มหาดไทยหน้าแตกยับ กฤษฎีกาตีความไฟเขียวใช้สลากออมสินจำนำกับโรงรับจำนำ กทม.ได้


คนนิยมออมเงินโดยการฝากสลากออมสินเฮ! คณะกรรมการกฤษฎีกาไฟเขียวให้เอาจำนำกับโรงรับจำนำได้ ถือเป็นทรัพย์หรือสิ่งของตามกฎหมาย หลัง กทม.ทำเรื่องหารือ เพราะถูกกระทรวงมหาดไไทยเบรก จนเกิดปัญหาในการดำเนินการ ผู้สื่อข่าว"มติชนออ

ผู้สื่อข่าว"มติชนออนไลน์"รายงานเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยขอหารือของกรุงเทพมหานนคร(กทม.)ว่า สลากออมสินถือเป็นทรัพย์หรือสิ่งของตามกฎหมายที่สามารถนำไปจำนำกับสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครหรือโรงรับจำนำของ กทม.ได้ หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยเห็นว่า สลากออมสินไม่ใช่สิ่งของตามกฎหมายจึงไม่สามารถนำไปจำนำได้

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้มีหนังสือ หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (เรื่องเสร็จที่ 753/2551) สรุปความได้ว่า  คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยมีความเห็นกรณีสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครหารือ เรื่องการรับจำนำสลากออมสินพิเศษซึ่งเป็นตราสารว่า ไม่สามารถนำไปทำสัญญาจำนำกับโรงรับจำนำที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำได้ โดยให้เหตุผลว่า พ.ร.บ.โรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ได้นิยามคำว่า “ทรัพย์จำนำ” หมายความว่า สิ่งของที่รับจำนำ 

ดังนั้น ทรัพย์ที่จะนำมาทำสัญญากับโรงรับจำนำฯ จึงต้องเป็นเฉพาะสิ่งของตามที่บทบัญญัติมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.โรงรับจำนำฯ บัญญัติไว้เท่านั้น เมื่อสลากออมสินพิเศษเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นสิทธิที่มีตราสารแสดงถึงสิทธิที่จะได้รับเงินตามตราสารดังกล่าว จึงไม่ใช่สิ่งของตามนัยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโรงรับจำนำฯ

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครมีความเห็นว่า บทบัญญัติ มาตรา137 และมาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ความหมายของทรัพย์ไว้ว่า หมายถึง วัตถุมีรูปร่าง และ ทรัพย์สินหมายความรวมถึงทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
 
ทรัพย์สินจึงหมายความรวมถึงวัตถุมีรูปร่างและวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ และโดยที่ พ.ร.บ.โรงรับจำนำฯ ไม่ได้ให้ความหมายของคำว่า “สิ่งของ” ไว้ จึงต้องพิจารณาความหมายของสิ่งของตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542  ซึ่งหมายความว่า “วัตถุต่าง ๆ”

 ดังนั้น ทรัพย์จำนำจึงหมายความได้ว่า วัตถุต่าง ๆ ที่รับจำนำ เมื่อสลากออมสินพิเศษเป็นหนังสือตราสารที่แสดงถึงสิทธิที่จะได้รับเงินตามตราสารจึงถือเป็นทรัพย์สินตามมาตรา 138แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกทั้งเป็นวัตถุมีรูปร่างซึ่งมีราคาและถือเอาได้ จึงสามารถนำมาเป็นทรัพย์จำนำตามพ.ร.บ.โรงรับจำนำฯ ได้

เนื่องจากการตีความข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำฯ ของกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครไม่สอดคล้องกัน จึงเกิดปัญหาในการดำเนินงานของสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร 

ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงขอหารือปัญหาการตีความข้อกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 4  วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.โรงรับจำนำฯ ว่า สลากออมสินพิเศษจะถือเป็นทรัพย์ที่สามารถจำนำได้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5)  มีความเห็นว่า  เมื่อพิจารณามาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.โรงรับจำนำ พ.ศ. 2505ซึ่งกำหนดนิยาม “โรงรับจำนำ” ไว้ว่า สถานที่รับจำนำซึ่งประกอบการรับจำนำสิ่งของเป็นประกันหนี้เงินกู้เป็นปกติธุระ แต่ละรายมีจำนวนเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท และหมายความรวมตลอดถึงการรับหรือซื้อสิ่งของโดยจ่ายเงินให้สำหรับสิ่งของนั้นเป็นปกติธุระ แต่ละรายมีจำนวนเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท โดยมีข้อตกลงหรือเข้าใจกันโดยตรงหรือโดยปริยายว่า จะได้ไถ่คืนในภายหลัง 
 
อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่จะนำมาจำนำในโรงรับจำนำตามพ.ร.บ.โรงรับจำนำฯ ได้แก่ ทรัพย์หรือสิ่งของ ซึ่งพ.ร.บ.โรงรับจำนำฯ ไม่ได้ให้ความหมายไว้ จึงต้องพิจารณาถ้อยคำตามความหมายทั่วไป โดยคำว่า ทรัพย์ ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง

ส่วนคำว่า สิ่งของ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542  หมายความว่า วัตถุต่าง ๆ อันน่าจะสื่อความหมายถึงสิ่งไม่มีชีวิตที่นอกเหนือไปจากคนและสัตว์นั่นเอง 

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาลักษณะของการจำนำ ซึ่งมาตรา 747  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า จำนำ คือ สัญญาซึ่งผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จะเห็นได้ว่า การจำนำจะสมบูรณ์ได้ต้องมีการส่งมอบทรัพย์จำนำให้แก่ผู้รับจำนำ ด้วยเหตุนี้ ทรัพย์หรือสิ่งของตาม พ.ร.บ.โรงรับจำนำฯ จึงหมายถึง วัตถุหรือสิ่งไม่มีชีวิตที่มีรูปร่างซึ่งสามารถส่งมอบแก่กันได้ 

เมื่อพิจารณาลักษณะของสลากออมสินพิเศษที่ออกโดยธนาคารออมสินตามกฎกระทรวงว่าด้วยการรับฝากเงินประเภทสลากออมสินพิเศษ พ.ศ. 2547  ออกตามความในพ.ร.บ.ธนาคารออมสิน พ.ศ.2489 จะเห็นได้ว่า สลากออมสินพิเศษ คือ หนังสือตราสารที่ธนาคารออมสินออกให้แก่ผู้ฝาก โดยมีข้อสัญญาว่า ถ้าหนังสือตราสารนั้นมีเลขหมายถูกเลขสลากจ่ายคืน ธนาคารออมสินจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ฝากเป็นจำนวนเงินตามที่กำหนดไว้ และเมื่อหนังสือตราสารนั้นครบกำหนดอายุ ธนาคารออมสินจะจ่ายเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ย (ถ้ามี) ให้แก่ผู้ฝาก ตามนิยามในข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงฯ และมี 2 ชนิด คือ ชนิดระบุให้ใช้เงินแก่ผู้มีชื่อในสลากออมสินพิเศษ และชนิดระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือสลากออมสินพิเศษ ตามข้อ 4  แห่งกฎกระทรวงฯ 

นอกจากนี้ ผู้ฝากเงินประเภทสลากออมสินพิเศษนี้ ยังมีสิทธิต่าง ๆ ในสลากด้วย เช่น สิทธิในการถอนเงินคืนก่อนครบกำหนดอายุของสลากออมสินพิเศษ สิทธิโอนกรรมสิทธิ์ในสลากออมสินพิเศษแก่บุคคลอื่น หรือสิทธิขอกู้เงินจากธนาคารออมสินโดยใช้สลากออมสินพิเศษเป็นหลักประกันไม่ว่า ทั้งหมดหรือบางส่วน

 จากลักษณะดังกล่าว สลากออมสินพิเศษจึงเป็นตราสารที่ใช้แสดงสิทธิในเงินที่ผู้ฝากได้ฝากไว้กับธนาคารออมสินและสามารถโอนและส่งมอบกันได้ด้วยวิธีที่กำหนด ซึ่งต่างจากการฝากเงินไว้กับธนาคารออมสินที่ผู้ฝากมีเพียงสิทธิในเงินฝากโดยไม่มีตราสารแสดงสิทธินั้น เมื่อสิทธิดังกล่าวไม่อาจส่งมอบแก่กันได้จึงไม่สามารถจำนำได้ 

แต่ในกรณีของการฝากเงินประเภทสลากออมสินพิเศษ ผู้ฝากเงินกับธนาคารออมสินจะได้รับสลากออมสินพิเศษเป็นเอกสารแสดงสิทธิในเงินฝากของตนที่มีอยู่กับธนาคาร ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีลักษณะเป็นวัตถุมีรูปร่างที่ใช้โอนและส่งมอบกันได้ 
 
 ดังนั้น สลากออมสินพิเศษจึงเป็นทรัพย์หรือสิ่งของตามความหมายของพระราชบัญญัติโรงรับจำนำฯ ที่โรงรับจำนำจะรับจำนำไว้ได้ 

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์