“มาร์ค”ย้ำหากเขมรไม่ถอนทหารก็ยากแก้ปัญหา


นายกฯย้ำหากกัมพูชาไม่ถอนทหารจาก “พระวิหาร” ก็ยากแก้ปัญหาข้อพิพาท เตรียมให้”กษิต”อยู่เจรจาต่อ


วันนี้(8 พ.ค.)ที่กรุงจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงผลการหารือกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เรื่องการแก้ไขข้อพิพาท ว่า ทางประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนเห็นว่า การที่สมเด็จฮุน เซน เอาเรื่องข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ไปพูดในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ทำให้ประเทศสมาชิกมีความรู้สึกกังวลกับปัญหาดังกล่าว จึงได้ประสานให้ทั้งสองฝ่ายมาเจรจากัน  ซึ่งในการหารือระหว่างไทยและกัมพูชา ปรากฏว่ามีความเห็นต่างกันชัดเจน โดยกัมพูชาต้องการให้ไทยลงนามในเรื่องการส่งผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียลงพื้นที่ พร้อมกับยืนยันว่า หากทางการไทยลงนาม  ก็พร้อมเจรจาทวิภาคี แต่ตนเห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่เป็นเรื่องที่ทางการกัมพูชาไม่ยอมถอนทหารออกจากพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร


ผมยืนยันว่า เรื่องผู้สังเกตการณ์จะส่งลงพื้นที่หรือไม่  ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่เรื่องที่สำคัญ คือ การให้พื้นที่เกิดความสงบ โดยไม่มีปัญหากระทบกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมา การปะทะก็ไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่จะส่งผู้สังเกตการณ์ลงไป ตรงนี้คือเหตุผลอย่างเดียวที่กัมพูชาต้องการให้เรื่องพระวิหารกลายเป็นเรื่องของสากล  กัมพูชาไปยึดเอาศาลโลกและขอความคุ้มครองชั่วคราวที่ให้ไทยถอนทหาร” นายกรัฐมนตรีกล่าว


นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า กระบวนการเจรจาที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา  หรือเจบีซี  หรือคณะกรรมการชายแดนทั่วไป หรือจีบีซี  น่าจะมาพูดคุยกัน ดังนั้น การหารือในช่วงเช้าจึงยังไม่ได้ข้อสรุป แต่จะให้รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองประเทศอยู่ที่อินโดนีเซียต่อเพื่อหารือกัน โดยการหารือจะไม่มีการเจาะจงไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะพูดกันในภาพรวมเพื่อแก้ปัญหา แต่หากสมเด็จฮุนเซนยังยืนยันไม่ถอนทหารก็คงเป็นเรื่องยากที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาต่อไป ซึ่งปัญหาเรื่องพื้นที่นั้น ทางกัมพูชาอ้างว่าเป็นพื้นที่ของกัมพูชา แต่ทางการไทยบอกว่า เป็นพื้นที่ของไทย และที่ผ่านมา เราก็ประท้วงเรื่องนี้มาอย่างชัดเจน แต่ทางกัมพูชากลับไปเรียกคนอื่นเข้ามา  มันก็ทำให้ปัญหาไม่หยุดอยู่กับที่  ซึ่งข้อเสนอของอาเซียนและอินโดนีเซียก็ต้องการให้ทั้งสองฝ่ายมานั่งคุยกัน ส่วนจะคาดหวังได้ข้อยุติหรือไม่ ต้องทำความเข้าใจและพูดคุยกันต่อไป และคงไม่มีเหตุผลอื่นที่จะใช้เวทีอื่นเจรจา  ทางอาเซียนก็เข้าใจชัดเจนว่า ควรเป็นการเจรจาของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ ท่าทีของสมเด็จฮุนเซนในช่วงการเจรจาก็ไม่ได้มีแข็งกร้าวแต่อย่างใด แต่เรื่องสำคัญคือ ความสงบในพื้นที่  ประชาชนต้องไม่เดือดร้อนและไม่เกิดความสูญเสีย สองฝ่ายควรจะดูในจุดนี้


ด้านสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แถลงข่าวถึงปัญหาข้อพิพาทไทย-กัมพูชาว่า  หากไทยยังไม่ลงนามข้อตกลงการส่งผู้สังเกตการณ์ลงพื้นที่ การเจรจาอื่นก็คงไม่เกิดขึ้น และหากไทยลงนามในเรื่องดังกล่าวแล้ว การเจรจาระดับเจบีซีอาจจะเกิดขึ้นในวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้  ตนไม่ขัดข้อง พร้อมยืนยันว่าตนไม่ต้องการสร้างปัญหา แต่หากจะให้ถอนทหารออกจากพื้นที่เป็นเรื่องที่ไร้สาระ


ขณะที่ นายมาร์ตี้ นาตาเลกาวา รมต.ต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ยังเชื่อว่า สถานการณ์ตรึงเครียดระหว่างไทยกับกัมพูชา น่าจะเป็นทิศทางบวกมากกว่าลบในอนาคต ซึ่งก็ต้องหาข้อยุติกันต่อไป ทั้งนี้ ปัญหาข้อพิพาท แม้จะไม่มีหัวข้อในการประชุมอาเซียน แต่ทางที่ประชุมอาเซียนก็หยิบมาพูดคุยกัน เพื่อต้องการให้เป็นแนวทางเดียวกันในการแก้ไขปัญหา และต้องการเห็นสันติภาพในภูมิภาค



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์