รบ.-ทรท.เมินหมอไล่แม้ว พวกหน้าเดิม แนวร่วมพันธมิตร-ไม่ตื่นเต้น

เคยขึ้นเวทีปราศรัยมาแล้ว


มุขเดิมออกไม่ได้รธน.ห้าม ชท.ชี้นายกฯตกที่นั่งลำบาก บริหารได้แต่ปกครองไม่ได้

รัฐบาล-ทรท.ไม่ตื่นเต้น


"กลุ่มหมอ-เภสัช-นักวิชาการ"ผนึกไล่ อ้างแค่พวกหน้าเดิม ขึ้นเวทีพันธมิตรก็เคยทำมาแล้ว บอกไม่พอใจให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อย่ามาห้ามผู้นำพรรครับตำแหน่งนายกฯ มุขเดิม"แม้ว"ออกไม่ได้ รธน.ห้ามไว้ จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

**รบ.ไม่วิตกหมอ-เภสัชเคยไล่แม้วมาแล้ว


ทั้งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกพรรคไทยรักไทย ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นเมื่อวันที่ 3 กันยายน การเคลื่อนไหลระลอกล่าสุดของบุคลากรวิชาชีพสุขภาพรวม 92 คน นักวิชาการจากสถาบันต่างๆ รวม 43 องค์กร ที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยุติบทบาททางการเมืองทันที ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น เนื่องจากบุคคลในกลุ่มนี้เป็นหน้าเดิมๆ ที่เคยต่อต้านรัฐบาลมาก่อน หลายคนเคยขึ้นปราศรัยบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาแล้ว

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้จักกับบุคลากรด้านสาธารณสุขหลายคนที่ออกแถลงการณ์ขับไล่นายกฯเป็นการส่วนตัว แต่ไม่เป็นไร เรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างเกิดขึ้นในสังคมได้ตลอดเวลา และถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่กลุ่มคนดังกล่าวบอกว่าจะแสดงออกอย่างสันติวิธี

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ชนชั้นนำและปัญญาชนออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะทำให้นายกฯ อยู่ในตำแหน่งลำบาก หรือไม่ นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า เข้าใจว่าหลายคนเคยแสดงความคิดเห็นแบบนี้มาแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมประท้วง หลายคนก็เคยขึ้นเวทีพันธมิตร ไม่ใช่ว่าออกมาพูดเรื่องนี้เป็นครั้งแรก

***ย้ำ"เลือกตั้ง"ทำบ้านเมืองก้าวไปได้


ทั้งนี้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่นั้น โฆษกประจำสำนักฯกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการจนกว่าจะมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ อย่างไรเสียรัฐบาลชุดนี้ก็ต้องไปหลังการเลือกตั้ง ไม่ได้อยู่นาน จึงไม่ได้ต้องการเสถียรภาพเหมือนรัฐบาลที่ต้องทำงาน 4 ปี

เมื่อถามว่า


จนขณะนี้รัฐบาลไทยรักไทยยังเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นคำตอบของการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมหรือไม่ นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า การเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่ทำให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ เพราะขณะนี้รัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินเต็มที่ ไม่มีสภา ดังนั้นหากมีการเลือกตั้งก็จะมีการจัดตั้งรัฐบาล มีสภา และถ้าประชาชนตัดสินอย่างไร ถ้าให้พรรคอื่นเป็นรัฐบาลก็ยอมรับ ขณะเดียวกันถ้าพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งแล้วได้จัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่ใช่ว่ากลไกการตรวจสอบจะสิ้นสุดลง ทุกอย่างยังดำเนินการตอ่ไปภายใต้กลไกของรัฐธรรมนูญ

**เด็กแม้วไม่ตื่นเต้นชี้แค่พวกหน้าเดิม


น.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกพรรคไทยรักไทย แถลงว่า การเคลื่อนไหวของบุคลากรด้านสาธารณสุขไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไร เพราะคนที่รวมตัวกันก็เป็นหน้าเดิมๆ ที่เคยยื่นข้อเสนอ เคยกล่าวโจมตีรัฐบาลเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลไทยรักไทย การแสดงออกทางความคิดเห็นเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ไม่ใช่กลไกในการตัดสินว่าหัวหน้าพรรคการเมืองต้องไม่รับตำแหน่งนายกฯ วิธีการที่ถูกต้องคืออาจารย์เหล่านี้ควรไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะในการเลือกตั้ง 1 คนคือ 1 เสียง ไม่ใช่เป็นอาจารย์ หรือมียศถาบรรดาศักดิ์ แล้วจะเลือกได้หลายเสียง

