ปูไปแล้วจะกลับมาไหมเหตุใดต้องไปฝรั่งเศส

ฮือฮากันทั้งประเทศเมื่อ คสช.อนุมัติให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางออกนอกประเทศได้ โดยมีบุตรชาย คือ น้องไปป์ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร ร่วมเดินทางไปด้วย

นั่นเป็นเพราะ ยิ่งลักษณ์ คือบุคคลที่ คสช.เรียกให้มารายงานตัวก่อนหน้านี้ เพราะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี

การเดินทางไปทัวร์ยุโรปของยิ่งลักษณ์ ในครั้งนี้ ให้เหตุผลว่าไปร่วมงานกับครอบครัว โดยมีรายงานข่าวว่า พานทองแท้, พินทองทา และ แพทองธาร ชินวัตร 3 พี่น้อง อาจเดินทางไปพร้อมกับยิ่งลักษณ์ในครั้งนี้ด้วย เพื่อไปร่วมงานวันคล้ายวันเกิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

คำชี้แจงของโฆษก คสช. พ.อ.วินธัย สุวารี ระบุว่า ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ ไม่เคยทำผิดข้อตกลงที่มีไว้กับ คสช. ขณะเดียวกัน หาก ยิ่งลักษณ์ ไปถึงประเทศใดก็ให้ไปรายงานตัวต่อสถานทูตประเทศนั้นๆ

ในคำขอเดินทางไปต่างประเทศ ยิ่งลักษณ์ระบุว่า จะเดินทางไปเยือนประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส

และก็เป็นฝรั่งเศสนี่เองที่ทำให้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาในทันที

ไม่ใช่แค่เพียงว่า ประเทศฝรั่งเศส นั้นเป็นเสมือนแม่แบบของการ "ปฏิวัติประชาชน" ของบรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองทั้งหลาย

ก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าวว่า จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ และ จักรภพ เพ็ญแข ได้นัดหมายกับรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส แต่ในเวลาต่อมา กระทรวงการต่างประเทศของไทย ก็ออกมาปฏิเสธ โดยอ้างว่า ได้รับการยืนยันจากฝรั่งเศสแล้วว่า ไม่มีการพบกันตามที่เป็นข่าว

กระแสข่าวต่อต้าน คสช. ภายหลังมีการยึดอำนาจด้วยการใช้โลกล้อมประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ดูไม่มีน้ำหนักเท่าใดนัก เมื่อประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย ไม่ได้ปฏิเสธการบริหารประเทศโดยกองทัพของไทย จะมีเพียงสหรัฐอเมริกาและอียูที่ตัดการช่วยเหลือบางอย่างแก่ไทยเท่านั้น

ปูไปแล้วจะกลับมาไหมเหตุใดต้องไปฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม วันที่ 16 กรกฎาคม สุนัย จุลพงศธร หนึ่งในนักการเมืองผู้ที่ไม่มารายงานตัวต่อ คสช. ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก

โดยระบุตำแหน่งของตนว่า ประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สมาชิกผู้แทนราษฎรไทย (พลัดถิ่น) ได้ทำการส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำรัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรปและกลุ่มอาเซียน โดยได้ส่งผ่านสำนักงานตัวแทนของรัฐบาลทุกรัฐบาลที่สหประชาชาติ ในช่วงที่จะมีการประชุมระดับโลก อาเซม และเอเปค

สุนัย เรียกร้องให้ประชาคมโลกจับตามองการรัฐประหารในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดตัวของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นครั้งแรกในการเปิดบ้านสี่เสาต้อนรับ ผบ.สส.มิน อ่อง หล่าย จากเมียนมาร์ ที่เข้าเยี่ยมคารวะพร้อมกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร แกนนำ คสช.

สุนัย มองว่านั่นคือการแสดงตัวว่าสนับสนุนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 !

