ผู้นำอาเซียนเข้าเฝ้าฯในหลวง กษิต รับคำเชิญไปเยือนพม่ามี.ค. เอ็นจีโอโวยสกัดผู้แทนหม่อง-เขมร

ผู้นำอาเซียนเข้าเฝ้าฯในหลวง "มาร์ค" เปิดประชุมอาเซียนซัมมิท เยาวชนร้องลดเหลื่อมล้ำศก. "เอ็นจีโอ"โวยสกัดผู้แทนพม่า-เขมร ประชาสังคมตั้ง5คำถามกับผู้นำ บัวแก้วชี้เป็นครั้งแรกถือว่าก้าวหน้า ดันตั้งองค์กรสิทธิฯอาเซียน "กษิต" รับคำเชิญไปเยือนพม่ามี.ค. ไทยขอ"อินโดฯ-มาเลย์" ช่วยเรื่องก๊าซ

"มาร์ค" เปิดประชุมอาเซียนซัมมิท

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรืออาเซียน ซัมมิท ครั้งที่ 14 เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ โดยผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุม ที่ห้องรอยัล ดุสิต แกรนด์ บอลรูม โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยมีการจำลองวังสราญรมย์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สมาชิกก่อตั้งอาเซียน 5 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยได้ลงนามใน "ปฏิญญากรุงเทพ" เมื่อ 41 ปีก่อน

พิธีเปิดการประชุมเริ่มขึ้นด้วยการบรรเลงเพลง ASEAN Way ซึ่งเป็นเพลงประจำอาเซียน ที่เป็นผลงานของคนไทย ที่เพิ่งชนะเลิศการประกวด จากนั้น มีการฉายสารคดีเกี่ยวกับอาเซียนเรื่อง "จากแหลมแท่นสู่หัวหิน" ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บรรยายเสียงภาษาอังกฤษด้วยตนเอง

จากนั้น นายอภิสิทธิ์ในฐานะประธานอาเซียนขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน โดยเน้นให้สมาชิกอาเซียนร่วมมือกันแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และผลักดันให้ประชาคมอาเซียนเข้มแข็งมากขึ้น (อ่านรายละเอียด น.2 ) เสร็จจากนั้นผู้นำอาเซียนได้ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน

ผู้นำอาเซียนเข้าเฝ้าฯในหลวง

ต่อมาเวลา 17.00 น. ผู้นำอาเซียนเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล และเดินทางไปร่วมในงานเลี้ยงอาคารค่ำ ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานเลี้ยงกาลา ดินเนอร์ ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำอาเซียนและคู่สมรส ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน มีการตกแต่งสถานที่อย่างสวยงาม อลังการ โดยใช้กล้วยไม้ 10,000 ต้น และไม้เมืองหนาวอีก 10,000 ต้น จากโครงการหลวงดอยตุง

ส่วนเมนูอาหารนั้นนำมาจากโรงแรมโอเรียนเต็ล ประกอบด้วย อาหารว่าง คือ ยำส้มโอ และไก่ห่อใบเตย ส่วนอาหารจานหลัก คือ ต้มยำกุ้งในมะพร้าวอ่อน แกงเขียวหวานเนื้อและแกงเขียวหวานปลากราย ปลานึ่งซีอิ๊ว ปูจ๋า ผัดผัก ส่วนเครื่องเคียง คือ ปลาหมึกทอด และไข่เค็ม อาหารหวานประกอบด้วย ผลไม้ บัวลอย ส่วนเครื่องดื่ม ประกอบด้วย ชา กาแฟ น้ำกระเจี๊ยบปั่น และน้ำมะพร้าวปั่น โดยมีวงออเคสตราบรรเลงคลอตลอดเวลา

เยาวชนอาเซียนร้องลดเหลื่อมล้ำศก.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าผู้นำอาเซียนพบกับผู้แทนจากรัฐสภาอาเซียน ผู้แทนเยาวชนอาเซียน ผู้แทนภาคประชาสังคมอาเซียน และรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 16.00 น. ที่โรงแรมดุสิตธานีหัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี นายอภิสิทธิ์แถลงผลการหารือทวิภาคีร่วมกับนายกรัฐมนตรีเวียดนามและสิงคโปร์ และการเข้าเฝ้าฯสุลต่านบรูไน ว่า การหารือทั้ง 3 ครั้งล้วนเป็นไปในทางที่ดีและผู้นำทั้ง 3 คนต่างตอบรับว่าพร้อมจะทำงานร่วมกับประเทศไทย

