พปช.ชนะถล่มทลาย224ที่นั่ง เติ้งจับพรรคเล็กรอนั่งนายกฯ

พลังประชาชนกวาด 224 ที่นั่ง "สมัคร" แถลงข่าวหน้าบาน ลั่นเอา "ทักษิณ" กลับมาสู้คดี-นิรโทษฯ 111 ทรท. พร้อมเชิญชวนพรรคอื่นเข้าร่วมรัฐบาล "เลี้ยบ-เหลิม" ดอดเทียบเชิญจับขั้วชาติไทย ขณะที่ "อภิสิทธิ์" ไม่ร่วมสังฆกรรม เปิดทางทุกพรรคตัดสินใจเอง ประกาศหากจัดตั้งไม่สำเร็จพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งเอง ขณะที่ "บรรหาร" จับมือพรรคเล็กรวมตัวเป็นขั้วที่สาม
 

เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของการเมืองไทยอีกครั้งเมื่อการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ 

ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ในทางการเมืองถือเป็นการต่อสู้กันระหว่าง 2 พรรคใหญ่ พลังประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ ล่าสุดหลังการปิดหีบลงคะแนนเลือกตั้งในเวลา 15.00 น. ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการพบว่า พรรคพลังประชาชนมาเป็นอันดับ 1 สามารถกวาด ส.ส.ทั้งในแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วนกว่า 200 ที่นั่ง
 

พลังประชาชนกวาด224 ที่นั่ง
 

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่า พรรคพลังประชาชน ได้ ส.ส.เขต 190 คน ส.ส.สัดส่วน 34  คน รวม 224 คน พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.เขต 133 คน ส.ส.สัดส่วน 32 คน รวม 165 คน พรรคชาติไทย ได้ ส.ส.เขต 38 คน ส.ส.สัดส่วน 4 คน รวม 42 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน ได้ ส.ส.เขต 18 คน ส.ส.สัดส่วน 7 คน รวม 25 คน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ได้ ส.ส.เขต 10 คน ส.ส.สัดส่วน 2 คน รวม 12 คน พรรคมัชฌิมาธิปไตย ได้ ส.ส.เขต 7 คน ไม่ได้ ส.ส.สัดส่วน รวม 7 คน พรรคประชาราช ได้ ส.ส.เขต 4 คน ส.ส.สัดส่วน 1 คน รวม 5 คน

ขณะที่ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ93.1% ของหน่วยเลือกตั้งที่มี ปรากฏว่าในระบบ ส.ส.สัดส่วนมีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 30,675,976 คน คิดเป็น 67.15% จากผู้มีสิทธิ 45,658,170 คน มีบัตรเสียรวม 1,567,118  และไม่ประสงค์ลงคะแนน 756,161 บัตร  โดยจังหวัดที่มีการใช้สิทธิมากที่สุด 5 อันดับ คือ สมุทรสาคร ร้อยละ 83.92  ลำพูน ร้อยละ 80.69  ตรัง ร้อยละ 80.30  ชุมพร ร้อยละ 79.84  สิงห์บุรี ร้อยละ 79.62   ส่วนจังหวัดที่มีคนมาใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ นนทบุรี ร้อยละ 34.18  ชัยภูมิ ร้อยละ 40.23  อุดรธานี ร้อยละ 44.70  อุบลราชธานี ร้อยละ 47.09 และร้อยเอ็ด ร้อยละ 48.09
 

ประชาธิปัตย์แชมป์เมืองหลวง
 

ทั้งนี้จากผลคะแนนเลือกตั้งดังกล่าว ทำให้พรรคพลังประชาชนครองเสียงข้างมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 224 คน ทำให้มีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นพรรคแรก ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจหน้าคูหาเลือกตั้ง (เอ็กซิทโพลล์) ของสวนดุสิตโพล เนชั่นโพลล์ และเอแบคโพลล์ ก่อนหน้านี้ที่ชี้ชัดไปว่า พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 เช่นกัน ตามมาด้วยพรรคประชาธิปัตย์ครองที่นั่งเป็นอันดับ 2 และพรรคชาติไทยเป็นอันดับ 3
 

อย่างไรก็ตามจากการประเมินผลการนับคะแนนเบื้องต้นแม้ว่าทั่วประเทศ พรรคประชาธิปัตย์จะได้จำนวน ส.ส. 165  ที่นั่ง แต่ในพื้นที่ กทม. ผลการนับคะเลือกตั้งอย่างเป็นทางการปรากฏว่า

 พรรคประชาธิปัตย์ยึดพื้นที่ครองแชมป์สนาม กทม. แบบเบ็ดเสร็จได้ที่นั่ง ส.ส.เกือบทุกเขต จำนวน  27 ที่นั่ง ส.ส. แบบสัดส่วน 5 ที่นั่ง ส่วนพรรคพลังประชาชนได้ ส.ส. 9 ที่นั่ง แบบสัดส่วน 4 ที่นั่ง
 

