ยันทักษิณไม่ดิ้นคิดกลับเมืองไทย

แฉ"ข่าวปล่อย"ไม่มีคิวนัดพบกับนายกฯที่จีน


ทรท.ดิ้นพล่านโต้ข้อหากวนคลื่นใต้น้ำ จตุพรโวยไม่เป็นธรรมกล่าวหาโดยไร้พยานหลักฐาน ข้องใจเป็นข้ออ้างคงกฎอัยการศึกหรือไม่ ศิธาเผยคงต้องเข้าพบคมช.เพื่อขอข้อมูล ตามหาสมาชิกพรรคปากอยู่ไม่สุขว่าเป็นใครจะได้จัดการ ด้านปชป.จี้ต้องเร่งจูนทัศนคติประชาชนให้เข้าใจเหตุผลยึดอำนาจ สยบ คลื่นใต้น้ำ กระเพื่อมหนัก ฝ่าย นพดล ยืนยัน ทักษิณ ยังไม่ดิ้นคิดกลับเมืองไทย

วอนให้เชื่อคำพูดนายกฯไม่มีคิวนัดพบที่เมืองจีนแน่นอน ขณะที่ โสภณ โต้แทน สมศักดิ์ เปล่าชเลียร์ บิ๊กบัง เป็นนิสัยนอบน้อมอยู่แล้ว เจ๊เป้า ปัดจีบทหารตั้งพรรคการเมือง เผยพรรคใหม่คลอดแน่เมื่อถึงเวลา ครป.ชำแหละนโยบายรัฐบาลไม่เป็นรูปธรรม จี้ออกภาค 2 เน้นปฏิบัติ ขู่ฟ้องศาลปค. มิ่งขวัญ คัมแบ็กอสมท. สธ.เตรียมประชุมพิจารณานโยบายประกันสุขภาพ ปชป.หนุนปฏิรูปใหม่ เอแบคโพลรายงานภาพลักษณ์รัฐบาลสอบผ่าน ส่วนสนช.ชาวบ้านเชื่อยังเข้าไม่ถึงปัญหาความเดือดร้อน

ยืนยัน"ทักษิณ"ไม่ดิ้นกลับ


เมื่อวันที่ 29 ต.ค. นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธกระแสข่าวพ.ต.ท.ทักษิณ ติดต่อขอเข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ระหว่างเดินทางปฏิบัติภารกิจที่ประเทศจีนเพื่อขอเดินทางกลับประเทศไทยว่า ไม่เป็นความจริง ข้อเท็จจริงเป็นไปตามพล.อ.สุรยุทธ์ พูดคือไม่มีการติดต่อขอเข้าพบจากอดีตนายกฯ และระดับนายกฯออกมายืนยันเช่นนี้แล้วน่าจะเชื่อถือได้

นายนพดล กล่าวอีกว่า ข่าวลือพ.ต.ท. ทักษิณ จะเดินทางกลับประเทศในระหว่างนี้เกิดขึ้นเยอะมากไม่รู้จะตามแก้อย่างไรไหว คิดว่าคนปล่อยข่าวต้องการให้เกิดความสับสนในสังคม ทั้งนี้ ถ้ามากเกินเหตุคงต้องออกมาชี้แจงให้ประชาชนทราบอย่างเป็นทางการเพื่อไม่ให้เกิดการสับสน แม้ว่าหลังจากตนเปิดแถลงข่าวครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมาจะไม่ได้ติดต่อกับพ.ต.ท.ทักษิณ อีกเลย ตนยืนยันได้ว่าพ.ต.ท. ทักษิณ จะยังไม่เดินทางกลับประเทศไทยในเร็ว ๆ นี้แน่นอน

จี้จูนทัศนคติสยบคลื่นใต้น้ำ


ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้าม ไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาอดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษว่า กรณีนี้เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ที่เพิ่งเกิดการยึดอำนาจ และคนที่เข้าไปพบ ก็มีฐานะถึงภริยาอดีตนายกฯ ย่อมทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปในทิศทางต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ การที่พล.อ.เปรม อนุญาตให้คุณหญิงพจมาน เข้าพบนั้น น่าจะเป็นเรื่องของความเมตตาอารีและถามสารทุกข์สุกดิบกัน โดยไม่ได้หวังผลทางการเมืองใด ๆ ส่วนคุณหญิงพจมาน มีเจตนาใดนั้น ต้องให้เวลาพิสูจน์ว่าจะหวังผลใดหรือไม่