สำหรับ สุนัย นั้นหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ติดตามและประกบไว้แต่แรกที่ไม่มารายงานตัวและหลบหนีออกนอกประเทศว่า มีเป้าหมายที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น โดยฝ่ายสุนัยใช้ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เป็นฐาน

ขณะที่แกนนำในช่วงนั้นมี จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (ในขณะนั้น) และรักษาการ รมว.มหาดไทย จะเป็นแกนนำรัฐบาลพลัดถิ่น เนื่องจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ยังอยู่ในประเทศ

อย่างไรก็ดี คำถามก็ยังคงมีขึ้นอยู่ดีในจังหวะที่ ยิ่งลักษณ์เดินทางไปนั้น คดีความหลายคดี ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมจะเป็นอย่างไร คดีความเหล่านั้นมีน้ำหนักพอที่จะทำให้ ยิ่งลักษณ์ ไปแล้วไม่กลับมาได้หรือไม่?

เมื่อสำรวจคดีความที่ยังติดตัวยิ่งลักษณ์ อยู่แล้ว หากเป็นคนปกติทั่วไปก็ต้องยอมรับว่า หนักหนาสาหัสเลยทีเดียว เพราะเพียงแค่ทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแค่ 2 ปีเศษ คดีความที่เกิดขึ้นมีมากกว่า 40 คดี ยังดีที่ตกไปแล้ว 13 เรื่อง ที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณา โดยที่ยังไม่นับคดีจำนำข้าวภายหลัง คสช.เข้ามาบริหารประเทศตรวจพบข้าวเน่า ข้าวหายเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ คดีความที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นคดีที่รับไว้เพื่อตรวจหาข้อเท็จจริงรวม 14 เรื่อง คดีที่อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริง 18 เรื่อง

แยกเป็นคดีได้แก่ คดีการบริหารจัดการน้ำ โดยคดีนี้พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ร้อง และคดีอนุญาตให้กระทรวงการคลังกู้เงินจำนวน 2.2 ล้านล้านบาท

สำหรับคดีโครงการรับจำนำข้าวที่อยู่ในมือ ป.ป.ช.นั้น ในขั้นตอนการถอดถอน ป.ป.ช.ได้ชี้มูลแล้ว และส่งเรื่องไปยังวุฒิสภา เผอิญว่า ช่วงนี้ไม่มีวุฒิสภา มีเพียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจนิติบัญญัติ แต่ก็คงจะไม่ใช้อำนาจในการถอดถอน ยิ่งลักษณ์

               
ในส่วนของคดีอาญา ล่าสุด ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์

ชี้มูล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความผิดอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่และละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 ตามมาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหาย โดยส่งสำนวนคดีทุจริตโครงการระบายข้าวและการรับจำนำข้าว ต่ออัยการสูงสุดแล้ว เพื่อสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

               
นอกจากนี้ยังมีคดีข้าวถุงที่พรรคประชาธิปัตย์ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด

ในส่วนของ ป.ป.ช.เอง ก็ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อสอบบัญชีทรัพย์สินโดยละเอียดของ 5 รัฐมนตรีที่รับผิดชอบโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

จากเรื่องดังกล่าว ทำให้มีคดีจัดซื้อจัดจ้าง ที่ดำเนินการไปโดยส่อว่าจะขัดต่อกฎหมาย ป.ป.ช. โผล่ขึ้นมาอีกคดี

คดีท้ายสุด (อาจจะไม่สุดท้าย) คือการชี้แจงบัญชีทรัพย์สินของ ยิ่งลักษณ์ โดยในรายการทรัพย์สินที่ชี้แจงนั้น ไม่ได้ระบุถึงนาฬิกาที่มีมูลค่าถึง 2.4 ล้านบาท เอาไว้ด้วย

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่า การเลือกประเทศฝรั่งเศสเป็นสถานที่จัดงานวันคล้ายวันเกิดนั้นอาจจะใช่ แต่คดีความที่เข้าคิวรออยู่นี้ ยังต้องรอดูก่อนว่า เมื่อครบกำหนดที่ขอไว้กับ คสช.แล้ว ยิ่งลักษณ์จะกลับมาหรือไม่

..................

(หมายเหตุ : 'ปู'ไปแล้วจะกลับมาไหมเหตุใดต้องไป'ฝรั่งเศส' : ทีมข่าวความมั่นคง)


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์