ผมพูดเสมอว่าต้องมีคนกลาง

ใน โอกาสครบ 3 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 “ทีมข่าวการเมืองเดลินิวส์” ได้สัมภาษณ์ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันที่ยังคงอยู่และกำลังจะทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ

**1 ใน 4 เหตุผลของการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 49 คือเพื่อลดความแตกแยก ยุติความขัดแย้ง แต่มาถึงวันนี้ความขัดแย้งยังอยู่เป็นเพราะอะไร
   
ถ้าพูดถึงความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เรื่องของการแสวงผลประโยชน์ การสูญเสียอำนาจ ทำให้เกิดความพยายามที่จะเอาคืนเพื่อให้มีอำนาจกลับมา ฉะนั้นเหตุการณ์ก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 มีความแตกแยกมาหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ความขัดแย้งจนไปสู่ระดับความแตกแยก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขององค์กรที่บริหารต่าง ๆ ของรัฐมีความขัดแย้ง จนกระทั่งมีความขัดแย้งระหว่างภาคประชาชนกับอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังจะเกิดความขัดแย้ง

**ถ้าวันนั้นไม่มีการยึดอำนาจคิดว่าสถานการณ์ในวันนี้จะเกิดอะไรขึ้น
   
ในทฤษฎีความขัดแย้งอาจจะเปลี่ยนไปอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าไม่ทำในวันนั้น สิ่งที่เห็นชัดเจนก็คือวันที่ 20 ก.ย. 2549 จะต้องมีการปะทะกันของคนสองฝ่ายแน่นอนและเกิดการสูญเสีย สิ่งต่อมาถามว่าทรัพย์สมบัติของชาติ กับการบริหารชาติที่เราพูดเรื่องของการเข้าไปแทรกแซง การคอร์รัปชั่น การหมิ่นสถาบันที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่มีความสำคัญ

**ในฐานะที่เคยทำการรัฐประหาร เมื่อเห็นสถานการณ์ในปัจจุบันคิดว่างานของท่านจบหรือยัง
   
เรื่องงานของชาติคงไม่ใช่หน้าที่เราคนเดียว ทุกคนมีหน้าที่ทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย เกิดความเจริญรุ่งเรือง ประชาชนเกิดความรักความสามัคคี ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้บริหาร ความจริงเราเกษียณแล้วไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไปทำอะไร เพียงแต่เราทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี ก็ถือว่าทำหน้าที่ของเราดีที่สุดแล้ว สำหรับผมแล้วไม่มีสี เพราะถ้ามีสีจะทำให้บ้านเมืองเกิดความสับสนวุ่นวาย ถึงเวลาที่จะต้องขจัดสีทั้งหมด หมายความว่าต้องขจัดความรู้สึกทั้งหมดให้ออกมาเป็นศูนย์และหันกลับมาหาแนวทางในการแก้ไขบ้านเมืองไปพร้อม ๆ กัน

**ที่บอกว่าต้องมาช่วยกันขจัดสีนั้น ในมุมมองของท่านต้องทำอย่างไร
   
วิธีการที่ทำง่าย ๆ คือ การทำความเข้าใจกับประชาชน การทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีสุข ทำอย่างไรที่จะให้แกนนำของแต่ละฝ่ายหันกลับมาพูดคุย ลดทิฐิ ต้องทำทุกระบบ ผมพูดเสมอว่าต้องมีคนกลางเข้ามาช่วย คนกลางคือใคร อาจจะเป็นนักวิชาการ นักธุรกิจที่ทุกคนยอมรับหรือแม้กระทั่งผู้นำทางศาสนาซึ่งเป็นที่เชื่อถือศรัทธา แต่การมองหาคนกลางไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หรือคนที่หามานั้นอาจจะไม่กลางจริง จึงจำเป็นต้องหาตรงจุดนั้นให้ได้ ต้องเป็นคนที่ พ.ต.ท. ทักษิณเกรงใจ และประชาชนยอมรับด้วย ความจริงแล้วอาจจะหาไม่ยาก อาจจะมีช้างเผือกอยู่ตรงไหนก็ได้ เราต้องช่วย ๆ กันหา 

**คิดว่าแก้ไขรัฐธรรม นูญเป็นทางออกหนึ่งของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาหรือไม่


ผมว่าไม่ใช่ประเด็น การแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นคนละเรื่องกันกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งเพราะรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับคนไม่กี่คน ทุกมาตราไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสุข ความทุกข์ของประชาชน แต่เป็นเรื่องของนักการเมือง ความจริงรัฐธรรมนูญดีหมดแล้ว เพียงแต่มีปัญหาที่คนเท่านั้นเอง


**ถ้ามีการนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งหมดเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ปัญหาความขัดแย้งจะยุติหรือไม่
   
เรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ คนที่เคยไปสัมภาษณ์คงจะรู้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณต้องการอะไร อย่างเรื่องของคดี เรื่องของเงิน มองดูว่าเมื่อวัตถุประสงค์หลัก ถ้ามีแค่นี้ ผมมั่นใจว่าจบ แต่ถ้ามากกว่านี้ตอบไม่ได้ แต่ถ้ามีความต้องการอื่น ๆ มีแล้วไม่ปรากฏอันนี้เราไม่รู้ สถานการณ์ไม่ใช่คนละเรื่องกัน

**ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมกลับมาติดคุกเพื่อรับโทษ 2 ปี คิดว่าจะเกิดความวุ่นวายหรือไม่
   
ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิดเพราะกฎหมายก็คือกฎหมาย แต่ต้อง ยอมรับว่าหากเกิดอะไรขึ้นแล้วเราไม่เข้าไปแก้ไขก็ย่อมจะเกิดเงื่อนไขที่ใหญ่ขึ้นเป็นธรรมดา ขณะนี้เรายังไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรจะทำอีกหลาย ๆ เรื่อง เช่น ผู้ที่เป็นแกนนำมีความถูกผิดต่อกระบวนการเรื่องของความมั่นคงของชาติหรือไม่ ขนาดประเทศประชาธิปไตยยังต้องมีมาตรการการบังคับใช้กฎหมายมี พ.ร.บ. มีกฎหมายเดินขบวน ซึ่งประเทศประชาธิปไตยเขาใช้มาตรการทางกฎหมายจัดระเบียบทางสังคม

**สมมุติว่า ถ้าท่านมีอำนาจในตอนนี้ท่านจะทำอะไรและจะไปขวนขวายจับตัว พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่
   
อันดับแรกเราจะต้องทำให้ความขัดแย้งหายไปให้ได้ ต้องทำให้แดงกับเหลืองหายไป โดยไปหามูลเหตุของการสนับสนุนที่ให้เกิดสิ่งนี้อยู่ตรงไหน และเรามาตั้งสมมุติฐานว่าเราจะแก้อย่างไร ส่วนที่ถามว่าผมจะขวนขวายไปจับตัว พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ ถามว่าจะมีประโยชน์อะไรต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยกับการพัฒนาประเทศ ผมว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน

**ในสายตาของท่านคิดว่าสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหนถึงจะจบ
   
ปัจจัยการสนับสนุนที่จะเกิดม็อบ เกิดการปลุกระดม ขึ้นอยู่กับ 1.แกนนำ 2.การสนับสนุน หรือเจ้าภาพ และ 3.เงื่อนไข ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้ทำให้เกิดหรือไม่เกิด อย่างเรื่องเงื่อนไข เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนที่มาหมดเงื่อนไข เขามาเพราะอะไร เราก็ขจัดเงื่อนไขเหล่านั้นออกไป มีวิธีการทำอย่างไร ได้คิดกันตรงนี้หรือไม่ ต้องช่วยกันคิดทุกทาง ทุกเรื่องต้องทำในเวลาเดียวกันพร้อม ๆ กัน จะช่วยลิดรอนทำให้กระบวนการตรงนี้เหลือน้อยลง

**หากสังคมยังไม่คลี่คลาย ตึงเครียดไปถึงจุดที่จะปะทะกันคิดว่าจะต้องใช้กำลังอีกครั้งหรือไม่
   
ผมมองว่า คนที่เข้าไปเล่นคงลำบากเพราะระบบการตรวจสอบ ระบบของสื่อมวลชน ระบบของกฎหมายทำให้คนไม่กล้าทำอะไร ต้องให้มันเกิดขึ้น หยุดไปเอง แล้วค่อยมาว่ากัน ซึ่งต่อไปจะเป็นอย่างนั้น คนสองกลุ่มจะมาชนกันปัญหาคือจะไม่มีคนเข้าไปห้ามทัพ ต้องปล่อยให้เกิดจนกระทั่งอ่อนล้าและลากันไปเองแล้วค่อยมาแก้ เพราะบทเรียนออกมาให้เห็น ทำให้ไม่มีใครกล้าเข้าไปปราบ ถึงแม้จะปราบไปตามกระบวนการของกฎหมาย เหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ทำให้คนใจฝ่อ ผมคิดว่าคนที่จะกล้าเข้ามาเหลือน้อยลง จะเป็นลักษณะเหมือนในหนังที่ตำรวจมาตอนจบ ซึ่งต่อไปจะเป็นอย่างนั้น ต้องยอมรับว่ารัฐบาลไม่มีปัจจัย ไม่มีเวลาที่จะไปแก้ปัญหาพวกนี้ เพราะมีงานอื่นเยอะมาก แค่งานบริหารประเทศยังเดินไปแบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ ที่พูดเพราะเราในฐานะผู้ถูกปกครองก็อยากให้ผู้ปกครองทำหน้าที่ตัวเองอย่างมีเสรีภาพ และมีประสิทธิภาพ.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์