พันธมิตรฯย้ำ ชุมนุม 7 เมษา ชู ภารกิจปฏิรูปฯ - ต้านระบอบทักษิณ

พันธมิตรฯย้ำ ชุมนุม 7 เมษา ชู ภารกิจปฏิรูปฯ - ต้านระบอบทักษิณ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 6 เมษายน 2549 17:55 น.

พันธมิตรฯปรับรูปแบบการชุมนุมวันที่ 7 เมษายน ที่ท้องสนามหลวง เป็นการชุมนุมเพื่อประกาศภารกิจปฏิรูปการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยภาคประชาชนอย่างแท้จริงโดยห้ามการแทรกแซงทั้งทางตรงและทางอ้อม จากฝ่ายการเมืองและข้าราชการ ขณะเดียวกัน เดินหน้าผลักดันให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจมิชอบต่อไป

วันนี้ (6 เม.ย.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการยืนยันการชุมนุมของพันธมิตรฯในวันที่ 7 เม.ย.ทั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศเว้นวรรคไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า เบื้องต้นต้องยอมรับข้อเท็จจริง ว่า การประกาศเว้นวรรคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เป็นไปตามสัญญาประชาคมที่พันธมิตรฯเรียกร้องให้ลาออก ดังนั้น เราจึงมีความชอบธรรมที่จะชุมนุมต่อไป อย่างไรก็ตามพันธมิตรฯก็เกรงว่าจะมีการเข้าใจผิดว่ามีการชุมนุมกดดันอยู่ จึงตัดสินใจย้ายสถานที่เพื่อลดความกดดัน และให้ประชาชนเข้าใจว่าเราไม่ได้ดื้อรั้น และเราจะชุมนุมตั้งแต่เวลา 14.00 น.ถึงเวลา 02.00 น.ของวันที่ 8 เม.ย.เท่านั้น

ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ อธิบายอีกว่า ในการชุมนุมครั้งนี้ได้มีการปรับรูปแบบการชุมนุมเพื่อประกาศพันธกิจของพันธมิตรฯ ไม่ใช่การกดดันทางการเมืองแบบที่ผ่านมา ซึ่งเราเห็นปัญหาความซับซ้อนของสถานการณ์ที่จะมีการเตรียมจัดงานฉลองการครองราชย์ครบ 60 พรรษา พันธมิตรฯจึงต้องทบทวนระมัดระวังไม่ให้การชุมนุมถูกเบี่ยงประเด็นไปเป็นการจาบจ้วงหมิ่นเบื้องสูง จึงจะปรับรูปแบบให้นุ่มนวลมากขึ้น

นายสุริยะใส กล่าวว่า เราจะพยายามทำความเข้าใจกับประชาชน และเสนอภารกิจกรอบแนวทางที่จะดำเนินการต่อไป โดยยึดกรอบใหญ่ 3 ประการ คือ 1.ต้องปลอดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ข้าราชการทั้งทางตรงและทางอ้อม 2.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะต้องมีสัดส่วนจากภาคประชาชนที่จะมาเป็นกรรมการปฏิรูปการเมือง รวมทั้งจะต้องมีส่วนตัดสินใจว่าหรือไม่ว่ารับหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.จะต้องเปิดช่องให้มีการทบทวนกฎหมายแวดล้อมอื่นๆ เช่น พ.ร.บ. พ.ร.ก.หรือพระราชกฤษฎีกา 500-600 ฉบับจะต้องทบทวนโดยมีกรอบเวลาชัดเจน รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจที่ผ่านมา เรื่องซื้อขายหุ้นชิน สัมปทานเอฟทีเอ รัฐวิสาหกิจ ประชานิยม ต้องดูว่าเราจะต่อต้านนโยบายเหล่านี้อย่างไร

นายสุริยะใส กล่าวว่า หลังจากวันที่ 7 เม.ย.แกนนำพันธมิตรฯจะประชุมกรรมการพันธมิตรฯทั่วประเทศอีกครั้ง เพื่อกำหนดกรอบเสนอต่อสังคมว่าทิศทางการปฏิรูปการเมืองควรเป็นไปในรูปแบบใดโดยอาจจะเป็นการจัดเวทีกลุ่มย่อยทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชน

นักวิชาการ เชื่อ ชุมนุมพันธมิตรฯพรุ่งนี้ คนยังแห่ร่วมล้นหลาม

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 6 เมษายน 2549 18:38 น.

นักวิชาการ เชื่อ ชุมนุมพันธมิตรฯที่ท้องสนามหลวง พรุ่งนี้ (7 เม.ย.) จะมีประชาชนเข้าร่วมล้นหลามเช่นเดิม เพราะ ทักษิณ ยังชักใยอยู่ข้างหลัง ย้ำต้องเดินหน้าขอพระราชทานนายกฯตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ผ่าทางตัน แล้วปฏิรูปการเมืองเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน ต้องเดินหน้าตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อนต่อไป

วันนี้ (6 เม.ย.) นายเจริญ คัมภีรภาพ อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร มั่นใจว่า การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันพรุ่งนี้ (7 เม.ย.) จะมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมากเช่นเดิม ประชาชนต้องการรับทราบท่าทีที่ชัดเจนของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่า จะมีท่าทีอย่างไร เพราะที่ผ่านมาผู้ชุมนุมรับทราบดีว่า การประกาศเว้นวรรคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แค่เกมการเมืองเท่านั้น และหลังเลือกตั้ง 30 วัน ก็ไม่มีทางเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้แน่นอน แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พยายามลากถูให้เปิดประชุมสภาให้ได้ ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นจะต้องถูกปฏิเสธจากประชาชนอย่างแน่นอน เนื่องจากเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ

