ปู3เกมทำลายจังหวะฝ่ายค้าน ยิ่งลักษณ์แต่งตัวรับศึกซักฟอก

ปู3เกมทำลายจังหวะฝ่ายค้าน ยิ่งลักษณ์แต่งตัวรับศึกซักฟอก


'ปู3'เกม'ทำลายจังหวะ'ฝ่ายค้าน 'ยิ่งลักษณ์'แต่งตัวรับศึก'ซักฟอก'

ดูรายชื่อคณะรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ 3” แล้ว บอกได้คำเดียวว่า ช่างเป็นการช่วงชิงจังหวะทางการเมืองในช่วง 1 เดือนสุดท้ายของสมัยประชุมสภาซึ่งจะ “ปิดฉาก” ลงได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ

การปรับ ครม. รอบนี้ ในมุมของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล เป็นการสลับเอา “ตัวจริง” กับเอา “คนใหม่” เข้ามาทำหน้าที่ ขณะที่ในมุมของพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนกันชนิด “เปลี่ยนโฉม” นั้น น่าจะเป็นการปรับเพื่อสร้างสมดุลใหม่ในพรรค มากกว่าเป็นการปรับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของคณะรัฐมนตรี

มี 3 ส่วนที่ต้องดู ส่วนแรก การมาของบ้านเลขที่ 111 พรรคไทยรักไทย ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็น “ตัวจริง” และมีบทบาทอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็น พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ที่จะเป็นรมว.พลังงาน พงษ์เทพ เทพกาญจนา ที่จะมาเป็นรองนายกฯ และ รมว.ศึกษาธิการ วราเทพ รัตนากร ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลด้านงบประมาณ เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ คนเหล่านี้น่าจะใช้ “ความเก๋า” เร่งงานให้รัฐบาลเพิ่มมากขึ้น ส่วนต่อมา คือ ส.ส. ที่ทำงานให้พรรคและควรจะมี “รางวัลทางการเมือง” ตอบแทน อาทิ ประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ ที่จะนั่ง รมช.มหาดไทย ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ที่จะนั่งเก้าอี้ รมช.คมนาคม ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม ที่จะนั่งเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ที่จะเป็น รมช.สาธารณสุข ส่วนสุดท้าย คือ พวกที่มีความใกล้ชิดกับ “ศูนย์กลางอำนาจ” ในพรรค อย่าง พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต เพื่อนร่วมรุ่นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะเป็น รมช.คมนาคม นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ คนนอกหนึ่งเดียว ที่ว่ากันว่าใกล้ชิดกับนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่สนิทสนมกับผู้นำรัฐบาล ที่จะมาเป็น รมว.สาธารณสุข และ น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถือเป็นผู้หญิงคนเดียวใน ครม. ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นอย่างยิ่ง

จะมีที่ “ผิดแผน” ก็ตรงที่ไม่มี จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ซึ่งถูกแต่งตั้งอย่างไม่เป็นทางการจาก พ.ต.ท.ทักษิณ มาก่อนหน้านี้ แม้จะไม่มีชื่อแต่ทุกฝ่ายก็เชื่อว่า ไม่น่าจะมีปัญหาจนเกิด “รอยร้าว” ขึ้นภายในพรรคเพื่อไทย เพราะชั่วโมงนี้แกนนำยังไม่พร้อมจะตั้งพรรคหรือ “แตกหัก” กับศูนย์กลางอำนาจ ขณะที่การไม่มีชื่อ จาตุรนต์ ฉายแสง นั้นถูกอธิบายง่าย ๆ ว่า เพราะมีบุคลิกที่ยากจะควบคุม ส่วนในกรณีของ พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ ที่เดินเข้าพรรคเพื่อไทยไปไม่กี่วันก่อนหน้านี้นั้น ปล่อยให้สร้างการยอมรับจาก ส.ส. เสียก่อน เพราะจะเร็วหรือจะช้าอย่างไรก็ต้องเข้ามามีตำแหน่งในรัฐบาลนี้ “วันยังค่ำ”

แต่ที่ต้องดูคือ การไม่ “ปรับเปลี่ยน” ผู้ที่ถูกคาดหมายว่า จะถูกฝ่ายค้าน ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจออกไป แต่ใช้วิธีการ “เสริมคนใหม่” ให้เข้าไปช่วย น่าจะสะท้อนว่า การปรับ ครม. ครั้งนี้ไม่ใช่การปรับ “หนี” ศึกซักฟอก แต่เป็นการปรับเพื่อ “รับศึก” ซะมากกว่าและเผลอ ๆ พร้อมที่จะตลบหลังฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์เข้าให้ซะด้วย ดูในกรณีของ ปลอดประสพ สุรัสวดี ที่แม้จะถูกโยกไปนั่งรองนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังรับผิดชอบดูแลการแก้ไขปัญหาน้ำอยู่ดีไม่หนีหรือหลบไปไหน หรือ บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะโดนฝ่ายค้าน “จัดหนัก” ก็ยังอยู่ทำหน้าที่อยู่แถมยังมีการส่ง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไปเป็น รมช.พาณิชย์ เพื่อหวังจะใช้พรสวรรค์ด้านการสื่อสารของณัฐวุฒิ สู้กับพรรคฝ่ายค้าน หรือแม้แต่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง ที่ถูกถอดจากรองนายกฯ แต่ก็ยังทำหน้าที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจอยู่ต่อไป ทั้ง ๆ ที่มีกรณี “โกหกสีขาว” ที่เป็นข่าวคึกโครมก่อนหน้านี้

