มาร์คยันไม่ได้ซื้อเวลา แนะต้องระวังเคยเป็นปมประท้วง ชวนปัดแทงกั๊กแก้รธน. ส.ส.ปชป.เสนอแก้ม.237

ปชป.เสนอแก้ม.237 ให้เอาผิดกก.บห.แต่ไม่ยุบพรรค โฆษกเผยเตรียมแจกแบบสอบถามฟังความเห็นปชช. "อภิสิทธิ์"ยันตั้งกรรมการไม่ได้หวังซื้อเวลา แต่อาจต้องใช้เวลาบ้าง "ชวน"ปัดแทงกั๊กแก้รธน.ชี้"ประชาธิปัตย์"เห็นตาม"มาร์ค" ส.ส.สระแก้วป้อง"ป๋าเหนาะ"ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงเสนอนิรโทษฯช่วย"แม้ว"

"ชวน"ปัดแทงกั๊กแก้รธน.ยันปชป.เห็นตามหัวหน้า"อภิสิทธิ์"
 
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถึงการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ส่วนตัวเป็นเพียงผู้ใช้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ผู้แก้ไข ดังนั้น เอาไว้ให้ถึงเวลาก่อน ตอนนี้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพรรค ปชป.จะเป็นผู้ให้ความเห็น ส่วนตัวจะไปให้ความเห็นในที่ประชุมพรรค
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรค ปชป.ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไม่จริงใจหรือแทงกั๊กในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายชวน กล่าวว่า พรรค ปชป.ไม่ได้เล่นการพนันอะไรเลย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป.พูดอะไรไปในที่ประชุมพรรค สมาชิกก็มีความเห็นตามหัวหน้าพรรค

เมื่อถามอีกว่า ส่วนใหญ่เข้าใจว่า ต้องแก้ไขรัฐธรรมถึงจะแก้วิกฤตการเมืองได้ นายชวน กล่าวว่า ในฐานะผู้ใช้รัฐธรรมนูญมองว่า ปัญหาความแตกแยกขณะนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับมาตราใดมาตราหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ส่วนจะแก้ไขมาตราใดบ้าง ขอให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา สำหรับพรรค ปชป.พร้อมเคารพเสียงส่วนใหญ่อยู่แล้ว
 
ปชป.เตรียมแจกแบบสอบถาม ฟังความเห็นปชช.แก้รธน.
 
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. นพ.บุรณัชย์  สมุทรักษ์ ส.ส.สัดส่วน โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคขอยืนยันถึงความตั้งใจจริงในการสร้างความสมานฉันท์ โดยอยากให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น แม้จะมีความแตกต่าง แต่ทุกฝ่ายควรเคารพสิทธิในแต่ละมุมมองที่แตกต่างกัน ทั้งนี้พรรคอยากให้การประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 12 พฤษภาคมมีความคืบหน้า และไม่อยากให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวหาถึงความจริงใจ หรืออ้างความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นเหตุผลในการเคลื่อนไหวอีก 

"พรรคให้ความสำคัญในการฟังความเห็นของประชาชน โดยให้สาขาพรรคสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมประชาธิปไตยของพรรควางแนวทางเอาไว้ ซึ่งเราเตรียมแบบสอบถามไว้แล้วเพื่อทำคู่ไปกับคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ยืนยันว่า ไม่มีความขัดแย้งในพรรค ทุกคนหนุนนายกฯ ที่เริ่มกระบวนการปฏิรูปการเมือง และอยากให้ผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยแสดงถึงความใจกว้างมากกว่านี้เช่นเดียวกับสังคมให้โอกาสนักการเมือง และพรรคไม่มีธงว่า ต้องแก้ประเด็นใดบ้าง แต่จะฟังประชาชน เพราะมีหลายเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นเงื่อนไขว่าจะสมานฉันท์หรือไม่ และหากสมานฉันท์แค่นักการเมือง สังคมก็จะไม่ยอมรับ และไม่ต้องการให้คนใด ใช้การขู่ว่าจะให้แก้อย่างนั้นอย่างนี้ไม่เช่นนั้นเหตุจะไม่สงบ" นพ.บุรณัชย์ กล่าว
 