นายองอาจ กล่าวว่า จากนี้ต่อไปรัฐบาล และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ต้องใช้แนวทางประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อเร่งทำให้ประชาชนในประเทศเข้าใจอย่างถูกต้องถึงเหตุผลที่ คมช.เข้ามายึดอำนาจในรัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ ถ้ารัฐบาลและ คมช.ไม่เร่งดำเนินการส่วนนี้ จะทำให้ประชาชนที่ไม่เข้าใจ ก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำในรูปแบบต่าง ๆ ได้ ส่วนข่าวความพยายามจะเดินทางกลับประเทศของพ.ต.ท. ทักษิณ ถึงขนาดมีข่าวว่าจะไปดักพบพล.อ.สุรยุทธ์ ที่ประเทศจีน คงเป็นเพียงความเคลื่อนไหวทางการเมืองรูปแบบหนึ่งเท่านั้น เชื่อว่า คมช.จะสกัดกั้นไม่ให้ระบอบทักษิณกลับคืนมาได้

"โสภณ"โต้แทนชเลียร์"บิ๊กบัง"


นายโสภณ เพชรสว่าง อดีต ส.ส. บุรีรัมย์ พรรคไทยรักไทย กลุ่มวังน้ำยม กล่าวถึงกรณีสื่อมวลชนนำภาพถ่ายที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ไหว้ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. ด้วยท่าทีนอบน้อมระหว่างร่วมเล่นฟุตบอล มาล้อเลียนและวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นนักการเมืองที่แปร สภาพได้รวดเร็วว่า คนคิดมากกันไปเอง ปกตินายสมศักดิ์เป็นคนนอบน้อมอยู่แล้ว การเล่นฟุตบอลก็เป็นปกติเพราะนายสมศักดิ์เล่นกับทั้งข้าราชการและสื่อมวลชนเป็นประจำ การเล่นฟุตบอลดังกล่าวไม่มีนัยทางการเมืองและไม่เกี่ยวกับทหารจะตั้งพรรคการเมือง

นายโสภณ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการตั้งพรรคการเมืองใหม่ซึ่งมีกลุ่มวังน้ำยมเป็นแกนหลักว่า ตามที่มีสมาชิกไปบอกว่าจะใช้ชื่อพรรคเสรีไทยนั้นความจริงยังไม่ชัดเจน ส่วนหัวหน้าพรรคแนวโน้มถึง 60 เปอร์เซ็นต์นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยจะมารับตำแหน่ง และมีอดีตแกนนำคนสำคัญในพรรคไทยรักไทยเข้าร่วม และคาดว่าจะมีอดีตส.ส. พรรคไทยรักไทยเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 150 คน

"เจ๊เป้า"ปัดจีบทหารตั้งพรรค


นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน อดีต ส.ส. สุโขทัย พรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกลุ่มวังน้ำยมเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในชื่อเสรีไทยว่า ขณะนี้มีเพียงการพูดคุยกันไว้ก่อน เพราะยังมีเวลาอีกนาน โดยจะรอดูว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาในรูปแบบใด การที่กลุ่มวังน้ำยมออกจากพรรคไทยรักไทยไม่ใช่เพราะมีปัญหากับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ต้องการให้สถานการณ์เบาบางลง ถ้าเรากอดคอกัน ฝ่ายที่ไม่ชอบจะออกมาต่อต้านปัญหาจะไม่จบ แต่เมื่อออกมาแล้วจะให้อยู่เฉยก็ไม่ได้จึงต้องการมีการพูดคุยเพื่อวางแผนกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ส่วนกรณีที่มีข่าวนายสมคิด ถูกดึงตัวมาเป็นหัวหน้าพรรคเสรีไทยนั้น นางอนงค์วรรณ กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุยอะไรกันเป็นพิเศษ สำหรับการตั้งพรรคใหม่เพราะส.ส.หลายคนเห็นพ้องกันว่าควรตั้งพรรคใหม่ดีกว่าไปรวมกับพรรคอื่น พวกตนไม่ค่อยถนัดนัก เราอยากอยู่ของพวกเรากันเอง ต่อข้อถามว่า มีกระแสข่าวว่าทางกลุ่มจะดึงพล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหมในฐานะเลขาธิการ คมช. มาร่วมด้วยนั้น ตนขอปฏิเสธว่าไม่เคยคุยกันและไม่เคยเจอกัน ไม่รู้ว่าใครปล่อยข่าว คาดว่าอาจต้องการโยงให้เหมือนในอดีตที่พรรคการเมืองดึงทหารเข้ามาเกี่ยว ทำให้เกิดการต่อต้าน ยืนยันว่าตนและนายสมศักดิ์ไม่มีการพูดคุย