นักวิชาการผู้นี้ กล่าวว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ควรยืนยันในจุดยืนข้อเรียกร้องเดิม คือ ขอใช้มาตรา 7 ขอพระราชทานนายกฯ และ ครม.พระราชทาน เพราะทราบกันดีว่า พรรคไทยรักไทย ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ ถึงจะดังทุรังเปิดประชุมสภาได้ ก็เป็นแค่สภาที่มีแต่พรรคไทยรักไทย จะออกกฎหมาย ปฏิรูปการเมือง และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็เพื่อตัวเอง ระบอบทักษิณ ก็จะยังหยั่งรากลึกอยู่ ดังนั้น ควรนำมาตรา 7 มาใช้เพื่อให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อน แล้วค่อยมีการเลือกตั้งตามมา ตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการจะสร้างอนาคตทางการเมืองใหม่ให้กับประเทศนี้

5 แกนนำต้องใคร่ครวญให้ดีว่า จะประกาศกำหนดท่าทีอย่างไร ไม่ควรปล่อยให้สิ่งที่ต่อสู้มาหายไปแบบคลื่นกระทบฝั่ง เพราะเราเสียต้นทุนในการต่อสู้มหาศาล ทำอะไรต้องคิดถึงประชาชนเรือนหมื่นเรือนแสนล้านคนที่มาร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ นายเจริญ กล่าว

ด้าน นายคมสัน โพธิ์คง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะให้มีคนกลางที่มีส่วนประกอบจากหลายส่วนแบบสภาสนามม้า เช่น อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ศาล องค์กรอิสระ นักกฎหมาย ก็ไม่ต่างอะไรจาก ส.ส.ร.2 แต่สิ่งที่สำคัญขณะนี้ คือ การให้ความรู้จุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กับประชาชนก่อน ซึ่งขณะนี้ทางเครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง กำลังทำอยู่

ส่วนการชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันพรุ่งนี้ (7 เม.ย.) เชื่อว่า จะยังมีประชาชนมาร่วมชุมนุมจำนวนมากเหมือนเดิม แต่ประเด็นที่ควรจะพุ่งเป้าให้ความสำคัญในครั้งนี้ คือ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นให้มากกว่ามุ่งไปที่ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะประชาชนคนชนชั้นกลางไม่พอใจผลการเลือกตั้ง ที่แสดงออกมาจากการโนโหวต

ขณะที่ นายไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเห็นด้วยเช่นเดียวกัน ว่า จะมีประชาชนจำนวนมากมาร่วมชุมนุมอีก เพราะยังไม่พอใจ และไม่เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเว้นวรรคจริง เพราะยังอยู่ในตำแหน่งอยู่ ที่สำคัญ ต้องมีการเน้นการตรวจสอบ ผลประโยชน์ทับซ้อน และความไม่ถูกต้องในเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งที่ผ่านมา และปัจจุบันเพราะตัวนายกฯคนนี้ยังอยู่ในตำแหน่ง

คนยังมาเยอะอยู่ ที่ออกเสียงโนโหวต หรือแม้แต่บัตรเสีย ที่แสดงเจตจำนงการเมือง ด้วยการเขียนข้อความต่างๆ ไม่เอาทักษิณ แม้ในทางกฎหมายเป็นบัตรเสีย แต่ในทางประชาธิปไตยเป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมือง นายไชยันต์ กล่าว

ขณะที่ นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวว่าเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา นายโภคิน พลกุล รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้ขอข้อมูล พ.ร.บ.สภาที่ปรึกษา เพื่อนำไปศึกษาในการยกร่าง พ.ร.บ.ในมาตรา 313 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ยังไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไร แค่ติดตามเรื่องการปฏิรูปการเมืองมาตลอด ซึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ นักวิชาการ นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เสนอ โดยเฉพาะเรื่องที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เคยพูดถึง คือ การกำกับทุน ที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจรัฐ แม้ในความเป็นจริงทั่วโลก เช่น ในอเมริกา ทุนแทรกแซงไปหมดก็ตามในการเลือกตั้ง ที่ใช้เงินจำนวนมากในการเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องมีการคิดเพื่อหาแนวทาง มาตรการบางอย่างเพื่อควบคุม การใช้อำนาจทุนไปกำกับรัฐ

รัฐบาลยังไม่ให้ไปช่วยตั้งครรภ์ปฏิรูปการเมืองเลย แต่เราติดตามเรื่องนี้ตลอด ส่วนเรื่องที่นักวิชาการห่วง คือ ทุนกำกับรัฐ ในความเป็นจริงมีเต็มไปหมด เหมือนในอเมริกา ใช้เงินเป็นพันๆล้าน ดอลลาร์เพื่อหาเสียงประธานาธิบดี ไม่ใช่แค่ร้อยๆ ล้าน แต่เราจะทำยังไง มีมาตรการอะไรบ้างไม่ให้ทุนเข้าไปแซงกำกับรัฐ เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจรัฐที่มีอยู่ นายโคทม กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์