ม็อบพระ ขู่คว่ำบาตร รธน. จี้บัญญัติพุทธฯเป็นศาสนาประจำชาติ

ม็อบพระขู่คว่ำบาตร รธน. จี้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ


กมธ.ยกร่างฯ มีความเห็น คงจำนวนผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา 3 คนเท่าเดิม แต่เพิ่มอำนาจการตรวจสอบองค์กรอิสระ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ขณะเดียวกัน ให้ลดจำนวน คตง. จาก 10 คน เหลือ 7 คน

ด้านคณะสงฆ์บุกโรงแรมขู่คว่ำบาตรร่าง รธน. หากไม่บัญญัติ "พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ขณะที่ "น.ต.ประสงค์" รับจะนำข้อเสนอไปพิจารณา



ตัวเเทนคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนจาก จ.ปราจีนบุรีและ จ.สระแก้ว


นำโดยพระราชภัทรธาดา เจ้าอาวาส จ.ปราจีนบุรี ได้นำพระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกามารวมตัวบริเวณสถานที่ประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนุญ เพื่อยื่นแถลงการณ์และหนังสือขอบิณฑบาตต่อคณะกรรมาธิการให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

หากคณะกรรมาธิการและสภาร่างรัฐธรรมนูญยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว คณะสงฆ์ทั่วประเทศกว่า 3 แสนรูป และชาวพุทธทั่วประเทศจำเป็นต้องประกาศ "คว่ำบาตร" อย่างต่อเนื่องทุกขั้นตอน

ต่อมา น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ออกมารับหนังสือจากองค์กรชาวพุทธดังกล่าวด้วยตนเอง และรับที่จะนำข้อเสนอไปพิจารณา น.ต.ประสงค์ชี้แจงว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีบทบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศาสนูปถัมภก

ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่เป็นจริง ขอชี้แจงว่าบทบัญญัติในหมวดพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นสิ่งที่กรรมาธิการยกร่างฯ ไม่ได้เปลี่ยนแปลง โดยร่างรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการพิจารณาและยังไม่มีข้อยุติ


ส่วนการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ


ได้พิจารณาเกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรณีการสั่งเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ว่าอำนาจจะอยู่กับใคร ระหว่าง กกต. กับศาล คาดจะโหวตประเด็นนี้ในวันที่ 10 เมษายน

นายปกรณ์ ปรียากร โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการพิจารณา หมวดที่ 11 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญไว้ 2 ประเภท คือ

1.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง

2.องค์กรอิสระในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาให้คงผู้ตรวจการฯ ไว้ 3 คนเท่าเดิม


และให้มีอำนาจเพิ่มเติมติดตามตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยละเลยต่อกฎหมายขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ ให้ผู้ตรวจการฯ สามารถเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองได้

การพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ให้พิจารณาดำเนินคดี การไต่สวน และวินิจฉัย การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับต่ำกว่าที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ส่วนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ประชุมให้ลดจำนวนจาก 10 คน เหลือ 7 คน



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ จาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์