ทรท.ปฏิเสธกวนคลื่นใต้น้ำ


นายจตุพร พรหมพันธุ์ รองโฆษกพรรคไทยรักไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 ต.ค. เวลา 10.00 น. จะมีการประชุมร่วมระหว่างคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักไทย อดีต ส.ส. พรรคที่เคยทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ฉบับปี 2540 และสมาชิกที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยจะมีการหยิบยกรัฐธรรมนูญปี 2540 มาศึกษาว่ามีประเด็นใดที่ควรแก้ไขและคงไว้ เพื่อจะนำเสนอต่อรัฐบาลและคมช.และสาธารณชน ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคได้เสนอความเห็นแล้วว่าควรนำรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นแบบการยกร่างฉบับใหม่

รองโฆษกพรรคไทยรักไทย ยังกล่าวอีกว่า ตนขอเรียกร้องให้ คมช.และรัฐบาลนำพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคลื่นใต้น้ำมาเปิดเผยต่อประชาชน เพราะที่ผ่านมามีแต่ข้อกล่าวหาแต่ไม่เคยปรากฏพยานหลักฐานใด ๆ จึงไม่ทราบว่าเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อคงกฎอัยการศึกไว้หรือไม่

"บิ๊กแอ้ด"ชาร์จแบตก่อนไปจีน


ส่วน น.ต.ศิธา ทิวารี รักษาการโฆษกพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า หากยังมีการให้ข่าวในลักษณะพรรคไทยรักไทยอยู่เบื้องหลังคลื่นใต้น้ำ ต่อต้านรัฐบาลและ คมช. อยู่อีก พรรคคงจะขอให้มีการพูดคุยในแนวทางสมานฉันท์กับผู้ที่ให้ข่าวและอาจเป็น คมช. หรือรัฐบาลก็ได้ เนื่องจากพรรคอยากได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าสมาชิกพรรครายใดไปเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าว เพื่อพรรคจะได้จัดการให้เพราะจะนำเรื่องคลื่นใต้น้ำ มาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อไม่ยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วมาโยนบาปให้พรรคไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวัน พล.อ. สุรยุทธ์ ได้เก็บตัวเงียบอยู่ในบ้านพักหมู่บ้านรอยัล กอล์ฟ เขตลาดกระบัง โดยผู้ใกล้ชิดเปิดเผยว่านายกฯขอพักผ่อนอยู่กับบ้าน เนื่องจากปฏิบัติภารกิจมาตลอดทั้งสัปดาห์โดยไม่ได้หยุดพัก อีกทั้งในวันที่ 30 ต.ค. ยังต้องเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศจีนด้วย