พปช.ลั่นพาทักษิณกลับ
 

ภายหลังทราบผลคะแนนเลือกตั้งส.ส.ทั่วประเทศอย่างไม่เป็นทางการ บรรยากาศที่พรรคพลังประชาชนเป็นไปอย่างคึกคัก นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรค และแกนนำพรรคเดินทางมาที่ทำการพรรค พร้อมกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า รู้สึกดีใจที่ผลเอ็กซิทโพลล์ออกมา ทั้งนี้ นายสมัครให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า หากพรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะ สามารถจัดตั้งรัฐบาล และเป็นนายกรัฐมนตรีได้จริงก็จะผลักดันให้รัฐสภาชุดใหม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อปูทางให้กลับประเทศสู้คดีคอรัปชั่นที่ถูกฟ้องอยู่ในขณะนี้ 

"ส่วนวันดีที่น่าจะเดินทางกลับก็คือวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ ในช่วงต้น พ.ต.ท.ทักษิณ จะวางมือจากการเมืองสักพัก ขณะที่รัฐสภาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพื่อปูทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หวนกลับมาเล่นการเมืองได้อีกในท้ายที่สุด" นายสมัคร กล่าว
 

เชิญพรรคอื่นเข้าร่วมรัฐบาล
 

ต่อมาเวลาประมาณ20.40 น. นายสมัคร สุนทรเวช แถลงที่พรรคว่า 

จากผลการเลือกตั้งที่พรรคพลังประชาชนได้ ส.ส.ประมาณ 229-230 คน ขาดอีกประมาณ 10 เสียงก็ถึงครึ่งของจำนวน ส.ส. 480 คน ทั้งนี้ เมื่อเทียบเคียงกับพรรคการเมืองด้วยกัน พรรคพลังประชาชน ได้คะแนนนิยมสูงสุดเกือบถึงครึ่ง เพราะฉะนั้นตามหลักการพรรคที่ได้คะแนนสูงสุดย่อมมีความชอบธรรมที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงขอประกาศเชิญชวนพรรคการเมืองแต่ละพรรคมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้การเมืองเดินหน้าต่อไป เพราะบ้านเมืองเสียหายมาเป็นเวลา 15 เดือน หลังจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน เมื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง ประชาชนได้เลือกพรรคพลังประชาชนเป็นหลักเพื่อมาบริหารบ้านเมือง ซึ่งถ้ารวมกันได้ 300 เสียง ก็จะสามารถบริหารบ้านเมืองต่อไปได้

"ขอเชิญทุกพรรคที่คิดว่าเราจะไปกันได้ ก็มาร่วมกัน ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะประกาศว่า เมื่อมีคนยึดอำนาจบริหารบ้านเมืองจากรัฐบาลตามปกติไป ประชาชนได้อดทนรอมานาน 15 เดือน จนมีรัฐธรรมนูญใหม่ และจัดให้มีเลือกตั้งในวันนี้ และผลเลือกตั้งก็ออกมาแล้ว" นายสมัคร กล่าว
 

นายสมัครกล่าวต่อว่า

 ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชาชนขอขอบคุณ และต่อไปนี้ประชาชนและคนทั่วโลกก็จะได้เห็นว่า สิ่งที่เคยโต้แย้งกันมานั้น คนส่วนใหญ่เขาคิดเห็นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นจึงขอเชิญพรรคการเมืองที่ได้คะแนนรองลงไปได้มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกัน และขอย้ำว่าต้องเป็นนายกฯ แน่นอน ส่วนพรรคที่จะมาร่วมก็ได้ติดต่อไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่เปิดเผย เพราะเป็นเรื่องภายใน และยังมีเวลาอีกหลายวัน
 

ด้านนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า 

ขอบคุณประชาชนที่สนับสนุนพรรคพลังประชาชน   และสนับสนุนทุกพรรคการเมืองครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตย ส่วนการจับขั้วกับพรรคการเมืองอื่นนั้น คงต้องผลอย่างเป็นทางการก่อน และคงจะมีการพูดคุยกับผู้บริหารพรรคคนอื่น และหัวหน้าคงจะมอบหมายว่า จะพูดกับพรรคการเมืองอื่นต่อไป อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมองว่า แม้ว่าพลังประชาชนจะได้เสียงเกินครึ่งก็ตาม แต่หากจะให้รัฐบาลเข้มแข็งก็ต้องได้ประมาณ 300 เสียง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องดึงพรรคการเมืองอื่นมาร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอน
 

แกนนำชท.-พผ.รวมตัวบ้าน"วัฒนา" 

ภายหลังจากนายสมัครแถลงข่าวเชิญพรรคการเมืองต่างๆเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏว่า บรรดาพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก นำโดยนายบรรหาร และนายสุวิทย์ พล.ต.สนั่นขจรประศาสน์  นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นายวัฒนา อัศวเหม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เดินทางมารวมตัวกันที่ บ้านพักย่านสวนหลวงของนายวัฒนา กรรมการสภานโยบายและยุทธศาสตร์พรรคเพื่อแผ่นดิน เพื่อหารือถึงจุดยืนในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงหลังเลือกตั้ง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีข่าวออกไปว่า นพ.สุรพงษ์ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ไปเจรจากับพรรคชาติไทยเพื่อทาบทามให้ร่วมรัฐบาล
 

ทั้งนี้บรรดาแกนนำพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กได้เข้าร่วมหารือกันอย่างเคร่งเครียด

