ผู้สมัครฯผู้ว่ากทม.ดีเบตโชว์กึ๋น! แก้ หมา-แมว จรจัดในกรุง ชูวิทย์ ชูเพิ่มงบ จับตอน

5 ผู้สมัครชิงผู้ว่าฯกทม.โชว์กึ๋น อวดวิธีแก้ปัญหา "หมา-แมว" ส่วนใหญ่เห็นตรงกันต้องเพิ่มงบฯทำหมันลดปริมาณการแพร่พันธุ์ เอ็นจีโอ 40 องค์กรเปิดตัวเครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ทำงานเชิงรุกติดตามนโยบาย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและวิถีชีวิตคนในชุมชน 7 ด้าน

ชมรมผู้นิยมแมวแห่งประเทศไทย ร่วมกับชมรมร็อตไวเลอร์ (ประเทศไทย) สมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกลุ่ม SOS จัดกิจกรรมฟังก่อนเลือก "ว่าที่ผู้ว่าฯ กับการแก้ปัญหาหมา-แมว ของเมืองหลวง" ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ เมื่อวันที่ 27 กันยายน มีผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. ประกอบด้วย นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หมายเลข 8 นายประภัสร์ จงสงวน หมายเลข 10 นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ หมายเลข 2 นางลีนา จังจรรจา หมายเลข 7 และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน หมายเลข 5 เข้าร่วม

นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า มีข้อเสนอจัดการปัญหาเกี่ยวกับสัตว์ 7 แนวทาง คือ 1.จัดทำสำมะโนประชากรสุนัขและแมวใน กทม.เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายใน 6 เดือน 2.ทำหมันสัตว์สุนัขและแมวฟรีภายใน 2 ปี 3.จัดระเบียบสุนัขชุมชน โดยให้มีการขึ้นทะเบียนสุนัขให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้ 4.จัดสวนสาธารณะสำหรับสัตว์เลี้ยง 5.จัดทำเมรุเผาสัตว์เลี้ยงมาตรฐาน เพื่อลดการทิ้งซากลงถังขยะ 6.ตั้งศูนย์ส่งเสริมสวัสดิภาพและป้องกันการทารุณกรรมสัตว์เลี้ยงใน กทม. และ 7.พัฒนาที่พำนัก บ้านรักสัตว์เลี้ยงให้ได้มาตรฐานตลอดอายุขัย

นายชูวิทย์กล่าวว่า ปัจจุบันสุนัขเลี้ยงที่มีเจ้าของมีประมาณ 8 แสนตัว สุนัขเร่รอน 3 แสนตัว แต่ที่ผ่านมา กทม.มีงบประมาณในการทำหมันสุนัขเร่รอนเพียงปีละ 2 หมื่นตัว ซึ่งไม่เพียงพอ และเป็นปัญหามาก ดังนั้น ต้องมีการเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้ให้มีการทำหมันสุนัขเพื่อลดปริมาณการแพร่พันธุ์ให้อย่างน้อยปีละ 5 หมื่นตัว ถึง 1 แสนตัว นอกจากนี้จะทำให้รอบเกาะรัตนโกสินทร์ แหล่งอารยธรรมของ กทม.และคนไทยทุกคน ต้องปลอดสุนัขจรจัด โดยจะจัดหาที่พักพิงให้เพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่เดิมคือ ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด จ.อุทัยธานี และเขตประเวศ กทม. ที่สำคัญจะมีการจัดตารางให้คนรักสัตว์เข้าไปดูแลด้วย

นายอภิรักษ์กล่าวว่า นโยบายฝังไมโครชิปสุนัขของ กทม.ยังคงดำเนินการต่อไป แต่จะเพิ่มเติมโดยการสร้างสวนสาธารณะสำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ แต่หากไม่สามารถหาพื้นที่ดำเนินการได้ ก็จะใช้วิธีแบ่งพื้นที่การใช้งานบางส่วนของสวนสาธารณะที่มีอยู่เดิมแทน นอกจากนี้จะส่งเสริมให้ครอบครัวที่มีบุตรหลานและเลี้ยงสัตว์ดูแลเอาใจใส่สัตว์เลี้ยงของตนเอง เพื่อป้องกันการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงจนเป็นปัญหาสังคม ที่สำคัญจะทำหมันสุนัขเพื่อควบคุมปริมาณไม่ให้มากเกินไป และจะขยายศูนย์พักพิงสุนัขให้มากขึ้น รวมทั้งจะจัดอบรมเจ้าหน้าที่ที่ดูแลสัตว์เหล่านี้ให้มีใจรักสัตว์ด้วย

