“พรเพชร” ชี้ พลเรือนขึ้นศาลทหาร สมัย “สฤษดิ์” ก็เคยทำ

“พรเพชร” ชี้ พลเรือนขึ้นศาลทหาร  สมัย “สฤษดิ์” ก็เคยทำ


เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงกรณีที่องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งออกมาคัดค้านการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร และเรียกร้องให้สนช.หยุดการพิจารณากฎหมายดังกล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการลิดรอนสิทธิบุคคลใด และไม่ได้เพิ่มอำนาจให้ศาลทหารในการดำเนินการละเมิดสิทธิบุคคเพิ่มขึ้น แต่เป็นการปรับปรุงกฎหมายศาลทหารบางเรื่อง เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับการควบคุมผู้ต้องหาของศาลทหาร ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั่วไป เช่น การให้ศาลตั้งทนายให้กับจำเลย โดยไม่ต้องไต่สวนว่าจำเลยยากจนหรือไม่ การไม่ให้ศาลทหารพิพากษาเกินคำฟ้อง การเพิ่มระยะเวลาอุทธรณ์ และฎีกา จาก 15 วันเป็น 30 วัน จึงเป็นการยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่มีประเด็นที่กระทบกับสิทธิของจำเลยหรือผู้ต้องหาในคดีที่ขึ้นศาลทหาร ดังนั้นส่วนที่เป็นปัญหาจึงไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ แต่เป็นผลจากกฎอัยการศึก ที่ประเทศอยู่ในภาวะไม่ปกติจึงต้องมีบทบัญญัติให้คดีบางประเภทต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยดำเนินการมาแล้วหลายครั้งในอดีต อย่างในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

การขึ้นศาลทหารยุคคสช.เกืดขึ้นหลังจากบ้านเมืองไม่สงบ มีความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธสงคราม เมื่อยึดอำนาจ และประกาศโรดแมปชัดเจน เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศสู่การปฏิรูปคสช.จึงต้องมีเครื่องมือและกฎหมาย ซึ่งคสช.ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคง ส่วนกฎอัยการศึก ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ คสช.เห็นว่า จำเป็นและแม้ศาลทหารจะมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาทั่วไป แต่คสช.ได้ออกคำสั่งให้คดีที่ต้องขึ้นศาลทหารมีเพียง 2 ประเภท คือคดีหมิ่นสถาบันและคดีความมั่นคงที่ขัดคำสั่งคสช.ซึ่งต่างจากอดีตที่คดีอาญาจำนวนมากต้องขึ้นศาลทหาร สะท้อนให้เห็นว่าการคงกฎอัยการศึกและการมีศาลทหารก็จำกัดประเภทคดี และมีผู้ฝ่าฝืนจำนวนไม่มาก” นายพรเพชร กล่าว

นายพรเพชร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ศาลทหารมีหลักการที่ต้องปฏิบัติ เช่น การควบคุมตัวผู้ต้องหาทำได้สูงสุด 84 วัน ในกระบวนการมีทนายความ มีการให้ประกันและปล่อยตัวชั่วคราว โดยรวมจึงสรุปได้ว่า เครื่องมือหรือกฎหมายที่คสช.ใช้ เป็นการใช้อย่างมีขอบเขต และเป็นไปด้วยความประนีประนอมในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งจำเป็นต้องใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อประโยชน์ในอนาคต คือการสร้างความปรองดอง และการเลือกตั้ง ส่วนที่ต่างชาติมองว่า การกำหนดให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารทำให้ทหารมีอำนาจมากขึ้นนั้น  คิดว่าหากจะดูเพียงบริบทของกฎหมาย ถือว่ามีอำนาจมากมาย แต่ในทางปฏิบัติมีการจำกัดอำนาจการนำคดีขึ้นสู่ศาลทหารเพียงไม่กี่ประเภท และประชาชนส่วนใหญ่ก็ไมได้ทำคดีเหล่านี้ เพราะไม่ใช่คดีอาญาโดยทั่วไปที่คนจะทำผิด อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัว กฎอัยการศึกจะคงไว้อย่างน้อย เมื่อคสช.เห็นว่าสังคมเรียบร้อยเกิดความเข้าใจไม่มีความขัดแย้ง ส่วนนานที่สุดคงไว้ถึงขั้นตอนการเลือกตั้ง

เมื่อถามต่อว่า มองอย่างไรกับการตั้งกรรมการปรองดองแห่งชาติตามข้อเสนอขงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายพรเพชร กล่าวว่า “ยังไม่ทราบวัตถุประสงค์ และองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้ จึงไม่สามารถแสดงความเห็นใดๆได้ ขอศึกษารายละเอียดก่อน “  

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์