พลิกตำนานลอบสังหารบุคคลสำคัญจากเปรม ถึง ทักษิณในสถานการณ์ระอุเรื่องจริงหรือปาหี่

ข่าวทำนองเรื่องการลอบสังหารบุคคลสำคัญที่ว่านี้ เกิดขึ้นมานานแล้วสำหรับการเมืองไทยรอบ 30 ปีที่ผ่านมา และเกือบแทบทุกครั้งจะพบว่า ผู้ปองร้ายมักไม่บรรลุเป้าประสงค์ในการปลิดชีวิตบุคคลสำคัญเหล่านั้น

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยที่กำลังร้อนแรง แผดเผาเลือดความเป็นประชาธิปไตยของคนในชาติหลายกลุ่ม หลายสี ให้พลุ่งพล่านอยู่ขณะนี้   นับวันจะยิ่งเพิ่มความแตกแยก แบ่งข้าง เป็นฝักฝ่าย  ขณะที่ผู้คนที่ร่ำร้องโดยยกประชาธิปไตยมาอ้าง ก็ดูเหมือนจะยำเกรงในข้อบัญญัติของกฎหมายน้อยลงทุกทีๆ ด้วยเพราะยึดติดกับวังวนของเกมการเมือง เกมแห่งศักดิ์ศรี  เกมแห่งการแย่งชิงอำนาจ...ที่หนีไม่พ้น 

จนกระทั่งทวีคูณความรุนแรงเล่นงานฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นๆ  เมื่อมีการกระพือข่าวการลอบสังหารบุคคลสำคัญ
 
ค่ำวันที่ 6 เมษายน 2552 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมชายต้องสงสัย ผู้อ้างว่า รับการว่าจ้างจากนายทหารยศ พันตรี ให้ไปลอบสังหาร นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี อดีตประธานศาลฎีกา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์  หลังได้รับแจ้งจาการสืบสวนทางลับให้ส่งกำลังไปซุ่มอยู่ละแวกบ้านพักของนายชาญชัย ในซอยสุขสวัสดิ์ 66 อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เพื่อติดตามผู้ต้องสงสัยก่อนจะลงมือปฏิบัติการจริง ในวันที่ 7  เมษายน
 
ข่าวการลอบสังหารดังกล่าว กระพือโหมอย่างรวดเร็ว เมื่อบุคคลที่กำลังจะกลายเป็นเหยื่อของความขัดแย้งเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อยู่ในฐานะ"องคมนตรี"  อันสอดคล้องประจวบเหมาะกับภาวะที่ไม่ปกติของบ้านเมือง เวลาเดียวกับที่กลุ่มคนเสื้อแดงกำลังชุมนุมเรียกร้องโดยอ้างว่า เพื่อขับไล่ การปกครองระบอบอำมตยาธิปไตยนำโดยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี  องคมนตรีบางคน รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันให้ลาออกจากตำแหน่ง

จะว่าไป ข่าวทำนองเรื่องการลอบสังหารบุคคลสำคัญที่ว่านี้  เกิดขึ้นมานานแล้วสำหรับการเมืองไทยรอบ 30 ปีที่ผ่านมา  และเกือบแทบทุกครั้งจะพบว่า ผู้ปองร้ายมักไม่บรรลุเป้าประสงค์ในการปลิดชีวิตบุคคลสำคัญเหล่านั้น หากย้อนรอยลำดับเหตุการณ์การลอบสังหารบุคคลสำคัญ เราจะพบข้อมูลชวนรำลึกอดีตที่อาจเชื่อมโยงถึงปัจจุบันดังนี้

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์


เหตุการณ์ ที่ 1

เมื่อเวลา 22.15 น. วันที่  15 สิงหาคม 2525 เวลา 22.15 น. เกิดเหตุมีผู้ขว้างระเบิด เอ็ม - 26 ข้ามกำแพงด้านสโมสรกองทัพบก เข้าไปยังบริเวณ บ้านสี่เสาเทเวศน์ อันเป็นที่พำนักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่พล.อ.เปรม อยู่ภายในบ้านและยังมิได้เข้านอน

