไปวิตกเกินความจำเป็น กำหนดวันเลือกตั้งเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงตามขั้นตอน กรอบเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่

สนช.ต้องร่างกฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 45 วันนับจาก ส.ส.ร.ได้ยกร่างเสร็จตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.

ถ้า สนช.พิจารณาไม่เสร็จก็มีกลไกกำหนดให้ต้องเอาร่างกฎหมายลูกที่ ส.ส.ร.ร่างมาใช้เลย และต้องจัดเลือกตั้งภายใน 90 วันนับแต่กฎหมายลูกเสร็จ คือกลางเดือน ม.ค. 51 เป็นอย่างช้า หากจำเป็นต้องเลื่อนไปจริงๆก็เลื่อนได้แค่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ไม่น่าจะมีคนติดใจ จะไปเลื่อนเกินกรอบเวลาที่กำหนดไม่ได้ เพราะจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวมองไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยอะไรที่ต้องเลื่อนออกไป ตอนนี้ต้องรอความชัดเจนอย่างเป็นทางการ รอให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญโปรดเกล้าฯประกาศใช้ แล้วออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งก็อีกประมาณเดือนครึ่ง ระหว่างนี้ต้องยืนยันสร้างความเชื่อมั่นในจุดนี้ต่อไป


ชงคุมเงินบริจาคสกัดหว่านซื้อเสียง

นายธีรภัทร์กล่าวว่า สำหรับการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ตนมีข้อสังเกตให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาให้รอบคอบโดยเฉพาะควรกำหนดวงเงินการบริจาคพรรคการเมือง ให้เกิดความเท่าเทียมกัน ไม่ให้มากเกินไปเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบธนาธิปไตยในอดีตเมื่อ 5-6 ปีก่อนกลับมาอีก เช่น บุคคลจะบริจาคได้ทุกพรรครวมกันไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อปี แต่ถ้าเป็นองค์กร นิติบุคคล หรือบริษัท บริจาคให้ทุกพรรครวมกันไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับของประเทศญี่ปุ่น และกกต.จะต้องควบคุมผู้สมัคร ส.ส.ให้ใช้จ่ายเงินในการเลือกตั้งตามที่กำหนดได้จริง ไม่ใช่กำหนดคนละไม่เกิน 1.5 ล้านแต่ใช้ถึง 10-20 ล้านบาท และน่าจะกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองไปเลยว่าไม่ควรเกิน 100-200 ล้านบาท

ส่วนการทุจริตใช้เงินซื้อเสียงแม้จะจับยาก แต่ กกต.ควรขอความร่วมมือ

จากธนาคารพาณิชย์ ธปท. และ ปปง. และน่าจะเขียนกฎหมายโดยยึดต้นแบบจาก พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติเพื่อให้คนที่รับเงินซื้อเสียงไม่มีความผิด แต่ให้มาแจ้งเบาะแสหรือเป็นพยานหลักฐานเล่นงานเอาผิดคนจ่ายเงินซื้อเสียง และถ้าพรรคการเมืองรู้เห็นใจ ไปซื้อตัว ส.ส. หรือใช้เงินซื้อเสียงก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินคดีเอาผิดถึงยุบพรรคและลงโทษเว้นวรรคกรรมการบริหารพรรค 5 ปีด้วย


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์