มาร์คยันไม่ฆ่าปชช.-สลายม็อบ อ้างปิดสื่อแดงเพื่อลดรุนแรง

เมื่อเวลา 21.15 น. วันที่ 8 เมษายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่า

ขอรายงานประชาชนรับทราบเป็นระยะถึงความคืบหน้าการทำงานของรัฐบาล ตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรง เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้สถานการณ์ยุติลง และต้องไม่เพิ่มเติมบาดแผลสะสม สิ่งที่ทำ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาคือ ระงับยับยั้งสื่อที่ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ตึงเครียดและรุนแรง ซึ่งได้นั่งชมพีทีวี พยายามออกข่าวว่ารัฐบาลพยายามเข่นฆ่าประชาชน ตรงข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลต้องการกระทำ สถานีที่เน้นย้ำเช่นนี้ ย่อมสร้างความเกลียดชังให้เพิ่มขึ้น เป็นแรงกดดันต่อเจ้าหน้าที่ที่ต้องเข้าไปปราบปราม การจะระงับยับยั้งข้อมูลข่าวสารด้านนี้ไม่ง่ายเพราะเทคโนโลยีสามารถส่งสัญญาณต่างๆ มากมาย แต่รัฐบาลก็ทำได้พอสมควร อย่างน้อยบรรยากาศความชิงชังเกลียดชังน่าจะลดลงเป็นลำดับ


นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การเสนอข่าวสารในด้านอื่นประชาชนสามารถพิจารณาได้ว่ารัฐบาลไม่ได้มีความต้องการจะไปล้อมปราบแต่อย่างใด

พยายามที่จะลดความเครียดความทุกข์มากกว่าจากเหตุการณ์สถานการณ์ก่อนหน้านี้เพื่อลดการสื่อสารสร้างความเกลียดชัง คนจะมีความสุขมากขึ้น สำหรับกลุ่มที่นิยมความรุนแรง สามารถขอหมายศาลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งศาลได้ออกหมายจับบรรดาแกนนำที่ไปบุกรัฐสภา จะช่วยลดกลุ่มคนที่สร้างความรุนแรงในสังคมได้ การจะไปจับกุมบุคคลทั้ง 7 คน บนพื้นที่ที่มีการชุมนุมหรือบนเวทีปราศรัยเป็นเรื่องที่ยาก แต่หากไปที่ไหนมีความเสี่ยงถูกจับกุมได้


"วัตถุประสงค์ของรัฐบาลไม่ใช่สลายการชุมนุม แต่เป็นการคืนพื้นที่ให้กับประชาชน  ปัญหาขุ่นข้องหมองใจจะได้แก้ไข โดยจะนำความสงบสุขคืนมาให้คนไทยทั้งประเทศและฉลองสงกรานต์อย่างมีความสุข ขอเรียนว่ามาตรการต่อนี้ไปจะเข้มงวดกวดขันบุคคลที่ไปร่วมชุมนุม ในการตั้งด่านตรวจตรา พี่น้องที่จะเข้าไปชุมนุมเป็นการทำผิดกฎหมาย มีโทษตามกฎหมาย และช่วยเตือนว่าอย่าเข้ามาชุมนุมเลย ส่วนพี่น้องที่อยู่ในที่ชุมนุมอยากให้กลับภูมิลำเนาไปใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข และขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยลดความตึงเครียดจากสังคม ร่วมมือจับกุมคนทำผิดกฎหมาย และจะนำข้อเรียนร้องต่างๆ ที่นำเสนอไปแก้ไข นี้คือรายงานการทำงานของรัฐบาลในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา" นายอภิสิทธิ์

กล่าว


ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน มีโทษจำคุก

ต่อมา เมื่อเวลา 22.00 น. ศอฉ. ได้ออกประกาศกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ใน

พื้นที่ 6 จังหวัด ทั้งนี้ เป็นการออกตามความใน พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ผู้ใดขัดขืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี

ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

-------------------------------------------------


ประกาศศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน  เรื่อง ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม


ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา และอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร และอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553 แล้วนั้น


เนื่องจากมีความจำเป็นต้องกำหนดการห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติได้โดยเร็วและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น อาศัยอำนาจตามข้อ 1 แห่งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงออกประกาศกำหนด ดังนี้


ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยง ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อันมีลักษณะดังต่อไปนี้


(1) กีดขวางการจราจรจนไม่อาจใช้สัญจรได้ตามปกติ
(2) กีดขวางทางเข้าออกของอาคารหรือสถานที่ อันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงาน การประกอบกิจการ หรือการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนโดยทั่วไป
(3) มีการประทุษร้ายหรือใช้กำลังอันทำให้ประชาชนเดือดร้อนเสียหาย และเกรงกลัวอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน
(4) ขัดขืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งการเกี่ยวกับการชุมนุมเพื่อให้เป็นไปโดยสงบ และไม่เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน


ข้อ 2 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามตามประกาศนี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ข้อ 3 ให้ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตร หรือเทียบเท่าเป็นผู้ดำเนินการตามประกาศนี้


ข้อ 4 ประกาศกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปประกาศ


ณ วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2553
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี
หัวหน้าผู้รับผิดชอบ


 

-------------------------------------------------

ฝ่ายมั่นคงฯ เสนอสลายม็อบแต่ไม่ได้ข้อยุติ


รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม ศอฉ.ได้หารือถึงมาตรการดำเนินการกับผู้ชุมนุมเสื้อแดงทั้งแยกราชประสงค์และสะพานผ่านฟ้าฯ โดยคณะกรรมการจากหลายหน่วยงานต่างเสนอวิธีการสลายการชุมนุม อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) ขณะที่ฝ่ายทหารระบุว่าสามารถทำได้ แต่ต้องประเมินว่าการเข้าไปนั้น ต้องให้มีการสูญเสียน้อยที่สุดหรือไม่มีการสูญเสียเลย เพราะหากเกิดการสูญเสียขึ้นจะทำให้เป็นเงื่อนไขที่เพิ่มเชื้อให้กับการชุมนุมได้ และเมื่อนายสุเทพถามความเห็นว่า มีหน่วยงานใดมีความเห็นอย่างไรบ้าง แต่ไม่มีใครเสนอข้อยุติหรือทางออกว่าจะจัดการอย่างไร ทำให้ข้อเสนอนี้ในการสลายการชุมนุม ยังไม่ได้รับการเสนอเป็นมติของที่ประชุม และต้องตกไป

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมยังประเมินว่าขณะนี้จำนวนผู้ชุมนุมเริ่มมีทิศทางว่าจะน้อยลงไปเรื่อย จึงให้เจ้าหน้าที่จับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหากช่วงเวลาใดประเมินว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีจำนวนน้อย และจะไม่ปะทะกันรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าดำเนินการจับกุมแกนนำกลุ่มเสื้อแดงทั้งหมด และเหล่าบรรดาฮาร์ดคอร์ทันที ซึ่ง ศอฉ.กำลังจะขอศาลออกหมายจับอยู่


"คาดว่าจะมีการจับกุมและเคลียร์พื้นที่แยกราชประสงค์และสะพานผ่านฟ้าฯก่อนที่จะถึงช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์นี้ เนื่องจากเกรงว่าในช่วงวันหยุดจะมีผู้ชุมนุมเดินทางมาร่วมชุมนุมจำนวนมาก จะทำให้เจ้าหน้าที่ยากต่อการดำเนินการ" แหล่งข่าวกล่าว


ปธ.สภาสูงคาดจบก่อน13เม.ย.


นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า กลุ่มเสื้อแดงบุกรัฐสภาถือเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ เพราะมีการบุกรุกเข้ามาสถานที่ราชการ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก และคิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งถือว่ายังไม่สายเกินไป เมื่อถามถึงความจำเป็นที่ต้องสลายการชุมนุม นายประสพสุขกล่าวว่า รัฐบาลต้องประเมินสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคาม ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะเกินวันที่ 13 เมษายนนี้ เหตุการณ์คงจะจบลง


ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลพยายามใช้วิธีการที่ไม่เสี่ยงจะทำให้เกิดการปะทะกัน แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า นายกรัฐมนตรีพยายามไม่ให้เกิดความสูญเสีย ทางไหนที่จบได้โดยไม่เกิดการเผชิญหน้ารุนแรง และกฎหมายได้รับการปฏิบัติก็น่าจะทำ 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์