รดน้ำปรองดอง นายกฯพบพล.อ.เปรม อีกก้าวลึกล้ำ สู่ สมานฉันท์

เป็นปรากฏการณ์ที่มีผลสะเทือนแน่นอน

นั่นคือ รายการ "รดน้ำปรองดอง" ที่นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำทีมรองนายกฯ เข้ารดน้ำดำหัวขอพรสงกรานต์ย้อนหลัง จาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่บ้านสี่้เสาฯ

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา และเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ และสื่ออื่นๆ

มีปฏิกิริยาพอใจและไม่พอใจจากฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ และหลังเหตุการณ์

พรรคประชาธิปัตย์เที่ยวนี้้พยายาม เก็บอาการ ไม่ออกตัวแรงเหมือนเมื่อครั้งรัฐบาลไปเชิญ พล.อ.เปรม มาร่วมในคอนเสิร์ต "เดินหน้าประเทศไทย"

ถึงกระนั้น อาการหวงแหน ก็ยัง "แตก" ออกมาพอให้เห็นอารมณ์ ด้วยข้อหา "สร้างภาพ"

รดน้ำปรองดอง นายกฯพบพล.อ.เปรม อีกก้าวลึกล้ำ สู่ สมานฉันท์

ความผูกพัน พล.อ.เปรมกับพรรคประชาธิปัตย์มีมายาวนาน ตั้งแต่สมัยที่ พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่าง 2523-2531

ขนาดได้รับเลือกเป็นพรรคข้างมาก เมื่อปี 2529 หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น คือนายพิชัย รัตตกุล ก็พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่พรรคอันดับสองและสามสมัยนั้นจับมือกันอ้างเป็นเสียงข้างมาก ประกาศหนุน พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ

พลพรรค ปชป.ประชุมกัน เห็นพ้องให้ตีตั๋วร่วมขบวนหนุน พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ ตามแห่ไปกับเขาด้วย ส่วนนายพิชัยก็ต้องกลายเป็นรองนายกฯไป

เป็นความผูกพันที่ยืนยาวต่อเนื่อง แม้เมื่อ พล.อ.เปรมไม่ได้อยู่ในการเมือง ย่อมทำให้เกิดความคาดหวังในทางใดทางหนึ่ง

ในการเข้าพบ พล.อ.เปรมครั้งนี้ ข่าวที่ออกมา ยังเจอเข้ากับกระบวนการ "แปลง" ข่าวสาร สร้างและขยายแง่มุมของความขัดแย้งขึ้นมา

ข่าวการเข้าพบครั้งนี้่ เปิดเผยออกมาโดยนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ ระบุว่า เป็นคณะของนายกฯกับรองนายกฯ 3 คน

แต่พูดกันไปพูดกันมา กลายเป็นนายกฯยิ่งลักษณ์จะนำ "ครม." เข้าขอพร พล.อ.เปรม

การที่ไม่มีชื่อของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และนายชุมพล ศิลปอาชา จึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมา

รวมถึง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ ที่มาจากแกนนำเสื้อแดง ก็ต้องเผชิญคำถามคาดคั้น ซึ่งไม่ว่า "ไป" หรือ "ไม่ไป" ล้วนแต่เป็น "ประเด็น" ได้ทั้งสิ้น

เป็นความพยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงความ "ไม่เหมาะไม่ควร" ในการเข้าพบ พล.อ.เปรม



อีกด้านหนึ่ง เป็นปฏิกิริยาจากกลุ่มคนเสื้อแดง

คำถามจากเสื้อแดงบางส่วน ถึงนายกฯยิ่งลักษณ์ และแกนนำเสื้อแดง ก็คือเมื่อแกนนำรัฐบาลไปหยิบยื่นไมตรีต่อกลุ่ม "อำมาตย์"

แล้วจะ "ก้าวข้าม" คนเสื้อแดงที่รอคอยการช่วยเหลือด้านคดีความจากรัฐบาลไปหรือไม่

เป็นจังหวะเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยเพิ่งแพ้เลือกตั้งแบบ 2 เด้งที่ปทุมธานี เนื่องจากคนเสื้อแดงไม่พอใจบทบาท ส.ส.ปทุมธานี ที่ลาออกไปสมัครนายก อบจ.

