ผวาสิงคโปร์ยึดไทย ประธานคมช.เทียบเสียเขาพระวิหาร

ผวาสิงคโปร์ยึดไทย ประธานคมช.เทียบเสียเขาพระวิหาร


นายกฯ ยันออกมาตรการตอบโต้สิงคโปร์พิจารณารอบคอบแล้ว "แม้ว" เผ่นไปตั้งหลักเมืองจีน เนื้อหอมสื่อนอกรุมสัมภาษณ์เพียบ สมุนปฏิเสธเปิดสถานีทีวีสู้ "สนธิ"


เทียบกรณีเสียเขาพระวิหารเพราะคนไทยขายชาติล้วงข้อมูลให้เขมร

ขณะนี้ต้องเผชิญสงครามเศรษฐกิจที่สิงคโปร์รุกคืบฮุบสมบัติชาติผ่านนายทุนทั้งโทรศัพท์ ดาวเทียม ไฟฟ้า ประปา เก็บข้อมูลของเราเกือบทุกอย่างไว้ในมือ นักการทูตลอดช่องเดือด "แม้ว" ชักศึกเข้าบ้าน ขณะที่รัฐบาลยังตีสำนวนแก้ต่าง หลายฝ่ายหนุนท่าทีไทย

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี

กล่าวเมื่อวันที่ 17 มกราคมนี้ ถึงการที่รัฐบาลไทยออกมาตรการตอบโต้สิงคโปร์กรณีรองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าพบ ว่าเป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงไปแล้ว คิดว่า รมว.ต่างประเทศได้บอกกับทาง รมว.ต่างประเทศสิงคโปร์ทราบล่วงหน้าแล้วว่าท่าทีของเราเป็นอย่างไร

กระทรวงต่างประเทศได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้ว


และรัฐบาลก็ตัดสินใจไปแล้ว" นายกฯ ชี้แจงก่อนที่จะยุติการตอบคำถามใดๆปฏิกิริยาของไทยต่อกรณีดังกล่าว มีขึ้นเมื่อวันอังคาร เมื่อนายกฤษณ์ กาญจนกุญชร ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เชิญนายปีเตอร์ ชาน เอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทยเข้าพบ เพื่อแจ้งท่าทีไทยไม่พอใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไทยจะดำเนินการ

1.ระงับความร่วมมือภายใต้กรอบโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการพลเรือนไทย-สิงคโปร์ (CSEP)

2.ยกเลิกการประชุม CSEP ครั้งที่ 8 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 มกราคม 2554 ที่กรุงเทพฯ 3.ถอนคำเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์เยือนไทยระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม 2550 เพื่อร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการประชุม CSEP

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ออกแถลงการณ์ตามมาว่า สิงคโปร์รู้สึกเสียใจที่รัฐบาลไทยตัดสินใจดำเนิน


3. มาตรการดังกล่าว สิงคโปร์อ้างว่ารัฐบาลไทยไม่ได้แจ้งต่อสิงคโปร์ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยถูกตั้งข้อหาใดหรือไม่ และยังไม่มีการกำหนดรายชื่อประเทศที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศด้วย นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณตัดสินใจเข้าสิงคโปร์ด้วยตัวเอง และขอเข้าพบนายเอส ชัยกุมาร รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าเป็นการส่วนตัว

แถลงการณ์ระบุ

"ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปหลายประเทศโดยไม่ถูกประท้วงจากรัฐบาลไทย ดังนั้นกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์จึงรู้สึกเสียใจที่รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการดังกล่าว"

ถึงแม้รัฐบาลสิงคโปร์จะแถลงปกป้องตัวเองและ พ.ต.ท.ทักษิณ


ก็ยังมีมุมมองที่ต่างออกไปจากนายกีซอร์ มาห์บูบานิ อดีตนักการทูตอาวุโสและผู้อำนวยการโรงเรียนลี กวน ยิว ที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ดูเดย์ของสิงคโปร์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่เป็นธรรมกับสิงคโปร์ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณนำสิงคโปร์ไปอยู่ในจุดที่ล่อแหลม

พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีความเมตตาต่อสิงคโปร์ ซึ่งอาจจะดีกว่าหาก พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นที่อื่นซึ่งไม่ใช่ที่สิงคโปร์ ในขณะที่ประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหาอย่างยากลำบาก ก็ย่อมคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก

