รัฐบาลขิงแก่ ย้ำ! 4 ปัจจัยยึดอำนาจ แม้ว ส่งท้ายปีจอ

รัฐบาลขิงแก่ ย้ำ! 4 ปัจจัยยึดอำนาจ แม้ว ส่งท้ายปีจอ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 25 ธันวาคม 2549 18:47 น.

สุรยุทธ์ แจงผลงาน 3 เดือนปิดท้ายปีจอ ย้ำ 4 เงื่อนไข ขัดแย้งแบ่งฝ่าย-ทุจริตคอร์รัปชัน-ครอบงำองค์กรอิสระ-หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต้นเหตุยึดอำนาจรัฐบาล ทักษิณ ตั้งเป้าปฏิรูปการเมือง ลั่นต้องดีกว่าเดิม ยึดหลักคุณธรรมนำความรู้

วันนี้ (25 ธ.ค.) พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานพบปะสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล เป็นครั้งที่สอง โดยสรุปผลการทำงานในรอบ 3 เดือน ว่า เริ่มต้นจากการที่เข้ามาแล้วได้มีคำถาม ทั้งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และในสื่อต่างๆ

ซึ่งถามถึงเหตุที่คณะมนตรีความมั่นคงได้ถือเป็นเหตุในการกระทำรัฐประหาร

ข้อที่ 1.การทำให้เกิดความขัดแย้งแบ่งฝ่าย
2.การทุจริตประพฤติมิชอบ หรือการคอร์รัปชัน
3.หน่วยงานหรือองค์กรอิสระถูกครอบงำ
4.มีการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ซึ่งในเรื่องปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ ในฐานะที่เป็นรัฐบาลเราได้ดำเนินการแก้ไขในเบื้องต้น ในหลักการ ก็คือ การที่จะสร้างความสมานฉันท์ขึ้นมาในชาติ จะพยายามให้เรามองไปข้างหน้า ว่า เราจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดในช่วงระยะเวลาปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ว่า เราจะทำอย่างไร เป้าที่มองไปข้างหน้า คือ การที่จะมีระบบการเมืองที่ดีกว่าในอดีตที่ผ่านมา รวมทั้งสิ่งที่รัฐบาลอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง นั่นคือ การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา รัฐบาลได้มองในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา คือ เรามุ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ได้เชิญพรรคการเมืองมาพบปะ และในส่วนการเมืองนั้นจะต้องมีส่วนร่วมอย่างสำคัญ นั่นเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปในแง่ทางการเมือง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินการสร้างความสมานฉันท์ขึ้นมาในชาติ สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง สร้างเครือข่ายโยงใยในระดับท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งให้มากขึ้น ในส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมือง มี นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นส่วนหนึ่งที่ได้เข้ามาดำเนินการในส่วนเหล่านี้

เรื่องที่พอที่จะสรุปเป็นเรื่องสำคัญๆ ก็คงเป็นเรื่องการมุ่งสร้างความเป็นธรรมในสังคม

ซึ่งตนย้ำว่า เราจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น นโยบายในการพัฒนาคนและคุณภาพการศึกษา ซึ่งได้ยกเอาแผนพัฒนาฉบับที่ 10 ที่กล่าวหลักการพัฒนาการศึกษาว่า เป็นเรื่องของคุณธรรม นำความรู้ ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่กระทรวงพัฒนาสังคมฯได้กำหนดไว้ คือ ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง และยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม เป็นเรื่องที่กระทรวงได้ดำเนินการ

อีกเรื่องหนึ่งที่เข้ากับข้อที่ 1.คือ เรื่องการแก้ไขปัญหาทางภาคใต้ ถือเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจตามแนวทางพระราชทาน คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และอาศัยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาดำเนินการ โดยที่รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนนโยบายมาเป็นแนวทางสันติวิธี มาเป็นบรรทัดฐานในการขจัดความขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจ ความรักความสามัคคีในเกิดขึ้น โดยดำเนินการด้วยความเป็นธรรมตามหลักนิติธรรม จะต้องมีการฟื้นฟูอำนาจรัฐ และให้ทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วย เรื่องที่เราได้ดำเนินการไปสอดคล้องกับแนวความคิดแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ก็เป็นเรื่องที่ได้มีการจัดตั้งองค์กร ก็คือ ศูนย์อำนวยการบริหารงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเรื่องจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในการที่จะเป็นส่วนราชการที่ถูกต้องตามระเบียบของการบริหารงาน เรื่องการที่จะจัดตั้งการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในให้มีบทบาทในด้านการดูแลรักษาความมั่นคงภายในให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งยังอยู่ในขึ้นเริ่มต้น และคงดำเนินการต่อไป

สิ่งที่เราเป็นห่วงต่อสถานการณ์ภาคใต้ ก็คือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งผู้ที่ก่อการร้าย หรือผู้ประสงค์ที่จะทำให้เกิดขึ้นมานั้นต้องการสร้างความแตกแยกอย่างชัดเจน ไม่ว่าเรื่องความเชื่อทางศาสนา ไม่ว่าเรื่องเชื้อชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลเป็นห่วงและได้มองดูเรื่องการปรับมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้มีการดูแลด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนทุกๆ ส่วน ไม่ว่าจะมีความเชื่อเป็นอย่างใด หรือว่าอยู่ที่ใด มีเชื้อชาติใดให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้มากยิ่งขึ้น กองทัพบกได้มีการเพิ่มมาตรการใช้กำลังเข้าไป มีแนวคิดที่จะเพิ่มกำลังทหารพราน เป็น 30 กองร้อย ในเดือนมกราคมนี้ก็จะมีการเพิ่มขึ้นมาอีก 10 กองร้อย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราพยายามที่จะปรับเปลี่ยนการบริหารงาน การดูแลความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น การดำเนินการแบบสันติวิธีไม่ได้หมายความว่าเราจะให้มีเหตุการความรุนแรงเกิดขึ้น เราจะหาทางป้องกัน เราจะหาทางแก้ไข แต่ต้องขอเรียนว่าจากการจัดองค์กรก็ดีจัดกำลังเข้าไปเพิ่มเติมก็ดี ต้องมีการใช้เวลา ถ้าเราสามารถประเมินการทำงานได้เราต้องให้เวลากับหน่วยงานเหล่านั้นได้ดำเนินการด้วย พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว

