ยิ่งลักษณ์ชิงปฏิวัติตัวเอง! งัดพ.ร.บ.ปภ.เกทับพ.ร.ก.ฉก.

หนึ่งใน "ข้อเสนอ" ที่ยังไม่ถูก "สนองตอบ" จาก "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เพื่อกู้วิกฤตอุทกภัยที่กินพื้นที่เกือบ "ครึ่งประเทศ" หนีไม่พ้น "การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน" โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 

ข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณชนคือ "พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)" คือ "ตัวชงหลัก" ของเรื่องนี้ โดยมี "สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)" และภาคเอกชนบางส่วนให้การสนับสนุน

ทว่า ข้อมูลที่รู้เฉพาะวง "ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)" คือ "ทหาร" เป็นผู้เสนอเรื่องนี้ก่อนใคร ด้วยเพราะบรรดาแม่ทัพ-นายกองต้องขนกำลังพลกว่า 4 หมื่นนาย ใช้ยุทโธปกรณ์และเครื่องจักรต่างๆ เต็มกำลังตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแข่งกับแรงดันน้ำที่พร้อมทะลักเข้า "ใจกลางกรุง" ทุกเมื่อ

แน่นอนว่าทุกอย่างมี "รายจ่าย" และทุกอย่างมี "ขั้นตอน"

ที่สำคัญต้องมี "ผู้รับผิดชอบ"

ทำให้ความพยายาม-ความตั้งใจหลายอย่างมาล่ากว่าที่ควรจะเป็น


อย่าได้แปลกใจหาก "พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา" รมว.กลาโหม จะส่งสัญญาณถึงรัฐบาลให้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยเหตุผลที่ว่า "ในเรื่องของสายการบังคับบัญชาก็อาจจะสั้นลง การปฏิบัติก็สั่งการได้ทันที"

เพราะการรับมือกับ "มหาอุทกภัย" ช้าไปเพียงวินาทีเดียว ก็หมายถึงสายเกินไปเสียแล้ว

หากไล่ดูเนื้อหาของ "กฎหมายพิเศษ" ฉบับนี้ สามารถนำมาใช้บังคับได้ในกรณีเกิดภัยพิบัติ ไม่ได้เป็นเครื่องมือรับมือกับภัยต่อความมั่นคงต่อรัฐ หรือภัยก่อการร้ายเพียงอย่างเดียว

โดยการประกาศ "นายกรัฐมนตรี" สามารถบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับของทุกกระทรวงได้ และสามารถเรียก "เจ้าพนักงาน" มาปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที หากใครละเว้นการปฏิบัติงาน ถือว่ามีความผิดทันที

ในสถานการณ์น้ำท่วม หาก "นายกรัฐมนตรี" ประกาศใช้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" จะต้องตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการ" และ "หัวหน้าผู้รับผิดชอบ" ขึ้นมา ซึ่งไม่จำเป็นต้องสถาปนา "นายพล" หน้าไหนขึ้นเป็นหัวหน้าศูนย์ หรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบ เพราะสามารถยกโครงสร้าง ศปภ. มาใส่ได้เลย


ยิ่งลักษณ์ชิงปฏิวัติตัวเอง! งัดพ.ร.บ.ปภ.เกทับพ.ร.ก.ฉก.


แต่จุดสำคัญคือ ศปภ. ภายใต้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" จะมีอำนาจเรียก "ทุกหน่วยงาน" มาปฏิบัติงานได้ทันที โดยไม่มีสิทธิอิดออด

ถือเป็นการ "ติดดาบ" ให้ "ศปภ." ซึ่งกำลังถูกค่อนขอดอย่างหนักว่าเป็น "ศูนย์ปั่นป่วนผู้ประสบภัย" จากทีมงาน "ปลอดประสพ (การณ์)"

"ข้อดี" ที่จะเกิดขึ้นทันทีที่งัด "กฎหมายพิเศษ" นี้มาใช้คือ

หนึ่ง การบริหารจัดการของ ศปภ. จะรวดเร็วขึ้น เพราะสามารถเรียกหัวหน้าหน่วยมาสั่งการได้โดยตรง

สอง การบริหารจัดการพื้นที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งเรื่องการอพยพผู้คนออกจากพื้นที่เสี่ยง การลดความขัดแย้งกรณีชาวบ้านไม่ยอมให้เปิด-ปิดประตูระบายน้ำ การควบคุมอาชญากรไม่ให้ออกอาละวาด ฯลฯ

สาม การบริการจัดการด้านงบประมาณจะคล่องตัวขึ้น ไม่ต้องรออนุมัติ-อนุญาตตามประกอบพิธีกรรมของทางราชการ แต่จะมีคณะกรรมการกลาง เนื่องจากงบประมาณที่เบิกจ่ายต้องรายงานต่อรัฐสภา

สี่ การบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารจะมีระบบระเบียบขึ้น โดยสามารถสั่งปิดช่องทางการสื่อสาร "ข่าวมั่ว-ข่าวลือ" ได้ทันที เพื่อลดความแตกตื่นในหมู่ประชาชน


ส่วน "ข้อเสีย" คือ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" มี "อานุภาพ" ทำลายภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศ เนื่องจากนักลงทุนทั้งไทยและเทศยังติดภาพว่ากฎหมายดังกล่าวคือ "สัญลักษณ์ของความรุนแรง" ด้วยการใช้กำลังทหาร

แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือรัฐบาลเองที่อาจ "ไม่วางใจ-ไม่เชื่อมั่น" จะเพิ่มอำนาจให้กองทัพ ไม่เช่นนั้นคงไม่ส่ง "แกนนำเสื้อแดง" ออกมาแหย่ข่าวข้างๆ คูๆ ว่าทหารจ้องปฏิวัติ

เสริมด้วยเสียงยุยงส่งเสริมของ "พรรคประชาธิปัตย์"

ทำให้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี หันไปงัดเอา "มาตรา 31" ของ "พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย" พ.ศ.2550 มาเป็น "เครื่องมือ" ต่อสู้กับภัยธรรมชาติแทน

โดยหลักใหญ่ใจความของกฎหมายดังกล่าว เป็นการดึงอำนาจในการสั่งการให้มาอยู่ที่ "นายกรัฐมนตรี"

จริงอยู่ที่มาตรา 31 สามารถ "ปลดล็อก" ปัญหาในทางการเมืองให้รัฐบาลได้

ทว่า เป็นการตอกย้ำปัญหาเรื่องการบริหารจัดการว่ามีอยู่จริง

เป็นการตอกย้ำว่า "นายกรัฐมนตรี" มิอาจใช้ "อำนาจ-วาสนา-บารมี" ที่มีอยู่เพื่อเรียก-ระดมความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ได้ ถึงต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง

หรือพูดง่ายๆ ว่าชิงปฏิวัติตัวเอง

ท้ายที่สุด "วิกฤตซ้อนวิกฤต" ที่เกิดขึ้นกลาง "วารีพิบัติ" อาจไม่ได้เกิดจากปัญหาว่าจะใช้ "กฎหมาย" ฉบับไหนเป็นเครื่องมือ แต่เกิดจาก "ประสิทธิภาพ" ของผู้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายมากกว่า!!!

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์