มาร์คลั่นไม่ส่งมติก.ตร.งัดป.ป.ช.ให้ศาลรธน.ตีความ ป.ป.ช.นัดถกชุดใหญ่หาความกระจ่าง19ม.ค.

"มาร์ค"ลั่นไม่ส่งมติก.ตร.งัดป.ป.ช.ให้ศาลรธน.ตีความ ป.ป.ช.นัดถกชุดใหญ่หาความกระจ่าง19ม.ค.

มาร์ค ประกาศไม่ส่งมติก.ตร.ปมขัดแข้ง 3 บิ๊กนายกับป.ป.ช.ให้ศาลรธน.ตีความเหตุผลมีคำวินิจฉัยไปแล้ว "สมลักษณ์" เผยเพื่อให้กระจ่างนำเรื่องเข้าหารือป.ป.ช.ชุดใหญ่ 16 ม.ค. เสียงกกต. เอกฉันท์ ยกร้อง "มาร์ค-สุเทพ" จุ้นโยกย้าย ตร.- ตั้งผบ.ตร.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่รับฟ้องปัญหาในมาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อวันที่ 16 มกราคม ถึงกรณีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กลับมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในคดีสลายม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) อุดรธานี ในคดีผู้ชุมนุมสองกลุ่มปะทะกันที่ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551 โดยให้ พล.ต.ท.สุชาติ และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์กลับเข้ารับราชการว่า ยังไม่เห็นมติ ก.ตร. แต่ฟังจากข่าวว่า ก.ตร.จะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ


ผู้สื่อข่าวถามว่า ครม.จะเห็นชอบให้ส่งตีความตามข้อเสนอของ ก.ตร.หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ไม่ครับ ผมส่งความเห็นของกฤษฎีกาให้ดูแล้วว่า ไม่มีปัญหาในการตีความ แต่จะต้องดูเหตุผลที่ ก.ตร.จะส่งมาอีกครั้งว่ามีเหตุผลอย่างไร เพราะมติ ก.ตร. จะขัดกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ เรื่องนี้รัฐธรรมนูญก็เคยมีคำวินิจฉัยของศาลไปแล้ว ในเรื่องการตีความรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถนำมาเทียบเคียงกันได้ ฉะนั้นต้องดูเหตุผลของ ก.ตร.ก่อน"


เมื่อถามว่า การยืนยันมติของ ก.ตร จะทำให้มติ ป.ป.ช.ที่ออกมาก่อนเกิดความสั่นคลอน หรือทำให้ ป.ป.ช.ไม่ศักดิ์สิทธิ์ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่ถึงจุดนั้น ต้องมาดูเหตุผลของ ก.ตร.ก่อนว่าเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม ก.ตร.และ ผบ.ตร.ไม่สามารถทำอะไรที่ขัดกับรัฐธรรมนูญได้ เมื่อถามว่า ภายในเดือนมกราคมนี้ จะได้ตัว ผบ.ตร.ตัวจริงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นไปได้ เมื่อถามว่า ปัญหาเดิมๆ ในการคัดเลือกที่ผ่านมา คลี่คลายไปแล้วหรือไม่ นายอภิสิทธิ์พยายามเดินหนีคำถามดังกล่าวไปขึ้นรถโดยตอบสั้นๆ ว่า ยัง ผมบอกว่า มีความเป็นไปได้ ไม่ได้บอกว่าจะได้Ž


ด้าน น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณี ก.ตร.กลับมติ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงกับ พล.ต.อ.พัชรวาท พล.ต.ท.สุชาติ และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ โดยให้ พล.ต.ท.สุชาติ และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์กลับเข้ารับราชการ ว่า เป็นความเห็นสถาบันที่ขัดแย้งกัน น่าจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยดีที่สุด ในส่วนของ ป.ป.ช.คงจะต้องคุยกันในการประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่วันที่ 19 มกราคมนี้ ทราบว่าขณะนี้สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือขอมติ ก.ตร.มาประกอบการพิจารณา เพื่อให้ทุกอย่างเป็นทางการ ไม่ได้เป็นการสั่งให้รัฐบาลทำงานตามมติของ ป.ป.ช.อย่างที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเข้าใจ เพียงแต่เราไม่อยากทำงานจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เพียงอย่างเดียว


