มาร์ค-วิป 3 ฝ่าย เห็นตรงแก้รธน. 6ประเด็น 9 เดือนเสร็จ ชทพ.ชี้นานเกินรอ ครึ่งปีน่าเรียบร้อย


นายกฯหารือวิป 3 ฝ่ายได้ข้อสรุปตรงกันเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น "มาร์ค" ประเมินใช้เวลาไม่เกิน 9 เดือน ชาติไทยพัฒนา โต้ทันควันบอกนานเกินไป ครึ่งปีน่าเรียบร้อย


วิป3ฝ่าย-นายกฯสรุปชงแก้ 6ปม


ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมว่า ตัวแทนคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย ประกอบด้วยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ประธานวิปวุฒิสภา นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยจากภท. นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมือง และศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา เข้าหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. ใช้เวลาพูดคุยประมาณ 45 นาที 


ต่อมานายชินวรณ์ให้สัมภาษณ์ว่า ผลการประชุมได้ข้อยุติที่ดี ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับข้อเสนอวิปทั้ง 3 ฝ่าย คือให้เสนอทั้ง 6 ประเด็นแก้รัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้สำนักกฎหมายทั้งสองสภา เป็นผู้ยกร่างแก้ไขหลังจากนั้นจะให้ส.ส.และ ส.ว.ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอญัตติ ส่วนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยการทำประชามตินั้น ทุกฝ่ายเห็นด้วย ทั้งนี้ ในการทำประชามติจะดำเนินการก่อนหรือหลังยกร่างนั้น ต้องให้นายอภิสิทธิ์ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ การดำเนินการทั้งหมดไม่ควรเกินกรอบเวลาที่เคยคุยกันไว้ นายกฯพูดในการหารือเกี่ยวการทำประชามติด้วยซ้ำว่าน่าจะใช้เวลา 90 วัน


ฝ่ายค้านพอใจแต่ขอให้"จริงใจ"


นายชินวรณ์กล่าวว่า หลังจากที่สำนักกฎหมายของสภายกร่างเรียบร้อยแล้วจะส่งกลับให้วิปทั้ง 3 ฝ่ายพิจารณาอีกครั้ง และอาจจะส่งให้แต่ละพรรคร่วมรัฐบาลได้พิจารณาอีกครั้งด้วย จากนั้นจะพิจารณาว่าจะใช้ร่างใด ซึ่งจะทำให้เห็นความชัดเจนมากขึ้น และในเวลาดังกล่าวจะเป็นเวลาที่ต้องรอกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายประชามติ ซึ่งอยู่ในชั้นที่ประธานสภาจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคงจะเสร็จทันกับช่วงที่กฎหมายประชามติมีผลบังคับใช้ 


นายวิทยากล่าวว่า บรรยากาศในการหารือเป็นไปด้วยดี ซึ่งจากการรายงานของวิปรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้เห็นด้วยกับข้อเสนอของวิปทั้ง 3 ฝ่าย โดยไม่ได้ติดใจสงสัยหรือซักถามอะไรเป็นพิเศษ ทั้งยอมรับไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแบบร่างเดียวทั้ง 6 ประเด็น หรือแยกเป็น 6 ร่าง 6 ประเด็น อย่างไรก็ตาม ในฐานะตัวแทนฝ่ายค้านรู้สึกพอใจที่นายกฯรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย และหวังว่านายกฯจะมีความจริงใจในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ ทางวิป 3 ฝ่าย จะกลับไปหารือกันถึงแนวทางการยกร่างกฎมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งแนวทางการจัดทำประชามติต่อไป


"มาร์ค"ย้ำสูตรแก้รธน. 3-3-3


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงว่า ขั้นต่อไปจะให้ฝ่ายสภาเป็นผู้ดำเนินการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม โดยจะยึด 6 ประเด็นตามคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ แม้อำนาจในการแก้ไขมาตา 291 จะเป็นของสมาชิกรัฐสภา แต่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะให้ประชาชนเป็นผู้บอกว่าควรจะแก้หรือไม่อย่างไร จึงต้องมีการจัดทำประชามติซึ่งขั้นตอนว่าจะประชามติช่วงใดจะให้วิป 3 ฝ่ายกลับไปพิจารณาอีกครั้ง เพราะในแต่ละขั้นตอนมีประเด็นข้อกฎหมายที่ต่างกัน ซึ่งตัวประชามติจะต้องชัดเจนไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาภายหลังว่าที่ลงประชามติไปตรงกับสิ่งที่แก้ไขหรือไม่


นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าทำประชามติช่วงไหนก็ได้ ขอให้สอดคล้องกับตัวกฎหมายและเจตนารมณ์ของประชาชน แต่การทำช่วงไหนยังมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอยู่ 1.ถ้าทำก่อนรับหลักการ ก็มีบางฝ่ายกังวลว่าหากแปรญัตติภายหลังจะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ 2.ถ้าทำหลังรับหลักการไปแล้ว ก็จะไม่สอดคล้องกับมาตรา 291 ที่ระบุให้สภาเป็นผู้ทำประชาพิจารณ์ แต่ประชามติต้องทำโดยรัฐบาล และ 3.ถ้าทำหลังแก้เสร็จแล้ว หลายคนอาจไม่คุ้นเคยอาจทำให้เกิดประเด็นโต้แย้งทางกฎหมาย


"ใจผมทำตอนไหนก็ได้ ไม่มีปัญหา ขอให้สอดคล้องกับกฎหมายและความต้องการของประชาชน นอกจากนี้ผมยังมั่นใจว่าผู้แทนปวงชนชาวไทยจะทำตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่สะท้อนผ่านผลการทำประชามติ ซึ่งกรอบเวลาจนแก้ไขเสร็จน่าจะไม่เกิน 9 เดือน แบ่งเป็นขั้นตอนทำประชามติ 3 เดือน ในสภา 3 เดือน และทำกฎหมายลูก 3 เดือน" นายอภิสิทธิ์กล่าว