ครป.ชำแหละนโยบายรัฐบาล


ที่สำนักงานคณะกรรมการเพื่อประชา ธิปไตย (ครป.) นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. แถลงข่าวในหัวข้อ "ครป.ชำแหละนโยบายรัฐบาลสุรยุทธ์" ตอนหนึ่งว่า นโยบายของรัฐบาลในภาพรวมสะท้อนแนวคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่ขัดกับอัตลักษณ์พื้นฐานของรัฐบาลชุดนี้ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นรัฐบาลอำมาตยาธิปไตย อาจไม่ลงตัวกับอุดมการณ์พื้นฐานของรัฐบาลชุดนี้ จนบางนโยบายที่ก้าวหน้าอาจไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมได้ ภาพรวมของนโยบายของรัฐบาลยังเป็นนามธรรม ติดอยู่กับหลักภาษาและวาทกรรม ไม่เห็นแผนงานและกรอบเวลาที่ชัดเจน จึงขอเสนอให้ รมต.ต้องเร่งแปรนโยบายที่เป็นนามธรรมเหล่านี้ไปสู่แผนปฏิบัติการ

นายพิภพ ธงไชย ประธาน ครป. กล่าวว่า รัฐบาลต้องตระหนักว่ามาจากการรัฐ ประหาร แต่การเขียนนโยบายเขียนเหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ต้องอยู่ถึง 4 ปี ซึ่งแนวนโยบายไม่ชัดเจนว่าจะจัดการกับองค์กรที่เป็นสาเหตุแห่งการใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ ดังนั้นควรจะมีนโยบายภาค 2 ที่เป็นภาคปฏิบัติ นอกจากนี้ยังไม่นำกฎหมายที่มีอยู่จัดการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งยังมีคนที่เคยรับใช้ระบอบทักษิณ ข้าราชการ นายตำรวจ ยังคงเติบโตในหน้าที่ต่อไป บางคนเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ การอ้างว่าจำเป็นต้องใช้คนเก่าแต่งานล่าช้าก็ทำให้สงสัย

ขู่ฟ้องอสมท"มิ่งขวัญ"คัมแบ๊ก


สำหรับกรณีที่นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ เปิดไฟเขียวให้นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ อดีตบอร์ด อสมท เข้ามาสมัครในตำแหน่ง ผอ.อสมท อีกนั้น นายสุริยะใส กล่าวว่า คมช. ต้องยุติสัญญาณที่จะสร้างความสับสน อย่าทำให้เกิดสภาพความเป็นสีเทา การที่จะเปิดไฟเขียวให้นายมิ่งขวัญมาสมัคร เป็นการส่งสัญญาณที่ทำให้เห็นว่า คมช.ไม่ได้มีความรู้สึกว่า นายมิ่งขวัญ ทำความผิดอะไรเลย ต่อให้นายมิ่งขวัญมีสิทธิมาลงสมัครใหม่ความชอบธรรมก็หมดลงแล้วตั้งแต่ไปรับใช้ระบอบทักษิณ ถ้านายมิ่งขวัญสมัครทาง ครป.จะยื่นคัดค้านกับบอร์ด อสมท และนายธีรภัทร์ ถ้าจำเป็นจริง ๆ ครป. และองค์กรผู้บริโภคอาจจะยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อเอา อสมท คืนมาเหมือนกับ ปตท.

นอกจากนี้ นายสุริยะใส ยังกล่าวถึงกรณีกระแสการบล็อกโหวตการสรรหาสมาชิก สมัชชาแห่งชาติว่า ข่าวที่เกิดขึ้นทำให้ตนไม่สบาย ใจ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการกำกับดูแลการสรร หาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (กดส.) ที่ตั้งมาต้องเข้าไปตรวจสอบว่าเป็นเหมือนที่สื่อนำเสนอจริงหรือไม่ เพราะตนเองก็ได้ยินข่าวเช่นกันทำนองว่าบางจังหวัดได้มีการคัดเลือกคนได้เสร็จหมดแล้ว หากไม่ดำเนินงานอย่างเด็ดขาดก็จะได้กลุ่มอำนาจเก่าเข้ามาและครอบงำรัฐธรรมนูญเหมือนเดิม