จากนั้นต่อมาเมื่อเวลา 24.00 น. นายบรรหาร พล.ต.สนั่น นายสมศักดิ์ นายวัฒนา พล.ต.อ.ประชาร่วมกันแถลงข่าวถึงจุดยืนของพรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดิน โดยนายบรรหาร กล่าวว่า ขณะนี้ตัวเลขของผลการเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองยังไม่นิ่ง อีกทั้งยังคงต้องรอการพิจารณาการให้ใบเหลือง ใบแดงจาก กกต.ออกมาก่อน ส่วนสาเหตุที่มาพูดคุยกันที่บ้านนายวัฒนา เพราะที่ผ่านมาได้พูดคุยกันระหว่างพรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินตลอดก่อนการเลือกตั้งว่าพรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินจะมีการยุบรวมกัน แต่ติดปัญหาในรายละเอียดบางประการ จึงไม่สามารถยุบรวมกันได้ก่อนวันเลือกตั้ง


 

ยัน2 พรรครอให้การเมืองนิ่งก่อน
 

นายบรรหารกล่าวต่อว่า ในช่วงหัวค่ำวันที่ 23 ธันวาคม ได้หารือกับแกนนำของพรรคเพื่อแผ่นดินอย่างรอบคอบแล้ว ดังนั้นจึงอยากจะให้ตัวเลขของ ส.ส.นิ่ง เนื่องจากจะมีการให้ใบเหลืองใบแดงก็อาจทำให้ตัวเลขพลิกผันได้อีก แต่ในส่วนของ 2 พรรคยืนยันตรงนี้อีกครั้งว่าจะอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ยืนยันว่า ยังไม่มีการพูดคุยกับทั้งพรรคพลังประชาชนและพรรคประชาธิปัตย์ แต่ยอมรับว่าช่วงนี้ก็จะมีการหารือกับพรรคการเมืองอื่นๆ อีก ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม เป็นต้นไป

 นายบรรหาร กล่าวต่อว่า

 การจับขั้วทางการเมืองครั้งนี้ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณจะจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคพลังประชาชน และไม่ได้สร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะวันนี้ต้องหันมาให้ความสำคัญกับความสามัคคีและความสมานฉันท์ ถ้าการเมืองนิ่งสิ่งนี้ก็จะเดินหน้าได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเสร็จสิ้นภายใน 30 วัน ตามที่กฎหมายระบุไว้ ส่วนตัวคิดว่าจะไม่มีเหตุการณ์นายกฯ 18 เสียง เกิดขึ้นเหมือนกับในอดีตอีก เพราะแคนดิเดตนายกฯ ตอนนี้เหลือแค่ 2 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสมัคร สุนทรเวช ที่ไม่ว่าใครจะขึ้นเป็นนายกฯ ก็ลำบากแน่นอน 

นายวชิระมณฑ์คุณะเกษมธนาวัฒน์ โฆษกพรรคเพื่อแผ่นดิน แถลงถึงจุดยืนของพรรคว่า จุดยืนเรื่องคำเชิญของพรรคพลังประชาชนนั้น ขณะนี้แกนนำพรรคพูดคุยกันแล้ว และมีจุดยืนว่าช่วงเวลานี้ไม่สามารถตอบรับคำเชิญของพรรคใดได้ เพราะต้องรอจำนวน ส.ส.ว่าจะเข้ามาเท่าไร และต้องรอกระบวนการใบเหลืองใบแดงด้วย ซึ่งหลังจากที่ทราบตรงนั้นแล้ว แกนนำพรรคจะประชุมกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรถึงจะเป็นผลประโยชน์ที่สุดของประเทศ
 

ปชป.ลั่นไม่ร่วมสังฆกรรม
 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์หลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทาการและทราบคำแถลงของนายสมัครที่เชื้อเชิญให้พรรคการเมืองเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนพบว่า บรรดาแกนนำพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนทยอยมายังที่ทำการพรรค อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี และนายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรค นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ กรรมการบริหารพรรค นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์  อภิรักษ์  โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. และ ผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์
  

ต่อมาเวลาประมาณ21.15 น. นายอภิสิทธิ์  เปิดแถลงข่าวที่พรรคถึงผลการเลือกตั้งที่ออกมาว่า 

ขอขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่ลงให้พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือว่าเสียงเหล่านั้นต้องการจะให้พรรคประชาธิปัตย์ไปผลักดันวาระประชาชน ส่วนกรณีที่นายสมัคร ประกาศเชิญชวนทุกพรรคการเมืองไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ไปร่วมกับพรรคพลังประชาชนอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงเป็นภาระของหัวหน้าพรรคพลังประชาชนที่จะประกาศเชิญชวนพรรคการเมืองอื่นๆ เอง และเป็นสิทธิของแต่ละพรรคที่จะตัดสินใจว่า อะไรที่จะเป็นสิ่งที่ดีต่ออนาคตของประเทศ และพรรคประชาธิปัตย์เคารพในการตัดสินใจของพรรคเหล่านั้น
 

ยันพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้ง


นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ในชั้นนี้คงจะติดตามผลการเลือกตั้งต่อไป และรอดูว่าการเชิญชวนของพรรคพลังประชาชนนั้นผลจะเป็นอย่างไร ถ้าพรรคพลังประชาชนประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมจะเป็นฝ่ายค้านเพื่อดูแลผลประโยชน์ของประชาชน แต่ถ้าพรรคพลังประชาชนไม่ประสบความสำเร็จ พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อไป นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า จะให้เวลาพรรคพลังประชาชนเท่าไรนั้นคงเป็นเรื่องของหัวหน้าพรรคอื่นๆ ที่จะตัดสินใจว่าจะตอบรับพรรคพลังประชาชนหรือไม่ ซึ่งบางพรรคอาจจะรอการรับรองผลการเลือกตั้งของ กกต.ก่อน โดยเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละพรรค

"เมื่อเขาประกาศเชิญชวนแล้ว เราก็จะรอดูว่ามีการตอบรับไหม ก็แค่นั้นเอง แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าพรรคพลังประชาชนจัดตั้งไม่ได้ ก็เป็นความรับผิดชอบของผมที่จะต้องรับภาระดูแลประเทศต่อ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
 

นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า

 ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคพลังประชาชนไม่มีตัวช่วยทั้งสิ้น พรรคเริ่มต้นจากจำนวน ส.ส.เก่าที่น้อยกว่าคู่แข่งถึงครึ่งหนึ่ง แล้วก็หาเสียงโดยการพูดนโยบายกับประชาชน โดยไม่ได้ไปยุ่งกับคนอื่น ซึ่งจำนวน ส.ส.ระบบสัดส่วนที่ออกมาก็ใกล้เคียงกันมาก เพียงแต่ ส.ส.เขตนั้นพรรคพลังประชาชนมี ส.ส.เก่ามากกว่า
 

"ชวน"ย้ำอันดับ 2 มีสิทธิจัดตั้ง


นายชวนหลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์จาก จ.ตรัง แสดงท่าทียอมรับว่า ตามหลักการแล้วพรรคที่ได้รับเสียงอันดับ 1 ก็มีสิทธิรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าทำได้ก็เป็นรัฐบาลไป ขณะเดียวกัน ในทางตรงกันข้ามถ้าทำไม่ได้ พรรคที่ได้อันดับ 2, 3 และ 4 ก็มีสิทธิเจรจาตั้งรัฐบาล นายชวนกล่าวอีกว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้อันดับ 2 ก็ต้องยอมรับความจริง เพราะฐานเสียงในภาคเหนือภาคอีสานมีน้อยกว่า แต่อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นายสุเทพเทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่า ต้องรอให้พรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาลก่อน ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไว้ หากจัดตั้งไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคก็มีผู้นำที่พร้อมอยู่แล้ว และต้องรอดูท่าทีของพรรคการเมืองต่างๆ ว่าจะพร้อมยอมรับตามที่พรรคพลังประชาชนเชิญชวนหรือไม่ การฟอร์มทีมขณะนี้ยังเร็วเกินไป ต้องรอให้ผลการนับคะแนนชัดเจนก่อน คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้ จะเกิดความชัดเจน
 

บรรหารช็อกหายตัวลึบลับ
 

ส่วนที่พรรคชาติไทยบรรยากาศหลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควร เนื่อง โดยมีเพียง นายนิกร จำนง นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย และ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา แกนนนำพรรค และ ผู้สมัครส่วนหนึ่งเดินทางเข้ามายังที่ทำการพรรคชาติไทยเท่านั้น โดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า นายบรรหารอยู่ที่บ้าน อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้นายบรรหารรู้สึกช็อกพอสมควร โดยเฉพาะในสนาม กทม.  น.ส.จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ สอบตกอย่างพลิกความคาดหมาย
 

นายวีระศักดิ์รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวถึงกรณีที่นายบรรหารไม่ยอมเข้าพรรคว่า 

คิดว่าท่านต้องการไปอยู่ในที่สงบ ที่ไม่ต้องตอบคำถามอะไร เพราะวินาทีนี้ถ้าเป็นเรื่องที่ใครจะต้องตอบ ต้องเป็นหน้าที่ของพรรคใหญ่ก่อน ส่วนที่พูดกันว่าท่านอยู่ในภาวะที่ลำบากใจใช่หรือไม่นั้น ขอยืนยันว่า ไม่ใช่ลำบากใจ แต่ท่านไม่ได้อยู่ในภาวะที่ถูกกดดันให้ต้องตอบอะไรในเวลานี้ เพราะขณะนี้คนที่จะต้องตอบคำถามคือพรรคใหญ่ ทั้งนี้ เชื่อว่าหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคเจอปัญหาเดียวกันหมด
 

"ประชัย" ไม่เชื่อสอบตกได้ยังไง
 

ส่วนบรรยากาศที่อาคารทีพีไอณ ที่ทำการพรรคมัชฌิมาธิปไตย มีรายงานว่า ผู้สมัคร ส.ส.กทม.ทยอยเดินทางมาร่วมลุ้นผลคะแนน แต่บรรยากาศเป็นไปอย่างซบเซา เมื่อพรรคมัชฌิมาธิปไตยไม่ได้รับเลือก ส.ส. สัดส่วน ทำให้  นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ หัวหน้าพรรค ไม่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดนนายประชัย กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจกับตัวเลขผู้ใช้สิทธิ์ในพื้นที่ กทม.เพียง 51% ทั้งที่ปกติตัวเลขจะอยู่ที่ 70-80% จึงอยากขอให้ กกต. รีบจัดการแจกใบแดง ก่อนที่จะประกาศรับรองผล เพื่อจะได้ไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ เพราะขณะนี้มีหลักฐานการแจกเงินจำนวนมาก ดังนั้นถ้ามีหลักฐาน กกต.ต้องจีบแจกใบแดงทันที