ผลของแรงระเบิดทำให้ กระจกหน้าต่าง และฝ้าเพดานของห้องนายทหารคนสนิทแตก โชคดีที่ไม่มีใครได้รับอันตรายจากการปฏิบัติการครั้งนั้น ด้วยเพราะหน่วยนรสิงห์ ของ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก ขณะนั้น เข้าไปกู้สถานการณ์ยังที่เกิดเหตุภายใน 3 นาที

เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ พล.อ.อาทิตย์ ประกาศจัดตั้ง หน่วยเฉพาะกิจผสมระหว่างทหารราบ ทหารม้า และทหารช่าง โดยใช้รหัสว่า "หน่วยนรสิงห์" ได้ไม่นานนัก  ซึ่งเป็นกองกำลังเคลื่อนที่เร็ว เพื่อให้สามารถจัดการกับสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่เลวร้ายได้อย่างทันท่วงที 

พล.อ.อาทิตย์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อมววลชนว่า "หน่วยนี้ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ประชาชนสนับสนุนและเห็นด้วย คนนอกลู่นอกทางเท่านั้นที่คิด ไปเป็นอย่างอื่น อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น หน่วยนรสิงห์ก็ไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 3 นาที เรามาในทันทีเพราะเรา พร้อมตลอดเวลา พร้อมที่จะรีบไปทุกที่เพื่อประชาชน"

จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดพล.อ.อาทิตย์  จึงเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้ใจจากพล.อ.เปรม  เป็นอย่างมาก  จากก่อนหน้านี้เมื่อครั้งกบฎยังเติร์ก เขาก็เป็นกำลังสำคัญคุมกำลังทหารต่อต้านการรัฐประหาร    จนได้รับการปูนบำเหน็จตำแหน่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่ถึงปี

เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นห่างกันไปแค่เพียง 1 ปี ภายหลังที่ กลุ่มกบฏยังเติร์ก หรือ กบฏเมษาฮาวาย  ล้มเหลวต่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองสมัยพล.อ.เปรม ระหว่างวันที่  1-3 เมษายน 2524  ภายใต้การนำของ พ.อ.มนูญ รูปขจร พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร และ พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี  นายทหาร จปร.รุ่น 7   ที่ล้วนแต่เป็นบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ  พล.อ.เปรม และ พล.อ.อาทิตย์ ทั้งนั้น

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ดูเหมือนว่า กลุ่มยังเติร์ก จะกลับมาอีกครั้ง จากที่แยกย้ายกันไป เมื่อครั้งปฏิบัติการยึดอำนาจล้มเหลว ก็เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารคนทั้งสอง อยู่เป็นระลอกๆ 

ไม่แค่นี้ ยังมีข่าวว่า มีการตระเตรียมการที่จะลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อีกด้วย  เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงเสด็จไปร่วมพิธีเปิดและปิดการแข่งขันฟุตบอลควีนสคัพ ที่สนามกีฬาแห่งชาติ กทม. เมื่อวันที่ 1 และ 20 ตุลาคม 2525  ด้วย


เหตุการณ์ที่ 2

หลังเกิดเหตุการณ์ระหว่างปี 2525 กองทัพบกด้วยการประสานงานกับกรมตำรวจ  ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย พล.ต.ต.บุญชู วังกานนท์ และคณะ ร่วมกับฝ่ายทหาร มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับความผิดต่อความมั่นคงของรัฐอย่างกว้างขวาง พบว่า กลุ่มบุคคลหมายถึงกลุ่มทหารที่ชื่อว่ายังเติร์กบางคน และกลุ่มผู้ก่อการร้าย คอมมิวนิสต์และกลุ่มบุคคลอื่น ได้ร่วมกันคบคิดทำร้าย หรือพยายามฆ่า การสืบสวนและสอบสวนได้ผล สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่ลอบยิง พล.อ.เปรมได้รวม 3 คน คือ จ่าสิบเอกอมรศักดิ์ ยินดีโชติ จ่าสิบเอกประเวศ พุ่มพ่วง และสิบเอกสุพัฒน์ ทองสุกผ่อง

