พท. ชี้ครม.มาร์ค 4 แค่เก้าอี้ดนตรี เปรียบเป็น รบ.ต๊ะติ๊งโหน่ง เหน็บกฎเด็ก 9 ข้อ ทำไม่ได้ซักข้อ

พท. ชี้"ครม.มาร์ค 4" แค่เก้าอี้ดนตรี เปรียบเป็น "รบ.ต๊ะติ๊งโหน่ง" เหน็บ"กฎเด็ก" 9 ข้อ ทำไม่ได้ซักข้อ

ที่พรรคเพื่อไทย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงเมื่อวันที่ 16 มกราคม ถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะว่า ไม่รู้สึกแปลกใจที่มีการปรับครม.เพียง 5 ตำแหน่ง และบางตำแหน่งเคยเป็นผู้กำกกับดูแลโครงการที่เกิดการทุจริต แต่ยังซื้อตั๋วเล่นเก้าอี้ดนตรีได้อยู่ จึงเท่ากับเป็นการดูถูกประชาชน ปล่อยให้ประชาชนรอลุ้นจนเก้าอี้เหนียว แต่สุดท้ายหนังก็จบแบบเซ็งเป็ด เพราะไม่มีอะไรตื่นเต้น เป็นการเล่นเก้าอี้ดนตรี ชนิดสมบัติผลัดกันชมเท่านั้น จึงขอเรียกครม.ที่ปรับใหม่ว่า เป็นประเภท "ข้างนอกไม่สดใส แต่ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง" ขณะที่รัฐมนตรีประเภทโลกลืม รัฐมนตรีนิ่งสนิทศิษฐ์ส่ายหน้า รัฐมนตรีสักยันต์ 8 แถว และรัฐมนตรีไม้ประดับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กลับไม่กล้าแตะตามฟอร์ม การปรับครม.ครั้งนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชาชน การที่พรรคภูมิใจไทยส่งชื่อนางพรรณสิริ กุลนาถศิริ มาเป็นรมช.สาธารสุข ขอให้จับตาดูภาพยนต์ฟอร์มยักษ์ เรื่องอิทธิฤทธิ์ชิดชอบ ที่จะออกมาแผลงฤทธิ์หลังจากนี้


ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้นายอภิสิทธิ์ทบทวนกฎเหล็ก 9 ข้อ เพราะพรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตว่า กฎเหล็กดังกล่าวเสมือนเป็นปาหี่ทางการเมือง ที่เอาไว้หลอกคนและใช้เป็นเครื่องมือสร้างภาพ แม้นายอภิสิทธิ์จะจริงใจในการบังคับใช้กฎดังกล่าว แต่การไม่สามารถบังคับใช้กฎได้ เท่ากับนายอภิสิทธิ์ขาดภาวะผู้นำและไร้ประสิทธิภาพในการบังคับบัญชา เพราะแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคก็ออกมากล่าวว่ากฎเหล็กดังกล่าวไม่สามารถใช้กับพรรคร่วมได้ ตนจึงขอเปลี่ยนชื่อ กฎเหล็กเป็นกฎเด็ก


น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกฎเหล็กข้อที่ 1 ที่ระบุว่าจะนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็นพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติให้เกิดเรียบร้อบและความสุขในหมู่ประชาชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นพบว่า รัฐบาลไม่สามารถนำพระบรมราโชวาทมาปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผล ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการของรัฐบาล อีกทั้งอาจต้องรับโทษจากความล้มเหลวของโครงการที่รัฐบาลน้อมนำพระราชดำริของในหลวงมาเป็นแนวทาง แต่กับปล่อยให้มีการทุจริตทั่วประเทศ ส่วนกฎข้อที่ 2 ที่ระบุว่า ครม.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต แต่ที่ปรากฎ ความสุจริตของรัฐบาลมีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งกรณีปลากระป๋องเน่า จนถึงโครงการไทยเข้มแข็ง รวมทั้งยังปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างน่าเกลียด จึงเชื่อได้ว่า การไม่ยอมจำกัดการทุจริตในรัฐบาลอย่างเด็ดขาด ก็เพื่อต้องการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลมากกว่ารักษาอธิปไตย


น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวอีกว่า กฎข้อที่ 3 ระบุว่าจะปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภา แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎ รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตาม โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงต่างประเทศในข้อที่ 7.1  ที่ระบุว่า จะพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่ารัฐบาลชุดนี้ได้สร้างความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องโดยไร้เหตุลผล มีเพียงความต้องการทำลายบุคคลเพียงคนเดียว โดยไม่คำนึงกับนโยบายที่เคยประกาศไว้ กฎข้อที่ 4 ที่ระบุว่า การทำงานของรัฐบาลต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลทำงานคนละทิศละทางและขาดเอกภาพ ต่างคนต่างคิดต่างทำ ทำให้ประชาชนเสียผลประโยชน์ รวมถึงความล่าช้าในการแต่งตั้งผบ.ตร.ที่มีความขัดแย้งกันเองภายในพรรคประชาธิปัตย์