 ผมรู้สึกช็อคที่การเลือกตั้งครั้งนี้ใบสีเทาปลิวว่อนจนน่าเกียจ ซึ่งในเขต กทม.ผมจะต้องยื่นเรื่องให้ กกต.นับคะแนนใหม่ทั้ง 12 เขต เพราะผมไม่เชื่อว่าจะสอบตก ผมสงสัยว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ผมยืนยันว่าจะเล่นการเมืองต่อไป เพราะครั้งนี้รู้สึกว่ามีกลิ่นทะแม่งๆ นายประชัยกล่าว
 

มัชฌิมาฯแบะท่าร่วมรัฐบาล
 

นางอนงค์วรรณเทพสุทิน เลขาธิการพรรคมัชฌิมาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ว่า ได้โทรศัพท์ไปให้กำลังใจนายประชัย แล้ว เพราะขณะนี้อาจมีแนวโน้มว่านายประชัยจะไม่ได้รับการเลือกตั้งในระบบสัดส่วน และเรื่องนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงในฐานะที่นายประชัยในฐานะหัวหน้าพรรคหรือไม่นั้น คงต้องมีการหารือในระดับกรรมการบริหารพรรคในเร็วๆ นี้
 

เมื่อถามอีกว่าท่าทีของพรรคจะตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล หรือเป็นฝ่ายค้าน นางอนงค์วรรณ กล่าวว่า พรรคการเมืองก็คงอยากเข้าร่วมเป็นรัฐบาลเพื่อจะได้นำแนวนโยบายไปใช้ แต่ขณะนี้พรรคเป็นพรรคเล็ก เสียงน้อย คงต้องขอเป็นช้างเท้าหลังอยู่นิ่งๆ ดีกว่า อีกทั้งยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อจากพรรคไหนเข้ามาเลย
 

"เชษฐา"เหนียมรอดูท่าทีก่อน
 

ส่วนที่พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาหลังจากบรรดาแกนนำ และลูกพรรคทราบผลเลือกตั้งระบุออกมาว่า พรรคได้ ส.ส.รวมเขต 10 ที่นั่ง แบบสัดส่วน 2 ที่นั่ง  ทำให้ทุกคนต่างผิดหวังทยอยเดินทางออกจากภรรค  โดย พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรค เดินทางกลับโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์จ่ายน้ำเกลือให้ ด้านนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรค ก่อนหน้านี้แจ้งกับเจ้าหน้าที่พรรคว่า จะเดินทางมาพรรคในช่วงเย็น แต่เมื่อผลคะแนนเบื้องต้นออกมานายประดิษฐ์รู้สึกผิดหวัง ทำให้ตัดสินใจไม่เข้าพรรค โดยแจ้งเหตุผลกับเจ้าหน้าที่พรรคเพียงว่า รอให้คะแนนนิ่งกว่านี้ก่อน ขณะที่ นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ และ ร.ต.ประพาส ลิมประพันธ์ รองหัวหน้าพรรค ก็เดินทางกลับไปลุ้นผลคะแนนที่บ้านทันทีหลังจากทราบผลคะแนนในเบื้องต้น
 

พล.อ.เชษฐากล่าวถึงกระแสข่าวเข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาลว่า 

จะต้องดูเกณฑ์การเจรจาว่านโยบายของพรรคนั้นเป็นอย่างไร ส่วนตัวเชื่อว่าสามารถพูดคุยผ่อนปรนกันได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องรับฟังนโยบายของทั้งสองฝ่าย ที่สำคัญพรรคที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลต้องมีความรักความสามัคคีเป็นหลัก เพื่อให้ภาพที่ประชาชนเห็นออกมาดี
 

ด้านนายเกษมสันต์วีระกุล รองหัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงท่าทีของพรรคในการจับขั้วกันจัดตั้งรัฐบาลหลังผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า 

พรรคพลังประชาชนนำเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 220 เสียงขึ้นไปว่า พรรคยังยืนยันจุดเดิมว่า การจะไปรวมกับพรรคที่ให้คำตอบกับพรรคให้ได้ว่า วิกฤติการเมืองจะหาข้อยุติได้อย่างไร ซึ่งเท่าที่ทราบขณะนี้ผู้ใหญ่ในพรรคก็ยังไม่ได้จับไม้จับมือกับใครชัดเจน อยากให้ผลเลือกตั้งนิ่งเสียก่อน เพราะตอนนี้คะแนนก็ยังแกว่งอยู่แม้ว่าจะนับไปมากพอสมควร
 