ทั้งนี้  จ่าสิบเอกอมรศักดิ์รับสารภาพ ศาลทหารพิพากษาลงโทษจำคุก 25 ปี ส่วน จ่าสิบเอกประเวศและสิบเอกสุพัฒน์ให้การกันไว้เป็นพยาน
 
23 ก.พ. 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. เผยแพร่ภาพคำสารภาพของ พ.อ.บุลศักดิ์ โพธิเจริญ ส.ส.สิงห์บุรี พรรคพลังธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งใน ผู้ต้องหาร่วมกับ พล.ต.มนูญ รูปขจร ในคดีลอบสังหาร ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ โดย พ.อ.บุลศักดิ์ ยอมรับความผิดที่ก่อขึ้นพร้อมทั้งแฉว่า พล.ต.มนูญ เพื่อนร่วมรุ่น เป็นบุคคลที่ชอบหักหลังและทรยศ มีความทะเยอทะยานต้องการให้ตัวเองเป็นใหญ่ จากนั้น พ.อ.บุลศักดิ์ มอบตัวกับ พล.ต.ท.บุญชู ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ

30 ธ.ค. 2536 ศาลอาญายกฟ้องนายมนูญ รูปขจร  ซึ่งขณะนั้นได้ถูกถอดยศไปแล้ว  โดยศาลวินิจฉัยว่า นายมนูญไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ส่วน พ.อ.บุลศักดิ์  พยานโจทก์ปากสำคัญ เมื่อมีการนำสืบปรากฏว่า พ.อ.บุญศักดิ์เบิกความเพียงว่า เป็นเพื่อนของจำเลยเท่านั้นและไม่ได้เข้าเบิกความอีกเลยจนศาลต้องตัดพยานปากนี้ไป ทำให้วิดีโอเทป บันทึกคำให้การของ พ.อ.บุลศักดิ์ ไม่มีน้ำหนัก

ต่อมา ปี 2537 พล.ต.ต.เสรี เตมียเวส ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีลอบสังหาร ในสมัยที่ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมตำรวจ แฉเบื้องหลังคำสารภาพของ พ.อ.บุลศักดิ์ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ในช่วง คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.)รสช.ล้มรัฐบาล "พล.อ.ชาติชาย" เป็นการสร้างหลักฐานเท็จหลอกลวงประชาชน

ขณะเดียวกัน พล.ต.มนูญตั้งทนายฟ้องกลับ พล.ต.บุญชู วังกานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจและนายตำรวจชุดสอบสวนคดีลอบสังหาร ฐานสร้างหลักฐานเท็จ

ก.พ. 2538 พล.ต.มนูญ เข้ามาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าเบิกความต่อศาลระบุว่า พล.ต.อ.บุญชูและนายทหาร จปร.รุ่น 5 ร่วมกันบิดเบือนคดีลอบสังหารโดยบิดเบือนถ้อยคำให้การของพยานปากสำคัญ ′พ.อ.บุลศักดิ์′ ขณะบวชเป็นพระ ให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่ม พล.ต.อ.บุญชู

ในปี 2541 พล.ต.อ.บุญชู วังกานนท์ อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ส.ส.ลพบุรี พรรคความหวังใหม่ เข้าร้องเรียนกรรมาธิการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนฯ ขอให้ตรวจ สอบความยุติธรรมในคดีลอบสังหาร อีกทั้งยังกล่าวหาว่า พล.ต.ท.เสรี เตมียเวส นำสำนวนคดีมาเปิดเผยต่อสาธารณชนถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

เหตุการณ์ที่ 3
 
เช้าวันที่ 24 สิงหาคม 2549  หน่วยรักษาความปลอดภัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  (ขณะยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)   ได้สกัดจับรถเก๋งยี่ห้อแดวู สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน ฐฉ-3085 กทม. ซึ่งมี ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ อายุ 43 ปี สังกัดประจำกองบัญชาการกองทัพบก ช่วยราชการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือกอ.รมน. สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด อดีตคนขับรถของพล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี รองผอ.กอ.รมน. ขณะนั้น   เป็นเจ้าของและเป็นผู้ขับ จอดอยู่บริเวณข้างสะพานข้ามแยกบางพลัด ใกล้กับบ้านจันทร์ส่องหล้า และเป็นเส้นทางที่ ทักษิณ ใช้เดินทางเป็นประจำ