ปชป.เสนอแก้ม.237 ให้เอาผิดกก.บห.แต่ไม่ยุบพรรค


เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 10 พ.ค.ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรมีความชัดเจนเรื่องกรอบเวลามากกว่านี้ แม้จะมีการพูดถึงกรอบเวลา 45 วัน แต่ทุกฝ่ายยังไม่เห็นพ้อง ควรนำข้อเสนอทุกฝ่ายมากองรวมไม่ว่าจะเป็น จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ การปฏิรูประบบราชการ แล้วดูกรอบเวลาการทำงาน จากนั้นค่อยถกเถียงว่า หากจะแก้รัฐธรรมนูญจะให้มีส.ส.ร. หรือเดินตามกระบวนการมาตรา 291 ที่มีอยู่ 

"นอกจากนี้ยืนยันว่า พรรคไม่ได้ปิดกั้น และไม่มีการแบ่งเป็นกลุ่มเป็นฝ่าย เราเข้าใจเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายที่ต้องการเปิดประตูให้ทุกฝ่ายเข้ามาอยู่ในกรรมการ ผมอยากเสนอประเด็นที่เหตุแห่งปัญหาวิกฤต คือ เรื่องซื้อสิทธิขายเสียง ทำให้เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งก็มาทุจริต นายกฯควรให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ และทุกพรรคต้องมาประกาศจุดยืนต่อต้านเรื่องซื้อเสียงขายเสียงร่วมกัน และจากเรื่องดังกล่าว ผมเห็นว่า ต้องคงมาตรา 237 ไว้ แต่อาจไม่ถึงต้องยุบพรรค เพราะไม่แฟร์กับสมาชิก แต่สำหรับกรรมการบริหารพรรคยังต้องรับผิดชอบอยู่  นอกจากนี้ เสนอด้วยว่า มาตรา 239 ว่าด้วยการให้ใบแดงใบเหลือง ควรตัดวรรคสองออก เพื่อให้กกต.มีสิทธิในการตัดสินถึงที่สุด ไม่ว่าก่อนหรือหลังประกาศรับรองผล นอกจากนี้ มาตรา 265 และ 266 ว่าด้วยส.ส.ห้ามเป็นเลขารัฐมนตรี หรือห้ามก้าวก่ายราชการ ก็ควรแก้เช่นกัน" นายสาธิต กล่าว
 
"อภิสิทธิ์"ยันตั้งกก.แก้รธน. ไม่ได้หวังซื้อเวลา

 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่ใช่การซื้อเวลา โดยตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ตนก็ได้บอกแล้วว่าต้องมีการแก้ไข ซึ่งกระบวนการต้องใช้เวลาบ้าง เพราะต้องฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องแก้เฉพาะในมาตราที่ไม่สอดคล้องความเป็นจริง หรือเป็นอุปสรรคกับประชาธิปไตย
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญเคยเป็นเหตุให้เกิดการชุมนุมมาแล้ว ดังนั้นต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะมีคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยเสนอให้องค์กรกลางเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายค้านไม่สบายใจ ใช้วิธีการทางสภาเพื่อเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็น เชื่อว่าหากทำโดยมีวาระแอบแฝง สุดท้ายคงไม่สำเร็จ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้คุยกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน สมาชิกสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประจำ ก็มีจุดยืนความคิดเห็นที่เหมือนกันและต่างกันบ้าง แต่เชื่อว่าทั้งสองท่านไม่ได้มีปัญหา
 
หลานปัด"เสนาะ"รับงาน "แม้ว"

 
สำหรับแนวคิดนิรโทษกรรมให้อดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกพรรคที่ถูกยุบไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ และให้อภัยกันทั้งหมดรวมถึงคดีที่เกียวพันกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยาพ.ต.ท.ทักษิณ ที่นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรประชาราช ในฐานะที่ปรึกษา คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอในที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ฯรอบแรกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าต้องการช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ นั้น