นายกิตติ วะสีนนท์ อธิบดีกรมสารนิเทศ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์รายการ "สยามเช้านี้" ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เมื่อวันพุธ ว่าที่สิงคโปร์ถามถึงการตั้งข้อกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ประเด็นมิใช่อยู่ที่ข้อกล่าวหา แต่ไทยหวังว่าเพื่อนจะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในไทย

และเรื่องที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพของการเดินทาง แต่เป็นเรื่องที่สิงคโปร์กำลังส่งสัญญาณให้ต่างประเทศหรือสาธารณชนซึ่งไม่น่าจะถูกต้องหรือเป็นธรรมนัก ในแง่ความสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์ ซึ่งเป็นมิตรสนิทมาก

"เรื่องนี้ที่จริงไม่ต้องพูดกันเยอะ สิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งที่ติดตามประเทศไทยเป็นอย่างดี ว่าอะไรเป็นอะไร เป็นความเข้าใจระหว่างมิตรประเทศ"

เมื่อถามว่าสิงคโปร์จะเข้าใจหรือไม่ว่าไทยถูกทรยศตามที่ประธานาธิบดีสิงคโปร์เคยพูดไว้ว่าจะไม่ทรยศและคุกคามเป็นอันตรายต่อความไว้เนื้อเชื่อใจและความเข้าใจอันดีระหว่าง 2 ประเทศ นายกิตติกล่าวว่า นี่เป็นสิ่งที่เรานึกถึงเสมอ เพราะเป็นคำมั่นที่เคยบอกเรา ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ประธานาธิบดีสิงคโปร์เคยบอกต่อท่านนายกฯ

ต่อมานายกิตติ วะสีนนท์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า

กระทรวงการต่างประเทศของไทยรับทราบการแถลงตอบของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นท่าทีที่ทางการสิงคโปร์เคยพูดมาตลอด แต่อาจจะมีบางประเด็นที่ยังไม่มีความชัดเจน
นายนิตย์ พิบูลสงคราม ได้คุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์แล้ว ว่าหากสิงคโปร์มีการพบปะกับ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้องออกมา และขอให้ทบทวน แต่กลับปรากฏว่ายังมีการพบปะดังกล่าวอยู่

เมื่อถามว่าจะดำเนินมาตรการอะไรต่อไป นายกิตติกล่าวว่า

นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาการดำเนินการที่เหมาะสม ซึ่งทางกระทรวงก็ได้พิจารณาแล้ว ประเมินแล้ว ส่วนในอนาคตยังไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องประเมินความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากในอนาคต พ.ต.ท.ทักษิณเข้าพบผู้บริหารระดับสูงของประเทศอื่นอีก ไทยจะแสดงจุดยืนอย่างไร

"ต้องพิจารณาเป็นเหตุการณ์ โดยหวังว่าคงไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก เราพยายามจะแยกสิทธิส่วนบุคคลกับกิจกรรมที่กระทบกระเทือนต่อการสร้างความสมานฉันท์และสร้างเสถียรภาพด้านความมั่นคง ในส่วนของสิงคโปร์เป็นครั้งแรกที่กรณีเช่นนี้เกิดขึ้น" นายกิตติกล่าว

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า

มาตรการที่กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการ ถือว่ามีความเหมาะสมแล้ว อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เพราะที่ผ่านมาความสัมพันธ์ของไทยและสิงคโปร์เป็นไปด้วยดี แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ความสัมพันธ์ก็อาจจะสะดุดบ้าง

ผู้สื่อข่าวถามว่าเสียงสะท้อนหลังจากออกมาตรการนี้เป็นอย่างไร

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ได้รับฟังจากสื่อบ้าง ซึ่งก็คิดว่าเป็นแนวทางทางการทูตที่เหมาะสม ส่วนการดำเนินการต่อจากนี้กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้แนะนำรัฐบาล ส่วนจะทำหนังสือไปถึงสิงคโปร์หรือไม่ เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ

ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า

ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลและ คมช.ยังไม่มีการหารือถึงการเดินทางกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณไปพบรองนายกฯ สิงคโปร์จะเป็นการตอบโต้ที่ถูกยึดพาสปอร์ตทางการทูตหรือไม่ ตนตอบแทน พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ แต่เชื่อว่าการไปพบกับผู้นำระดับสูงของรัฐบาลต่างประเทศ อาจจะสร้างความไม่สบายใจให้กับอีกฝ่ายได้ ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่มีนัยทางการเมืองต่อการเมืองในประเทศไทย

ด้านความเคลื่อนไหวล่าสุดของ พ.ต.ท.ทักษิณ


แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้เปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้โทรศัพท์ไปยังรองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เพื่อแสดงความเสียใจต่อกรณีดังกล่าวซึ่งส่งผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสิงคโปร์ ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้เดินทางออกจากประเทศสิงคโปร์ไปยังประเทศจีนแล้วเมื่อช่วงเช้าวันพุธ จากนั้นมีแนวโน้มว่าจะเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น

ข่าวแจ้งด้วยว่า

ได้มีสื่อต่างประเทศทั้งสถานีโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ลายฉบับติดต่อมายัง พ.ต.ท.ทักษิณและคนใกล้ชิด เพื่อขอสัมภาษณ์พิเศษภายหลังจากที่ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นไปเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีความเป็นไปได้สูงที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะให้สัมภาษณ์อีกครั้ง

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีมาตรการ


ห้ามเสนอข่าว พ.ต.ท.ทักษิณผ่านสื่อในประเทศ การบล็อกสัญญาณออกอากาศผ่านรายการซีเอ็นเอ็นในประเทศไทย รวมถึงมีมาตรการทางการทูตตอบโต้ประเทศสิงคโปร์นั้น มีรายงานข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้หารือกับทีมการเมืองและทีมกฎหมายส่วนตัว โดยอาจจะขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศใดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียเร็วๆ นี้ โดยอ้างว่าถูกขับไล่ไม่ให้เข้าประเทศ รวมทั้งถูกกลั่นแกล้งจากรัฐบาลและ คมช.

นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวว่า

พ.ต.ท.ทักษิณเตรียมเจรจาขอซื้อสัมปทานการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ในประเทศสิงคโปร์ เพื่อส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมหรือสายเคเบิล เพื่อแพร่ภาพในทวีปเอเชียด้วย

อย่างไรก็ตาม นายนพดล ปัทมะที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาปฏิเสธว่า

พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่ได้เข้าไปเจรจาหรือเข้าไปถือหุ้นต่างๆ เพื่อจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ดังที่เกิดกระแสข่าว <>bเพราะคงไม่มีความจำเป็นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อตอบโต้รัฐบาลไทย
หรือมีนัยทางการเมืองอะไรอีก เรื่องนี้สามารถตรวจสอบได้จากตลาดหุ้นอยู่แล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณถือหุ้นเหล่านี้ไว้หรือไม่

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ประธาน คมช. กล่าวว่า


เรื่องต่างประเทศรัฐบาลก็ว่ากันไป ส่วนในประเทศก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะได้วางงานไว้เพียงพอแล้ว สำหรับการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ประชาชนในประเทศคงเข้าใจว่าก่อให้เกิดปัญหาอย่างไร เพราะจริงๆ แล้วอดีตนายกฯ ไม่ควรพูดให้เกิดผลกระทบต่อบ้านเมือง

ประธาน คมช.กล่าวว่า

แม้รัฐบาลจะออกมาตรการตอบโต้สิงคโปร์ แต่ทางด้านการทหารระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพสิงคโปร์ไม่มีปัญหา


ขณะนี้กองทัพกำลังเกิดปัญหา


เพียงเราหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเพื่อจะใช้สักเครื่องหนึ่ง มันก็วิ่งไปสู่ประเทศสิงคโปร์ เราจะพูดความลับทางราชการ มันก็วิ่งไปอยู่ที่สิงคโปร์ ความมั่นคงของชาติเป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นความลับของชาติ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากทุกอย่างตกไปอยู่ฝั่งตรงข้าม ประเทศชาติจะตกอยู่ในความลำบาก

