พม.-สธ.พร้อมทบทวนห้ามขายเหล้าปีใหม่ แฉสถิติตาย-เจ็บล้วนของปลอม ภาคปชช.จี้สนั่นไขก็อก


"พม.-สธ."พร้อมทบทวนห้ามขายเหล้าในช่วงปีใหม่ แฉตัวเลขคนตาย-เจ็บ หลายปีที่ผ่านมาไม่ใช่ของจริง เครือข่ายภาคประชาชนตอกหน้า "เสธ.หนั่น" จี้โชว์สปิริตลาออก ปธ.กก.โยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ให้"มาร์ค"นั่งแทน

 
จากสถิติอุบัติเหตุยอดสะสมทั้ง 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 10-16 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีอุบัติเหตุรวม 3,977 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 4,332 ราย เสียชีวิต 373 ราย สูงขึ้นจากปีที่แล้ว 5 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ออกมาระบุว่ามาตรการของภาครัฐ ในการรณรงค์เมาไม่ขับและตั้งด่านตรวจนั้นไม่ได้ผล

เมื่อวันที่ 19 เมษายน นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)  กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มากกว่าปีที่แล้ว 5 ราย ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการดื่มสุราแล้วขับรถ ถ้าเป็นเช่นนี้ตนในฐานะคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอกอฮอล์แห่งชาติ ก็พร้อมจะนำเรื่องดังกล่าวไปทบทวนในที่ประชุม เพื่อหามาตรการป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่กันอีกครั้ง แต่จะเป็นมาตรการห้ามจำหน่ายแอกอฮอล์หรือไม่นั้น จะต้องหารือกับทุกฝ่ายอีกครั้ง

นายอิสสระ กล่าวว่า การรณรงค์เมาไม่ขับของหน่วยงานต่างๆ ยังไม่ได้ผล ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือ การรายงานตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง เพราะเท่าที่ตนคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ยอมรับว่าตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมีมากกว่าที่รายงานผ่านสื่อ แต่ที่ไม่เปิดเผยตัวเลขที่แท้จริง เพราะไม่อยากให้สังคมมองว่ามาตรการของภาครัฐไม่ได้ผล  ดังนั้นควรนำตัวเลขที่แท้จริงมาคุยกัน เพื่อที่จะนำมากำหนดมาตรการป้องกันให้ได้ผลมากที่สุด

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คาดว่าจะมีการพิจารณาภาพรวมกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ว่าจะต้องเพิ่มมาตรการอะไรบ้างในช่วงเทศกาลปีใหม่  เพราะการปล่อยให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงสงกรานต์ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 5 ราย ยังไม่นับรวมอุบัติเหตุหลังจาก 7 วันอันตราย แสดงว่าการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงสงกรานต์ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เครือข่ายฯจะนำตัวเลขอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตมอบให้พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ภาคประชาชนรู้สึกผิดหวังกับมาตรการภาครัฐ โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ คงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ถือเป็นผู้ติดสินใจในนโยบายที่ผิดพลาด ที่ผ่านมามีการเตะถ่วงมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เน้นการใช้มาตรการรณรงค์ให้ความรู้ ซึ่งผลตัวเลขอุบัติเหตุสงกรานต์ออกมาอย่างชัดเจนว่าไม่ได้ผล ทั้งจุดตรวจวัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7 หมื่นจุดของกระทรวงมหาดไทยที่ใช้งบสูงเกือบ 1 พันล้านบาทแต่ไม่มีประสิทธิภาพ

นายคำรณ กล่าวว่า เครื่อข่ายข่ายมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ
1.ขอให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ประกาศมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 วัน ไม่มีข้อยกเว้น รวมไปถึงมาตรการ ห้ามดื่มเครื่องดื่มในรถและท้ายกระบะโดยเร็วที่สุด ให้มีผลบังคับใช้ในเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ปี 2553  เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลาปรับตัว และมีเวลาในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์มากขึ้น 
2.ขอให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯเร่งออกมาตรการ ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่โดยเร่งด่วน  เพื่อเป็นการไถ่บาปจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด และไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะไม่ดำเนินการ นอกเสียจากเป็นไปตามข้อครหาว่าปกป้องผลประโยชน์ธุรกิจเครื่องดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
3.หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามข้อเสนอ  เครือข่ายฯขอเรียกร้องให้ พล.ต.สนั่น พิจารณาตัวเองลาออกจากประธานคณะกรรมการนโยบายฯ เพราะเป็นผู้นำในการตัดสินใจที่ผิดพลาด  และขอให้นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานแทน

"พล.ต.สนั่น ไม่มีความน่าเชื่อถือหลงเหลืออยู่แล้ว ทุกมาตรการที่จะควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงสงกรานต์โดนดองหมด ทั้งๆ ที่รัฐบาลควรล้อมคอกก่อนวัวหายแต่กลับไม่ทำ รัฐจะต้องรับผิดชอบ ขณะที่รู้อยู่แล้วว่าเทศกาลสงกรานต์ต้องมีคนเสียชีวิต 300-400 คน แต่ไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เครือข่ายฯ อยู่ระหว่างการหารือว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป" นายคำรณกล่าว

ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสงกรานต์ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการรณรงค์ ตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์นั้น ยังไม่เพียงพอในการลดอุบัติเหตุ ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะนำสถิติอุบัติเหตุสงกรานต์และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี 2 ฉบับ คือ การกำหนดสถานที่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนยานพาหนะทุกชนิดบนถนน ยกเว้นเครื่องบินและร้านอาหารลอยน้ำ และการกำหนดห้ามดื่มในวันสำคัญทางศาสนา ต่อนายอัครพล สรสุชาติ รองเลขาธิการนายกฯ (เลขาฯ พล.ต.สนั่น) พิจารณา

"คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการพิจารณาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะถือว่า เป็นมติจากคณะกรรมการนโยบายฯ แล้ว ขึ้นอยู่กับพล.ต.สนั่น จะนำเสนอต่อนายกฯเพื่อลงนามในประกาศบังคับใช้ต่อไป" นพ.สมานกล่าว

วันเดียวกัน  ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ชาวพัทยาและนักท่องเที่ยว ร่วมประเพณีวันไหลเมืองพัทยา มีการสงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนัพถือตามถนนสายหลัก เช่น ถนนสุขุมวิท ตั้งแต่แยกกระทิงลายฝั่งขาเข้าเมืองพัทยา มีพ่อค้าแม่ค้านำอุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นน้ำสงกรานต์มาวางขายจำนวนมาก นอกจากนั้นตามถนนเข้าเมืองพัทยาเช่น ถนนพัทยาเหนือ ถนนพัทยากลาง  ถนนพัทยาใต้ เต็มไปด้วยรถยนต์ที่ประชาชนขับมาเล่นน้ำสงกรานต์จนการจราจรแน่นขนัด ส่วนถนนเลียบชายหาดพัทยาไปจนถึงถนนวอร์คกิ้งสตรีทนั้น สภ.เมืองพัทยา ปิดการจราจรไม่ให้รถวิ่งตั้งแต่วงเวียนโลมา ถนนพัทยาเหนือ  เพื่อให้เป็นถนคนเดินเล่นน้ำตลอดสาย

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเดินทางกลับกรุงเทพฯ ของประชาชนภายหลังเทศกาลสงกรานต์ โดยที่สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 จ. นครราชสีมา ยังมีประชาชนตกค้างทยอยมารอซื้อตั๋วโดยสารเพื่อขึ้นรถกลับ ขณะที่การจราจรบนถนนมิตรภาพบายพาสเลี่ยงตัวเมืองนครราชสีมา มุ่งหน้าสู่จ.สระบุรี และกรุงเทพฯ คล่องตัวดี

ที่ จ.สงขลา ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและเข้ากรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ทั้งที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่  มีประชาชนไปยืนรอขึ้นรถไฟและซื้อตั๋วแออัดเต็มชานชลา เนื่องจากมีทั้งผู้เดินทางขึ้น-ลง กรุงเทพฯ จำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ ช่วงสงกรานต์ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เนื่องจากรถไฟในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หยุดวิ่งมาตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน โดยรถไฟทุกขบวนสุดปลายทางแค่สถานีหาดใหญ่ ขณะที่ประชาชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องเดินทางมาขึ้นที่สถานีหาดใหญ่เช่นกัน ส่วนที่สถานีขนส่งหาดใหญ่ ประชาชนยังคงไปซื้อตั๋ว เดินทางขึ้นกรุงเทพฯและกลับภูมิลำเนาในหลายจังหวัดของภาคใต้เพื่อให้ทันวันเปิดทำงานในวันแรกวันที่ 20 เมษายน

ด้านบรรยากาศการค้าขายที่ อ.หาดใหญ่ โดยเฉพาะตลาดจำหน่ายสินค้าชายแดนนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย เช่น ตลาดกิมหยง ตลาดปีนังพลาซ่า และตลาดซาวอย ในวันหยุดสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ปีนี้คึกคักเป็นพิเศษ โดยพ่อค้าแม่ค้า กล่าวว่าเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ยอดจำหน่ายสูงที่สุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่เกิดเหตุความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะที่บริเวณท่ารถ บขส. และสถานีรถไฟตรัง คึกคักเป็นอย่างมากเช่นกัน มีประชาชนเข้าจองตั๋วและรอคิวเพื่อเดินทางเป็นจำนวนมาก ทำให้บริเวณสถานี บขส.ตรัง และ สถานีรถไฟตรัง รถติดยาวเหยียด ขณะที่ร้านจำหน่ายของฝากจาก จ.ตรัง มีประชาชนจำนวนมากซื้อของฝาก เช่น ขนมเค้ก หมูย่าง ทำให้ร้านเค้กที่เคยผลิตเค้กวันละประมาณ 100 กล่อง ต้องเพิ่มเป็นวันละ 300 กล่อง เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์