ปู-มาร์ค-บิ๊กตู่ ส่งสัญญาณใหม่ แก้ปัญหาไฟใต้!

ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เมื่อกองกำลังไม่ทราบฝ่ายบุกเข้าขโมยปืนเอ็ม 16 ในกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส

แล้วหลังจากนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงก็อุบัติขึ้นทุกวัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร ครู ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนเป็นร้อยเป็นพัน

เหตุการณ์ระเบิดและเสียงปืนดังขึ้นไม่เว้นวัน

เจ้าหน้าที่ทหารถูกสับเปลี่ยนลงพื้นที่นับหมื่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ถูกรื้อฟื้น ขณะที่การปฏิบัติการทางยุทธวิธี มีทหารเป็นหลักได้เติบโตในพื้นที่ขึ้นเรื่อยๆ

แต่ดูเหมือนว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส ยังไม่พ้นอันตราย

ปู-มาร์ค-บิ๊กตู่ ส่งสัญญาณใหม่ แก้ปัญหาไฟใต้!

ขณะที่ข่าวคราวฝ่ายบ้านเมืองก็ขาดความสามัคคี

ปัญหาความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นประเด็นการเมืองที่พรรคการเมืองนำไปใช้หาเสียง

ถล่มกัน!

ส่วนฝ่ายปฏิบัติการที่มีเจ้าหน้าที่ลงไปปฏิบัติในพื้นที่ก็ขาดการบูรณาการร่วม

เช่นเดียวกับแนวทางการปฏิบัติงานในพื้นที่ก็ขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายที่เห็นควรใช้กำลังเข้าตรึงพื้นที่กับฝ่ายที่เห็นควรลดกำลังในพื้นที่ลง

ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นมาหลายปี กระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ได้ส่งสัญญาณใหม่

เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับหน้าที่ "นั่งหัวโต๊ะ" หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนนายอภิสิทธิ์ ที่เดิมเคยปฏิเสธเข้าร่วม หากการหารือมีเพียง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม

เพราะพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ได้รับผิดชอบในเรื่องนี้

แต่เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับหน้าที่ประธาน นายอภิสิทธิ์ ก็ตอบตกลง โดยกำหนดการพูดคุยกันวันที่ 18 กันยายนนี้

ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ก็ส่งสัญญาณใหม่ออกมาเช่นกัน

ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้ปรากฏแกนนำและเครือข่ายอาร์เคเคที่มีหมายจับในคดีก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จำนวน 93 คนนำโดย นายแวอาลี คอปเตอร์ วาจิ หรือ "เจ๊ะอาลี" ประกาศเข้าร่วมโครงการของกองทัพภาคที่ 4

ชื่อโครงการ "ประสานใจเพื่อสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้"

การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ มี พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานโครงการ

สำหรับ นายแวอาลี คอปเตอร์ เคยถูกตั้งรางวัลนำจับไว้ที่ 1 ล้านบาทเป็นแกนนำที่ร่วมวางแผนและสั่งการให้แกนนำระดับปฏิบัติการยกกำลังบุกปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547

การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ พล.ท.อุดมชัยบอกว่า "กลุ่มที่มาร่วมพูดคุย มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ การพูดคุยไม่มีการต่อรอง แต่มีการเจรจาสร้างความเข้าใจถึงแนวทางที่ผ่านมาว่าเป็นการกระทำไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อทำร้ายซึ่งกันและกัน เนื่องจากทุกคนเป็นคนไทยเหมือนกัน

"ต่อไปหากพื้นที่มีความสงบสุข อาจมีการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผู้ที่ถูกออกหมายจับจะถูกยกเลิกไปด้วย"

ทั้งนี้ นายมุคตาร์ ซีกะจิ กลุ่มองค์กรความร่วมมือเพื่อวิสัยทัศน์ใหม่มลายูปัตตานี (Badan Penyeelarasan Wawasan Baru Melayu Patani) บอกว่า การเข้ามาพูดคุยกับคณะแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อแสดงเจตจำนงของคนที่มีความเห็นแตกต่างกับรัฐ เพื่อให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสงบสุขและมีความสันติ

ที่ผ่านมาทุกคนใช้ชีวิตลำบาก เพราะมีหมายจับ ไม่กล้าที่จะออกมาใช้ชีวิตตามปกติ เนื่องจากไม่มั่นใจในแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล

พร้อมกันนี้ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.ท.อุดมชัย จำแนกเนื้่อหามี 3 ข้อแสดงถึงเหตุแห่งการต้องยุติ และอีก 3 ข้อเป็นข้อเสนอเบื้องต้นต่อรัฐ

3 ข้อแรก คือ 1.เมื่อเข็มมุ่งทางยุทธศาสตร์การต่อสู้นำหน้ามวลชนและยาวไกลเกินไป 2.การชี้นำแนวทางขององค์กรนำไม่สามารถให้คำอธิบายได้อย่างชัดเจนในทางยุทธวิธี เพื่อให้บรรลุทางยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ และ 3.เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง

รัฐกำหนดนโยบายที่สร้างสรรค์มากขึ้น พวกเราจึงต้องกำหนดแนวทางใหม่เช่นกัน

3 ข้อหลัง คือ 1.รัฐมีมาตรการดำเนินการต่อผู้ที่ยุติบทบาทความรุนแรงต่อรัฐ โดยเฉพาะผู้ที่มีหมายจับอย่างไร 2.รัฐจะจัดการความขัดแย้งให้เป็นรูปธรรมอย่างไร เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ และ 3.รัฐมีหลักประกันเช่นไรในการกำหนดนโยบาย เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม

การปรากฏตัวของแกนนำกลุ่มอาร์เคเคครั้งนี้ ได้รับการยืนยันจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ว่า ได้ตรวจสอบแล้ว อาร์เคเคทั้ง 80 คนมีรายชื่อในทำเนียบกำลังรบผู้ก่อความไม่สงบที่กองทัพได้จัดทำขึ้น ทุกอย่างต้องมาพิสูจน์กันว่าใช่หรือไม่ใช่ เพื่อแสดงความจริงใจต่อกัน อย่าไปกังวล แต่ถ้าไม่ใช่ กลุ่มคนเหล่านี้จะมาให้จับทำไม

"ทั้ง 80 คนมั่นใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่แสดงออกถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่เราใช้ทุกมิติในการแก้ไขปัญหา และอีกประการคือ เขาเห็นความโหดร้ายของฝ่ายผู้ก่อเหตุ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง เขาจึงพยายามออกมามอบตัว"

ขณะที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ
งานแก้ปัญหาไฟใต้ ระบุว่า กำลังมีการติดต่อเข้าเจรจากับไทยอีก 1,000 คน

ทั้งหมดเป็นท่าทีล่าสุดของฝ่ายการเมืองและฝ่ายปฏิบัติการ

เป็นท่าทีที่ส่งสัญญาณใหม่ในการแก้ไขปัญหาไฟใต้

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์