“มาร์ค”ยันแยกราคาแอลพีจี 2 ตลาด


“มาร์ค” ยันแยกราคาแอลพีจี 2 ตลาด รอเคาะกลางเดือนหน้า ด้าน กพช.หวั่นสำรองไฟมีปัญหา หลังพบความต้องการใช้ไฟสูงสุด เตรียมขยายการรับซื้อไฟเพิ่ม


วันนี้ (26 พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กพช.ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้มแต่อย่างใด เนื่องจากต้องรอการศึกษาของคณะทำงาน ที่มี นายเมตตา บันเทิงสุข รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นผู้รับผิดชอบ ให้เรียบร้อยก่อน โดยส่วนตัวแล้วเชื่อมั่นว่า หากมีการแยกตลาดให้ชัดเจนระหว่างตลาดของผู้ใช้ครัวเรือน และการขนส่ง กับผู้ใช้ที่เป็นภาคอุตสาหกรรม ก็จะมีแก๊สราคาถูกให้กับครัวเรือน และภาคขนส่งได้ ที่สำคัญหากมีการบริหารด้านต้นทุนราคาที่ชัดเจน จะทำให้รัฐบาลมีเงินที่เคยเป็นภาระของประชาชนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาช่วยเหลือประชาชนต่อไปได้ คาดว่า ภายในกลางเดือน ธ.ค.นี้ จะสรุปแนวทางการดำเนินการทั้งหมดได้

นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า กพช.ยังเห็นชอบการปรับแผนงานโครงการโรงไฟฟ้าในระยะสั้น เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยให้เร่งพัฒนาโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 2 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านเชื้อเพลิง ที่ดิน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ขณะเดียวกัน จะเร่งขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กด้วยระบบผลิตไฟฟ้า และความร้อนร่วมกัน หรือ เอสพีพี โคเจนเนอเรชั่น เพิ่มอีก 1,500 เมกกะวัตต์ และปรับแผนเร่งโครงการวังน้อยหน่วยที่ 4 และ จะนะ หน่วยที่ 2 ของ กฟผ.ให้เสร็จเร็วขึ้นอีก 3 เดือน เพื่อให้ทันกับช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด

ทั้งนี้ จากการประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดพบว่า มีความต้องการใช้สูงกว่าที่เคยประเมินไว้เดิมโดยสูงขึ้น 1,320 เมกะวัตต์ ในปี 53 สูงขึ้น 1,633 เมกะวัตต์ ในปี 58 และสูงขึ้น 1,915 เมกะวัตต์ในปี 62 ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชน และการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอาจส่งผลให้โรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ ไอพีพี ต้องเลื่อนกำหนด หรืออาจไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้

นอกจากนี้ กพช.ยังเห็นชอบให้แก้ไขสัญญาจัดสร้าง และประกอบกิจการโรงกลั่นปิโตรเลียมของ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด ของกลุ่มบริษัท เชฟรอน ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อกระจายหุ้นจำนวน 30% ให้สอดคล้องกับข้อบังคับของ ตลท. ที่ปัจจุบันกฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการรับจดทะเบียนใน ตลท.ได้เปลี่ยนแปลงไปจากวันที่ทำสัญญาเมื่อปี 34 เช่น คุณสมบัติ และโครงสร้างของกรรมการ เป็นต้น จึงต้องแก้ไขสัญญา เพื่อให้เข้าจดทะเบียนใน ตลท.ได้ตามสัญญาต่อไป และยังสั่งการให้กระทรวงพลังงานเร่งเจรจากับบริษัท พื่อกำหนดเวลาเข้าจดทะเบียนใน ตลท.ต่อไป.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์