ผู้สื่อข่าวถามว่า


เหตุใดพรรคไทยรักไทยจึงมองปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของปัญญาชนว่าเป็นเพียงขาประจำ โดยไม่นำข้อเรียกร้องต่างๆ มาพิจารณา น.ต.ศิธากล่าวว่า "เชื่อว่าใครที่ได้อำนาจในการบริหารประเทศจะเจอเรื่องราวในลักษณะนี้คือ โดนขับไล่ ถูกลอบปองร้าย ถ้ายังจำกันได้นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยถูกตะโกนโจมตีในโรงภาพยนตร์จนประชาชนเกิดความเข้าใจผิด กว่าจะมารู้ว่าท่านเป็นวีรบุรุษก็ตอนเสียชีวิตไปแล้ว ผมถึงบอกว่าในการบริโภคข้อมูลข่าวสารต้องระมัดระวังและใช้วิจารณญาณให้มาก"

โฆษกพรรคไทยรักไทยกล่าวว่า ข้อเรียกร้องของ กลุ่มนักวิชาการและบุคลากรด้านสาธารณสุข ให้ข้าราชการและบุคลากรของรัฐเลิกรับใช้นักการเมืองนั้น เหมือนเป็นการดูถูกข้าราชการมากเกินไป ถือว่าผิดหลักวิชาการประชาธิปไตย เป็นหลักของอนาธิปไตยมากกว่า

**อ้าง"แม้ว"ออกไม่ได้จนกว่ามีรบ.ใหม่


ส่วนที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ ออกมาพูดถึงเรื่องผู้นำกับการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นธรรม โฆษกพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า เข้าใจว่าทั้งนายอานันท์และพล.อ. เปรมพูดถึงหลักการบริหารประเทศ แต่ก่อนพล.อ.เปรมจะไม่ค่อยพูด แต่ช่วงนี้ดูจะพูดมากเป็นพิเศษ แต่ยืนยันได้ว่า พล.อ.เปรม ยังเป็นกลางทางการเมือง เพราะพูดในเชิงวิชาการ แต่บรรดานักวิชาการชัดเจนว่าไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง ส่วนกรณีที่เครือข่ายประชาสังคมหยุดระบอบทักษิณ

เมื่อถามว่า


เมื่อดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ในการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ คิดว่าจะทำให้อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้หรือไม่ น.ต.ศิธากล่าวว่า การดำรงตำแหน่งของนายกฯ ไม่มีกฎหมายใดบอกให้นายกฯ ลาออกได้ ตามรัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่า ครม. ต้องอยู่รักษาการจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณจึงไม่สามารถลาออกได้ไม่ว่าจะดูจากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดๆ เว้นจะใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งถ้าย้อนไปดูเรื่องมาตรา 7 ก็มีกระแสพระราชดำรัสชัดเจนแล้วว่าไม่ประสงค์จะให้ใช้มาตราดังกล่าว ดังนั้นนายกฯจึงไม่ควรกระทำการใดๆ ที่ขัดต่อพระราชประสงค์

**"แม้ว"ช็อปเอ็มโพเรี่ยม-รปภ.พรึบ


ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่ว่า การเผชิญหน้ากันอาจบานปลาย เกิดสงครามกลางเมืองเหมือนกับที่กลุ่มแพทย์ เภสัชกร และนักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดนี้วิตกกัน โฆษกพรรคไทยรักไทยกล่าวว่า ทุกคนต้องทำตามกฎหมายและยอมรับกติกาบ้านเมือง เรื่องที่คิดว่าไม่ถูกก็ได้แก้ไขไปแล้ว เช่น กรณีที่มีการกล่าวหาว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่เป็นกลาง ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างกระบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่เพื่อเข้ามาจัดการเลือกตั้ง ซึ่งภายหลังเลือกตั้งหากไทยรักไทยได้จัดตั้งรัฐบาลก็จะเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญคือวันนี้ทุกฝ่ายต้องยึดหลักการและกติกาบ้านเมืองก่อน

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น


เก็บตัวเงียบอยู่ในบ้านพักในซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 ตลอดช่วงเช้า กระทั่งเวลา 13.30 น. จึงออกไปรับประทานอาหารกลางวันและช็อปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้าดิ เอ็มโพเรี่ยม ทั้งนี้ในขบวนรถของนายกฯ ยังนำรถประจำตำแหน่งเบนซ์ รุ่นเอส 600 สีดำ จำนวน 2 คันมาอำพรางไว้ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการรักษาความปลอดภัยเช่นเดิม เพื่อไม่ให้รู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณโดยสารรถคันใด และเมื่อไปถึงห้างได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมาคอยอารักขา และรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ตำรวจรักษาความปลอดภัยของนายกฯขอร้องและกันผู้สื่อข่าวอย่าได้คอยติดตามและรายงานความเคลื่อนไหวของนายกฯเนื่องจาก ต้องการพักผ่อนเป็นการส่วนตัว

