รัฐบาลกับปมร้อนฎีกาทักษิณ บทพิสูจน์ภาวะผู้นำของยิ่งลักษณ์

อุณหภูมิการเมืองไทยร้อนฉ่าขึ้นมาทันใด หลังจาก นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยอมรับว่าได้ตรวจสอบรายชื่อ 3.6 ล้านคนที่ยื่นถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสร็จเรียบร้อยแล้ว และส่งให้พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม พิจารณาให้ความเห็นก่อนส่งให้สำนักราชเลขาธิการตามขั้นตอน

โดยใช้เวลาตรวจสอบทั้งทะเบียนราษฎรและรายชื่อ นานกว่า 2 ปี

ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในมุมมองต่างๆ ว่า เป็นการดำเนินการผิดขั้นตอน ซึ่งการอภัยโทษไม่สามารถทำได้เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนักโทษหลบหนีคดีและไม่เคยรับโทษมาก่อน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาคัดค้านโดยระบุว่า หลักเกณฑ์ในอดีตที่ผ่านมา สมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน คนที่หลบหนีคดี ความเห็นของฝ่ายบริหารคือ ไม่ควรอภัยโทษ

ฉะนั้น ควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกันกับคนไทยทุกคน ซึ่งที่ผ่านมา หากไม่รับโทษหรือหลบหนีคดี ความเห็นที่ขึ้นไปก็คือ ไม่สมควร และพรรคการ เมืองบางพรรคชอบพูดเรื่อง 2 มาตรฐาน ก็ควรจะมีมาตรฐานเดียวสำหรับคนไทยทุกคน อย่ามีมาตรฐานสำหรับพวกพ้องตัวเอง

พร้อมเรียกร้องต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าควรทำอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่ทำเพื่อพี่น้อง


จากประเด็นดังกล่าว บุคคลที่เกี่ยวข้องในรัฐบาล รวมทั้งนักวิชาการได้แสดงความเห็นไว้ดังนี้

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

รองนายกรัฐมนตรี

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ได้มอบหมายให้ผมเป็นผู้ดูแลเรื่องการขอพระราชทาน และผมได้เซ็นเอกสารไปหลายเรื่องแล้ว ใครขอพระราชทานอภัยโทษมาก็นำความกราบบังคมทูล เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ผมก็รับสนองพระบรมราชโองการในฐานะที่นายกฯ มอบหมาย

ความจริงเรื่องการเข้าชื่อถวายฎีกาให้พ.ต.ท.ทักษิณ มีประชาชน 3.6 ล้านคน ดำเนินการมากว่า 3 ปีแล้ว โดยไปยื่นที่สำนักพระราชวัง และส่งกลับมาให้กรมราชทัณฑ์ตรวจสอบแล้ว

เรื่องนี้ไม่ควรออกมาพูดกัน เพราะเป็นพระราชอำนาจโดยแท้จริง ยืนยันว่าทุกอย่างต้องมีความเป็นธรรมบนพื้นฐานความถูกต้อง

ซึ่งขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 191 ที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259-267

ส่วนใครเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวหรือเป็นผู้ถวายฎีกานั้น 1.ผู้ต้องหาคำพิพากษา ตามมาตรา 259 2.ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับมาตรา 259 และ 3.คณะรัฐมนตรีมาตรา 261 ทวิ

สำหรับประเด็นผู้หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา และศาลอ่านคำพิพากษาลับให้ลงโทษจำคุกมีสิทธิ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย พบว่า

1.ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดตัดสิทธิ์ห้ามผู้หลบหนี ตามคำพิพากษาจะยื่นถวายฎีกา

2.ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดเงื่อนไขใดจะต้องถูกจำคุกจริงๆ นานเท่าใดจึงจะถวายฎีกาได้

3.การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจ ไม่มีกฎหมายบัญญัติกรองอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่า จะให้อภัยโทษในกรณีใดบ้าง คดีประเภทใดอภัยโทษได้ อภัยโทษไม่ได้ หรือการอภัยโทษจะต้องมีเงื่อนไขใดบ้าง ต้องจำคุกมาแล้วนานเท่าใด

4.เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอภัยโทษมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การแปลกฎหมายว่า "ผู้หลบหนีจะต้องมามอบตัวและรับโทษจำคุกเสียก่อนจึงขออภัยโทษได้" นั้น เป็นการแปลกฎหมายตามความคิดเห็นส่วนตัว หรือเป็นการเข้าใจเอาเอง ทั้งๆ ที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้

ยืนยันว่าไม่มีกฎหมายอะไรบังคับว่าต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด หรือจะต้องมีการรับโทษก่อน เพราะเป็นพระราชอำนาจ ในเมื่อกฎหมายไม่ได้ห้ามแล้วเราต้องยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ผมจะไม่ทำอะไรนอกกฎหมายกฎเกณฑ์

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก

รมว.ยุติธรรม

ผมยังไม่ได้รับฎีกาดังกล่าว แต่การขอพระราชทานอภัยโทษถือเป็นพระราชอำนาจ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งปี 2540 และ 2550 โดยได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการอภัยโทษ

อีกทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ภาค 7 พระมหากษัตริย์มีอำนาจลดโทษและอภัยโทษได้ โดยระบุถึงผู้มีสิทธิขออภัยโทษเฉพาะรายว่า มี 3 สถานะ คือ ผู้ต้องคำพิพากษา ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง และรมว.ยุติธรรม