เมื่อตรวจสอบ บริเวณที่นั่งเบาะหลังและกระโปรงท้าย พบวัตถุระเบิดที่ตรวจยึดได้ภายในรถประกอบด้วยซีโฟร์ น้ำหนัก 3.5 ปอนด์ ทีเอ็นที รวม 10.75 กิโลกรัม เชื้อปะทุไฟฟ้าทางทหาร M8 จำนวน 2 ดอก วงจรรีโมทคอนโทรล 1 ชุด สายฝักแค ระเบิด เดปคอร์ด (DEPCORD) ยาวประมาณ 12.22 เมตร เชื้อปะทุชนวน 4 ดอก เชื้อปะทุไฟฟ้า ทางทหาร แอนโฟ แอมโมเนียม ไนเตรต ฟูเอล ออยล์ (ANFO AMMONIUM NITRATE FUEL OIL) หนัก 17.33 กิโลกรัม กระสอบทราย 4 กระสอบ  มีถังแกลลอนน้ำมันเครื่องสีเขียวและสีดำขนาด 5 ลิตรบรรจุน้ำมันเบนซินผสมปุ๋ยยูเรียจำนวน 7 แกลลอน และที่วางเท้าอีก 6 แกลลอน รวมทั้งยังพบแผงวงจรที่เบรกมือ

ว่ากันว่า ระเบิดที่พบครั้งนี้มีอานุภาพความรุนแรงในรัศมีไกลถึง 1 กิโลเมตร   จุดระเบิดด้วยรีโมตคอลโทรล หรือด้วยโทรศัพท์มือถือ หรือนาฬิกาดิจิตอล  ซึ่งสามารถสั่งการได้จากภายนอกรถ

ขณะที่ ร.ท.ธวัชชัย ซึ่งกลายเป็นผู้ต้องหาไปแล้ว  ปฏิเสธ โดยอ้างรถคันดังกล่าวมีเพื่อนว่าจ้างในราคา 200 บาท เพื่อให้มาขับรถคันดังกล่าวจากตรงจุดที่ถูกจับกุม แต่ตำรวจตรวจสอบพบว่า ร.ท.ธวัชชัยขับรถคันนี้แล่นออกจากกอ.รมน.เมื่อตอนเช้ามืดวันเดียวกัน จากนั้นเขาก็ถูกสอบเครียดจนสุดท้าย ก็ยอมรับว่า เป็นคนขับรถมาจอดไว้เอง
เหตุการณ์ครั้งนี้  ทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ มีคำสั่งปลดพล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี รองผอ.กอ.รมน. พ้นจากหน้าที่ทันที  ขณะที่เจ้าตัวออกมาแถลงปฏิเสธทันทีว่า ไม่เกี่ยวข้อง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นการสร้างสถานการณ์  ซึ่งสอดคล้องกับที่ช่วงนั้น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กำลังเคลื่อนไหวขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ  ที่ก็รับลูกกันว่า  น่าจะเป็นการจัดฉากมากกว่า
     
เหตุการณ์ครั้งนั้นหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเรื่อง "ลวงโลก" เพราะภายหลังการจับกุม ร.ท.ธวัชชัยแล้ว เจ้าหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้นำภาพถ่ายลำดับเหตุการณ์ขณะเข้าจับกุมทุกขั้นตอน มาแจกจ่ายให้กับบรรดาสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล  สร้างความประหลาดใจให้กับผู้สื่อข่าวเป็นอย่างมาก จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องดังกล่าว เนื่องจากตามปกติชุด รปภ.ของนายกฯ ไม่เคยพกกล้องถ่ายรูปติดตัว หลายฝ่ายมองว่าเป็นเหตุการณ์ "คาร์บ๊อง"