เตือนเพิ่มปมอาจทำให้ยืดเยื้อ


ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังแก้รัฐธรรมนูญเสร็จต้องยุบสภาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ต้องดูผลประชามติและแก้รัฐธรรมนูญก่อน พูดอะไรล่วงหน้าไปคงไม่ได้ แต่อะไรเหมาะสมตนก็พร้อมทำอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา ถามย้ำว่า เงื่อนไข 3 ข้อ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ บรรยากาศการเมืองดี และรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ แล้วพร้อมยุบสภา แต่ถ้าคนเสื้อแดงยังชุมนุมอยู่จะไปยุบสภาได้อย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ผมก็มั่นใจว่าเวลา 9 เดือนจากนี้ในช่วงกลางปี 2553 เศรษฐกิจน่าจะเข้มแข็งพอสมควร มีรากฐานที่ดีแล้ว รัฐธรรมนูญถ้าแก้เสร็จแล้วก็เป็นเงื่อนไขที่ยอมรับ ก็อยู่ที่บรรยากาศทางการเมืองอย่างเดียว ซึ่งบรรยากาศจะเหมาะสมก็อยู่ที่ผู้เคลื่อนไหว ว่ายังเคลื่อนไหวหวังให้เกิดความรุนแรงอยู่หรือไม่


เมื่อถามว่า กลุ่มคนเสื้อแดงเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2540 มีอะไรๆ ดีเยอะ แต่ก็มีช่องว่าง ซึ่งทุกพรรคก็ยอมรับแล้วว่ามีปัญหา การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่แก้เรื่องอื่น เพราะในรายการของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯก็เขียนไว้ว่าในอนาคต อาจจะมีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาดูในภาพรวมทั้งหมด แต่อาจจะใช้เวลานานพอสมควร คิดว่าใครที่บอกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 ดีทั้งหมด คงไม่ได้อยู่กับความเป็นจริง ต้องนำของที่ดีที่สุดมาผสมผสานกัน 6 ประเด็นที่ตกลงกันแล้วนั้นต้องเดินก่อน หากไปตั้งเรื่องอื่นขึ้นมาจะยืดเยื้อและไม่จบ และฝ่ายต่างๆ ต้องชัดเจนว่าตอนนี้ฝ่ายการเมืองได้มีข้อตกลงแบบนี้และต้องไปสอบถามประชาชนด้วยมันเป็นเรื่องที่น่าจะยอมรับกันได้ของทุกฝ่าย ที่สำคัญยังช่วยแก้ภาพลักษณ์ 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ชาวต่างชาติมองประเทศไทยว่าระบบของไทยแก้ปัญหาไม่ได้ การลงประชามติ ซึ่งเป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดให้มาหาคำตอบ ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด


เมื่อถามว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการซื้อเวลาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ผมมีสิทธิอยู่จนถึง 3 ปี ถ้าจะซื้อเวลาจะไปเสนอแก้รัฐธรรมนูญทำไมŽ เมื่อถามย้ำว่า เป็นเพราะกลัวแพ้การเลือกตั้งหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่กลัว คนที่กลัวคือคนที่ขัดขวางการหาเสียงของคนอื่นต่างหาก


ชทพ.ชี้9เดือนนานไป-ครึ่งปีน่าจะเสร็จ


นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า จุดยืนของพรรคคือเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วยที่จะทำประชามติก็ไม่ขัดข้อง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นผู้ร้ายทันที สำหรับขั้นตอนการทำประชามติทางพรรคอยากเสนอว่าให้ผ่านวาระ 1 และชั้นกรรมาธิการไปก่อนแล้วค่อยทำประชามติ เพราะท่าทีของนายกฯอยากทำประชามติก่อน ซึ่งก็ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาว่าจะมีความยาวนานเท่าไหร่ หากทำก่อนอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในชั้นกรรมาธิการได้ แต่ถ้าทำในชั้นกรรมาธิการแล้วเมื่อประชาชนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้อีก เรื่องนี้ต้องการให้ตกผลึก ไม่มีการแก้ไขใดๆ ได้อีก


"ฝากถึงพรรคประชาธิปัตย์และนายกฯขอให้กำหนดตารางเวลาที่ชัดเจนแน่นอน อย่าปฏิเสธว่าทำไม่ได้ เพื่อให้ประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลทราบถึงกระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จเมื่อใด ทั้งกรอบเวลาการยกร่าง การเสนอร่างต่อสภา การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการและการทำประชามติ เพื่อช่วยไม่ให้ถูกสังคมครหาในเรื่องยื้อเวลา เพราะขณะนี้เสียงนี้ก็ยังมีอยู่ในความคิดของหลายฝ่าย ที่นายกฯบอกว่าจะใช้เวลา 9 เดือน ผมคิดว่าน่าจะเสร็จได้เร็วกว่านั้นภายใน 6 เดือนก็ทำได้ แต่ระยะเวลา 9 เดือนก็เผื่อเหลือเผื่อขาด แต่ก็ไม่เกี่ยงถ้าจะเป็นอย่างนั้น เพราะสถานการณ์การเมืองอาจเปลี่ยนแปลงได้ อาจจะมีอุบัติเหตุทางการเมือง เช่น การยุบสภา หรือมีเงื่อนให้รัฐบาลต้องสิ้นสุดสภาพได้ตลอดเวลา"


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์