ภาวะผู้นำยามวิกฤติของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ภาวะผู้นำยามวิกฤติของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ทันทีที่พรรคมหาชน และพรรคประชาธิปัตย์ มีมติที่จะคว่ำบาตร การเลือกตั้ง 2 เม.ย. ศึกที่รู้อยู่แล้วว่า ไม่มีทางชนะ ไม่เพียงกลุ่มพลังมวลชนที่เริ่ม

มูลค่าของการเป็นผู้นำพรรคร่วมฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็พุ่งพรวดทะลุปรอท

ไม่ใช่แต่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ปลาบปลื้ม ด้วยความรู้สึกว่า ไม่ถูกการเมืองโดดเดี่ยว แม้แต่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน ถึงกับออกปากชื่นชม

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายเอนกวิพากษ์ความเป็นผู้นำของ นายอภิสิทธิ์ ในท่วงทำนองว่า "ไม่ถึง" มาโดยตลอด นับแต่เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยันช่วงที่ไปเป็นหัวหน้าพรรคมหาชน

เพราะต่างก็มองเห็นว่า แนวทางคว่ำบาตรนั้นเป็นทางเดียวที่จะสู้กับเกมที่คู่ต่อสู้เป็นผู้กำหนด

เป็นหนทางเดียวที่ไม่เพียงหลีกหนีความพ่ายแพ้ หากแต่ตอกย้ำถึงความไม่ชอบธรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี ยุบสภา ทั้งที่คนจากทั่วสารทิศที่มารวมกันที่ท้องสนามหลวงไม่ยอมรับในอำนาจนั้น

การประกาศคว่ำบาตร โดยปราศจากเงื่อนไขอื่น จึงเป็นแนวทางร่วมของคนส่วนใหญ่ที่ต่อต้านระบอบทักษิณ

แม้จะรู้ว่า "เสี่ยง" แต่พวกเขาก็ยินดีน้อมรับผลที่จะเกิดขึ้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงกับประกาศต่อที่ประชุมว่า "ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว"

เป็นการพูดหลังจากได้ฟังความเห็นแย้งจาก นายหัว ชวน หลีกภัย ที่โทรศัพท์ทางไกลมาแย้งว่า ไม่ต้องการให้ทำนอกระบบ

ไม่เพียงแค่ที่พรรค หากแต่ นายอภิสิทธิ์ ยังยืดอกแถลงยืนยัน ณ โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ ว่าไม่มีกฎหมายใดๆ ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

จึงไม่ใช่การเมือง "นอกระบบ" อย่างที่จะถูกกล่าวหา

ใครก็มองออกว่า เกมของประชาธิปัตย์ และมหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้งนั้น มุ่งหน้าสู่ "รัฐธรรมนูญ มาตรา 7"

เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง

ยิ่งในภาวะที่การชุมนุมร้อนแรงที่สนามหลวง เมื่อฝ่ายค้านโดดรับข้อเสนอที่เป็น "เงื่อนตาย" ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่เรียกร้อง หลับตาก็น่าจะจินตนาการได้ว่าเหตุการณ์นับแต่นี้จะเป็นอย่างไร

เมื่อถึงเวลานั้น ความชอบธรรมที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะรักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คงไม่เหลือหลอ

เมื่อนั้น ก็เข้าสู่บทบัญญัติในมาตรา 7

"เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

เพราะเมื่อรักษาการนายกรัฐมนตรีออก ก็ไม่รู้ว่าจะหาใครเข้ามา เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติรองรับ

แต่หากไม่เกิดเหตุอะไร เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง วันที่ 2 เมษายน ก็ยังมีอีกขยัก

เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 98 บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีทั้งสิ้น 500 คน มาจากเขตเลือกตั้ง 400 คน จากระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

ขณะที่ มาตรา 74 กฎหมายเลือกตั้งนั้นระบุว่า หากเขตเลือกตั้งใดมีผู้สมัครเพียง 1 คน หากไม่ได้รับการเลือกตั้งถึงร้อยละ 20 ของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น ให้ กกต.จัดการเลือกตั้งใหม่

ดังนั้น การตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคมหาชน จึงมุ่งหวังให้เข้าข่ายตามกฎหมายกำหนด

แต่ทั้งหมดไม่ได้หมายความว่า เพื่อให้ ส.ส.ในสภา ไม่ครบ 500 คน หากแต่มุ่งหวังไปที่การตอกย้ำความไม่ชอบธรรม

น่าเสียดายที่แนวทางที่ว่านั้น ชั่วข้ามคืนก็เปลี่ยนไป

น่าเสียดายภาวะความเป็นผู้นำ และท่าทีอันแข็งกร้าวในภาวะคับขันของนายอภิสิทธิ์

โชคดีที่ คำว่า "ผมพร้อมรับผิดชอบ แต่เพียงผู้เดียว" ไม่ได้พูดต่อหน้าสาธารณะ

โชคไม่ดีที่เมื่อโอกาส-สถานการณ์เอื้ออำนวยให้แล้ว นายอภิสิทธิ์ กลับปล่อยไป

ได้แต่ยืนมองดูเบื้องหลังของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทำงานตามแนวทางของนายชวน หลีกภัย และเป็นแนวทางที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย ยินดี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์