พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไพ่ใบสุดท้าย ของยิ่งลักษณ์

พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไพ่ใบสุดท้าย ของยิ่งลักษณ์

มี “คำถาม”ขึ้นมาทันทีหลังรัฐบาลรักษาการที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

มี “คำถาม”ขึ้นมาทันทีหลังรัฐบาลรักษาการที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.เป็นต้นไปกินระยะเวลา 60 วันไปจนถึงเดือนมีนาคมนั้นจะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ที่กำลัง “เขม็งเกลียว”ขึ้นทุกขณะได้หรือไม่ 

ส่วนใหญ่เชื่อว่า “ไม่ได้” เพราะการประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นความต้องการแก้ปัญหาในช่วงเวลาปัจจุบันซึ่งเป็น “ปลายเหตุ”ของปัญหา

ขณะที่ “ต้นเหตุ”ของปัญหาที่เริ่มต้นจากการชุมนุมคัดค้านการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม “สุดซอย-เหมาเข่ง”เมื่อเวลา “ตีสี่” ของวันที่ 1 พ.ย.2556 ที่ผ่านมา จากนั้นพัฒนากลายเป็นการถามหาความรับผิดชอบจากรัฐบาล ลุกลามไปเป็น การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนที่จะมีการเลือกตั้งและมาจบลงที่การขับไล่รัฐบาลเพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูปประเทศโดยประชาชน

“คำถามแรก” คือ รัฐบาลรักษาการมีอำนาจในการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้หรือไม่ มีเหตุที่จำเป็นต้องประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ แม้รัฐบาลรักษาการจะระบุว่าเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบเรียบร้อย แต่ก็มีคำถามว่านี่อาจจะเป็น “ข้ออ้าง” ขณะที่ความมุ่งหมายจริง ๆ รัฐบาลรักษาการอาจจะมีเจตนาแฝงเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง

เมื่อมี “คำถาม” เช่นนี้จึงไม่แปลกที่กลุ่ม 40 ส.ว.ที่นำโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา จะประกาศยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เพราะมองว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (4) ว่าด้วยการไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบของกกต. กำหนด

ไม่น่าจะเคยมีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงที่มีการจัดการเลือกตั้งมาก่อน ซึ่งหากถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง 2 ก.พ.หากไม่เลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งของประเทศไทย

ใช่แค่นั้นสื่อมวลชน 4 สถาบัน ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการ

“ทบทวน”การประกาศใช้ดังกล่าวเพราะมองว่าไม่มีเหตุอันควรและเป็นการ “ลิดรอนสิทธิ”ของประชาชนและสื่อมวลชน

“คำถาม”ต่อมา การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลรักษาการในครั้งนี้ มีจุดประสงค์แค่รักษาความสงบเรียบร้อยหรือมีเจตนาอื่นทางการเมืองหรือไม่ 

อย่าลืมว่าผู้มีอำนาจในการสั่งการตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีหมวกอีกใบสวมอยู่นั่นคือการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะผอ.ศรส. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า รัฐบาลมุ่งหมายที่จะทำให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.เกิดขึ้นให้จงได้ ท่ามกลางสารพัดปัญหาในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งกกต.ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมดูแลจัดการเลือกตั้งสะท้อนออกมาให้เห็นแล้วก่อนหน้านี้

หากต้องการควบคุมดูแลรักษาความสงบ กฎหมายในปัจจุบันก็ยังสามารถบังคับใช้ได้อยู่ ที่สำคัญการอ้างว่าเกิดสถานการณ์การ “ระเบิด”
 
ในช่วงการปฏิบัติการ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ของ กปปส.นั้น รัฐบาลควรจะเร่ง “จับกุม”ผู้กระทำผิดมาลงโทษและหามาตรการป้องกันแทนที่จะใช้เหตุการณ์ที่ว่ามาเป็นเหตุผลในการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 
ที่น่าคิดก็คือว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น เป็นการ “สนธิกำลัง”ระหว่างตำรวจกับทหาร แต่ภาพที่ปรากฏออกมาดูเหมือนว่า ทหารจะไม่เห็นด้วยกับการประกาศดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามที่จะประกาศใช้มาแล้วแต่ถูกทหารให้เหตุผล “คัดค้าน”ไว้

ที่ต้องคิดกันให้ไกลคือ ทำไมต้องประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินกินระยะเวลาถึง 60 วัน ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงหลังวันเลือกตั้งหรือรัฐบาลรักษาการประเมินสถานการณ์ไปแล้วว่า ในการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค.ที่จะถึงนี้ จะมีความวุ่นวายทางการเมืองและอาจที่จะพัฒนาไปถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.

ต้องยอมรับประการหนึ่งว่าในทาง “ยุทธศาสตร์”แล้วการประกาศ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ของ กปปส. ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะเลขาธิการ กปปส. ประสบความสำเร็จมากขึ้นตามลำดับ แม้ข้าราชการระดับสูงบางหน่วยงานจะเข้าร่วมและแสดงออกซึ่งการสนับสนุนการชุมนุมของกปปส.ก็ตาม แต่หากดูกลไกข้าราชการะดับล่างหรือระดับปฏิบัติการจะพบว่า ให้ทั้งข้อมูลให้ทั้งความร่วมมือการ “อารยะขัดขืน”กับกปปส.อย่างมาก

ยิ่งการที่คณบดีคณะแพทยศาสตร์จาก 8 สถาบัน ซึ่งประกอบด้วย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล,คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล,คณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ “ลาออก” จากการรักษาการ สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มคน “ชั้นนำ” ในสังคมเริ่มสนับสนุนกปปส.มากขึ้น

ไม่ใช่แค่นั้น “ชนชั้นรากหญ้า”ซึ่งไม่พอใจกับการไม่ยอมจ่ายเงินในโครงการ “รับจำนำข้าว” ก็กำลังจะเป็นอีกกลุ่มที่กลายเป็น “แนวร่วม”ต่อต้านรัฐบาลรักษาการไปโดยปริยาย 

เหล่านี้จึงน่าจะเป็น “เหตุผล” ที่รัฐบาลรักษาการตัดสินใจเล่น “เกมเสี่ยง” ด้วยการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อสกัดกั้นการเพิ่มขึ้นของกลุ่ม “ไม่เอาด้วย ”กับรัฐบาลรักษาการ

ถือเป็นการ “ทิ้งไพ่” ที่เหลืออยู่บนหน้าตักของรัฐบาลรักษาการ ที่ขณะนี้มีเหลืออยู่ไม่กี่ใบเท่านั้น

“คำถาม” ที่สำคัญ หากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ แถมยังทำให้สถานการณ์ “บานปลาย” เกินกว่าจะควบคุมได้ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์