ต่อมา  ในปี 2550  ภายหลังการยึดอำนาจของคมช.  กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ นปก.  ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมพลพรรคคนรักทักษิณ (ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มแนาวมร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งสัญลักษณ์ของพวกเขาจะใส่เสื้อสีแดง อะไรก็ดูแดงไปหมด)   ตอนนั้น  นายจักรภพ เพ็ญแข  หนึ่งในแกนนำ ได้ออกมาเปิดเผยถึงแผนลอบสังหาร ว่า มีการเตรียมทีมสังหารจากหน่วยรบพิเศษ จำนวน 5 ทีม และแผนคาร์บอมบ์เตรียมสังหาร ทักษิณ ทันทีที่กลับประเทศไทย

ขณะที่ ต้นปี 2551 พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.)  ก็ยังออกมาปูดข่าวว่า มีขบวนการพยายามสังหาร ทักษิณ อีกครั้ง 
 

เหตุการณ์ ที่ 4
 
เมื่อเวลา 23.30 น. วันที่ 20 ตุลาคม  2551   เกิดเหตุมีผู้โยนประทัดยักษ์ เข้าไปยังบ้านทรงยุโรป เลขที่ 6/48,6/136 และ 6/140 ซอยลาดพร้าว 25 แขวงจันเกษม เขตจตุจักร กทม. ของ  นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด   ระหว่างที่เขาเดินทางไปต่างประเทศ และคนในครอบครัวไม่มีใครอยู่บ้าน

ประทัดยักษ์ 3 ลูกที่ถูกโยนเข้าไในบ้าน คาดว่า คนร้ายซึ่งมีคนเห็นว่า  ใช้จักรยายนต์ มาก่อเหตุ ไม่ได้หวังผลให้ถึงแก่ชีวิต  อาจเป็นเพียงแค่การข่มขู่ เพราะแรงระเบิดตกอยู่ตรงบริเวณทางเดิน  ข้างสวนหย่อม เท่านั้น ไม่มีอะไรได้รับความเสียหาย รวมไปถึงตัวบุคคล

ถัดจากนั้นไม่กี่วัน เมื่อเวลา 23.40 น. วันที่ 29 ต.ค.   ก็เกิดเหตุระเบิดขึ้นอีกครั้ง กับบ้านพักของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  ที่บ้านเลขที่ 92/37 หมู่บ้านศรีชวาลา ซอยปรีดีพนมยงค์ 45 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม.

 จุดระเบิดอยู่ตรงสวนหย่อมข้างบ้าน พบหลุม ระเบิดใต้ต้นมะม่วง ดินกระจายลึกประมาณ 1 ฟุต กว้าง 50 ซม. เศษดินกระเด็นออกไปนอกรั้ว แรงอัดระเบิดทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์พัง มีคราบเขม่าไฟ กระจกบานเกล็ดหน้าต่างชั้นล่างกระจาย ประตูกระจกเลื่อนชั้นล่างแตก แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

เจ้าหน้าที่คาดว่า น่าจะเป็นระเบิดแรงดันต่ำ ชนิดเดียวกับที่ระเบิดบ้านนายอักขราทร ซึ่งขณะนั้น นายจรัญ  กำลังเข้าห้องน้ำได้ยินเสียงเหมือนมีอะไรตกใส่หลังคาบ้าน แล้วกระเด็นลงไปข้างล่าง จากนั้นก็เกิดระเบิดดังสนั่นหวั่นไหวตามมา  ซึ่งเพื่อนบ้านของเขา ยืนยันว่าก่อนเกิดเหตุเห็นรถ จยย.ขี่ผ่านหน้าบ้าน สักพักได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้น
 
ขณะนั้น เป็นช่วงเดียวกับที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมอยู่ในทำเนียบรัฐบาล หลังเกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ เลือด  ซึ่งสถานการณ์กำลังดุเดือด ในการต่อสู้ภาคประชาชน ซึ่งขับไล่รัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า การข่มขู่ 2 ครั้งติดนี้  น่าจะเกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งอาจมีความแค้นส่วนตัวกรณีที่นายอักขราทร และ นายจรัญ ถูกเขากล่าวหาว่า  กล่าวหาว่า เป็นหนึ่งในร่วมหารือวางแผนปฏิวัติรัฐบาลในปี 2549 กับ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรี ที่บ้านนายปีย์ มาลากุล

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์