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ผู้นำอาเซียนเปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการอาเซียน โดยกลุ่มแรกคือตัวแทนจากรัฐสภานำโดยนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาไทย ในฐานะประธานไอป้า (Asian Inter-Parliamentary Assembly) ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่าจากนี้ไปจะมีกระบวนการให้สมาชิกรัฐสภาพบปะกับผู้นำอาเซียนอย่างนี้ทุกปี และจะให้สภามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขกฎหมายสำคัญภายในของแต่ละประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กลุ่มสองคือตัวแทนเยาวชน ซึ่งมีข้อเสนอที่น่าสนใจทั้งขอให้ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และขอให้สร้างความเข้าใจทางการเมือง ทั้งนี้ อาเซียนจะส่งเสริมบทบาทของเยาวชนต่อไปเพราะจะเป็นประชาสังคมอาเซียนที่สำคัญในอนาคต

เปิดภาคประชาสังคมร่วมมากขึ้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนกลุ่มที่สาม คือภาคประชาสังคม ที่เข้ามาเสนอแก้ไขหลายอย่าง ทั้งในเชิงหลักการและกระบวนการทำงาน ตนในฐานะประธานอาเซียนเห็นว่าตลอดทั้งปีนี้ควรจะมีกระบวนการรับฟังความเห็นจากภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาที่ภาคประชาสังคมยกขึ้นมาถาม มีตั้งแต่ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองในพม่า แรงงานต่างด้าว ผู้อพยพ ปัญหาเด็กและสตรี รวมถึงผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในอาเซียนด้วย ทั้งนี้ มอบหมายให้นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ไปหาวิธีการและแนวทาง พร้อมจัดโครงสร้างที่จะเอื้อต่อการรับฟังความเห็นประชาสังคมมากขึ้น

นายอภิสิทธิ์ได้ตอบถึงการแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญา โดยยืนยันว่าทหารไทยไม่มีนโยบายกระทำรุนแรงต่อกลุ่มคนดังกล่าว ที่ผ่านมาก็มีเพียงการบอกเล่า แต่ถ้าสื่อต่างชาติจะนำหลักฐานมาแสดงก็พร้อมรับฟัง และพร้อมลงโทษคนที่กระทำผิด

ส่วนปัญหาทางการเมืองในประเทศพม่านั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไทยจะสนับสนุนโรดแมปปฏิรูปการเมืองของพม่า และภายหลังนายอิบรอฮิม กัมบารี ทูตพิเศษของสหประชาชาติ เยือนพม่าในปลายปีนี้ ไทยก็หวังว่าพม่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งตามกำหนดการเดิมคือในปี 2010 เมื่อถามว่า จะเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ไม่ได้ตอบคำถาม 

"เอ็นจีโอ"โวยสกัดผู้แทนพม่า-เขมร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายก่อนหน้าที่นายอภิสิทธิ์จะแถลงข่าว นางเด็บบี้ สท็อตฮาร์ด จากเครือข่ายอาเซียนทางเลือก (เอเอเอ็น) เข้าไปยังศูนย์ข่าวที่โรงแรมเชอราตัน หัวหิน รีสอร์ตแอนสปา เพื่อขอจัดแถลงข่าว โดยระบุว่าได้รับอนุญาตจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธเพราะไม่มีการแจ้งกำหนดการล่วงหน้า และเมื่อประสานกับฝ่ายอื่นๆ แล้วไม่ได้รับการยืนยันว่ามีใครอนุญาตให้นางเดบบี้มาแถลงข่าว ทำให้นางเดบบี้ไม่พอใจและพูดจาต่อว่าเสียงดัง

สุดท้ายนางเดบบี้ตะโกนเรียกผู้สื่อข่าวให้มาฟังการแถลง โดยระบุว่า ผู้แทนภาคประชาสังคมจากพม่าและกัมพูชาถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว เพราะผู้นำทั้งสองประเทศขู่ว่าจะไม่เข้าร่วมพบปะหากผู้แทนภาคประชาสังคมทั้งคู่เข้าร่วม ทำให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการต่างประเทศไทยออกมาพบทั้งสองคนข้างนอก ถือเป็นสัญญาทางบวกเพียงอย่างเดียวจากผู้นำ

