รวยแบบทักษิณ..รวยแล้วไม่เลิก!

หากคนชื่อ ´ทักษิณ ชินวัตร´ มีชีวิตโลดแล่นอยู่ในถนนธุรกิจ บริหารงาน-เงิน ให้เติบโตเพิ่มพูนตามครรลองของโลก ´ทุนนิยม´ จนประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่เพียงหมายถึงรวยแบบ ´อภิมหาศาล´ แล้ว ยังมี ´ชื่อเสียง´ เป็นที่ยอมรับ
รางวัล ´1992 Asean Business Man of the Year´ จาก Asean Institute ประเทศอินโดนีเซีย พ.ศ.2535

รางวัล ´บุคคลดีเด่นผู้พัฒนาโทรคมนาคมเพื่อสังคมของประเทศไทย´ ประจำปี 2536 และอีกหลายรางวัล ก็คงเป็นความภาคภูมิใจอย่าง ´สมเหตุสมผล´

แต่ คนชื่อเดียวกันนี้เอง ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของประเทศไทย และนับเนื่องมาแล้วถึงปีแรกของสมัยที่ 2

ถามว่าผิดไหม? ที่บุคคลซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองของประเทศ จะได้ชื่อว่าเป็นคนที่มาจากโลกทุนนิยมเต็มตัว คำตอบคือไม่ผิด


แต่ถามว่า เหตุใดบุคคลคนนี้ถึง ´รวยไม่หยุด ฉุดไม่อยู่´ และเห็นได้ชัดว่ามาจากการใช้อำนาจทางการเมืองหนุนนำให้เป็นไป ราวกับไม่คำนึงถึงความ ถูก ผิด เลว ดี เพื่อความมั่งมีของตนเองและกลุ่มพวกพ้อง



คำตอบ คือ วันนี้เราได้เห็นแล้วว่า บุคคลนั้นมิอาจนำพารัฐนาวาของตนให้ ´ดำรงคงอยู่´ ได้ตลอดรอดฝั่ง และ ´สง่างาม´ ยิ่งไปกว่านั้น กลับลงเอยที่คำว่า ´ยุบสภาฯ´

ที่สุดแล้วความมั่งมีก็เป็นมีดดาบที่กลับมาทิ่มแทงคนที่กระหายใคร่มีในทุกลมหายใจเข้าออก

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? อาจต้องย้อนไปดูก่อนที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร จะเข้าสู่ถนนการเมือง ที่ทุกคนต่างรู้ดีว่าบุรุษผู้นี้เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามขนาดไหน

หลักคิดในการทำงาน นอกจากคำปฏิญาณที่เจ้าตัวท่องมาแต่เด็ก คือ
1.ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้
2. ตายเสียดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้ และ
3.ตายเสียดีกว่าละทิ้งหน้าที่

หากลงลึกไปถึงกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจ สำหรับ ดร.ทักษิณ เห็นจะลุ่มลึกกว่านั้น คือ

´ไม่เหมือนใคร´ ´ไม่หยุดอยู่กับที่´ และ ´พร้อมจะเปลี่ยนแปลง´ หากอยูในจุดที่ ´ได้´ มากกว่า ´เสีย´

จากจุดเริ่มต้นทางธุรกิจที่ ดร.ทักษิณและภรรยา พจมาน ชินวัตร ร่วมกันก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดไอซีเอสไอ เมื่อปี พ.ศ.2525 ต่อมาขยายเป็นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์

ด้วยความคุ้นเคยกับระบบราชการที่ตัวเองเคยเรียนรู้ ก่อนลาออกขณะครองยศ พ.ต.ต. เพื่อมาเป็นนายทุน เขาสามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจขาย-บริการให้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์แก่หน่วยงานรัฐ จนประสบความสำเร็จอย่างสูง

จากนั้นก็ขยายธุรกิจต่อไป โดยเฉพาะธุรกิจใหม่ๆ แบบไม่มีใครเหมือน อาทิ วางระบบ-ขายอุปกรณ์เครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือแบบไร้สาย (S.O.S.), ธุรกิจวิทยุบนรถประจำทาง (บัสซาวนด์), ธุรกิจวิทยุติดตามตัว (เพจเจอร์), ธุรกิจวางระบบให้บริการ-จำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่, ธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิก (เคเบิลทีวี), ธุรกิจดาวเทียม ฯลฯ

แม้จะรุ่งบ้าง ร่วงบ้าง แต่ก็สามารถพัฒนาบริษัทในเครือชินคอร์ปอเรชั่น จนเรียกได้ว่า ´ครบวงจร´ ว่าด้วยธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม และสารสนเทศ

ทั้งนี้ จากหนังสือ ´ทักษิณ ชินวัตร อัศวินคลื่นลูกที่สาม´ ของ สรกล อดุลยานนท์ ก็ได้อธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้ ดร.ทักษิณ ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างรวดเร็วว่า