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม  นายฐานิสร์ เทียนทอง ส.ส. สระแก้ว พรรคประชาราช (ปชร.) หลานชายนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าปชร.กล่าวว่า นายเสนาะเสนอความเห็นในฐานะผู้อาวุโสทางการเมืองที่ผ่านประสบการณ์มามาก โดยเห็นว่าการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุน่าจะเป็นช่องทางคืนความสงบสุขให้แก่ประเทศได้ ซึ่งการออกมาเสนอเช่นนี้ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงใดๆ แต่เป็นเพราะหวังดีต่อบ้านเมืองจริงๆ ถึงแม้จะมีการนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้ง 220 คนจริง นายเสนาะก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา เพราะไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ส่วนข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้นายเสนาะได้หารือกับพรรคเพื่อไทย (พท.) เรื่องนิรโทษกรรมหรือไม่ เพราะส.ส.เพื่อไทย ออกมารับลูกนายเสนาะทันที นายฐานิสร์กล่าวว่า ไม่มีเลย อาจเป็นความบังเอิญที่ ส.ส.เพื่อไทย เห็นตรงกับข้อเสนอของนายเสนาะ เมื่อถามว่า ห่วงหรือไม่ว่าจะถูกวิจารณ์ว่ารับงานมาจากพ.ต.ท. ทักษิณ หลานชายนายเสนาะกล่าวว่า
 
"ต้องยอมรับว่าหลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น ใจผมเองยังไม่อยากให้ป๋าออกมาพูดเลย ในสถานการณ์เช่นนี้ไม่ว่าเราจะให้ความเห็นอย่างไร เราก็เจ็บตัว ถ้าออกมาคัดค้านการนิรโทษกรรมก็ถูกหาว่ามีอคติกับพ.ต.ท.ทักษิณ พอออกมาสนับสนุนก็หาว่ารับงานมาใช่ไหม สรุปแล้วอยู่เฉยๆ ดีที่สุด แต่ผมขอปฏิเสธข้อหาการรับงาน"

เมื่อถามย้ำว่า นายเสนาะเครียดกับเสียงวิจารณ์ที่ออกมาหรือไม่ นายฐานิสร์กล่าวว่า ไม่ได้เครียดอะไร เพราะรู้อยู่แล้วว่าต้องถูกวิจารณ์ ความจริงนายเสนาะไม่จำเป็นต้องออกมาให้ความเห็น ถ้าไม่ถูกตั้งเป็นที่ประธานปรึกษาคณะกรรมการปฏิรูปฯ วันนี้ถ้าคนฟังแล้วตั้งธงว่าเรารับงานมา มันก็จบ แต่ถ้าฟังด้วยใจเป็นธรรม และเอามาคิดต่อว่าถ้าจะนิรโทษกรรมควรจะทำอย่างไร คดีการเมืองว่าอย่างไร คดีอาญาว่าอย่างไร อย่างนี้ก็เกิดประโยชน์ การออกมาเสนอความเห็นครั้งนี้ ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย มีแต่เสียประโยชน์ เพราะสถานการณ์ของพรรคเพื่อไทย ขณะนี้ตกเป็นรองเพราะเป็นฝ่ายค้าน ถ้าเราไปถือหางเพื่อไทยถามว่าจะได้ประโยชน์อะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าข้อเสนอของนายเสนาะไม่ได้รับการตอบสนอง จะเป็นการเสียหน้าหรือไม่ นายฐานิสร์กล่าวว่า ไม่ นายเสนาะรู้อยู่แล้วว่าการนิรโทษกรรมเป็นเรื่องที่เกิดยาก แต่ที่ต้องออกมาพูดเพราะต้องการส่งสัญญาณว่าคณะกรรมการปฏิรูปฯ ต้องการให้เกิดความสมานฉันท์อย่างแท้จริง

รองปธ.เผยกก.ยังไม่มีแนวคิดนิรโทษ

ด้านนายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวถึงกรณีนายสมบัติ  ธำรงธัญวงศ์ กรรมการสมานฉันท์ฯในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ ระบุว่ามีประชาชนจำนวนมากไม่รับเรื่องนิรโทษกรรมตามที่นายเสนาะ เสนอต่อที่ประชุมว่า นายเสนาะยังไม่ได้เสนออะไรเพียงแต่ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมาเท่านั้น ขณะนี้คณะกรรมการยังไม่มีแนวคิดเรื่องนิรโทษกรรม เพราะต้องรอให้แต่ละพรรคการเมืองส่งประเด็นมายังคณะกรรมการให้ครบทุกพรรคก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเสนอคณะกรรมการสมานฉันท์ให้ผลักดัน พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อนายชัย  ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว แต่จะนำเข้าคณะกรรมการสมานฉันท์หรือไม่ ค่อยมาว่ากันอีกครั้ง หากคณะกรรมการฯรับไว้พิจารณา พรรคเพื่อไทยพร้อมเสนอเข้าไป