ต่อมามีผู้แทนภาคประชาสังคมอีกจำนวนหนึ่งมาสมบท แต่เจ้าหน้าที่ขอให้ไปแถลงข่าวด้านนอกศูนย์ข่าว โดยนางสุนทรี เซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานองค์กรเอกชน (กปอพช.) ในฐานะผู้แทนภาคประชาสังคมของไทย กล่าวว่า ผู้นำประเทศบางคนพยายามนำคนที่ตัวเองเลือกเข้าร่วมหารือในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคม ซึ่งขัดหลักกับการเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมตามที่บรรดาผู้นำอาเซียนพูดมาตลอด แต่ก็ทำให้เราตระหนักว่าหนทางที่ภาคประชาชนจะได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงนั้นคงยังอีกไกล นายอภิสิทธิ์ก็ยอมรับว่าภูมิภาคนี้ยังเข้มงวดต่อความคิดเรื่องอธิปไตยและการไม่แทรกแซงกัน

ประชาสังคมตั้ง5คำถามกับผู้นำ

นางสุนทรีกล่าวว่า ภาคประชาสังคมตั้งคำถาม 5 เรื่องต่อผู้นำอาเซียน ได้แก่ 1.กระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริงในเวทีอาเซียน 2.หน้าตาของกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่จะเสร็จในปีนี้และความสามารถในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง 3.ปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในประเทศพม่า 4.การหาทางออกต่อผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจที่มีผลต่อแรงงานอพยพในอาเซียน และ 5.การมีส่วนร่วมของผู้หญิงและเด็ก รวมถึงการปกป้องคุ้มครองและการแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก

นายสุนทรีกล่าวว่า ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีพม่าแสดงท่าทีเงียบขรึม ไม่ตอบคำถามใดๆ มีเพียงนายกฯของไทย และนายเหวียน เติน ซุง นายกฯเวียดนาม เป็นผู้ตอบคำถามเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการที่นายอภิสิทธิ์พูดว่าอย่างน้อยได้เห็นความสำคัญและเริ่มมีการพูดคุยกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคม อีกทั้งผู้นำประเทศทั้งหมดรับฟังเรื่องที่พูดกันจนจบ อาจถือเป็นนิมิตหมายที่ดีเล็กๆ ว่าแม้เราสามารถไม่เห็นด้วยกันได้ แต่ก็สามารถมานั่งปรึกษาหารือในวงประชุมเดียวกันได้

"เราอยากเรียกร้องต่อนายกฯและรัฐบาลไทยในฐานะที่เป็นประธานอาเซียนว่าคงต้องมีความพยายามให้มากขึ้นที่จะทำให้ภูมิภาคเป็นภูมิภาคที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง" นางสุนทรีกล่าว

ขณะที่สมาชิกรัฐสภาอาเซียนจัดตั้งกลุ่มปรึกษาหารือเพื่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก โดยตัวแทนสมาชิกรัฐสภาอาเซียนออกแถลงการณ์ภายหลังเข้าพบผู้นำอาเซียน เรียกร้องให้ยึดมั่นในหลักการเสรีภาพของสื่อมวลชน
 
บัวแก้วชี้เป็นครั้งแรกถือว่าก้าวหน้า

นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การเข้าพบผู้นำอาเซียนของภาคประชาสังคม เป็นรูปแบบที่ตกลงกันก่อนหน้านี้แล้วกับหัวหน้าคณะของกลุ่ม เพราะเป็นเรื่องของการสร้างสมดุลระหว่างการตอบสนองข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคม การประนีประนอม และความเหมาะสม

นายธฤตกล่าวว่า ไทยในฐานะเจ้าภาพต้องการให้อาเซียนรุดหน้าและให้รูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายให้ได้มากที่สุด การพบกันระหว่างผู้นำอาเซียนกับตัวแทนภาคประชาสังคมครั้งนี้เป็นครั้งแรก ต้องถือว่ามีความก้าวหน้าที่สุดแล้วที่ไทยในฐานะเจ้าภาพในเสนอเรื่องนี้ และประเทศในอาเซียนเห็นพ้องที่จะเปิดโอกาสให้มีการพบปะกันเช่นนี้ เราอยากให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพื่อให้การพบปะเช่นนี้เกิดขึ้นได้อีกในการประชุมครั้งหน้า