"สุวิทย์" มึนปิ๋ว ส.ส.ขอนแก่น
 

ด้านความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อแผ่นดินเมื่อเวลา  19.30 น. แกนนำพรรคทั้งหมดเดินทางมาติดตามการรายงานผลการเลือกตั้งร่วมกันที่โรงแรมปาร์คนายเลิศ ถนนวิทยุ ฝั่งตรงข้ามที่ทำการพรรค เพื่อรอลุ้นผลการนับคะแนน ส.ส.ระบบเขตในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะคะแนน ส.ส.ขอนแก่น เขต 3 ที่เป็นพื้นที่ของ นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรค ลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งปรากฏว่า นายสุวิทย์มีคะแนนอยู่ในลำดับ 4  ทำให้พลาดการเป็น ส.ส.ในครั้งนี้ ทั้งนี้เมื่อทราบผลคะแนนเป็นที่แน่ชัด นายสุวิทย์ เดินทางออกจากโรงแรมปาร์คนายเลิศโดยไม่แจ้งจุดหมายให้ใครทราบ
  

นายวัชระพรรณเชษฐ์ เลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า 

หากคะแนนของพรรคพลังประชาชนเกิน 200 เสียง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่พรรคอื่นจะจัดตั้งรัฐบาลแข่ง เพราะถือเป็นการตัดสินใจของประชาชนแล้ว ขณะนี้ต้องให้เกียรติพรรคที่มีคะแนนอันดับ 1 เป็นผู้เริ่มต้นจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งคงต้องดูผลคะแนนท้ายสุดว่าจะได้เท่าใด ทั้งนี้ ได้มีการคุยกันเบื้องต้นในหลักเกณฑ์การเข้าร่วมรัฐบาลว่าจะต้องสร้างความปรองดอง และทำให้ประเทศกลับคืนสู่ความสมานฉันท์กันจริงๆ
 

"เสธ.หนั่น"ชี้ใบแดง20 ปชป.มีลุ้น
 

ขณะที่พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวผ่านทางรายการเลือกตั้ง 50 อนาคตการเมืองไทยทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาล หากพรรคพลังประชาชน (พปช.)ได้ 228 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 159 เสียง พรรคชาติไทย (ชท.) 39 เสียง พรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) 28 เสียง พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา (รช.) 12 เสียง พรรคมัชฌิมาธิปไตย (มฌ.) 9 เสียง พรรคประชาราช (ป.ช.ร.) 5 เสียง ว่า  พปช.ไม่ได้ติดต่อมาเลย ซึ่งไม่แน่ใจเพราะ พปช.มีนอมินีให้เลือกหลายพรรค เช่น เพื่อแผ่นดิน รวมใจไทยฯ มัชฌิมาฯ ประชาราช   

"ตอนนี้พรรคพลังประชาชนยังไม่ชวนเข้าร่วมแต่อย่างใด และจะเลือกใครก็เป็นสิทธิของเขา ถ้าเลือกชาติไทยก็ต้องถามพรรคชาติไทย หากเลือกพรรคอื่นเป็นรัฐบาล พรรค ประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทย 198 เสียงก็เป็นฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลยาก หากทำได้ก็ต้องพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน ถ้าทำได้ แต่อยู่ได้หรือไม่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับใบแดงใบเหลืองจะมีเท่าไร ถ้ามี 20 ก็พลิกได้เหมือนกัน" พล.ต.สนั่น กล่าว
 

"สุรยุทธ์" พอใจปชช.ออกมาใช้สิทธิ
 

วันเดียวกันพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีประชาชนมาใช้สิทธิสูงถึงร้อยละ 72 ถือว่าเกินเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ร้อยละ 70 อีกทั้งการเลือกเป็นไปโดยสงบ ประชาชนแสดงให้เห็นแล้วว่า มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอนาคตทางการเมืองของประเทศไทย ส่วนเรื่องการทุจริต หรือการแจกใบเหลืองใบแดงยังไม่มีข้อมูล เป็นเรื่องของ กกต.และ สตช.เป็นผู้ดำเนินการ
 

ทั้งนี้ในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เชื่อว่าคงไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นจนทำให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า 

ขึ้นอยู่กับการเจรจาของพรรคการเมืองต่างๆ เพราะไม่มีพรรคใดได้คะแนนเกินครึ่งหนึ่งของ ส.ส.ในสภา ส่วนแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่ว่าเป็นพรรคพลังประชาชน หรือพรรคประชาธิปัตย์ มีความแตกต่างกันอย่างไร คงตอบไม่ได้ เพราะทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการต้องวางตัวเป็นกลาง
 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ควรเป็นอย่างไร พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า 

คงให้ความคิดเห็นไม่ได้ ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองเป็นผู้คัดเลือกในระบบสภา ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดไว้แล้ว
 

เชื่อ"สมัคร"อยู่ได้ไม่นาน
 

แม้วันนี้จะถือเป็นวันประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของการเมืองไทยแต่ในมุมมองของการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังมีหลายฝ่ายไม่วางใจต่อสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่ง แม้ผลเลือกตั้งจะออกมาอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม โดยเฉพาะมุมมองของนักวิชาการนั้น ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า แม้พรรคพลังประชาชนจะมีคะแนนเกิน 240 เสียง แต่การจัดตั้งรัฐบาลนั้นคงต้องมีการดึงพรรคอื่นๆ อย่างน้อย 1 พรรคเข้ามาร่วมแน่นอน เพื่อเป็นการป้องกันความล่อแหลมและเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งพรรคพลังประชาชนพยายามที่จะดึงพรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดินเข้ามาร่วม แต่ทั้งนี้สองพรรคดังกล่าวก็ยังมีความกังวล ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและตำแหน่งที่จะได้รับหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล 

