ยกพระราชดำรัสวิธีแก้ปัญหาชายแดน

"ไชยวัฒน์"ประกาศพักม็อบพร้อมเคลื่อนใหม่ "อภิสิทธิ์"ยกกระแสพระราชดำรัสแนวทางแก้ปัญหาชายแดน"ขอให้แก้ปัญหาฉันมิตร" กลางเวทีถกแก้ปัญหาพระวิหาร พร้อมวอนทุกฝ่ายหยุดทะเลาะกัน และหันมาช่วยกัน อย่าทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามหัวเราะเยาะ


(8ส.ค.) การจัดรายการพิเศษเพื่อชี้แจงกรณีเขาพระวิหารและเขตแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งถ่ายทอดสดทางช่อง 11 เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อเวลาประมาณ 10.20 น. โดยการชี้แจงเริ่มย้อนความเป็นมาของปัญหาเริ่มจากคดีปราสาทพระวิหาร ที่กัมพูชานำขึ้นฟ้องศาลโลกในปี 2502 ซึ่งศาลโลกตัดสินในปี 2505 เพียงว่า ปราสาทพระวิหารอยู่บนอธิปไตยของกัมพูชา แต่ไม่ได้กล่าวถึงแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ที่ฝ่ายกัมพูชาแนบท้ายคำฟ้องเป็นภาคผนวกที่ 1 ซึ่ง นายสมปอง สุจริตกุล อดีตทนายความคดีปราสาทพระวิหาร ย้ำว่า ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยมีคำพิพากษาว่าแผนที่ดังกล่าวใช้ไม่ได้ เพราะขัดหลักสันปันน้ำ ไม่เป็นไปตามอนุสัญญา 1904 และ สนธิสัญญา 1907

หากคำพิพากษาหลักไม่ได้พูดถึง ถือว่าคำพิพากษาเสียงข้างน้อยเป็นคำพิพากษา หลังจากนั้นพูดถึงการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ซึ่งฝ่ายรัฐบาลโดยนายสุวิทย์อ้างว่าตนได้พยายามคัดค้านเรื่องนี้มาตลอด โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าแผนการจัดการไม่สมบูรณ์ แผนที่ที่กัมพูชาเสนอมายังไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นยังไม่ถือว่าเราเสียดินแดนรอบปราสาทพระวิหาร

นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกไม่เกี่ยวกับเขตแดน เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่นายสุวิทย์จะไปเซ็นยกดินแดนให้ใคร ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ยังคงเห็นว่าเอ็มโอยูปี43 ยังมีความสำคัญ แต่หากต่อไปจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบก็พร้อมที่จะยกเลิก

อย่างไรก็ตามในการถก 2 ฝ่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในลักษระโต้วาทีครั้งนี้ได้มีการหยิบยกเหตุผลความเป็นมาเพื่อชี้แจง โดยมีการนำแสดงเอกสารประกอบให้กับประชาชนได้รับชมทางทีวี เป็นระยะๆตลอดเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ทั้งนี้ในการถกพิจารณาแลกเปลี่ยนยังมี ร.ต.แซมดิน เลิศบุศน์ ผู้ฝ่ายประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนฯ คนสนิทพล.ต.จำลอง ศรีเมือง มล.วัลวิภา จรูญโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษาเข้าร่วมรับฟัง และสังเกตการณ์บริเวณเวทีสนทนา ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลมี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯเข้าร่วมประสานงานการออกรายการเช่นกัน

อย่างไรก็ตามช่วงท้ายของรายการนายอภิสิทธิ์ได้ยกกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการแก้ปัญหาชายแดนโดยขอให้แก้ปัญหาฉันมิตร จึงขอให้ทุกฝ่ายยึดตามนี้


ต่อมาเวลา 13.10 น.นายอภิสิทธิ์  กล่าวภายหลังการหารือร่วม 2 ฝ่ายทำให้มีความเข้าใจที่ดีต่อกันมากขึ้น เพราะหลายเรื่องก็มีความเห็นที่ตรงกัน ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น ส่วนที่มีปัญหาก็ต้องแก้ไข โดยจะให้เห็นไปด้วยกันทั้งหมด 100 % คงเป็นไปไม่ได้ ที่สำคัญการร่วมหารือทำให้ได้รับรู้ความห่วงใยจากทุกคน ขณะเดียวกันทางรัฐบาลก็ไม่เคยไปกล่าวหาใครอยู่แล้ว หากใครมีอะไรก็ให้มาพูดคุยกัน ส่วนนายสุวิทย์ที่เป็นกรรมการมรดกโลก เขาคงจะเชิญภาคส่วนต่างๆมารับฟังความคิดเห็น ส่วนการชุมนุมเจ้าหน้าที่ก็ดูอยู่ตนได้กำชับให้เป็นไปตามกฎหมาย หวังว่าคนในชาติจะเข้าใจกันมากขึ้น ทั้งนี้ต่อจากนี้ไปกระบวนการต่างๆก็คงต้องดำเนินกันต่อไป

 ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ กล่าวว่า เราต้องหาทางยกเลิกเอ็มโอยู ต้องยุติปัญหาให้เป็นรูปธรรม เพราะทุกวันนี้ฝ่ายราชการกับฝ่ายการเมืองคิดไม่เหมือนกัน โดยข้าราชการคิดเหมือนกัมพูชา และถ้าคิดไปแบบนี้มันจะอันตรายมาก ปัญหาสำคัญตอนนี้คือ การรุกล้ำอธิปไตย ที่เกิดขึ้นจริง ทำเป็นกระบวนการเพื่อเป้าหมายการยึดครอง เช่น การปักธงของกัมพูชา การรุกล้ำสร้างตลาด หรือการเข้ามาสร้างวัด สร้างถนน สิ่งเหล่านี้ถ้าเราถูกกับดักจากเอ็มโอยู เกรงว่า เราจะไม่ได้ดินแดนกลับมาเลย

วอนทุกฝ่ายหยุดทะเลาะกันและหันมาช่วยกัน

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายการ " เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ " ในช่วงที่สอง ซึ่งเป็นช่วงถามตอบจากพิธีกรรับเชิญ โดยสัปดาห์นี้ มีนางสาวอัญชะลี ไพรีรัก เป็นพิธีกรจากสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี มาร่วมรายการ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กรณีปัญหาเขาพระวิหาร ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้กล่าวถึงการไปพบกับเครือข่ายประชาชนหัวใจรักชาติที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง เมื่อวานนี้ว่า เป้าหมายของตนกับประชาชนไม่ได้แตกต่างกัน ซึ่งตนได้ชี้แจงไปแล้ว ก็มีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ อย่างไรก็ตามตนยังงงว่าที่สื่อมวลชนบางแห่งไปลงข่าวว่าตนบอกว่ามีประชาชนบางกลุ่มขายชาติ ทั้งที่จริงตนไม่ได้พูด ตนเพียงแต่บอกว่าเสียใจที่มีคนกล่าวหาว่าตนขายชาติ และบอกว่าถ้าทำอย่างนั้นอย่าว่าแต่เป็นนายกรัฐมนตรีเลย อยู่ในประเทศนี้ก็ไม่ควรอยู่ด้วยซ้ำ ส่วนที่มีการกล่าวหาว่าเป็นการซูเอี๋ยระหว่างรัฐบาลกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น คงเป็นการซูเอี๋ยที่แปลกประหลาด เพราะยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ตนอย่างหนักทั้งในเว็บไซต์ และเอสเอ็มเอสที่ส่งเข้ามา ทั้งยังกล่าวหาว่าตนพูดไม่เหมือนเดิมกับตอนเป็นฝ่ายค้านในปี 2551 ทั้งที่ตนก็ยังหาไม่เจอว่าพูดไม่เหมือนเดิมตรงไหน

 นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงเอ็มโอยูปี 2543 ไม่ได้ยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงว่าให้คงสภาพเดิมตามแนวชายแดนไว้ก่อน แล้วมาร่วมกันจัดทำหลักเขตให้เรียบร้อย นี่คือหัวใจเอ็มโอยู 43 จึงค่อนข่างมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา นอกจากนี้เขตแดนที่กรรมาธิการร่วมทำออกมา เรามีสิทธิที่จะรับหรือไม่รับ และขวนการของเราไมใช่แค่รัฐบาล ต้องรัฐสภาด้วย อีกทั้งเอ็มโอยู 2543 มีข้อดี หากเขมรรุกล้ำเข้ามาก็จะมีหลักฐานในการประท้วง ซึ่งหลีกเลี่ยงการปะทะได้ พอมีปัญหาเรื่องมรดกโลก เขมรพยายามยื่นแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน แม้แต่การประชุมครั้งล่าสุดก็ยื่น แต่ไม่ได้ เพราะการทำเขตแดนมันยังไม่จบ ส่วนที่นายฮอร์นัมฮง รองนายกฯ กัมพูชา บอกว่าคณะกรรมการมรดกโลกรับจดทะเบียนปราสาทพระวิหารตั้งแต่ปี 2551 เพราะฉะนั้นนายกฯ ไทยอย่าฝันหวานว่าจะจดทะเบียนร่วมกันนั้น คงเป็นการอ้างปี 2551 แต่ตนเข้ามาปลายปี 2551 แล้ว

