ยกฟ้อง44จำเลยคดีทุจริตกล้ายางฯ ชี้มติ 8-1 เนวินไม่ผิด

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง  เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่  21 กันยายน

นายบุญรอด ตันประเสริฐ ประธานแผนกคดีเลือกตั้ง เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะรวม 9 คน พิพากษายกฟ้องคดีหมายเลขดำ อม.4/2551 ที่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายรัฐ ( คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร คชก. จำเลยที่ 1 , นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ที่ 2  , นายสรอรรถ กลิ่นปทุม อดีต รมว.เกษตรฯ ที่ 3 , นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ จำเลยที่ 4 , นายอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ ที่ 5 ในฐานะกรรมการ คชก. , คณะกรรมการบริหารโครงการ ( กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา และบริษัทเอกชน ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประกวดราคา , บริษัท รีสอร์ตแลนด์ จำกัด ผู้ร่วมเสนอราคา และบริษัทเอกเจริญ การเกษตร จำกัด ผู้ร่วมเสนอราคา เป็นจำเลยที่ 6 - 44 
 

โดยยื่นฟ้องในความผิดฐาน เป็น เจ้าพนักงาน และผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต

ประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ที่โทษจำคุก 1- 10 ปี หรือ ปรับ 2,000 – 20,000 บาท  , เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใด ๆ ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ม.151 ที่มีโทษจำคุก  5- 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000 – 40,000 บาท , พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 10 , 13 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 และ ผู้ใดหลอกลวงแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรแจ้ง เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามหรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 341 ประกอบมาตรา83 และ 86 และโจทก์ขอให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายด้วยจำนวน 1,349,684,361.96 ล้านบาท ซึ่งคดีนี้จำเลยทั้ง  44 ให้การปฎิเสธ


ผู้สื่อข่าวรายงานการอ่านคำพิพากษาครั้งนี้ เลื่อนมาจากวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องจากนายอดิศัยจำเลย ไม่ได้มาร่วมฟังคำพิพากษาและศาลให้ออกหมายจับ

พร้อมปรับเงินประกัน 1 ล้านบาท และในครั้งนี้นายอดิศัยก็ไม่มาฟังคำพิพากษาเช่นกัน แต่ยื่นคำร้องขอเลื่อนผ่านทนายความและให้ศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย  ขณะที่จำเลยคนอื่นๆ อาทิ  นายเนวิน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายสรอรรถ กลิ่นปทุม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   รวมทั้งผู้บริหารบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ มากันครบ


จากนั้นศาลอ่านคำพิพากษามีใจความสรุปว่าศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย

นายเนวิน จำเลยที่ 4 นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จำเลยที่ 19 มีความผิดฐานเป็นผู้ริเริ่มโครงการโดยปกปิดข้อเท็จจริงทำให้รัฐได้รับข้อเสียหาย หรือไม่ ซึ่งเห็นว่าโครงการกล้ายาง เป็นการริเริ่มจากนโยบายรัฐ สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมุ่งสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างการปลูกยางพาราในประเทศ ทั้งยังมีรายงานการศึกษา แนวทางปฏิรูปยางพาราไทย เพื่อรองรับตลาดยางโลก หาใช่ความคิดเห็นของจำเลยที่ 4 ,จำเลยที่ 19 เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น จำเลยที่ 4 ,จำเลยที่ 19 ไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง ไม่ต้องชดใช้งบประมาณทั้งหมดคืนรัฐ


ศาลฎีกาฯยังพิเคราะห์ส่วนจำเลยที่ 1-3 และจำเลยที่ 5-8 ประกอบไปด้วยคณะรัฐมนตรีและข้าราชการ กลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)

ซึ่งนายสมคิด ในฐานะประธาน คชก., นายวราเทพ  ในฐานะ คชก., ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ, นายสรอรรถ  และ นายอดิศัย  และข้าราชการระดับอธิบดีหลายกระทรวงที่รวมอยู่ในคณะกรรมการของกระทรวง โดยมีมติอนุมัติงบประมาณ 1,440 ล้านบาท ที่ซื้อกล้ายาง โดยฝ่าฝืนมติ คชก.เดิม ที่ห้ามมิให้ช่วยเหลือกิจการยางพารา ที่มีมาตรการตามกฎหมายช่วยเหลือเป็นระบบอยู่แล้ว แนวทางนำสืบเห็นว่า ข้อกำหนด ห้ามมิให้ช่วยเหลือดังกล่าว น่าจะเป็นการห้ามมิให้ช่วยเหลือในรูปแบบที่มีข้อกำหนดคุ้มครองช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่หากเป็นการช่วยเหลือในลักษณะอื่นย่อมสามารถทำได้ การกระทำของจำเลยกลุ่ม คชก.ไม่เข้าข่ายการกระทำผิดตามฟ้องของโจทก์
 

ศาลฎีกาฯยังพิเคราะห์ถึงส่วนกลุ่มข้าราชการที่เป็นผู้กำหนดเงื่อนไข และคณะกรรมการประกวดราคาโครงการกล้ายาง ศาลเห็นว่าในทางนำสืบพบว่า

มีขั้นตอนการกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์ในการประกวดราคา โดยเปิดกว้างไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติ เพื่อกีดกันผู้ประกวดราคารายใด รายหนึ่ง จึงเป็นการปฏิบัติเป็นไปตามหน้าที่ พิพากษายกฟ้องเช่นกัน และในส่วนของกลุ่มบริษัทเอกชน ที่มี 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี, บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และ บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด ศาลพิพากษายกฟ้อง
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายอดิศัย  ที่ก่อนหน้านี้ถูกศาลออกหมายจับเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลังไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาครั้งแรกนั้น ศาลฎีกา ฯ มีคำสั่งให้เพิกถอนจับดังกล่าวหลังวันนี้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 44


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์