ปชป.หนุนสธ.ปฏิรูป 30 บาท


นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ และคณะทำงานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นพ.มงคล ณ สงขลา รมว. สาธารณสุข จะเสนอครม.พิจารณายกเลิกการเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากประชาชนครั้งละ 30 บาท แต่จะให้การรักษาพยาบาลฟรีว่า พรรคสนับสนุนนโยบายนี้เนื่องจากเป็นแนวทางเดียวกับพรรค นอกจากนี้ขอเสนอให้สร้างระบบการบริหารจัดการงบประมาณที่ใช้ในโครงการสุขภาพดีถ้วนหน้าใหม่ ให้อุดหนุนเงินงบประมาณค่ารักษาพยาบาลไปยังสถานพยาบาลโดยตรง และให้นำระบบประกันภัยในลักษณะประกันสุขภาพมาใช้ให้รัฐจ่ายเบี้ยประกันภัยสุขภาพให้กับบริษัทประกันของรัฐแทน

นพ.มงคล กล่าวถึงการประชุมเพื่อปรับปรุงโครงการหลักประกันสุขภาพหรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคในวันที่ 30 ต.ค. ว่า คงต้องทบทวนเพราะเดิมบัตรผู้มีรายได้น้อยก็ออกบัตรไม่ถึงมือคนจนจริง มาเป็นบัตรทอง คนที่ไม่เสียเงินกลายเป็นคนรวย ความเป็นธรรมไม่มี ดังนั้นต้องสำรวจประชากรใหม่เพื่อสร้างความเป็นธรรม

โพลชี้ภาพลักษณ์รัฐบาลผ่าน


ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "อารมณ์ความ รู้สึกเบื้องต้นของสาธารณชนต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ เปรียบเทียบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และภาพลักษณ์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ : กรณีศึกษาประชาชนในเขตกรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และชลบุรี" โดยสำรวจ 1,864 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-28 ต.ค. พบว่าในเรื่องของการประเมินภาพลักษณ์เบื้องต้นระหว่าง พล.อ.สุรยุทธ์ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ระบุภาพลักษณ์ของนายกฯคนใหม่ดีเหมือนเดิมถึงดีขึ้นในทุกตัวชี้วัด เช่น ร้อยละ 65.1 ระบุความเป็นที่ไว้วางใจได้ ร้อยละ 63.2 ระบุด้านคุณธรรม เป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 60.2 ให้ความเชื่อมั่นต่อนายกฯคนใหม่

อย่างไรก็ตาม ด้านที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนต่ำกว่าทุกด้านคือ ความรวด เร็วในการแก้ไขปัญหา และภาพลักษณ์ของคนแวดล้อมใกล้ชิดที่ต้องระมัดระวัง นอกจากนี้ ประชาชนเกินกว่าร้อยละ 50 ที่ระบุว่า ครม.ชุดปัจจุบันของ พล.อ.สุรยุทธ์ มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในเรื่องของการไม่ต้องมีพิธีรีตอง ไม่ต้องมีคนห้อมล้อมมากมาย ไม่ต้องมีรถนำขบวนมากมาย และเป็นคนดีมีคุณธรรม

สนช.ยังเข้าไม่ถึงประชาชน


สำหรับภาพลักษณ์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร้อยละ 57.9 เห็นว่าสมาชิกสภาฯที่มาจากการเลือกตั้ง เข้าถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ส่วนสภาฯที่มาจากการแต่งตั้งได้เพียงร้อยละ 20.7 ในขณะที่ร้อยละ 48.1 เห็นว่าสภาฯจากการเลือกตั้งมีความโปร่งใสและร้อยละ 49.3 เห็นว่าตรวจสอบได้ แต่สภาฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง มีเพียงร้อยละ 24.1 และร้อยละ 29.4 เท่านั้น และประชาชนร้อยละ 55.8 เห็นว่า สภาฯ จากการเลือกตั้งฟังเสียงประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในขณะที่สภาฯที่มาจากการแต่งตั้ง มีเพียงร้อยละ 24.0 เป็นต้น

นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 56.3 เห็นว่า สภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนและพวกพ้อง มีเพียงร้อยละ 18.2 ที่เห็นว่า สภาฯ ที่มาจากการแต่งตั้งเอื้อประโยชน์ให้นายทุน ในขณะที่ประชาชน จำนวนมาก หรือร้อยละ 40.5 เห็นว่าไม่มีสภาฯใดเลยที่จะกล้าออกกฎหมายกระทบผลประโยชน์ของตนเองและเอาผิดพวกพ้องของตน.


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์