รสนา โตสิตระกูลFBตั้งข้อสงสัย แกะรอย!กำไรปตท.หายไปไหน?

รสนา โตสิตระกูลFBตั้งข้อสงสัย แกะรอย!กำไรปตท.หายไปไหน?

3 ส.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม.ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟชบุ๊คส่วนตัว "รสนา โตสิตระกูล" กรณี แกะรอย กำไรปตท.หายไปไหน?

มีรายงานข่าวการประชุมคณะกรรมการปตท.(นัดพิเศษ) เมื่อ29 กรกฎาคม 2557ว่านายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ฟ้องต่อสังคมว่า ปัจจุบันอัตรากำไรของปตท.(Profit Margin) อยู่ระดับต่ำเพียง2.7%ของยอดขาย ซึ่งต่ำกว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานด้วยกัน และกล่าวอ้างว่าสาเหตุที่ปตท.มีกำไรต่ำเพราะนโยบายรัฐไม่กล้าตัดสินใจให้ขึ้นราคาก๊าซหุงต้มLPG และก๊าซ NGV ทั้งยังกล่าวอ้างว่าปตท.ต้องแบกภาระก๊าซให้ปีละ3หมื่นล้านบาท

รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า ประธานบอร์ดปตท.ชี้แจงว่ากำไรสุทธิของปตท.อยู่ที่ 90,000-100,000ล้านบาทมา7ปีทั้งที่ยอดขายเพิ่มขึ้นทุกปี เลยทำให้อัตรากำไรต่ำ การพูดว่าปตท.มีกำไรมาก เพราะไม่เทียบกับเงินลงทุน เลยกล่าวหาว่าปตท.มีกำไรมากเกินไปทำนองนั้น

ลองดูภาพกราฟฟิกรายงานประจำปีของปตท.ในปี2556 คือภาพรายได้ปตท.มาจากไหน และ ภาพกำไรปตท.มาจากไหน

ในแท่งของรายได้ปี2556บอกยอดรายได้รวมของปตท. เท่ากับ 2,842,688ล้านบาท ส่วนที่เป็นสีน้ำเงินคือ รายได้จากหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศซึ่งสูงถึง52% คิดเป็นเงิน 1,478,197.76 ล้านบาท แต่กลับมีกำไรเพียง3% คือ 3,228ล้านบาท (ปี2555 หน่วยธุรกิจนี้ขาดทุนประมาณ 3,800ล้านบาท ทั้งที่มีสัดส่วนรายได้ถึงครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดมาทุกปี)

การที่หน่วยธุรกิจนี้มีสัดส่วนรายได้ที่สูงที่สุดของปตท. แต่กลับมีกำไรที่ต่ำที่สุด จึงเป็นประเด็นที่น่าเคลือบแคลงใจ ว่าเป็นธุรกิจอะไรบ้าง เป็นหน่วยธุรกิจที่รวมธุรกิจที่ไปลงทุนในเกาะฟอกเงินเคย์แมนด้วยหรือเปล่า? บริหารอย่างไรจึงมีกำไรต่ำขนาดนี้

ส่วนหน่วยธุรกิจน้ำมัน(ค้าปลีก?)มีสัดส่วนรายได้20%คือ 568,537.6ล้านบาท


 มีกำไร8% เท่ากับ 7,444ล้านบาท ที่นายไพรินทร์ให้สัมภาษณ์ในแทบลอยด์ไทยโพสต์20กรกฎาคมว่า ในกำไร 7,000กว่าล้านบาทนั้น กำไรส่วนใหญ่เป็นของกาแฟอเมซอนเสียด้วย ประชาชนจึงอยากรู้รายละเอียดว่าธุรกิจร้านกาแฟของปตท.มียอดขายและต้นทุนเท่าไรจึงได้กำไรดีกว่าการขายน้ำมัน?

หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนรายได้17% เป็นเงิน 483,256.96ล้านบาท ทำกำไรให้ปตท.ถึง 20%ของกำไรทั้งหมดคือ18,492ล้านบาท ที่กล่าวอ้างว่าแบกรับภาระค่าก๊าซให้ปีละ3หมื่นล้านบาท หมายถึงการขาดทุน? หรือขาดทุนกำไรที่จะรีดจากประชาชนกันแน่?