ผู้สื่อข่าวถามว่า กฎหมาย ป.ป.ช.เขียนไว้ว่ามติ ป.ป.ช.ในการชี้มูลความผิดทางวินัยเป็นข้อยุติเหตุใดจึงเกิดกรณีนี้ขึ้น น.ส.สมลักษณ์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในมาตรา 92 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 พัฒนามาจากกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ที่หลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัยไปแล้ว ผู้บังคับบัญชาหลายหน่วยงานสามารถกลับมติ ป.ป.ป.ได้ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเสือกระดาษ เมื่อ ป.ป.ป.พัฒนามาเป็น ป.ป.ช.จึงบัญญัติมาตราดังกล่าวขึ้นมา เมื่อให้การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.ศักดิ์สิทธิ์ขึ้น


เมื่อถามว่า แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิดอาจรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะไม่มีช่องทางอุทธรณ์มติ ป.ป.ช.ได้ น.ส.สมลักษณ์กล่าวว่า ผู้ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดสามารถอุทธรณ์ได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เช่นเดียวกับกรณีนี้หาก ก.ตร.เห็นว่าควรอุทธรณ์มติ ป.ป.ช. ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะยื่นคำร้องไปยังศาลปกครอง หากศาลวินิจฉัยออกมาอย่างไรทุกฝ่ายก็ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว แต่ ก.ตร.กลับเปลี่ยนมติ ป.ป.ช.เสียเองเลยมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะในมาตรา 92 ได้กำหนดข้อยกเว้นให้หน่วยงานที่สามารถตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาอุทธรณ์มติ ป.ป.ช.ได้ มีเพียงศาลกับอัยการเท่านั้น ข้าราชการพลเรือนอื่นไม่มีสิทธิกลับมติ ป.ป.ช.


ส่วนกรณีที่ ก.ตร.มีมติให้ พล.ต.ท.สุชาติ และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ กลับเข้ารับราชการทันทีนั้น น.ส.สมลักษณ์กล่าวว่า น่าจะรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน เพราะไม่เช่นนั้นทุกคนจะงงไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร เนื่องจาก ป.ป.ช.เห็นอย่างหนึ่ง ก.ตร.กลับเห็นอีกอย่างหนึ่ง หากนายตำรวจทั้ง 2 นายกลับเข้ารับราชการตาม ก.ตร. แล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา จะทำอย่างไร




กกต.ยกร้อง "มาร์ค-สุเทพ" จุ้นโยกย้าย ตร.- ตั้งผบ.ตร.


นายสุทธิพล ทวีชยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ม.ค. ว่า ที่ประชุมกกต.  ที่ประชุมกกต.มีมติเอกฉันท์ยกคำร้องกรณีที่ขอให้กกต.ตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ รองนายนกรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในขณะที่พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็นผู้รักษาราชการแทน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ในขณะนั้น โดย กกต.เห็นว่า ข้อเท็จจริงในช่วงที่พล.ต.อ.วิเชียร รักษาราชการแทน ไม่มีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจยศนายพลจำนวน 152 รายและข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บังคับการแต่อย่างใด 


   นายสุทธิพล กล่าวว่า ทั้งนี้กกต.ยังมีมติเอกฉันท์ยกคำร้องกรณีนายอภิสิทธิ์ แทรกแซงการแต่งตั้งผู้รักษาการ ผบ.ตร. โดยที่แต่งตั้งพล.ต.อ.วิเชียร  พจน์โพธิ์ศรี รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ระหว่างที่ พล.ต.อ. พัชรวาท  วงษ์สุวรรณ  ผบ.ตร.ขณะนั้น เดินทางไปราชการที่ 3จังหวัดภาคใต้ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ โดยอนุกรรมการเห็นว่า การเดินทางไปราชการของ พล.ต.อ.พัชรวาทได้ขออนุมัติเดินทางไปปฏิบัติงานพร้อมกับเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาการรักษาการแทน ผบ.ตร.  ซึ่งตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ  พ.ศ. 2547  มาตรา 72 (1) กำหนดให้นายกฯมีอำนาจในการสั่งให้ข้าราชการตำรวจรักษาราชการแทนในตำแหน่ง ผบ.ตร. โดยไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งให้รักษาการไว้  ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้ชี้แจงว่า การพิจารณาแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ได้พิจารณาจากผู้มีความเหมาะสมเป็นกลาง ซึ่ง พล.ต.อ.วิเชียร มีคุณสมบัติรักษาราชการแทน ผบ.ตร. ได้ ตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ  พ.ศ. 2547 มาตรา51 และ มาตรา 72 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์