**ชท.ชี้ลำบากบริหารได้ปกครองไม่ได้


นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า ขณะนี้น่าเป็นห่วงพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเวลานี้บริหารประเทศได้ แต่ปกครองไม่ได้ และกำลังเดินไปสู่จุดอับที่ทั้งบริหารประเทศไม่ได้ และปกครองไม่ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น วันนี้ผู้ต่อต้านไม่ได้ลดลงเลย แต่ได้แพร่ขยายไปทุกวงการ ซึ่งเมื่อวันที่ 2 กันยายน ก็มีกลุ่มนักวิชาการ และสถาบันที่มีชื่อเสียงได้เข้าชื่อกันเป็นจำนวนมากที่ขอให้นายกฯถอยออกจากการเมืองหรือเว้นวรรค จึงขอให้นำเสียงเหล่านี้มาพิจารณา ไม่ใช่ว่าไปมองเป็นขาประจำที่จ้องโค่นล้มรัฐบาล และเท่าที่ดูรายชื่อที่ปรากฎก็ไม่ใช่เป็นฝ่ายพันธมิตรฯ แต่เป็นนักวิชาการที่ทำหน้าที่อย่างสงบเสงี่ยม มาโดยตลอดแต่ยังต้องมาเข้าชื่อรวมตัวกันในเวลานี้

"ผมอยากให้นายกรัฐมนตรี


มองเสียงเหล่านี้ว่าเป็นเสียงสวรรค์ อย่าคิดว่าเป็นเสียงเงียบ ท่านต้องนำมาพิจารณาอนาคตของตัวท่าน อยากให้มองด้วยใจบริสุทธิ์" นายสมศักดิ์กล่าว

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณควรฟังเสียงคนส่วนใหญ่ที่พูดถึงตัวเองและรัฐบาลว่ามีเป็นอย่างไร เคยพูดไปแล้วว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนเมือง ยิ่งในภาวะเช่นนี้ ยิ่งควรฟัง และไม่ควรกล่าวอ้างเรื่อง 16 ล้านเสียง ถึงเวลาที่ต้องกลับมาทบทวนความคิดตัวเองได้แล้ว

**สมัชชาอีสานขยายเขตปลอดทักษิณ


ทางด้านนายอวยชัย วะทา แนวร่วมครูกู้ชาติแห่งประเทศไทย ทันตแพทย์ศุภผล เอี่ยมเมธาวี ผู้ประสานงานกลุ่มภาคีมวลชนคนโคราชรักประชาธิปไตย และแกนนำกลุ่มองค์กรประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัด ร่วมแถลงการณ์สมัชชาประชาชน "ล้มล้างระบอบทักษิณ ปฏิรูปการเมืองภาคประชาชน" ที่ห้องประชุมโรงแรมทับแก้วพาเลซ ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยระบุว่า ในช่วงเดือนตุลาคมดังนี้ จะลงพื้นที่ ชี้แจงประชาชน เพื่อให้รู้เท่าทันระบอบทักษิณ ตามเป้าหมายขับไล่ออกไปจากการเมืองไทย

"ขอเชิญนายกรัฐมนตรี มาเปิดตัวหาเสียงที่จังหวัดใดก็ได้ในภาคอีสาน เพื่อจะพิสูจน์ได้ว่า สมัชชาประชาชนภาคอีสาน จะสามารถประกาศเขตปลอดระบอบทักษิณ ได้ทุกจังหวัดหรือไม่" นายอวยชัยกล่าว

**ผอ.ปัดรพ.ปลาปากไม่เกี่ยวไล่นายกฯ


นพ.อลงกต มณีกาศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปลาปาก จ.นครพนม กล่าวว่า กรณีมีชื่อโรงพยาบาลปลาปาก เป็น 1 ใน 43 องค์กร ที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้พ.ต.ท.ทักษิณ ยุติบทบาททางการเมืองนั้น ไม่เคยร่วมประชุมลงลายมือชื่อต่อต้านพ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น

"หากมีเจ้าหน้าที่คนใดร่วมด้วย


ก็คงเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ควรใช้ชื่อโรงพยาบาลปลาปาก ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งที่ทำงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ไม่เกี่ยวกับการเมือง ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือผู้บังคับบัญชา โรงพยาบาลปลาปากก็ต้องทำตามนโยบายอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการคัดค้านอยู่ที่การเลือกตั้งมากกว่า ขณะนี้ต่างฝ่ายต่างก็ต่อต้าน ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าไม่ดีจริงก็อย่าเลือกเข้ามาบริหารหรือเป็นรัฐบาล" นพ.อลงกตกล่าว

แหล่งที่มา มติชน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์