จะมีให้ “สงสัย” ก็ตรงที่ว่าทำไมถึงเพิ่มตำแหน่งรองนายกฯ ให้กับ นายสุรพงศ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศอีกตำแหน่งหนึ่งเท่านั้นเอง หรือจะเป็นเพราะต้องการให้บทบาทด้านการต่างประเทศแก่นายสุรพงศ์อย่างเต็มตัว หรือต้องการจะมีรองนายกฯ ที่เป็น ส.ส. นอกเหนือจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

การปรับ ครม. ที่เกิดขึ้นนอกจากจะสามารถ “กลบข่าว” ความเคลื่อนไหวการชุมนุมของกลุ่มคนที่ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลตลอด 1 ปีได้อย่างชะงัด ยังเป็นการทำลาย “จังหวะ” ทางการเมืองพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างน่าสนใจ เพราะธรรมชาติของการไม่ไว้วางใจ จะมีทั้ง “เป้าหลอก” และ “เป้าจริง” ซึ่งอาจจะเป็นกระทรวงพลังงาน กับ กระทรวงคมนาคม ที่เพิ่งมีการปรับเปลี่ยนก็เป็นได้

ในเดือนพฤศจิกายน เดือนสุดท้ายของสมัยประชุม มี 3 เวทีใหญ่ทางการเมืองที่รอความชัดเจนอยู่

เวทีแรก เวทีซักฟอกรัฐบาล ซึ่ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุออกมาชัดเจนแล้วว่า ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ไม่วันที่ 30 ก็วันที่ 31 ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แว่ว ๆ ว่า จะมีทั้งอภิปรายและยื่นถอดถอนในกรณี “ทุจริต” ด้วย อาทิ น.ส.ยิ่งลักษณ์, บุญทรง, ณัฐวุฒิ และ ปลอดประสพ

เบื้องต้นได้มีการประสานงานกันไว้แล้วว่า การอภิปรายจะมีขึ้นในวันที่ 26-27 พ.ย. จากนั้นจะลงมติกันในวันที่ 28 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมพอดี

เวทีต่อมา เวทีแถลงผลงานรัฐบาล 1 ปี ซึ่งล่าช้ามานานกว่า 2 เดือน คำถามคือในเมื่อรัฐบาลบอกว่ามีผลงานมากมายทำไมถึงรีบใช้จังหวะตรงนี้แถลงไปให้เป็นที่เรียบร้อย หรือจะไว้แถลงในช่วงที่ใกล้เคียงกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งจะทำให้เกิด “ภาพซ้อน” ขึ้นได้และน่าจะทำให้ “น้ำหนัก” ในเวทีอภิปรายลดน้อยลง

เวทีสุดท้าย คือ การขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติของ ส.ว. ที่วันนี้ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า จะมีขึ้นหรือไม่ หรือมีขึ้นแต่จะมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาร่วมชี้แจงหรือไม่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก

เพราะตามข่าวที่ถูกเปิดเผยออกมาระบุว่า ในเดือน พ.ย. นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมีภารกิจเดินทางเยือนต่างประเทศ เกือบตลอดทั้งเดือน อาทิ ระหว่างวันที่ 5-6 พ.ย. จะไปร่วมประชุมประเทศในกลุ่มประเทศเอเชีย-ยุโรป หรืออาเซม จากนั้นระหว่างวันที่ 8-9 พ.ย. เดินทางไปร่วมประชุมประชาธิปไตย ที่เกาะบาหลี ระหว่างวันที่ 12-14 พ.ย. จะเดินทางไปเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 17-20 พ.ย. จะไปร่วมประชุมอาเซียนซัมมิท ที่ประเทศกัมพูชา

เวลาในฝ่ายบริหารก็มีจำกัด เวลาที่จะให้ฝ่ายนิติบัญญัติก็ดูจะติดขัดตามไปด้วย

ทั้งหมดไม่ใช่ “ความบังเอิญ” แต่เป็นการช่วงชิงจังหวะกันทางการเมือง เพราะเวทีไม่ไว้วางใจครั้งนี้หากผ่านพ้นไปฝ่ายค้านต้องรอไปอีกเกือบจะ 1 ปีกว่าจะได้มาทำหน้าที่ใหม่อีกครั้ง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลนั้นแม้จะมองข้ามไปล่วงหน้าแล้วว่า หลังจากนี้จะลงพื้นที่จัด “สานเสวนา” แก้ไขรัฐบาลผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง แต่ก็ “ประมาท” ฝ่ายค้านไม่ได้เช่นกัน

การแพ้หรือชนะในสภาจนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงคงไม่น่าที่จะเกิดขึ้น แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นการให้ข้อมูลอีกด้านที่เรียกว่าการตรวจสอบ

หากมีคำถามกับการทำงานของรัฐบาลขึ้นมามากเท่าไหร่ก็ถือเป็นความสำเร็จของฝ่ายค้านมากเท่านั้น

ข้อห่วงกังวลที่ว่า ฝ่ายรัฐบาลจะใช้เวทีนี้ซักฟอกฝ่ายค้านหรือหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นอดีตผู้นำรัฐบาลนั้น ไม่น่าจะสร้างความกังวลให้เกิดขึ้น เพราะมีข่าวว่า จะมีการ “เช็กบิล” แกนนำฝ่ายค้านในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

ในสภาพของการเมืองในขณะนี้ ต้องถือว่า รัฐบาล “คุมเกม” ไว้ได้ทั้งหมด แต่หากดูอย่างคนที่เข้าใจการเมืองแล้วจะพบว่า การเมืองนั้นมี “ปัจจัย” เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย

การเมือง “กระดาน” นี้ เป้าหมายจึงอยู่ที่ “ขุน”

ศึกซักฟอกครั้งนี้ซึ่งเป็น ’ครั้งแรก“ ในชีวิตทางการเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะมองข้ามไปไม่ได้เด็ดขาด.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์