1) เพราะความกล้าในการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว กล้าทดลองลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ขณะเดียวกัน ก็กล้าที่จะปรับทิศทางธุรกิจในเครือ จากการค้าคอมพิวเตอร์ มาเป็นธุรกิจโทรคมนาคมได้ในจังหวะที่เหมาะสม

2) ความเป็นนักเจรจา ประกอบกับความกว้างขวางในการสร้างพันธมิตร บริหารสายสัมพันธ์ จนสามารถประสานได้กับทุกฝ่ายอย่างลงตัว

3) วิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้าประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง พร้อมกับกำหนดกลยุทธ์ได้ตรงกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่สำคัญ เมื่อธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จที่เรียกได้ว่าระดับ ´สุดยอด´ แล้ว เขากลับไม่หยุดความสำเร็จไว้เพียงแค่นั้น

เฉกเช่นนักปีนเขาที่ต้องมองหายอดเขาลูกใหม่เพื่อท้าทายความสามารถ

0 0 0

ดร.ทักษิณ ต่อยอดแตกใบสีม่วงสีเทาให้ออกดอกผลเป็นเท่าทวีคูณได้อย่างไร ครั้งหนึ่ง นิตยสาร ´คอร์ปอเรท ไทยแลนด์´ ได้เคยวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า


"สังคมทุนนิยมสมัยใหม่ ได้สร้างกลไกของ ´ตลาดทุน´ ขึ้นมาเป็น ´ตัวคูณ´ มูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินเงินทองอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น คนรวย ที่รวยจากตลาดหุ้น จึงรวยกว่าคนรวยที่รวยจากรายได้หลายเท่าตัว เพราะคนกลุ่มแรกเขารวยแบบมีตัวคูณ"

อดีตประมุขชินคอร์ป ก็เช่นเดียวกัน ความร่ำรวยของเขา แม้อาจวิเคราะห์ได้ว่าส่วนสำคัญมาจากการทำกิจการที่เป็น ´สัมปทานรัฐ´ ซึ่งเรารู้ดีว่าเป็นกิจการที่ทำกำไรได้มหาศาลขนาดไหน

เพราะขณะที่สัมปทานทั่วไป เช่น สัมปทานเหล้า สัมปทานเดินรถ สัมปทานขุดแร่ สัมปทานจับสัตว์น้ำ ฯลฯ ที่ถือเป็นสัมปทานแบบเก่าที่นำทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งบนดิน ใต้ดิน และในน้ำ อันเป็นสมบัติของชาติ มาหาผลกำไรจากการปิดตลาดการค้า การผูกขาด และจากการบริการ ก็ยังสร้างเศรษฐีมานักต่อนัก

แต่ ดร.ทักษิณ เล่นกับสัมปทานรูปแบบใหม่ คือการหยิบคลื่นในอากาศ ส่งผ่านเคเบิลใยแก้วมาทำให้กลายเป็นแบงก์ ซึ่งนอกจากจะได้กำไรจากการผูกขาด การขายสินค้า และค่าบริการแล้ว กำไรที่ได้ยังมาจากราคาหุ้นที่คิดเป็นจำนวนเท่าของกำไรจากการขาย

"การเป็นเจ้าของบริษัทที่ครอบครองสัมปทานที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น ยิ่งจะสร้างความมั่งคั่ง ให้มากขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ เหมือนกับการกินหลายต่อ เพราะราคาหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น มักจะสูงกว่า ´รายได้´ ของบริษัทดังกล่าวหลายเท่าตัว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการยอมรับของนักลงทุนส่วนใหญ่"

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมซีอีโอชินคอร์ปถึงประกาศเมื่อปี 2543 ว่าจะนำชินคอร์ปเข้าตลาดหุ้น Nasdaq และเป็นช่วงที่สภาพตลาดแนสแด็กตอนนั้น เรียกว่ากำลังโด่งดังสุดๆ

ทว่า พอล่วงเข้ากลางๆ ปี ตลาดแนสแด็กก็ตกต่ำลงมา ทางคณะกรรมการผู้ถือหุ้นของกลุ่มชินฯ จึงชะลอเรื่องไว้ จนที่สุดก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ ให้หุ้นชินฯ ไปผงาดอยู่ในตลาดอเมริกา

กระนั้นก็ตาม การขับเคลื่อนกงล้อแห่งความรวยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช่จะหยุดแค่นั้น เพราะหลังจากเดินหน้าเข้าสู่ถนนการเมืองจนเป็นถึงนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ความร่ำรวยของคนในตระกูลชินวัตร ตลอดจนคนใกล้ชิด ดูจะยิ่งขยายตัว โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้ ´ตัวคูณ´ มาทำให้โภคทรัพย์ที่ถือครอง เพิ่มจำนวนมากขึ้น

การขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกองทุนเทมาเส็ค ที่เกิดขึ้นล่าสุดคือตัวอย่างชัดเจน ที่ทำให้เห็นว่าจากมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ผ่านไป 5 ปี เพิ่มเป็น 7.3 หมื่นล้านบาท

ซึ่ง ´เรื่อง´ อาจไม่เป็นเรื่อง หากมองเชิงธุรกิจ เพราะนายกฯ ทักษิณ เพียงใช้กำลังภายใน ไหวพริบ ประกอบกับความที่เป็นคนมองไกลไปหลายขั้น นายกฯ ทักษิณ จึงขายหุ้นชินฯ ไปอย่างไม่เสียดาย

บ่งบอกถึงความเป็นคนกล้าได้-กล้าเสีย และไม่ยึดติดอยู่กับทรัพย์สมบัติที่อนาคตอาจยากต่อการเติบโต แถมยังอยู่ในจุดที่ได้เปรียบ เพราะรับไปเต็มๆ กับเงินก้อนมหึมาโดยไม่ต้องเสียภาษีสักเม็ด

แต่อย่างที่บอก ที่สุดแล้วความร่ำรวยก็เหมือนมีดที่กลับมาทำร้ายผู้ถือครอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบุคคลนั้นเป็นผู้นำประเทศที่ควรธำรงไว้ซึ่งคุณธรรม-จริยธรรม

วันนี้ การขายหุ้นชินฯ อย่างมีเงื่อนงำ จึงเป็นเสมือนฟางเส้นยักษ์ที่ทำให้ ´หลัง´ ของประชาชนที่สู้ฟ้า ´แอ่น´ จนหน้าแทบทิ่มดิน

ที่สุด จึงต้องออกมาทวงถามถึง ´จริยธรรม´ ที่คนเป็นนายกฯ พึงมี

และกระซิบด้วยเสียงอันดังว่า ´หมดเวลาแล้ว..คุณทักษิณ´!!

ความถูกต้องทางศีลธรรม

´หนังสือที่คนไทยทุกคนต้องอ่าน´ ตัวโปรยสีขาวบางๆ บนปกหนังสือเล่มเล็ก ยั่วสายตานักอ่านได้พอควร

ทำไมต้องอ่าน? เมื่อพลิกดูในเล่มแล้ว ก็คิดว่ามันจำต้องอ่านอย่างยิ่งยวด

เพราะหนังสือชื่อ ´บทวิเคราะห์ 25 ประเด็นหลัก ในดีลเทคโอเวอร์ กลุ่มชินคอร์ป´ เขียนโดย ม้านอกและเด็กนอกกรอบ ที่ตอบทุกข้อที่ชาวบ้านร้านตลาดสงสัย ทั้งในแง่กฎหมายและศีลธรรม

หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ openbooks ผู้ผลิตหนังสือเล่มคุณภาพ ซึ่งในคำนำหนังสือ ผู้เขียนบอกกล่าวเล่าขานถึงความคาดหวังว่า

"หนังสือเล่มนี้จะช่วยตีแผ่ข้อเท็จจริงและประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับดีลประวัติศาสตร์นี้ ความหวังที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ช่วยให้ประชาชนคนไทยสามารถแยกแยะประเด็น ´ความถูกต้องทางกฎหมาย´ ออกจากประเด็น ´ความถูกต้องทางศีลธรรม´ และแยก ´ความถูกต้องทางศีลธรรม´ ออกเป็นระดับต่างๆ นับตั้งแต่ ´ไม่น่าเกลียด´ ไปจนถึง ´น่าเกลียดสุดขั้ว´ ได้

"ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะเรียกร้องให้ผู้บริหารประเทศ มี ´มาตรฐานทางศีลธรรม´ ที่ดีกว่านักธุรกิจส่วนหนึ่ง ที่หาช่องทางเลี่ยงภาษีเป็นกิจวัตร?

"ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะเลิกใช้คำว่า ´ใครๆ เขาก็ทำกัน´ เป็นเหตุผลในการทำทุกสิ่งทุกอย่าง

"ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะเรียกร้องให้ผู้ใช้อำนาจในทางมิชอบ ต้องรับโทษที่ตัวเองก่อไว้ ไม่ใช่ปล่อยคนชั่วให้ลอยนวล เหมือนที่เราปล่อยทรราชแทบทุกคนที่ผ่านมา?

"และถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะแสดงพลังประชาชนที่ ´ตาสว่าง´ พอที่จะทวงคืนอำนาจ กลับมาจากรัฐบาลที่ไร้ซึ่งความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศอีกต่อไป"

ลองไปหามาอ่านดูนะครับ เล่มละ 100 บาทเท่านั้นเอง!

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์