 "ในการผลักดันชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่ของเรานั้น รัฐบาลไม่เพิกเฉย แต่ฝ่ายกัมพูชาก็พยายามกล่าวหาว่าเรารุกราน เอาไปฟ้องกับต่างประเทศ ซึ่งเขาก็คิดเอาง่ายๆ ว่าศาลโลกได้ตัดสินไปแล้ว เขาก็เชื่อทางกัมพูชาได้ง่าย เพราะฉะนั้นถ้าเราผลีผลาม เราก็อาจจะเสียใจภายหลัง อย่างในการประชุมที่บราซิลแค่เราบอกว่าจะถอนตัว ทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ออกมาแล้ว หาว่าเราทำตัวเป็นอันธพาล เป็นการใช้กระแสต่างประเทศมารุกเร้า เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ต่างประเทศเข้าใจเราเสียก่อน " นายกฯ กล่าว

 นายกฯ ยังกล่าวถึง MOU ปี 43 ว่า เท่าที่ตนติดตาม มีความกังวลกันมากว่า MOU 43 หรือข้อตกลงที่ไปลงนามในปี 2543 ตอนนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปลงนามกับกัมพูชา ไปยอมรับแผนที่ ซึ่งกัมพูชาเคยใช้ ตอนนี้เขาฟ้องเอาปราสาทพระวิหารเป็นของเขาที่ศาลโลก และถ้าเอาแผนที่นี้ไปยอมรับแผนที่นี้ จะทำให้เราเสียดินแดน พูดง่ายๆ เรายึดถือตามสนธิสัญญาสันปันน้ำ เราจะสูญเสียดินแดนมหาศาล ตนเข้าใจเลยว่าถ้า MOU ตัวนี้ไปยอมรับอย่างนั้น ไม่ดีแน่ แต่ผมยืนยันว่า MOU นี้ ไม่ได้ยอมรับอย่างนั้น MOU เขาเขียนเพื่ออะไร ต้องบอกว่า ช่วงประมาณก่อนปี 2543 ที่เรื่องนี้ กลับมาเป็นปัญหาต้องเข้าใจนิดนึงว่า หลังจากที่ศาลโลกตัดสินไป มันมีระยะเวลาอยู่ช่วงนานมาก ที่กัมพูชาเขามีปัญหาภายใน สู้รบกันเอง เขมรหลายฝ่ายที่เราเคยได้ยินกัน แต่พอมาช่วงประมาณ 2540 ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา เหตุการณ์เริ่มสงบ เพราะฉะนั้นเริ่มมีความต้องการของคนที่จะไปเที่ยว และทำให้มีหลายคนอยากค้าขาย ตั้งชุมชนต่างๆ ทีนี้ย้อนกลับไปเรื่องเดิมว่า เราก็ยึดสันปันน้ำ เขาก็พยายามเอาแผนที่เข้ามา ทั้งสองฝ่ายเลยบอกว่า ดีที่สุดคือ อย่าไปเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ หยุดไว้ก่อน และมาจัดทำหลักเขตแดนว่า ตกลงหลักเขตแดนมันอยู่ตรงไหน และข้อตกลงใน MOU43 เนื้อหาสาระคือ พื้นที่ตรงนั้น อย่าให้ทั้งสองฝ่ายเข้าไปยุ่ง เพราะมาจัดทำหลักเขตแดนให้เรียบร้อยก่อน เพราะจะได้ไม่มีปัญหาว่า มากระทบกระทั่ง ปะทะสู้รบกัน นี่คือหัวใจของมัน

 "ศาลเองก็ยอมรับว่าแผนที่นี้กรรมการเขาไม่เคยรับรอง เพราะฉะนั้นผมถือว่าตรงนี้ไม่ใช่การรับรอง แล้วการที่เขาจะอ้างมันก็ต้องมาพิสูจน์อะไรกันต่างๆ รวมถึงว่าไม่ใช่เอาแผนที่มาวางแล้วขีดตามนี้ มันมีสนธิสัญญาอยู่ สันปันน้ำเราต้องเอาตามเจตนารมณ์อยู่ดี ถ้าเขาอยากจะเอาแผนที่มาใช้ เขาต้องสามารถทาบกับสภาพพื้นที่จริงๆให้ได้ว่ามันเป็นตามสันปันน้ำหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเราค่อนข้างมั่นใจว่าไม่มีปัญหาอะไรตรงนี้ สิ่งที่เราเห็นคือว่า การจัดทำหลักเขตแดนที่ตกลงใน MOU 43 เมื่อกรรมาธิการร่วม กรรมการร่วม หรือ JBC ไปทำแล้วเราจะรับหรือไม่รับเป็นสิทธิ์ของเรา พอปักออกมาอย่างนี้เราบอกว่ามันไม่ใช่ เราก็ไม่รับ " นายกฯ กล่าว

 นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามถึงที่สุดแล้วเราก็พร้อมสู้ กองทัพ ฝ่ายความมั่นคง พร้อมหมด แต่คงไม่มีใครเอาออกมาพูดตอนนี้ เราเข้าใจความรู้สึกความอึดอัดของประชาชน แต่ขอให้เข้าใจว่ารัฐบาลไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง สิ่งที่จะช่วยประเทศได้มากที่สุดคือความมีเอกภาพ ความสามัคคีของคนในชาติ ถ้าเรามัวแต่ถกเถียงกันกัมพูชาก็จะหัวเราะเราอยู่

ผบก.น.1เตรียมเจรจา"ไชยวัฒน์"ขอยุติการชุมนุมบ่ายได

พล.ต.ต.วิชัย สังขประไพ ผบก.น 1 กล่าวถึงการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลพื้นที่ของเครือข่ายคนไทยรักชาติ ที่ชุมนุมกันที่พื้นที่กองทัพ ภาคที่ 1 ว่า ในขณะนี้ยังไม่มีการจัดกำลังเพิ่ม อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายของวันนี้ ตนจะไปพบกับนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำของเครือข่ายฯ ที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่การชุมนุม ซึ่งตนได้รับทราบข่าวว่าในวันนี้เวลา 15.00 น. จะมีการแถลงข่าว ทั้งนี้ส่วนตัวต้องการให้การชุมนุมยุติโดยเร็ว แต่หากหารชุมนุมจะต้องยืดเยื้อออกไป ทางเจ่าาหน้าที่จะควบคุมดูแลพื้นที่ หากมีการกีดขวางทางสาธารณะ โดยอาจจะต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย

ไชยวัฒน์ประกาศพักม็อบพร้อมเคลื่อนใหม่

นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อดีเบตเสร็จสิ้นในเวลา 13.00 น. จะเปิดเวทีปราศรัยอีกครั้ง ส่วนการชุมนุมจะได้ข้อยุติอย่างไรจะแถลงข่าวอีกครั้งในเวลา 15.00 น. ซึ่งการชุมนุมจะยืดเยื้อเพียงใด ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีและคณะว่า จะตอบโจทย์ที่พวกตนเรียกร้องไปทั้ง 4 ข้อได้หรือไม่

อย่างไรก็ตามกรณีที่นายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีเครือข่ายฯที่สนามไทย-ญีปุ่นเดินแดง ตนเห็นว่า นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ตอบเรื่องการปักปันเขตแดนที่พวกตนให้ยึดแนวสันปันน้ำ และยังไม่ได้ตอบถึงกรณีตัวปราสาทด้วย ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ข้อเรียกร้องคือต้องการให้นายกรัฐมนตรี ยกเลิกข้อสัญญา
และเอกสารต่างๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยเสียหาย ไม่ใช่แค่ประเด็นการยกเลิก MOU ปี 2543

สำหรับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่ที่บริเวรณกองทัพภาคที่ 1 จนถึงเวลานี้มีจำนวนมีเพียง 200 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยดูแลความปลอดภัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อถึงเวลาดังกล่าวนายไชยวัฒน์ได้ประกาศหยุดพักการชุมนุมแต่พร้อมี่จะกลับมาชุมนุมใหม่เร็วๆนี้

เอแบคโพลระบุคนไทยมีสุขขึ้นเล็กน้อยเดือนก.ค.

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผย  ผลวิจัยแนวโน้มความสุขมวลรวมของคนไทยภายในประเทศในเดือนก.ค. 2553 พบว่า ความสุขของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 6.52 มาอยู่ที่ 6.77 โดยปัจจัยที่มีนัยสำคัญต่อความสุขมวลรวมของคนไทยในผลวิจัยที่ผ่านมาคือ การใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความจงรักภักดี ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว วัฒนธรรมประเพณีไทย ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ความพึงพอใจในงาน และความเป็นธรรมในสังคม เป็นต้น  ขณะที่อุปสรรคลดทอนความสุขคนไทยคือ บรรยากาศทางการเมืองและพฤติกรรมในทางมิชอบของกลุ่มข้าราชการ

ส่วนผลวิจัยเรื่อง ความเป็นธรรมในสังคมกับความสุขของคนไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ที่พักอาศัยอยู่ใน 28 จังหวัดของประเทศ พบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาร้อยละ 42.6 ระบุว่า ความเป็นธรรมในสังคมที่ได้รับในการดำเนินชีวิตประจำวันในระดับมาก อย่างไรก็ตามเกินกว่า 1 ใน 3
หรือร้อยละ 35.7 ระบุว่า ได้รับความเป็นธรรมในสังคมระดับน้อย ที่เหลือร้อยละ 21.6 ระบุได้รับความเป็นธรรมในระดับปานกลาง เมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า เพศชายและเพศหญิงระบุได้รับความเป็นธรรมในสังคมในการดำเนินชีวิตประจำทุก วันนี้พอ ๆ กัน คือ ร้อยละ 42.8 และ ร้อยละ 42.5
ตามลำดับ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์