ระดม′หัวกะทิ′ แก้ท่วม-ฟื้นฟูประเทศ ′กู้หน้า-ตรายาง′รัฐบาลปู

การตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. ที่มี "วีรพงษ์ รามางกูร" เป็นประธาน

กับการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. ที่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำหรือดินฟ้าอากาศอย่าง สุเมธ ตันติเวชกุล ปราโมทย์ ไม้กลัด หรือ สมิทธ ธรรมสโรช

เป็นความพยายาม "เฮือกสุดท้าย" ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การตั้ง กยอ.ถือว่ารัฐบาล "ตาสว่าง" พอดิบพอดี เนื่องจากเวลานี้ประเทศกำลังเกิดปัญหาในเรื่องของ "ความเชื่อมั่น"

โดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่อ "นักลงทุน" ต่างประเทศ

หากไม่เร่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา ประคองความรู้สึก พลิกฟื้นความเชื่อมั่นก่อนที่น้ำจะลด

เมื่อถึงวันนั้น อาจจะสายเกินแก้


แม้สื่อต่างประเทศหลายสำนักจะวิเคราะห์ว่าอุทกภัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย และหลังน้ำลดอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะพลิกฟื้นได้ในระยะเวลาไม่นาน


ระดม′หัวกะทิ′ แก้ท่วม-ฟื้นฟูประเทศ ′กู้หน้า-ตรายาง′รัฐบาลปู

เหตุเพราะแรงงานไทยฝีมือดี มีความรู้ ราคาถูก และสู้งาน และเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย

ตรงกันข้าม ยังมีอีกหลายสื่อที่วิเคราะห์ว่าประเทศไทยกำลังจะสูญเสียโอกาส หากไม่เร่งประคองความรู้สึกและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

นักลงทุนต่างประเทศจะหันไปลงทุนในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และอินโดนีเซีย แทน

แม้ในประเทศต่างๆ เหล่านี้จะมีคุณสมบัติ "ไม่เทียบเท่า" กับประเทศไทย

หากแต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อ เรื้อรัง มาเจอกับสภาวะน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 50 ปี บวกเข้ากับการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ไร้ระบบ ไร้มาตรฐาน

ทำให้ "ความเชื่อมั่น" ในตัวรัฐบาลในสายตานักลงทุนต่างชาติหดหาย

จึงเป็น "เรื่องดี" ที่รัฐบาลตั้ง กยอ.ขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูประเทศในระยะยาว


ที่สำคัญ กยอ.ชุดดังกล่าว ไม่สมควรที่จะทำหน้าที่แค่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในการลงหลักปักฐานทำธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศไทยเท่านั้น

ยังจะต้องเป็นคนคิด วางแผน ในการฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

และอาจไม่ใช่แค่คณะกรรมการที่ทำงาน "เฉพาะกิจ" เท่านั้น

เพราะหากเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมา ก็จะเป็นลักษณะ "ไฟไหม้ฟาง"

ผิดกับ กยน.ที่รัฐบาลตั้งขึ้น มี "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ที่ถูกมองว่าเป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อ "รักษาหน้า" ไม่ใช่รักษาสถานการณ์น้ำท่วมให้ดีขึ้น

หลายคนอาจมองว่าการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา ก็เพื่อให้วางแผนอย่างเป็นระบบ หากเกิดเหตุการณ์อีกครั้งในภายภาคหน้า

เป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนัก ไร้เหตุผล

เพราะการตั้ง กยน.สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งขึ้นมาตั้งแต่รู้ว่า "น้ำเหนือ" ปริมาณมากกำลังจะไหลลงสู่ทะเล

และจะต้องผ่านมาทาง จ.ตาก พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ปทุมธานี นนทบุรี เรื่อยมาจนถึง กรุงเทพมหานคร (กทม.)

เพราะหากระดม "หัวกะทิ" ในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ตั้งแต่เริ่มต้นรับรู้ "ปัญหา"

ความหนักหนาสาหัสที่เกิดขึ้นในเวลานี้ แม้จะเสียหาย แต่ความเสียหายจะไม่รุนแรงเท่านี้

การตั้ง กยน. ถือว่า "ช้าเกินไป"

ช้าเกินไปที่จะทำให้นิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง เสียหายน้อยกว่านี้

ช้าเกินไปที่จะทำให้พื้นที่เกษตรกรรมเสียหายแค่ไม่กี่แสนไร่

ต้องไม่ลืมว่าการตั้ง กยน. ณ เวลานี้ คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่า คิดวางแผนว่าจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

คงไม่สามารถช่วยให้สถานการณ์น้ำท่วมลดปริมาณที่แผ่ขยายออกไปได้

การตั้ง กยน. เป็นเพียงการ "สร้างภาพ" ให้ดูว่ารัฐบาลเอาใจใส่ เอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวเท่านั้น

ฉะนั้น คณะกรรมการ 2 ชุดที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา จึงเป็นเพียงแค่ "ความหวัง" เล็กๆ ที่ดีกว่าไร้ความหวัง

จึงไม่อยากเห็นภาพว่าเมื่อ "น้ำลด" แล้ว คณะกรรมการทั้ง 2 ชุด กลายเป็นแค่ "ตรายาง" ให้รัฐบาล ที่ได้แค่เสนอแนะ ชี้แนวทาง

แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะทำหรือไม่


(ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 10 พ.ย. 2554)


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์