แนะนิรโทษเหตุแตกแยกการเมือง

ด้าน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัวพ.ต.ท.ทักษิณในฐานะประธานมูลนิธิบ้านเลขที่111 ไทยรักไทย กล่าวถึงกรณีนายเสนาะเสนอให้มีการนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถุกยุบว่า ถ้าจะนิรโทษกรรมเฉพาะกลุ่มอดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองทั้ง 111 คนและ109 คนไม่สามารถที่จะสร้างความสามนฉันท์ให้บ้านเมืองได้ เพราะพวกตนเป็นคนส่วนน้อยเท่านั้น หากคณะกรรมการสมานฉันท์ฯต้องการที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจริงควรจะนิรโทษกรรจากเหตุการณ์ที่เกิดจากความแตกต่างทางความคิดการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยให้คนในสังคมจำนวนหลายแสนคนเข้าไปพัวพันกับการทำความผิดทางอาญา เช่น การปิดสนามบินสุวรรณภูมิ หรือการยึดทำเนียบรัฐบาล

เมื่อถามว่าโดยหลักการควรนิรโทษกรรมเหตุการณ์ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 เลยหรือไม่ นางพงศ์เทพ กล่าวว่า ต้องรับฟังความคิดเห็นของสังคมว่าเห็นอย่างไร ประเทศเดินต่อไปไม่ได้ควรจะไปเริ่มต้นกันใหม่หรือไม่  เมื่อถามว่าข้อเสนอในการนำคดีความของพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน  กลับสู่การพิจารณาคดีตามกระบวนการปกติจะสามารถผ่อนคลายความขัดแย้งในสังคมได้จริงหรือไม่ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า  การตั้งองค์กรพิเศษเพื่อดำเนินการตรวจสอบกับพ.ต.ท.ทักษิณ นั้นมีหลายคนในองค์กรเป็นบุคคลที่เป็นปฎิปักษ์กับพ.ต.ท.ทักษิณ ถือว่าขัดกับหลักนิติธรรมอย่างสิ้นเชิง ประเด็นนี้สังคมทั่วโลกไม่ยอมรับการทำหน้าที่ขององค์กรดังกล่าว ทั้งนี้หากวันดีคืนดีรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์หมดอำนาจไปและรัฐบาลชุดใหม่ตั้งองค์กรที่ประกอบไปด้วยบุคคลที่เป็นศัตรูกับพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยอมรับกติกาแบบนี้หรือไม่หรือไม่

พผ.เปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ค้านนิรโทษ

ด้านนพ.วัลลภ ไทยเหนือ ส.ส. สัดส่วน กลุ่ม 12 พรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) กล่าวกรณีมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ฯว่า เห็นด้วยการกับแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่คิดว่าควรรีบกำหนดประเด็นให้ชัดเจน และดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว ไม่ควรปล่อยเวลาให้ทอดยาวออกไป เพราะจะทำให้คนเสนอพ่วงประเด็นที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มของตนเข้ามาอีก ซึ่งจะยิ่งเป็นการเพิ่มความขัดแย้ง และอาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ สำหรับประเด็นที่คิดว่าควรมีการแก้ไขในเบื้องต้น อาทิ มาตรา 190 มาตรา 265 มาตรา 266 ส่วนมาตรา 237 ถ้าจะยกเลิก หรือแก้ไขก็ต้องกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตเลือกตั้งให้ชัดเจน ส่วนข้อเสนอเรื่องการนิรโทษกรรมความผิดทางการเมืองนั้น โดยส่วนตัวเห็นว่าอดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิทั้ง 220 คน มีทั้งคนเก่งและไม่เก่ง มีทั้งคนดีและคนไม่ค่อยดี ซึ่งการหายไปของคนกลุ่มนี้มีข้อดีคือได้เปิดโอกาสให้นักการเมืองรุ่นใหม่แสดงบทบาท ไม่เช่นนั้นจะมีแต่ความคิดและวิสัยทัศน์ของคนหน้าเดิมๆ ในสภา

"แม้คนเหล่านี้จะยังไม่ถูกปล่อยออกมา แต่ที่ผ่านมาได้เห็นตัวอย่างการครอบงำเป็นจำนวนมาก ซึ่งการที่เขาได้อยู่อย่างนี้อาจสบายใจดีอยู่แล้วก็ได้ คอยอยู่ข้างหลังฉากแล้วให้นอมินีดำเนินการแทน" นพ. วัลลภกล่าวว่า

