ย้อนรอย(อีก)คดีประวัติศาสตร์ แก้สัมปทานไทยคม

ย้อนรอย(อีก)คดีประวัติศาสตร์ แก้สัมปทาน "ไทยคม"

ย้อนรอย(อีก)คดีประวัติศาสตร์ แก้สัมปทานไทยคม

ลำดับเหตุการณ์คดีประวัติศาสตร์อีกหนึ่งคดี กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีกับพวกอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสาร ดังนี้

คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. กล่าวหา นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายไกรสร พรสุธี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงไอซีที ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ว่า อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดโดยมิชอบ

ต่อมาป.ป.ช. ได้ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องและเริ่มพิจารณาคดีตั้งแต่เดือนธ.ค. 2558 โดยใช้เวลาในการพิจารณาเกือบ 2 ปีก่อนจะพิษาคดีวานนี้(25 ส.ค. 2559)

ลำดับความเป็นมาของคดีมีดังนี้

11 ก.ย. 2543 ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ 11 ก.ย. 2534 ระหว่างกระทรวงคมนาคม และบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ข้อ 4 กำหนดให้บริษัทจะต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ เพื่อดำเนินงานตามสัญญาสัมปทาน โดยมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท และบริษัทจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ไม่น้อยกว่า 51% และต้องดำเนินการให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่รับผิดชอบตามสัญญาสัมปทานต่อกระทรวงร่วมกันและแทนกันกับบริษัท

ต่อมาได้มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ ตามสัญญาสัมปทานฯ ดังกล่าว คือ บริษัท ชินวัตรแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)

24 ธ.ค. 2546 บริษัท ชินแซทเทลไลท์ หรือ บริษัทไทยคม มีหนังสือถึงกระทรวงไอซีทีขออนุมัติลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จากเดิมไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% โดยให้เหตุผลว่าธุรกิจให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก โดยเฉพาะโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาพันธมิตรเพื่อขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็ง และมีเงินทุนเพียงพอที่จะดำเนินกิจการให้บรรลุไปได้ด้วยดี

การหาพันธมิตรหรือแหล่งเงินทุนดังกล่าว จะมีผลทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปฯ ลดลงจาก 51% เนื่องจากต้องให้พันธมิตรหรือเจ้าของแหล่งเงินทุนเข้ามามีส่วนในการถือหุ้น

9 ก.พ. 2547 สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ได้มีบันทึกถึงปลัดกระทรวงไอซีที เสนอข้อพิจารณาและความเห็นว่า การลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าวบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นฯ จะยังคงรับผิดชอบการดำเนินการตามสัญญาต่อไป ยังคงรักษาสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลสัญชาติไทย โดยไม่ขัดกับกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เห็นสมควรแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมฯ เพื่อมิให้การดำเนินการผิดข้อกำหนดของสัญญา ข้อ 4

แต่เพื่อความรอบคอบในการดำเนินการเห็นสมควรหารือสำนักงานอัยการสูงสุด และหากเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาตรวจร่างสัญญาแก้ไขก่อน

25 ก.พ. 2547 กระทรวงไอซีที มีหนังสือลงนามโดยรองปลัดไอซีที (นายไกรสร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2) หารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาข้อหารือแล้วมีหนังสือลงวันที่ 3 มิ.ย.2547 ตอบข้อหารือว่า การขอแก้ไขสัญญาโดยลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว ไม่มีกรณีที่รัฐต้องเสียประโยชน์ ไอซีทีสามารถที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุมัติ ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาได้และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาดังกล่าวด้วยแล้ว

อย่างไรก็ตาม สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้ข้อสังเกตว่า โครงการนี้ เดิมได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีว่าเป็นโครงการของประเทศ (National Project) คุณสมบัติและความเชื่อถือในฐานะและความสามารถของบริษัทผู้รับสัมปทาน จึงเป็นเงื่อนไขสาระสำคัญอย่างยิ่งของสัญญาสัมปทานนี้ จึงได้กำหนดในสัญญา ข้อ 4.2 ว่า บริษัทจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งใหม่ ไม่น้อยกว่า 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

ดังนั้น กรณีเมื่อจะพิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาข้อนี้ ซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญาและเป็นส่วนหนึ่งแห่งที่มาของการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี จึงควรที่จะนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีก่อนลงนามสัญญา

17 มิ.ย. 2547 กระทรวงไอซีที มีหนังสือลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที (นายแพทย์สุรพงษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาการลดสัดส่วนการถือหุ้นตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาฯ ข้อ 4.2

20 ส.ค. 2547 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องดังกล่าวคืนกระทรวงไอซีที โดยให้เหตุผลว่า เรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะลดเรื่องที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี

2 ก.ย. 2547 สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ จึงได้มีบันทึกโดยผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ (นายไชยยันต์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3) ถึงปลัดกระทรวงไอซีที (คุณหญิง ทิพาวดี เมฆสวรรค์) เสนอข้อพิจารณาว่า ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งผลการพิจารณาข้อหารือว่า การลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว ไม่มีกรณี ที่รัฐต้องเสียประโยชน์ กระทรวงไอซีทีสามารถที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุมัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาได้ กอปรกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา จึงเห็นควรเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที พิจารณาอนุมัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาฯ

21 ก.ย. 2547 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที (นายสุรพงษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1) ได้สั่งการท้ายหนังสือดังกล่าวข้างต้นว่าให้หารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดอีกครั้ง

24 ก.ย. 2547 กระทรวงไอซีที จึงได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งตอบข้อหารือ ตามหนังสือลงวันที่

13 ต.ค. 2547 ว่า เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่า เรื่องนี้ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาดังข้อเสนอแนะของสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงมีดุลพินิจที่จะแก้ไขสัญญาตามร่างที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจแก้ไว้ได้

14 ต.ค. 2547 สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ โดยผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ (นายไชยยันต์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3) มีบันทึกถึงปลัดกระทรวงไอซีที (นายไกรสร พรสุธี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2) นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีพิจารณาอนุมัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาฯ

18 ต.ค. 2547 นายแพทย์สุรพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ได้พิจารณาลงนามอนุมัติท้ายหนังสือดังกล่าวข้างต้น ให้แก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ตามที่เสนอ

27 ต.ค. 2547 ได้มีการลงนามแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2547

ทั้งนี้ เรื่องการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว ปรากฏต่อมาว่า เป็นหนึ่งในหลายประเด็นข้อกล่าวหาในคดีที่อัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ทรัพย์สินของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นของแผ่นดิน (คดีร่ำรวยผิดปกติ) โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ขอบคุณเนื้อหาจาก :: bangkokbiznews


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์