“มาร์ค” ชี้คนเห็นแย้งในสังคมปรองดอง ไม่ใช่คนไม่ดี

“มาร์ค” ชี้คนเห็นแย้งในสังคมปรองดอง ไม่ใช่คนไม่ดี

“มาร์ค”ชี้คนเห็นแย้งในสังคมปรองดอง ไม่ใช่คนไม่ดี ยกสถาบันครอบครัวเป็นที่พึ่งปฏิรูปการศึกษา-ปฏิรูปพลเมืองไทย

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. เมื่อเวลา 14.00 น. ที่บริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัดถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวบรรยาย ในหัวข้อ “ ปฏิรูปการศึกษาปฏิรูปพลเมืองไทย ” ให้กับพนักงาน บริษัทสหพัฒนพิบูล ฟัง ตอนหนึ่ง ว่า ถ้าเราอยากเห็น เศรษฐกิจการเมือง สังคมดีเราต้องสร้างคนสร้างค่านิยมของสังคมขึ้นมารองรับ การเรียนในห้องเรียนไม่สำคัญเท่าการเรียนรู้นอกห้องเรียนในชีวิตจริงคนที่ทำผิดส่วนใหญ่ก็รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี แต่ทำไมจึงทำการเรียนในห้องเรียนต้องเชื่อมโยงกับชีวิตจริง จึงอยากเห็นทุกโรงเรียน ได้เปิดให้ครูกับนักเรียนมาถกเถียงเกี่ยวกับข่าวประจำวันในช่วงเช้าเพื่อหาข้อคิดให้เด็กเยาวชนตื่นตัวตลอดเวลา ศึกษาวิเคราะห์กันถึงสาเหตุและการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีซ้ำรอยอีก เราต้องทำให้สังคมเข้าใจเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและผลประโยชน์ที่ขัดกัน เพื่อสร้างจิตสำนึกของการเป็นส่วนรวม หน้าที่พลเมืองความเป็นเจ้าของประเทศ เพื่อปกป้องหวงแหน โดยการเรียนรู้ดีที่สุดคือการทำกิจกรรมให้เด็กทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมร่วมกัน เด็กจะค่อย ๆ ซึมซับเข้าไปเอง

“ จากนี้ไปพวกเราจะอยู่กับคำว่าสามัคคี ปรองดอง ไปด้วยกันอีกนานคำว่า สามัคคีเป็นเรื่องดี แต่ความเห็นแย้งไม่ใช่จะเป็นเรื่องไม่ดีเสมอไป  ความเป็นกลางไม่ใช่ว่าถ้าเป็นคู่กรณีกันต้องผิดด้วยกันไปด้วยกัน ตำรวจจะปรองดองกับโจรไม่ได้ เราจะหวังเฉพาะระบบการศึกษาไม่ได้ต้องดูมากกว่าระบบการศึกษา สถาบันครอบครัวต้องเป็นที่พึ่งของสังคมได้ทุกวันนี้เยาวชนใช้เวลาที่อยู่กับเพื่อน อยู่กับอุปกรณ์การสื่อสารมากกว่าอยู่ในห้องเรียน มากกว่าอยู่กับครอบครัวสังคมเดี๋ยวนี้มันท้าทายด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยสื่อ และบุคคลสาธารณะก็มีบทบาทมากต่อการชี้นำสร้างกระแสอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า

ปัญหาของประเทศที่เกิดขึ้นเพราะเรามองประชาธิปไตยต่างกันจนเป็นที่มาของวาทะ ไพร่-อำมาตย์ และความยุติธรรมสองมาตรฐาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้คนมีความเข้าใจในมาตรฐานกลางของคำว่า ประชาธิปไตยและความยุติธรรม ได้ตรงกัน และหากเรายังเข้าใจต่างกันหลังการเลือกตั้งก็ยังมีปัญหาอีก เพราะทั้งประชาธิปไตย และ ความยุติธรรมมันกลายเป็นความเชื่อทางการเมืองไปแล้วและยังเป็นวาทะที่ทันสมัย ใช้หาเสียงได้อยู่เสมอ แต่ความเชื่อไม่ใช่จะเปลี่ยนไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีวิธีที่จะดึงประชาชนของเราให้เข้าสู่มาตรฐานกลางของความเชื่อได้อย่างไร.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์