"บันไดหนีไฟ"ล้มรธน.ตั้งแต่ตั้งไข่

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่มีการนิรโทษกรรม พรรคร่วมรัฐบาลจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร นพ. วัลลภกล่าวว่า นี่อาจเป็นประเด็นที่ทำให้รัฐบาลอยู่ได้หรือไม่ได้ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในสภามีศักยภาพหลายคน การเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้ทำหน้าที่น่าจะเป็นประโยชน์กว่า เมื่อถามถึงกรณีที่พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา (รช.) เสนอแผน "บันไดหนีไฟ" โดยเขียนรัฐธรรมนูญเปิดทางให้คนนอกมาเป็นนายกฯ ได้ นพ. วัลลภกล่าวว่า ถ้าทำเช่นนั้นเท่ากับต้องล้มรัฐธรรมนูญใหม่เลย คนติดว่าคนในระบบสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้อยู่แล้ว อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีได้ เพียงแต่ต้องหาคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่เหมาะสมมาทำหน้าที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน อย่าเอาเรื่องโควตาเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาตั้งครม.

"ปชป."กั๊กแก้รธน.รอฟัง"กก."

ด้าน นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ที่โรงแรมลายทอง จ.อุบลราชธานี ถึงข้อสรุปการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีข้อสรุปภายในพรรค ซึ่งต้องฟังคณะกรรมการสมานฉันท์ฯที่แต่งตั้งโดยรัฐสภาเสียก่อน ซึ่งจากการประชุมกันนัดแรก ยังเห็นมีความเห็นที่ขัดแย้งและไม่ลงรอยกัน โดยเฉพาะที่มีการตั้งข้อสังเกตควรที่จะให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทำประชาพิจารณ์ ซึ่งตนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

นายบรรญัติกล่าวว่าในส่วนตัวยังคงยืนยันหลักการเดิมที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ส่วนการแก้ไขสามารถทำได้ แต่ต้องยอมรับความจริงสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องตระหนักว่าแก้แล้วสังคมต้องยอมรับได้ และการแก้สังคมต้องมีส่วนร่วมและเห็นชอบด้วย

หาก"กก."คล้อยตาม"เสนาะ"สังคมเดือด

นายบัญญัติ กล่าวถึงข้อแนะนำของนายเสนาะว่าไม่อยากวิจารณ์ตัวนายเสนาะ แต่เมื่อไรก็ตามที่คณะกรรมการคณะนี้เห็นคล้อยกับคำแนะนำของนายเสนาะ สังคมจะเดือดวุ่นวายทันที เพราะที่นายเสนาะแนะนำนั้นสังคมรับรู้ว่าทำเพื่อใคร คณะกรรมการทั้งคณะคงไม่คิดคล้อยตามนายเสนาะ เพราะหลายคนมีประสบการณ์ ยังมีหลายคนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแก้รัฐธรรมนูญ และปัญหาสังคม คงไม่ตามใจนายเสนาะ 

"คณะกรรมการชุดนี้มีบทบาทมาก การเมืองจะแตกแยกหรือไม่ขนาดไหน สังคมจะกลับมาวิกฤติอีกหรือไม่ กรรมการชุดนี้มีความสำคัญมาก และเชื่อว่ากรรมการชุดนี้คงทำหน้าที่ถ่วงดุลย์กันเองอย่างมีเหตุผล"นายบัญญัติกล่าว

รับ"ปชป."คิดหลากหลายแก้"รธน."

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายบัญญัติ  ออกมายอมรับว่าความคิดเห็นของสมาชิกพรรคต่อการแก้รัฐธรรมนูญมีความแตกแยก ว่า ต้องยอมรับว่าความคิดเห็นสมาชิกพรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมืองหลากหลาย จึงเป็นหน้าที่ตัวแทนพรรคทั้ง 8 คนที่จะรวบรวมประเด็นของสมาชิกพรรค รวมทั้ง ยังต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ส่วนท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่เห็นด้วยกับข้อเสนอนายเสนาะนั้น เชื่อว่านายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการฯจะควบคุมให้กรรมการมีจุดมุ่งหมายทำเพื่อบ้านเมือง จากการประชุมวิปรัฐบาลก็เห็นตรงกันว่าจะให้อำนาจคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ อย่างเต็มที่ และถ้าผลสรุปออกมาเป็นอย่างไรกจะยอมรับ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์