พล.อ.สนธิกล่าว

หากถามว่าประเทศสิงคโปร์เป็นศัตรูหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ การต่อสู้แข่งขันอีก 10 ปีเราจะไม่มีการรบขนาดใหญ่กับใคร แต่การต่อสู้ในยุคปัจจุบันเป็นการต่อสู้กันทางเศรษฐกิจ สงครามเศรษฐกิจระหว่างชาติกำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นการที่เขารับรู้แนวความคิดและการสั่งการของกองทัพหรือภาคเศรษฐกิจกระจายไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม อยากถามว่าเขาจะไม่รู้แนวคิดเราหรือ"

ประธาน คมช.กล่าวว่า


ครั้งหนึ่งเราเคยเสียเขาพระวิหาร ซึ่งการต่อสูคดีในเรื่องเขาพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา ทั้งไทยและกัมพูชาก็ต่างมีข้อมูลที่จะมาสู้กันในศาลโลก แต่ปรากฏว่าคนไทยเราหยิบข้อมูลของเราไปขายให้กัมพูชา ในอนาคตการต่อสู้สงครามทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้น

ตนได้สั่งกองทัพไปว่า

ประเทศไทยอย่าเป็นศัตรูกับพม่าเพราะทรัพยากรในพม่ามีมหาศาล ตนได้พูดกับทหารในกองทัพว่าให้คอยดูอีก 10 ปี พม่าจะมีความเจริญรุ่งเรืองที่น่ากลัวอีกประเทศหนึ่ง เมื่อวานตนได้รับรายงานว่าทางพม่ากำลังสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนและรัสเซีย ถ้าเขาซื้อมาตามนั้น ประเทศเราน่าเป็นห่วง เพราะหากมีการรบกันเราจะสู้ไม่ได้

ประเทศไทยมีเครื่องบินที่ดีที่สุดคือ เอฟ 16 เหลือกี่ตัว กองทัพไทยมีรถถัง 600-700 คัน วิ่งได้เท่าไร มีปืนใหญ่ 600-700 กระบอก ยิงได้กี่ลูก ถามเช่นนี้คือเราไม่มีเงินซื้อลูกระสุน นี่คือปัญหาเศรษฐกิจของบ้านเรา

พล.อ.สนธิกล่าวว่า

เศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ ประเทศสิงคโปร์เจริญทางด้านเศรษฐกิจทั้งที่ไม่มีอะไร ขณะนี้เป็นตัวกลางของการซื้อขาย และตอนนี้กำลังข้อมูลต่างๆ ของเราไปเก็บไว้ในมือ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง

ข่าวแจ้งว่า


ที่ประชุมยังได้มีการพูดถึงความร่วมมือทางการทหารที่ประเทศไทยจะให้การสนับสนุนพื้นที่ฝึกค่ายฝึกกาญจนบุรี แก่กองทัพบกสิงคโปร์ ภายใต้รหัสการฝึกเครสเชนโด้ ที่กองทัพบกไทยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 โดยจะครบกำหนดในเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งแกนนำ คมช.เห็นตรงกันว่าความสัมพันธ์ทางด้านการทหารยังถือเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย อีกทั้งเห็นว่าสิงคโปร์ต้องพึ่งพาไทยในเรื่องนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 21-24 ม.ค.นี้


พล.อ.สนธิมีกำหนดเดินทางไปเยือนผู้นำทางทหารของกองทัพจีน โดยจะเข้าเยี่ยมคำนับประธานเสนาธิการทหาร และดูกิจกรรมทางทหารของกองทัพประชาชนจีน ซึ่งกำหนดการเดิมได้เลื่อนมาถึง 4 ครั้ง เนื่องจากติดภารกิจภายในประเทศ ทางเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย จึงได้ประสานเชิญ พล.อ.สนธิไปเยือนในช่วงเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปจีนในห้วงเวลาดังกล่าวของประธาน คมช. เกรงกันว่าจะพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณที่พำนักอยู่ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งประธาน คมช.รู้สึกไม่สบายใจ ขณะที่ผู้นำจีนก็ลำบากใจ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าช่วงเวลาดังกล่าว พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น พล.อ.สนธิจึงตัดสินใจเดินทางไปเยือนจีน

บีโอไอรายงานตัวเลขการลงทุนของสิงคโปร์ในไทยว่า


ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2549 มีนักลงทุนจากสิงคโปร์เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอทั้งสิ้น 2.8 หมื่นล้านบาท จำนวน 108 โครงการ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์