นายประภัสร์กล่าวว่า จะจัดระเบียบสุนัขใน กทม.โดยจะจับทำหมัน และให้มีการเลี้ยงอย่างถูกสุขลักษณะ โดยจะระดมคนรักสัตว์มาเสนอความเห็นต่างๆ เกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหา พร้อมทั้งจะจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือสัตว์โดยเฉพาะ ส่วนนางลีนากล่าวว่า จะจับสุนัขฉีดวัคซีนให้หมด เพื่อป้องกันสุนัขบ้าไล่กัดคน โดยจะคิดค่าฉีดวัคซีนในราคาถูกสำหรับคนจนเพียง 100 บาท ส่วนคนรวยจะคิดราคา 1,500 บาท

ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนกว่า 40 องค์กร อาทิ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มูลนิธิชุมชนไท สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาชุมชนองค์กรกรุงเทพมหานคร เครือข่ายสลัมสี่ภาค ฯลฯ ร่วมแถลงเปิดตัว "เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ" พร้อมออกคำประกาศเปลี่ยนกรุงเทพฯ ด้วยพลังพลเมือง ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นายณัชพล เกิดเกษม ประธานสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพฯ ในฐานะคณะทำงานเครือข่ายฯ แถลงว่า ที่ผ่านมา พื้นที่ กทม.มีปัญหามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต ดังนั้น เครือข่ายพลเมือง เปลี่ยนกรุงเทพฯ จึงได้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของภาคประชาชน ร่วมกับทุกภาคส่วน โดยจะทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ สะท้อนการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และฝ่ายบริหาร กทม.เป็นระยะๆ 

"เครือข่ายจะทำหน้าที่ติดตามนโยบายของผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ว่า มีการดำเนินการเป็นเช่นไร ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและวิถีชีวิตของคนในชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยจะมุ่งเน้นคือ 1.การจัดการสิ่งแวดล้อมและป้องกันภัยพิบัติ 2.การฟื้นฟูและพัฒนาวิถีท้องถิ่นที่มีชีวิตในเขตเมือง 3.การปฏิรูปโครงสร้างที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่หลากหลาย 4.การพัฒนาจิตสำนึกต่อส่วนรวมของสังคมเมือง 5.การพัฒนาระบบจราจรและขนส่งที่เหมาะสมในพื้นที่เมือง 6.การศึกษาและการพัฒนาเด็กและเยาวชน ข้อเสนอเหล่านี้จะนำเสนอต่อผู้สมัครผู้ว่าฯต่อไป" นายณัชพลกล่าว

ทางด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ผลสำรวจความเห็นของประชาชนจากโพล 3 สำนักปรากฏว่านายอภิรักษ์นำห่างผู้สมัครคนอื่นทั้งหมด แต่ไม่ว่าผลโพลออกมาอย่างไร พรรคจะไม่ประมาทและขอแจ้งไปยังประชาชนที่สนับสนุนนายอภิรักษ์ว่า ต้องไปลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 5 ตุลาคม ด้วยเพราะหลายคนอาจมีความรู้สึกว่าเมื่อโพลออกมานำมากกว่าคนอื่นอาจไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากคิดว่าชนะอยู่แล้ว แต่การเลือกตั้งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้น ทุกคะแนนเสียงที่สนับสนุนนายอภิรักษ์ล้วนมีความหมายทั้งสิ้น

"ขณะนี้ได้มีขบวนการในการเอาข้อความกล่าวใส่ร้ายโจมตีผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ไปติดอยู่ตามป้ายหาเสียงของพรรค รวมถึงมีการทำลายป้ายหาเสียงจำนวนมาก ถือว่าเป็นวิชามารแบบเก่า จึงขอเรียกร้องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะเป็นการกระทำดังผิดกฎหมายทั้งสิ้น ตำรวจสามารถจับกุมได้ทันทีโดยไม่ต้องมีใครแจ้งความ" นายองอาจกล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์