ฟื้นคดียุบ ทรท.ส่อเหลว! ฝ่ายกฎหมาย พท.เสียงแตก จาตุรนต์เผยไต๋เบื้องลึกที่แท้หวังล้มปชป.

ฟื้นคดียุบ ทรท.ส่อเหลว! "ฝ่ายกฎหมาย พท."เสียงแตก "จาตุรนต์"เผยไต๋เบื้องลึกที่แท้หวังล้ม"ปชป."

สมาชิก 111 เล็งประสาน "ธรรมรักษ์" เป็นเจ้าภาพเอาผิด ปชป.จ้างพยานเท็จใส่ร้ายยุบ ทรท. "จาตุรนต์" ชี้เป็นผู้เสียหายโดยตรง แบไต๋ฟื้นคดียุบไทยรักไทยแค่เป้าหลอกของจริงหวังล้ม "ประชาธิปัตย์" ฝ่ายกฎหมาย "พท." ชี้โอกาสชนะยาก

ฝ่ายกฎหมาย พท.แตกคอ


จากกรณีที่ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรองผอ.กอรมน. ในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย นำพยาน 2 ราย ที่เคยให้การต่อตุลาการรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคไทยรักไทยมาเปิดเผย ว่า ได้รับการว่าจ้างจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ คนละ 15 ล้านบาท เพื่อปรักปรำพรรคไทยรักไทย


รายงานข่าวจากแกนนำฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน แจ้งว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของ พท. ได้มีความเห็นแตกออกเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับกรณีที่มูลนิธิ 111 ไทยรักไทย จะขอรื้อฟื้นคดียุบ ทรท. หลังพยานในคดียุบ ทรท. 2 คน ออกมาแฉว่าถูกว่าจ้างให้เป็นพยานเท็จในคดีดังกล่าว เพราะมองว่าโอกาสในการชนะคดีนี้มีน้อยมาก โดยข้อพิจารณาของตุลาการรัฐธรรมนูญในขณะนั้นมีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.ทรท. ว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งจริงหรือไม่ ตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ทรท.กระทำความผิดจริง 2.สามารถลงโทษโดยให้มีผลย้อนหลังได้หรือไม่ ตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ว่าทำได้ เพราะไม่ใช่โทษในคดีอาญา


"มูลนิธิ 111 ต้องการฟื้นคดีนี้ขึ้นมาเพื่อหวังลดหย่อนโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ให้อดีตกรรมการบริหาร ทรท. โดยใช้คำสารภาพของพยาน 2 คน เป็นข้อต่อสู้ในทางกฎหมาย ซึ่งเป็นการอิงหลักพิจารณาคดีอาญา เหมือนเวลาศาลอาญาตัดสินลงโทษประหารชีวิตจำเลย หากฝ่ายจำเลยพบข้อมูลหลักฐานใหม่ก็มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ นั่นหมายถึงการมีสิทธิได้รับการลดระดับโทษ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าประเด็นนี้ได้ตกไปแล้ว เพราะตุลาการรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้วว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีอาญา แต่เป็นคดีการเมือง จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้พิจารณา" แหล่งข่าวกล่าว


นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังระบุว่า การทำหน้าที่ของตุลาการรัฐธรรมนูญยังถูกรับรองด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ทำให้การฟื้นฝอยหาตะเข็บยิ่งยากขึ้นไปใหญ่ อย่างไรก็ตาม หากมูลนิธิ 111 ยืนกรานจะฟื้นคดียุบ ทรท.ให้ได้ ขั้นตอนในการดำเนินการคือ มูลนิธิ 111 ในฐานะผู้เสียหายต้องเป็นเจ้าภาพยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะรู้ผลภายในเวลาไม่เกิน 30 วันว่าศาลจะประทับรับคำร้องหรือไม่


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 21 พฤศจิกายน กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้จัดโครงการฝึกอบรมและให้ความรู้ด้านประชาธิปไตยแก่สมาชิกโรงเรียนผู้ปฏิบัติงานนปช. แดงทั้งแผ่นดิน รุ่นที่ 3 ที่ มูลนิธิ 111 ไทยรักไทย โดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย จะเป็นประธานเปิดงานในเวลา 09.00 น. พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ช่วงบ่ายจะมีการเสวนาของแกนนำบ้านเลขที่ 111 นำโดยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ ยุติธรรม 


"อ๋อย"ชี้ฟื้นคดียุบทรท.แค่เป้าหลอก


นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ทรท.) และสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ยอมรับว่าการต่อสู้เพื่อให้ชนะคดียุบพรรคไทยรักไทยภาค 2 เป็นเรื่องยากแม้จะมีพยาน 2 คน ออกมาสารภาพว่าถูกจ้างวานให้เป็นพยานเท็จใส่ร้าย ทรท.ก็ตาม โดยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ว่า ได้หารือกับสมาชิกบ้านเลขที่ 111 บางส่วน เกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินการหลังพยานในคดียุบ ทรท. 2 คน ออกมาสารภาพว่าถูกจ้างวานให้เป็นพยานเท็จใส่ร้าย ทรท. ทั้งนี้ ยอมรับว่าการต่อสู้เพื่อให้ชนะคดีเป็นเรื่องยาก ดังนั้น จะพุ่งเป้าไปที่การเอาผิดกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะผู้ว่าจ้างให้พยานทั้ง 2 คน มาใส่ร้าย ทรท. เพราะถือเป็นข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อน ขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องกำลังประสานงานกับ พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และอดีตรองหัวหน้า ทรท. ที่ตกเป็นจำเลยคดีอาญาในฐานะผู้ว่าจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อขอให้มาเป็นเจ้าภาพในการดำเนินคดีกับ ปชป. เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง


"เชื่อว่า พล.อ.ธรรมรักษ์น่าจะตอบตกลงเป็นเจ้าภาพ เพราะมันเป็นประโยชน์แก่เขาในการต่อสู้คดีอาญา แทนที่จะโดนอยู่คนเดียว ก็ควรจะดำเนินการกับอีกฝ่ายบ้าง"  นายจาตุรนต์กล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า การจะดำเนินคดีกับ ปชป.ได้ จำเป็นหรือไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องประทับรับพิจารณาคดียุบ ทรท. นายจาตุรนต์กล่าวว่า ไม่จำเป็น ไม่เกี่ยวกัน เรื่องนี้ต้องแยกเป็น 2 ส่วน เมื่อได้หลักฐานใหม่ที่เป็นประโยชน์ในทางคดี เราก็มีสิทธิอันชอบธรรมในการเล่นงาน ปชป. นี่คือเป้าหมายแท้จริงที่มีโอกาสเป็นไปได้สูง สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการเอาผิด ปชป. แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.การเข้าแจ้งความกับตำรวจเพื่อขอให้ดำเนินคดีอาญากับ ปชป. ฐานจงใจใช้พยานเท็จ และ 2.การยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กตต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อขอให้ยุบ ปชป. เนื่องจากเลขาธิการพรรคกระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง หาก กกต.วินิจฉัยว่ามีมูลก็จะยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์