ภาพลักษณ์ คน ปฏิบัติการ ชัตดาวน์ ภาพ การเมือง

ภาพลักษณ์ คน ปฏิบัติการ ชัตดาวน์ ภาพ การเมือง

ไม่เพียงแต่ "ภาพลักษณ์" ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จากสถานการณ์ "ชัตดาวน์" กรุงเทพมหานคร

หากแต่ "ภาพลักษณ์" ของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ก็แปรเปลี่ยน

ที่น่าสนใจก็คือ เป็นการแปรเปลี่ยนไปตาม "จุด" ที่แต่ละคน "ยืนมอง" เป็นการแปรเปลี่ยนไปตามสภาพเลื่อนไหลในทางการเมือง

เมื่อปี 2538 ภาพของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ คือ ส.ป.ก.4-01

เป็นปัจจัยอันทำให้พรรคพลังธรรมของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จำเป็นต้องเลือก เป็นปัจจัยอันทำให้รัฐบาล นายชวน หลีกภัย ต้องล้มครืน

มาถึงเดือนมกราคม 2557 ภาพกับตรงกันข้าม

ภาพของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กลายเป็นภาพของ "นักปฏิวัติ" เป็น "ลุงกำนัน" ผู้เกลียดการทุจริต คอร์รัปชั่น

เป็นการเปลี่ยนจากสถานการณ์
"ชัตดาวน์"

ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ก็เริ่มแปรเปลี่ยนจากสถานการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการ
"ชัตดาวน์"

นี่คือ เงาแห่ง "อนิจจัง" ไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน

อย่าคิดว่าจะมีแต่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เท่านั้นที่มีอันเป็นไปในท่ามกลางการแปรเปลี่ยนของแต่ละสถานการณ์

ภาพของ นายปรีดี พนมยงค์ ก็มิได้ดำรงอยู่อย่าง
"สถิต"

ยุคหลังรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2490 ภาพของ นายปรีดี พนมยงค์ น่ากลัวอย่างยิ่ง อันตรายอย่างยิ่ง

ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับคดีลอบปลงพระชนม์

ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นคนร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ หรือสมุดปกเหลือง มุ่งหวังจะจัดตั้ง "คอมมูน" เหมือนกับที่บอลเชวิคทำในรัสเซีย

เกิดจากฝีมือใคร พรรคการเมืองใด รู้ๆ กันอยู่

แต่เมื่อผ่านสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 ภาพของ นายปรีดี พนมยงค์ ก็เริ่มแปรเปลี่ยน มาเป็นภาพของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

เป็นคนต่อสู้กู้ชาติให้พ้นจากอันตรายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เป็นภาพของนักคิด นักต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตย นำเสนอความเป็น "สมัยใหม่" ให้กับสังคมประเทศไทย ในห้วงรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2490 พรรคการเมือง 1 อาจดูเหมือนพระเอก แต่มาถึง ณ วันนี้ ไม่ใช่แล้ว

นี่คือเงาแห่ง "อนิจจัง" ไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน

ภาพลักษณ์ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับ ภาพลักษณ์ของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กำลังปะทะและขัดแย้งกันอย่างแหลมคมยิ่ง

คน 1 เสนอแนวทาง "ชัตดาวน์" กรุงเทพมหานคร

คน 1 ออกมาแย้งอย่างแหลมคมว่า กระบวนการ "ชัตดาวน์" เหมือนกับต้องการเล่นงานรัฐบาล เล่นงาน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่เหยื่ออย่างแท้จริง คือ ประชาชน

เป็นคนกรุงเทพมหานครอันเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์มาอย่างยาวนาน เป็นคนกรุงเทพมหานครกว่า 1 ล้านคนที่เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ

ในวันนี้ คนกรุงเทพมหานครกำลังตกเป็น "เหยื่อ"

เพียง 1 หรือ 2 วัน สถานการณ์ "ชัตดาวน์" กรุงเทพมหานครอาจยังไม่แน่ชัดว่าจะส่งผลสะเทือนอย่างไร ส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาล ส่งผลสะเทือนต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือส่งผลสะเทือนต่อคนกรุงเทพมหานคร

ต้องรอให้พ้นวันที่ 15 มกราคม ไปก่อน

ต้องรอให้เนิ่นยาวไปครบ 1 สัปดาห์ก่อน คำตอบของใครจะถูกต้องมากกว่ากัน ระหว่างของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับ
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

นี่คือเงาแห่ง "อนิจจัง" ไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน

กระนั้น สภาพที่ไม่ควรมองข้ามหรือปล่อยให้ผ่านเลยไปเหมือนกับไม่เคยมีขึ้น ไม่มีความหมาย

1 มีการ "ชัตดาวน์" กรุงเทพมหานคร เลื่อนการเลือกตั้งออกไป 1 มีการชุมนุมของประชาชนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในภาคกลาง เรียกร้องเปิด กทม. เดินหน้าเลือกตั้ง

ภาพ 2 ภาพนี้ คือความเป็นจริงอันเห็นและเป็นอยู่

(ที่มา:มติชนรายวัน 15 มกราคม 2557)


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์