ยงยุทธ ติยะไพรัช ก่อคลื่นกระทบ พปช.

คอลัมน์ โครงร่างตำนานคน โดย การ์ตอง--ด้วยเหตุนี้เอง การลาออกของ "นายยงยุทธ ติยะไพรัช" จึงไม่เพียงจะทำให้ประชาชนได้เห็นว่า พรรคพลังประชาชนทำงานการเมืองเพื่อเป็นตัวแทนของประเทศชาติโดยรวม หรือทำหน้าที่ได้แค่ประสานประโยชน์ให้กลุ่มการเมืองในสังกัด

ไม่ว่าจะด้วยสปิริตในฐานะผู้ที่มีคดีขึ้นศาลจนต้องพักการทำหน้าที่ หรือเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญดำเนินไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วได้ เมื่อนายยงยุทธ ติยะไพรัช ลาออกจากตำแหน่ง "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" ส่งผลที่เกิดขึ้นทันทีคือ คลื่นความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชาชน

ใครจะมานั่ง "ประธานสภาผู้แทนราษฎร"

แน่นอนต้องเป็นคนจากพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรคเสียงข้างมาก

แต่คนคนนั้นควรจะเป็นใคร จะจัดสรรกันด้วยวิธีคิดแบบไหน

ตรงนี้เป็นความละเอียดอ่อน

ละเอียดอ่อนเพราะตำแหน่ง "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" จะต้องทำหน้าที่ "ประธานรัฐสภา" อันถือเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ 1 ใน 3 ประมุขของสถาบันหลักในระบอบประชาธิปไตย

ถือเป็นตำแหน่งที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ พัฒนาการของประชาธิปไตยไทยเป็นอย่างไร สะท้อนจากคุณสมบัติของผู้ได้รับเลือกมาเป็นประธานรัฐสภา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนทั่วไป

โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความรู้ ย่อมคาดหวังว่าพรรคพลังประชาชนจะเลือกบุคคลที่มีภาพสง่างาม เป็นผู้มีความรู้ ความคิด และพฤติกรรมพอที่จะอวดหน้าตากับแขกบ้านแขกเมืองได้ มีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่จะเป็น "ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ" โดยได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

ซึ่งหากจะเป็นเช่นนั้นได้ ผู้นำและสมาชิกพรรคพลังประชาชนจะต้องมีสำนึกไปในทางที่เห็นแก่ประเทศมากกว่าเห็นแก่ตัวเองและพวกพ้อง

ใช้เหตุผลเลือกคนให้เหมาะกับงาน ตัดทิ้งเหตุผลอื่นไปก่อน

เพียงแต่ในความจริงเป็นเช่นนั้นได้หรือ ด้วยโครงสร้างพรรคพลังประชาชนนั้นเป็นการแบ่งสรรโควต้าให้กับกลุ่มการเมืองที่มารวมตัวกัน ตามแต่กลุ่มไหนจะมีอำนาจการต่อรองมากกว่า

โอกาสที่จะใช้เหตุผลเรื่องอิทธิพลของกลุ่มมาก่อนความเหมาะสมเรื่องคุณสมบัติมีสูงยิ่ง

นี่คือผลกระทบในวงกว้าง

แต่เอาเข้าจริงไม่ใช่แค่นั้น กลุ่มอิทธิพลในพลังประชาชนมีมากมายหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มต่างพยายามผลักดันคนในกลุ่มของตัวเองให้มามีตำแหน่งประมุขสถาบันสำคัญของระบอบประชาธิปไตยนี้

ซึ่งโดยธรรมชาติของการช่วงชิง ไม่ว่าจะช่วงชิงอะไรก็ตามย่อมสร้างความเป็นฝักฝ่าย ขยายความไม่พอใจในกันและกันให้เกิดขึ้นมา มากกว่าที่จะก่อให้เกิดการหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียว

ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ภายในพรรคพลังประชาชนเริ่มฉายภาพความแตกแยกกันชัดเจนขึ้น และมีทีท่าจะรุนแรงขึ้น

การเลือก "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" แทน "นายยงยุทธ ติยะไพรัช" ซึ่งชัดเจนว่าแต่ละกลุ่มต่างพยายามผลักดันคนในกลุ่มตัวเองให้ขึ้นมาเป็นแทน

ผลักดันด้วยท่าทีที่รุนแรงขึ้น

ด้วยเหตุนี้เอง การลาออกของ "นายยงยุทธ ติยะไพรัช" จึงไม่เพียงจะทำให้ประชาชนได้เห็นว่า พรรคพลังประชาชนทำงานการเมืองเพื่อเป็นตัวแทนของประเทศชาติโดยรวม หรือทำหน้าที่ได้แค่ประสานประโยชน์ให้กลุ่มการเมืองในสังกัด

แต่ยังทำให้ภายในพรรคพลังประชาชนขัดแย้งกันรุนแรงยิ่งขึ้น หากไม่จัดการให้ดี


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์