ทำให้กล่าวกันด้วยว่า สาเหตุหนึ่งของการที่คนเสื้้อแดง "สั่งสอน" รัฐบาลที่ปทุมธานี คือข่าวนายกฯยิ่งลักษณ์ จะเข้าพบ พล.อ.เปรม

อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาความเห็นของคนเสื้อแดงยังไม่ถึงกับเป็นเอกภาพ

เพราะคนเสื้อแดงอีกไม่น้อยที่เห็นว่า ในฐานะที่เป็นรัฐบาล งานปรองดองอันเป็นนโยบายของรัฐบาล จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากรัฐบาลตั้งป้อมไม่พูด ไม่เจรจา ไม่สร้างสัมพันธไมตรีกับใคร

และเพื่อประโยชน์ของการปรองดอง การเข้าพบ พล.อ.เปรม เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากกว่า

บางส่วนเห็นว่า เสื้อแดงไม่ได้ต่อสู้กับตัวบุคคล แต่กำลังสู้กับระบบที่ไม่เป็นธรรม

และการเข้าพบ พล.อ.เปรมของผู้นำรัฐบาลที่เสื้อแดงให้การสนับสนุน ไม่กระทบต่อแนวทางการต่อสู้

อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาจากคนเสื้อแดง ก็ทำให้เกิดการจับตาว่า ความเห็นที่แตกต่าง จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นหรือไม่

เป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับคนเสื้อแดง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ลงตัว และเป็นประเด็นที่นำไปสู่การ "เสี้ยม" ว่าเมื่อรัฐบาลได้อำนาจ ก็เปลี่ยนท่าทีต่อคนเสื้อแดง

สูตรที่ลงตัวในการปรองดอง โดยไม่เสียหลักการและไม่เสียมิตรที่ต่อสู้ร่วมกันมา เป็นโจทย์การเมืองที่รัฐบาลต้องตีให้แตก

สภาพที่เกิดขึ้น ถือเป็นกระบวนการ "ปรับตัว" ของฝ่ายต่างๆ ให้เข้ากับการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

เป็น "การเมือง" ที่เปลี่ยนไปด้วยผลการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554

ในแง่ของ พล.อ.เปรม ที่ผ่านความแตกแยกครั้งใหญ่ในชาติ เมื่อครั้งสงครามคอมมิวนิสต์ ก่อนจะยุติด้วยผลของนโยบายทางการเมือง 66/2523

ย่อมต้องมีความห่วงใยประชาชน ว่าจะต้องรับผลกระทบอย่างไรหรือไม่

การตอบรับมาร่วมในงานคอนเสิร์ตที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ก็สะท้อนถึงจิตใจที่ห่วงใย

และสร้างผลสะเทือนที่เป็นประโยชน์ในการเรียกความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ


และส่งผลดีต่อการไปเยือนญี่ปุ่นเพื่อพบปะนักลงทุนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ภายหลังจากนั้น

ในขณะที่รัฐบาลเอง เมื่อวางเป้าหมายที่จะต้องปรองดองทุกฝ่าย การเข้าพบ พล.อ.เปรม ถือเป็นสัญญาณที่ดี

ขณะที่ปฏิกิริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ถือเป็นความซับซ้อนและละเอียดอ่อนของปัญหา

สถานะความเป็นรัฐบาล ทำให้รัฐบาลมีอำนาจและมีทางเลือก

ปัญหาคือ รัฐบาลจะใช้อำนาจและจะเลือกวิธีการ ดำเนินแผนงานอย่างไร

การตัดสินใจของนายกฯและรัฐบาล จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จในการปรองดอง

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์