หากไม่มีผู้ถวายเรื่อง รมว.ยุติธรรม ก็จะดำเนินการไปตามเห็นสมควรได้ และจนถึงขณะนี้ผมไม่ทราบว่าความเห็นของกรมราชทัณฑ์ถูกส่งไปในช่วงการดำรงตำแหน่งของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรมหรือไม่

ขณะเดียวกัน หากกรมราชทัณฑ์ส่งเรื่องมาถึง ก็จะตั้งคณะทำงานประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ขึ้นมาเป็นผู้พิจารณาโดยตรง และจะเร่งทำงานให้เร็วที่สุด แต่ตามหลักปฏิบัติแล้วไม่มีใครสามารถยับยั้งการทูลเกล้าฯ ได้ กระบวนการต้องดำเนินต่อไป ทั้งนี้ การเสนอความเห็นเรื่องการทูลเกล้าฯ เฉพาะรายเป็นหน้าที่ของรมว.ยุติธรรม ต้องนำเสนอความเห็น

ส่วนข้อวิจารณ์เรื่องที่พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ได้รับโทษจึงไม่สามารถขออภัยโทษได้นั้น ยังมีหลายประเด็นที่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจน แต่ยืนยันว่าจะดำเนินการทุกอย่างโดยยึดกฎหมายเป็นหลักเท่านั้น

ทั้งนี้ ผมได้ตั้งข้อสงสัยไว้ว่า เรื่องนี้ผ่านมากว่า 2 ปี ควรจะเสร็จสิ้นไปนานแล้ว แต่ทำไมถึงไม่จบ

สุริชัย หวันแก้ว

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การยื่นฎีกาเพื่อขอความเป็นธรรมนั้น เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนทำได้อยู่แล้ว ไม่ว่าคนนั้นเป็นใคร ขอเพียงว่าเป็นไทยเท่านั้น และการยื่นฎีกาก็ไม่ได้ระบุจำนวนคนว่าจะต้องมีจำนวนเท่าไหร่ แม้เพียงคนเดียว หากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ยื่นฎีกาได้ ไม่จำเป็นต้องมีถึง 2 ล้านคน

กระบวนการยื่นฎีกานั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องนำมาเถียงเป็นประเด็นว่าผิดหรือถูก เพราะเพียงนำระเบียบการยื่นฎีกามาดู ก็สามารถบอกได้ว่า กระบวนการดังกล่าวผิดหรือถูก

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้น คือ สิ่งที่พรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล ที่ได้หาเสียงไว้ตอนหาเสียงว่าจะไม่นำประเด็นของตัวบุคคลมาเป็นประเด็นหลักและประเด็นเร่งด่วน รัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารบ้านเมืองได้ไม่ถึง 1 เดือน แต่กลับมีประเด็นนี้เกิดขึ้นมา

สิ่งนี้รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การดำเนินการของรัฐบาล เพื่อช่วยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่เช่นนั้นความไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐบาลก็อาจจะลดลง เนื่องจากตอนหาเสียง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยประกาศไว้ชัดเจนว่า จะเป็นรัฐบาลที่เน้นความปรองดองของทุกฝ่าย ไม่ใช่การเมืองแบบทีใครทีมัน

ถ้าความไว้วางใจที่ประชาชนมีให้ลดหรือหมดไป การจะดึงกลับมาเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และเรื่องนโยบายความปรองดองจะเป็นหลักสำคัญในการตัดสินอนาคตของรัฐบาลชุดนี้

ที่สำคัญอีกประการคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องแสดงภาวะผู้นำออกมา ในกรณีที่รองนายกฯ หรือรัฐมนตรี ออกมาใช้วิธีการพูดเรื่องต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือเรื่องอื่นที่ไม่เป็นไปตามหลักการ ตามกฎหมาย หรือความชอบธรรม แต่ส่งผลทางการเมืองหลายประการ เพราะเป็นการพูดเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพวกและตัวเอง

เรื่องนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องทำให้กระจ่าง ไม่ให้สังคมสับสน


นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
 อดีต รมว.ยุติธรรม

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม เขียนบันทึกผ่าน facebook   เรื่อง "การขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"ตอนหนึ่งว่า

"ข้อควรทราบคือ แม้ในอดีตที่ผ่านมาจะเคยมีจำเลยที่หลบหนีการจำคุกหลายรายได้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอรับพระราชทานอภัยโทษ แต่กรมราชทัณฑ์ไม่เคยทำความเห็นเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ถวายความเห็นควรให้พระราชทานอภัยโทษจำเลยเหล่านั้นเลย  และไม่เคยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมท่านใดที่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นนี้ของกรมราชทัณฑ์


นอกจากนี้ ยังปรากฎข้อเท็จจริงอีกว่า ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีท่านใด รวมทั้งนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี อีกเช่นกันที่เห็นว่าควรจะถวายความเห็นให้ทรงพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้หลบหนีการคุมขังตามคำพิพากษา  เรื่องนี้มีเอกสารหลักฐานชัดเจนทุกยุคทุกสมัย"

(จาก ข่าวสด และ มติชนออนไลน์ )


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์