"ผมคิดว่านายสมัครไม่เป็นนายกฯ แน่นอน ถึงเป็นนายกฯ ก็จะอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือนแน่นอน เพราะเงื่อนไขต่างๆ จะทำให้เกิดความขัดแย้งกันในสังคมอย่างรุนแรง เช่น การที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะยุบ คตส. นิรโทษกรรม 111 คน แก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น แต่ถึงใครจะมาเป็นรัฐบาลหรือนายกฯ เชื่อว่าตอนแรกอาจมีปัญหาวุ่นวายบ้าง แต่ไม่ถึงกับรุนแรง ส่วนในระยะยาวจะมีปัญหาหรือไม่ขึ้นอยู่กับการบริหารงานของรัฐบาลว่าจะบริหารความขัดแย้งเดิมแบบไหน การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ เชื่อว่ายังไม่รุนแรง เพราะการเลือกตั้งแสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจของประชาชน แต่ไม่ตัดสินความถูกผิดของรัฐบาลที่แล้ว อยากให้ใช้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการพร้อมๆ ไปกับการบริหารบ้านเมืองอย่างมีเสถียรภาพ" ผศ.ดร.พิชาย กล่าว
 

ชี้พปช.นโยบายอีสานชัดเจนกว่า
 

ขณะที่ศ.นพ.วันชัย วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็นเกี่ยวกับคะแนนเสียงที่ประชาชนมอบให้พรรคพลังประชาชนในจังหวัดภาคอีสานว่า นโยบายมีความสำคัญต้องมีกรอบที่ชัดเจน หลายพรรคไม่มีกรอบที่ชัดเจน แต่พรรคพลังประชาชนมีความชัดเจนในเรื่องนโยบาย เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค สินค้าโอท็อป เป็นนโยบายโดนใจทำให้พรรคได้คะแนนเสียงมากในภาคอีสาน 

สาเหตุที่ภาคอีสานเป็นจุดบอดของพรรคประชาธิปัตย์เพราะว่าไม่มี ส.ส.ที่เป็นคนอีสานจริงๆ ฐานเสียงเดิมของพลังประชาชนนั้นยังคงเหนียวแน่น คนภาคอีสานเวลาใครเอาของมาให้ก็ต้องตอบแทนเขา มีบางหมู่บ้านมีกลุ่มที่ต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง เราต้องสร้างองค์กรชุมชน สร้างการเมืองท้องถิ่น ส่วนเรื่องการขายเสียงนั้นเท่าที่ทราบลดน้อยลงกว่าทุกครั้งที่ผ่านๆ มา อาจเป็นเพราะมีการจับทั้งคนแจกและคนจับ
 

"อานันท์" หวังรัฐบาลใหม่ได้คนดี 

นายอานันท์ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ติดตามการเลือกตั้งครั้งนี้มีประชาชนให้ความสนใจเดินทางมาใช้สิทธิลงคะแนนมาก และพบว่ามีคนมาใช้สิทธิมากกว่าครั้งที่แล้ว ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศที่จะบ่งบอกถึงอนาคตการเมืองของไทย ทั้งนี้ในฐานะประชาชนมีหน้าที่มาใช้สิทธิ และติดตามว่าบุคคลใดพรรคใดมาเป็นรัฐบาล ซึ่งประเทศต้องการผู้ที่มีความมุ่งมั่น และหวังว่ารัฐบาลนี้จะได้พรรคการเมืองที่มีคนไม่ดีน้อยที่สุดและไม่ใช้อำนาจสร้างความวุ่นวายให้ประเทศ
 

ด้านนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า 

อยากฝากว่าถ้าพรรคใดก็ตามที่ได้มาจัดตั้งรัฐบาลทุกคนก็ควรให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือกัน อย่าทำให้เกิดการแบ่งแยก เพราะวันนี้บ้านเมืองมีความลำบากมากอยู่แล้ว ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อมและกลไกของรัฐต่างก็มีความซับซ้อน ซึ่งใครที่มาเป็นรัฐบาล ก็ต้องมีความลำบากในการแก้ปัญหา ส่วนผู้ที่จะมาเป็นผู้นำรัฐบาลก็จะต้องเป็นผู้นำทิศทางใหม่ ซึ่งผู้นำจะต้องมีจิตนาการว่าปัญหาของชาติที่เกิดขึ้น แก้ไขได้ และจะแก้ไขด้วยวิธีใด

พันธมิตรกร้าวอย่าฟอกทักษิณ
 

ขณะที่มุมมองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภายหลังรับทราบผลการเลือกตั้งนั้น วันเดียวกัน นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงการประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร กล่าวว่า แม้พลังประชาชนจะเป็นรัฐบาลก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนมอบให้พรรคพลังประชาชนไปทำอะไรได้ตามอำเภอใจ โดยเฉพาะการดึงคดี พ.ต.ท.ทักษิณออกมาจากกระบวนการยุติธรรม หรือการยุบ คตส. เพราะนั่นคือประเด็นของความขัดแย้งหลักของสังคมไทยในช่วงก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ไม่เชื่อว่าพรรคพลังประชาชนจะกล้าทำ
 

นายสุริยะใสกตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)  กล่าวว่า 

แม้ว่าพรรคพลังประชาชนจะได้เสียงข้างมาก แต่อย่าลืมว่าเสียงส่วนใหญ่มาจากภาคอีสานและภาคเหนือ ขณะที่ภาคอื่นแทบจะไม่ได้เลย ดังนั้นการที่นายสมัครจะเหมารวมว่าคนทั้งประเทศสนับสนุนเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง หรือจะอ้างคะแนนเสียงแล้วใช้ท่าทียั่วยุ ท้าทาย ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ ต้องคำนึงว่ารัฐบาลต้องเป็นรัฐบาลของทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นรัฐบาลของภาคใดภาคหนึ่ง
 

คมช.ถก-รอกกต.ออกใบแดง
 

ภายหลังการเลือกตั้งก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นั้น มีรายงานข่าวว่า หลังจากที่รับรู้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการโดยพรรคพลังประชาชนนำมาเป็นอันดับ 1 เพื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลนับจากนี้ อย่างไรก็ดี ที่ประชุมไม่ได้มีมาตรการอะไรออกมาเนื่องจากหลายคนต่างเห็นพ้องกันว่าการเลือกตั้งยังไม่สิ้นสุด แม้ว่าจะมีผลการเลือกตั้งออกมาแต่ก็ยังไม่เป็นทางการ เนื่องจากยังมีขั้นตอนการออกใบแดงใบเหลืองอยู่ ซึ่งจะต้องรอให้ กกต.แถลงผลอย่างเป็นทางการเสียก่อน
 

ส่วนกระแสข่าวทหารจะออกมาปฏิวัติอีกครั้งนั้นพล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ และรักษาการประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวว่า 

ผลการทำปฏิรูปการปกครองตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 มาถึงวันนี้ที่มีการเลือกตั้ง รู้สึกว่าน่าจะพอใจ ซึ่งจุดเริ่มต้นนั้น คมช.ต้องการยุติคณะบริหารประเทศ เนื่องจากมีการบริหารงานที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งเรามีการแก้รัฐธรรมนูญที่มีข้อบกพร่อง เพื่อไม่ต้องการให้คนใช้ช่องว่างของกฎหมายเป็นผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง
 

เมื่อถามว่าหากผลเลือกตั้งพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งจะเกิดเหตุวุ่นวายหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า 

อย่าไปมองในแง่ร้าย เป็นเรื่องของประชาชน ไม่ใช่ คมช. ใครได้ฉันทานุมัติก็ให้ทำหน้าที่ ส่วน คมช.ก็จะหมดภาระหน้าที่ไปตามวาระ เมื่อถามว่าไม่มีการปฏิวัติซ้ำหลังเลือกตั้ง พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ไม่มีมูลเหตุ
 

ด้านพล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการ คมช. กล่าวถึงกระแสข่าวหลังการเลือกตั้งสถานการณ์จะวุ่นวายมีการแบ่งแยกทางความคิดว่า 

เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่คิดว่าทุกคนจะเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของประเทศเป็นที่ตั้งจึงไม่น่าจะมีอะไรมาก ส่วนที่มีข่าวนายทหารระดับสูงชี้นำให้เลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งนั้น พล.อ.วินัย กล่าวว่า ไม่ทราบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ แต่หากมีการร้องเรียนเข้ามาก็มีกระบวนการในการตรวจสอบอยู่แล้ว
 

คมช.หวั่นระบบทักษิณกลับมา
 

พล.อ.สมเจตน์บุญถนอม หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการที่พรรคพลังประชาชนได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ว่า คงต้องยอมรับผลการตัดสินใจของประชาชน คมช.คงไม่ทำอะไร ส่วนที่มองว่า การปฏิวัติ 1 ปีที่ผ่านมาประชาชนไม่ยอมรับนั้น คงไม่ใช่ แต่อาจจะเป็นเพราะ 1 ปีที่ผ่านมามีเวลาน้อยในการอธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจสิ่งที่ทำ แต่ก็หวังว่ารัฐบาลที่เข้ามาจะมาดูแลปัญหาของประชาชน เช่น เรื่องปัญหาปากท้องประชาชน เศรษฐกิจ
 

ผู้สื่อข่าวถามว่ากลัวหรือไม่ว่าพรรคพลังประชาชนจะมาแก้แค้น พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า 

กลัวอะไร ไม่กลัว เพราะไม่ได้ทำในสิ่งที่ผิด จะต้องไปกลัวอะไร ถ้ากลัวแสดงว่าทำความผิด จึงไม่กลัวว่าจะถูกแก้แค้น และไม่ห่วงว่าพรรคพลังประชาชนจะได้เป็นรัฐบาล แต่ขอให้เป็นรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่รัฐบาลของคนอื่น

 

เมื่อถามย้ำว่าเป็นรัฐบาลของคนอื่นหมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณใช่หรือไม่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า 

ใช่ ไม่ใช่มาเป็นรัฐบาลใน พ.ต.ท.ทักษิณ สิ่งนี้ต่างหากที่เรากลัว กลัวว่ารัฐบาลใหม่จะทำอะไรเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ กลัวจะคิดตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ทำทุกอย่างตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณสั่ง ตรงนี้น่ากลัวมากกว่า แต่หากพรรคพลังประชาชนมาเป็นรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำอะไรเพื่อประเทศชาติเราไม่กลัว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์