ดันตั้งองค์กรสิทธิฯอาเซียน

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ แถลงภายหลังการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนว่า ตามมาตรา 14 ของกฎบัตรอาเซียน มีการตกลงชัดเจนว่าต้องจัดตั้งองค์กรเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานมนุษยชนในอาเซียนขึ้น และมอบหมายให้คณะกรรมการที่ตนเป็นประธานจัดทำร่างทีโออาร์ขึ้น โดยคณะกรรมประชุมไปแล้ว 8 ครั้ง มีการหารือกับภาคประชาสังคมและตัวแทนจากรัฐสภาอาเซียน เพื่อเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

"หัวใจของร่างทีโออาร์ คือ อำนาจและหน้าที่ขององค์กร มี 2 ประเด็นสำคัญคือ การส่งเสริม และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในอาเซียน เพื่อสร้างความตระหนัก การพัฒนาบรรทัดฐานในเรื่องสิทธิมนุษยชนก่อน นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมให้อาเซียนเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาที่สำคัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน" นายสีหศักดิ์กล่าว

นายสีหศักดิ์กล่าวว่า องค์ประกอบขององค์กรจะมีสมาชิกจาก 10 ชาติสมาชิก หวังว่าแต่ละประเทศจะเปิดกว้างในสรรหาโดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ขณะที่ชื่อขององค์กรยังไม่มีความชัดเจน คาดว่าจะเสนอร่างทีโออาร์สุดท้ายได้ในที่ประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนการ เชื่อว่าจะจัดตั้งองค์กรได้ช่วงสิ้นปี 2552
 
"กษิต" รับคำเชิญไปเยือนพม่ามี.ค.

ที่โรงแรมเชอราตัน หัวหิน รีสอร์ทแอนสปา นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แถลงผลการหารือทวิภาคีระหว่างนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับนายเนียน วิน รัฐมนตรีต่างประเทศพม่า ว่าพม่าเชิญให้นายกษิตไปเยือนสหภาพพม่าอย่างเป็นทางการ ซึ่งนายกษิตก็ตอบรับว่าจะเดินทางไปเยือนราวปลายเดือนมีนาคมนี้ โดยทางพม่าขอให้นายกษิตจัดทำรายการที่จะไปหารือตกลงกันมาก่อน ทั้งนี้ 2 ประเทศยืนยันว่าจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ปัญหาอาญชากรรมชายแดน และปัญหายาเสพติด ซึ่งพม่ายืนยันสารตั้งต้นยาบ้าไม่มีอยู่ในพม่า

โฆษก กต.กล่าวว่า ยังมีการหารือเรื่องผู้อพยพชาวมุสลิมโรฮิงญาด้วย ซึ่งทางพม่าให้รายละเอียดว่าพม่ากับบังกลาเทศมีข้อตกลงเรื่องการแก้ไขปัญหาชายแดนอยู่บ้างแล้ว ตั้งแต่ปี 2533 โดยดึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เข้าร่วมแก้ปัญหาด้วย โดยเฉพาะชาวเบงกอลหลบหนีเข้าเมือง ถ้าทางพม่าจับได้ก็จะส่งตัวกลับ

ไทยขอ"อินโดฯ-มาเลย์" ช่วยเรื่องก๊าซ

นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงผลการประชุมสุดยอดแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT Summit) ครั้งที่ 4 ว่ามีหารือหลายเรื่อง เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน อาหารฮาลาล การเกษตร การขนส่งและการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ ยังหารือเรื่องการท่องเที่ยว เราตั้งใจปี 2009 เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง (Celebration Year) มีการพูดถึงการท่องเที่ยวเชิงรักษาสุขภาพ (Medical Tourism) และความเป็นไปได้ในการโปรโมตแผนการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศ (Joint Package)

นายวีระชัยกล่าวว่า นายอภิสิทธิ์แสดงวิสัยทัศน์ของประเทศไทย เช่น ความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทางภาคใต้หรือเซาธ์เทิร์น ซีบอร์ด กับการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย นายอภิสิทธิ์ยังเรียกร้องให้กระชับความร่วมมือระหว่างกลุ่ม IMT-GT ให้มากยิ่งขึ้นกับอาเซียน และย้ำจุดยืนให้ภาคเอกชนเป็นตัวนำทาง

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า นายอภิสิทธิ์ยังได้ขอความร่วมมือนายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย ในการเชื่อมโยงด้านพลังงาน หรือ Energy Land Brige โดยเฉพาะก๊าซและน้ำมัน ร่วมทั้งขอความร่วมมือจากอินโดนีเซียในการสนับสนุนเรื่องก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์