ประเด็นที่ 2 การดำเนินการขจัดทุจริตคอร์รัปชัน ได้ดำเนินการมาเป็นลำดับในส่วนของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระทรวงการคลัง หรือกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติเหมือนกระทรวงการคลัง กระทรวงอื่นๆ ได้ดำเนินการรื้อฟื้นเรื่องที่ไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมมีหลายๆโครงการที่ดำเนินการอยู่ เช่น ในกระทรวงเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ กำลังดำเนินการในส่วนเหล่านี้ แต่ยังไม่ชัดเจน ไม่สามารถไปถึงตัวผู้รับผิดชอบได้เหมือนกระทรวงการคลัง องค์กรอื่นที่คณะปฏิรูปฯได้ดำเนินการจัดตั้ง เช่น คตส.และ ป.ป.ช.รัฐบาลไม่ได้ไปก้าวก่ายงาน มีหน้าที่ให้ข้อมูลอำนวยความสะดวกต่างๆ เท่าที่จำเป็น ถือว่าการทำงานของรัฐบาลที่เกี่ยวเนื่องกับข้อที่ 2

ประเด็นที่ 3 การแทรกแซงองค์กรอิสระ เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้เข้าไปดำเนินการ และองค์กรอิสระเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ กกต.คตส.หรือ ป.ป.ช.รัฐบาลไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายงานขององค์กร เป็นหน้าที่ของแต่ละองค์กรที่จะดำเนินงานภายในองค์กรเอง ปัจจุบันไม่มีการแทรกแซงองค์กรอิสระ

ประการสุดท้าย เรื่องการหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เรื่องนี้รัฐบาลได้ติดตามอยู่เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของคนไทย เราได้ดำเนินการในเรื่องเหล่านี้

จากนั้น นายจรัล ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวต่อว่า

ในส่วนคดีที่มีผู้กล่าวโทษการกระทำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีคดีสำคัญ 3 คดีด้วยกัน ซึ่ง 2 คดีเป็นเรื่องที่มีผู้กล่าวโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ต้องหากับพวก 2 คน ได้กระทำผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในหลายวาระ วาระแรก คือ ท่านได้พูดในรายการนายกฯทักษิณคุยกับประชาชนในเช้าวันเสาร์ ว่า ถ้าใครที่จะให้ผมลาออกจากตำแหน่งนายกฯได้ไม่ต้องหลายคน คนเดียวก็ให้ออกได้นั่นคือพระเจ้าอยู่หัว ถ้าพระเจ้าอยู่หัวกระซิบรับสั่งคำเดียวว่าทักษิณออกเถอะรับรองกราบพระบาทออกแน่นอน ผมไม่ยึดติด

นายจรัล กล่าวว่า กรณีที่ 2 อดีตนายกรัฐมนตรีได้ปราศรัยในงานนายกฯพบแท็กซี่ที่อินดอร์สเตเดียม

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2548 มีการกล่าว 2 คำพูด ข้อความแรก คือ ถ้านายกฯไม่จงรักภักดีแล้ว ผีที่ไหนจะจงรักภักดี ส่วนอีกข้อความ คือ คนยุบสภาคือผม 3 ข้อนี้นำไปสู่การดำเนินคดีแยกกันเป็น 2 สำนวน ทั้ง 2 สำนวน พนักงานสอบสวนมีความเห็นว่ายังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง สำนวนที่ 1 พนักงานอัยการมีความเห็นชอบด้วยกับพนักงานสอบสวน และสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด ส่วนสำนวนที่ 2 เนื่องจากว่าพยานผู้เชี่ยวชาญ 2 คน ได้ให้ความเห็นว่า คำพูดดังกล่าวถึงแม้ยังไม่ได้ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ แต่เป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสมแก่สถานะของผู้พูด ทางพนักงานอัยการเห็นควรสอบเพิ่มเติมที่ว่าไม่เหมาะสมแก่สถานะของผู้พูดนั้นจะมีความหมายแค่ไหน ก็ได้มีคำสั่งแจ้งไปยังพนักงานสอบสวน 3 ครั้ง ขอให้สอบสวนเพิ่มเติม ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2549 ได้มีหนังสือขอทราบผลการสอบสวนเพิ่มเติมไปอีก ฉะนั้น ทั้ง 2 คดี คดี 1 ได้จบไปแล้ว อีกคดี 1 ยังอยู่ระหว่างพนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ต่อไป

ปลัดฯยุติธรรม กล่าวอีกว่า ส่วนด้านตรงข้าม มีผู้แจ้งว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำเครือข่ายพันธมิตรประชาชนฯหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้มีการยื่นฟ้องต่อศาล และในที่สุดพนักงานอัยการได้ถอนฟ้องออกไป เรื่องยุติ ขณะนี้สรุปว่ามีคดีค้างอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดเพียงเรื่องเดียว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์