ส่วนรายได้จากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศทำรายได้ในสัดส่วนแค่7%จากรายได้ในปี2556 คือ198,988.16ล้านบาท แต่กลับทำกำไรให้ปตท.สูงที่สุดในบรรดาธุรกิจทั้งหมดของปตท.คือ 39%เป็นยอดเงิน 37,139ล้านบาท

ธุรกิจปิโตรเคมีทำรายได้ในสัดส่วนแค่ 3% คือ85,280.64ล้านบาท แต่ได้กำไร18% เป็นเงิน 16,956 ล้านบาท

คงพอเห็นได้ว่ากำไรหลักๆของปตท.ล้วนมาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรภายในประเทศ ได้แก่

1) การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่เป็นกิจการต้นน้ำ มีสัดส่วนรายได้เพียง7% แต่สามารถสร้างกำไรให้ปตท.ถึง 39%

2) ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่มีสัดส่วนรายได้17% สร้างกำไรให้ปตท.20% และ

3) รายได้จากปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซLPG จากอ่าวไทยเป็นหลัก สัดส่วนรายได้เพียง 3% แต่ทำกำไรให้ถึง18% คือ 16,956 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมผลกำไรทั้งหมดในบริษัทPTTGC ซึ่งเป็นบริษัทปิโตรเคมีลูกของปตท.ที่ใช้LPG กว่าครึ่งจากอ่าวไทยเป็นวัตถุดิบโดยมีกำไรถึง 33,277.41ล้านบาทในปี2556

รายได้จากทรัพยากรในประเทศที่มีสัดส่วนรายได้รวมใน3กิจการของปตท.เพียง27% แต่สร้างกำไรให้ปตท.ถึง77% ส่วนกิจการอื่นที่เหลือของปตท.แม้มีสัดส่วนรายได้รวมถึง73% แต่กลับสร้างกำไรให้ปตท.เพียง 23% เท่านั้น

มองในอีกแง่หนึ่งคือปตท.ทำธุรกิจจำนวนมากที่ไร้ประสิทธิภาพ ใช่หรือไม่? หรือมีค่าใช้จ่ายมากเกินไป? หรือมีการผ่องถ่ายกำไรออกไปลงทุนในเกาะฟอกเงินอย่างเคย์แมน เบอร์มิวด้ามากเกินไปใช่หรือไม่? จึงทำให้Profit Marginต่ำ

กิจการที่ไร้ประสิทธิภาพเหล่านั้นต่างหากที่เป็นตัวการที่แท้จริง

ที่นำมาเกลี่ยเพื่อลดทอนProfit Margin ของกำไรอันอู้ฟู่ที่ได้มาจากธุรกิจผูกขาดทรัพยากรทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันภายในประเทศ แต่ประธานบอร์ดยังกล้ากล่าวโทษว่าเป็นเพราะนโยบายรัฐที่ไม่ยอมให้ปตท.ขึ้นราคาก๊าซหุงต้มLPG และก๊าซ NGV

ประธานบอร์ดปตท.ควรไปตรวจสอบกิจการหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเสียก่อนว่ามีกำไรต่ำเพราะอะไร

 เพราะมีการรั่วไหลไปที่ 30บริษัทในเกาะเคย์แมนหรือเปล่า? ก่อนที่จะหวังมารีดนาทาเร้นเอากับการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันจากประชาชน เพื่อไปชดเชยให้กับการขาดทุนเพราะขาดประสิทธิภาพจากการลงทุนสะเปะสะปะของปตท. ถ้าไม่มีเรื่องการผ่องถ่ายกำไรไปอยู่ในการขาดทุน หรือกำไรต่ำของกิจการของปตท.

นี่กระมัง เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บอร์ดปตท.ชุดใหม่เร่งรีบจะแปรรูปปตท.รอบสอง หรืออีกข้อเสนอคือรีบแยกท่อก๊าซออกมาตั้งบริษัทใหม่ขายในตลาดหุ้นให้ได้ภายในปี 2558 ในช่วงที่มีอำนาจพิเศษของคสช.ก่อนมีรัฐธรรมนูญ และก่อนมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ดังที่นายปิยะสวัสดิ์ให้สัมภาษณ์สื่อ โดยใช้ข้ออ้างว่าเพื่อหนีการล้วงลูกของนักการเมือง แต่ในความเป็นจริงนั้น

คือต้องการหนีการตรวจสอบของประชาชนต่างหาก ใช่หรือไม่!!?

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์