น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า กฎข้อที่ 5 ที่ระบุว่า รัฐมนตรีต้องเข้าร่วมประชุมสภาอย่างสม่ำเสมอ แต่ที่ผ่านมามี่รัฐมนตรีบางคนขาดประชุมหลายครั้ง และนายกฯเองเข้าประชุมเพื่อตอบกระทู้ แต่เป็นการตอบโต้และถากถางรัฐบาลชุดเก่า กฎหข้อที่ 6 ที่ระบุว่า ให้รัฐมนตรีปฏิบัติโดยคำนึงถึงความรู้สึกประชาชน แต่มีรัฐมนตรีบางคนลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจหน้าที่แบบ 2 มาตรฐาน ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนและละเว้นไม่ลงโทษบุคคลในรัฐบาลที่กระทำความผิด เลือกปฏิบัติระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯกับกลุ่มนปช. แทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระ ถือเป็นการปฏิบัติอย่างไม่มีความเท่าเทียม เป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม กฎข้อที่ 7 ที่ระบุว่า ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรับฟังเสียงของประชาชน แต่การแสดงออกของัรฐบาลชี้ให้เห็นว่าไม่มีความเชื่อมั่นและยึดถือในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้องให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลโดยเฉพาะพรรคประชาธิปปัตย์พยายามบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด มีการใช้โวหารหลอกล่อไปวันๆ เลือกฟังที่ตัวเองอยากฟังเท่านั้น


น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวอีกว่า กฎข้อที่ 8 ที่ระบุว่า รัฐบาลต้องพร้อมรับการตรวจสอบ หลีกเลี่ยงนำตัวเองหรือรัฐบาลไปทะเลาะ แต่ข้อเท็จจริงที่ผ่านมารัฐบาลๆม่เคยพร้อมรับการตรวจสอบ และส่งคนของตัวเองมาตอบโต้เยาะเย้ย ถากถางแบบรายวันโดยไม่มีการชี้แจงเหตุผล มีแต่การเบี่ยงเบนประเด็น พูดคลุมเคลืองให้ตัวเองดูดี แบบเอาดีใส่ตัวชั่วให้คนอื่นหรือข้าชั่วเองก็เลว และกฎข้อที่ 9 ที่ระบุว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีสิทธิเหนือประชาชนในแง่ของการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ความรับผิดชอบทางการเมืองต้องสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย  แต่กลับพบว่าสิ่งที่รัฐบาลแสดงออกขากความรับผิดชอบทางการเมือง เพราะการลาออกของรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชชอบกลับเป็นเพียงการโยกย้ายสลับตำแหน่ง เพื่อหนีการตรวจสอบและไม่ต้องรับโทษ โดยจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลไม่ต้องรับิดชอบใดๆ กับการบริหารแผ่นดินที่ผิดพลาด


น.อ.อนุดิษฐ์ ยังกล่าวถึงการเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ว่า ที่ประชุมพรรคยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะขณะนี้มี 2 แนวทางคือยื่นเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาฯ หรือตั้งกระทู้เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในอีก 2 สัปดาห์ถัดไป โดยในวันที่ 21 ม.ค.นี้ ทางพรรคก็อาจจะยื่นอภิปราย หรืออาจจะใช้ยุทธวิธีตั้งกระทู้ถามไปก่อน ทั้งนี้การที่ยังไม่ได้เลือกว่าจะใช้วิธีการใด เพราะการปรับครม.ยังไม่นิ่ง  ต้องรอให้สะเด็ดน้ำก่อน อย่างไรก็ตามยืนยันว่าตอนนี้พรรคมีข้อมูลในการอภิปรายค่อนข้างสมบูรณ์เกือบทุกกระทรวง แต่กำลังรอเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น เมื่อถามว่าการปรับครม.มีผลต่อการอภิปรายหรือไม่  น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า มีผลกระทบ แต่ไม่มาก ถึงแม้จะมีการปรับรัฐมนตรีที่มีปัญหาออกจากตำแหน่งแล้ว แต่เราก็จะนำข้อมูลการกระทำผิดที่เคยเกิดขึ้นมาใช้ในการอภิปรายนายกรัฐมนตรี เพราะถือเป็นผู้บังคับบัญชา


เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ยื่นข้อมูลมาให้ฝ่ายค้าน น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า ที่มาของข้อมูลมีมาหลายวิธีการ แต่จะมาจากส่วนไหนไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะสาระสำคัญอยู่ที่ว่าข้อมูลดังกล่าวมีข้อเท็จจริงหรือไม่ หากเป็นการทุจริตจริง ใครจะเป็นคนให้ข้อมูลก็ได้  


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์