ปุจฉา ทหารแหยง! รัฐประหาร ไฉน?มีคนโหยหา


ไม่ว่าถึงวันนี้ หรือไม่ว่าที่สุดแล้ว “ทหาร” จะทำ “รัฐประหาร” ตามที่มีกลุ่มคนทำให้เกิดเงื่อนไข ตามที่ลือกันแล้วลือกันอีก หรือไม่-อย่างไรก็ตาม เมื่อมองย้อนไปดูในช่วงที่ผ่านมาในระยะหลัง ๆ ก็ต้องถือว่า “ประชาธิปไตย VS รัฐประหาร” ในไทย เป็นประวัติศาสตร์การ เมืองไทยอีกหน้า...ที่ “กลับตาลปัตร”

พลิกด้านไปตรงกันข้ามจากที่เคยเกิดมาตลอดในอดีต

พลิกเป็นยุค “ทหารแหยงรัฐประหาร” ทั้งที่ยุกันลั่น !!

“...การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้ เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทย อยู่บ่อยครั้ง แม้หลายภาคส่วนสังคมจะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้ ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...”

...นี่เป็นเนื้อความส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของคณะรัฐประหารที่ออก หน้านำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในการทำรัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 19 ก.ย. 2549 ซึ่งก็มิใช่คำแถลง หรือที่บางคนอาจเรียกว่า “คำอ้าง” ที่แปลกใหม่ไปจากคณะรัฐประหารในอดีตก่อนหน้าสักเท่าไหร่

ที่แปลกใหม่คือคำอ้างเมื่อเร็ว ๆ นี้ของขุนทหารปัจจุบัน

กับการใช้สื่อเพื่อ “กล่าวอ้างถึงเหตุที่ไม่ทำรัฐประหาร”


อย่างเช่นที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวผ่านรายการวิทยุรายการหนึ่งเมื่อ 13 ก.ย. 2551 เนื้อหาตอนหนึ่งว่า... “...หนึ่งคือ ถ้าทำแล้วจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ และเมื่อคิดทีละประเด็น ไม่สามารถแก้ไข ปัญหาได้เลย สองคือ เมื่อทำแล้วผลกระทบที่ตามมา ไม่ว่าจากภายใน ทั้งกลุ่ม นักวิชาการ อาจารย์ กลุ่มไม่เอาการปฏิวัติ และกลุ่มต่อต้านเดิมที่มีอยู่ รวมถึง ผลกระทบระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบมากและสูงกว่าที่จะรับได้ รวมถึงอาจจะไม่ได้เรียกว่าแก้ปัญหา และไม่น่าจะทำได้ เพราะมีผลกระทบถึงสองอย่าง จึงไม่น่าจะใช้วิธีนี้ รวมถึงได้มีการประเมินบทเรียนจากการปฏิวัติครั้งที่ผ่านมาด้วย...”

...นี่เป็นคำกล่าวอ้างชัดเจนถึงเหตุที่ทหารไม่ทำรัฐประหารรัฐบาล แม้สถานการณ์ แม้จะมีกลุ่มคนสร้างสารพัดเงื่อนไข เปิดช่องกว้างยิ่งกว่ายุค 19 ก.ย. 2549 เยอะมาก จนเทียบกันไม่ติด ?!?

และการที่ผู้นำเหล่าทัพ-ผู้นำตำรวจพากันแต่งกายเต็มเครื่องไปให้สัมภาษณ์ทีวีช่องหนึ่งเมื่อ 16 ต.ค. 2551 แล้ว ผบ.ทบ. กล่าวหลายช่วง เช่น... “...ไม่มีในขณะนี้ ซึ่งทาง ผบ.เหล่าทัพ ก็ไม่เห็นด้วย และสังคมไม่เห็นด้วย...” “...ผมติดต่อสื่อหลายส่วน ซึ่งสื่อที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่บอกว่าไม่เห็นด้วย นักวิชา การก็ไม่เห็นด้วย ทำแล้วประเทศชาติเสียหายไม่สามารถแก้ปัญหาได้...” ...นี่ก็ยิ่งตอกย้ำถึงการที่ “ทหารไม่อยากทำรัฐประหาร”

แม้ว่าท่าทีผู้นำเหล่าทัพ บางคำพูดของ ผบ.ทบ. ในตอนนั้น จะ ถูกมองว่าเป็นการ “ปฏิวัติหน้าจอทีวี” แม้ว่าจะมีการพูดที่อาจมองได้ว่าเป็นการ “ออกตัวเผื่อไว้” ว่า... “...ถ้าเกิดนองเลือดหรือกลียุคก็อาจจะมี แต่คงไม่ได้ปฏิวัติ คงจะเป็นการหยุดการใช้อำนาจ...” “....แม้จะเกิดเหตุการณ์นองเลือด หรือกลียุค ก็จะมี แต่คงไม่ใช่การปฏิวัติ แต่ก็อาจจะเป็นการหยุดการใช้อำนาจ แต่ไม่น่าจะเรียกว่าปฏิวัติ...” ก็ตาม

ถามว่าปรากฏการณ์กลับตาลปัตรเกิดเพราะอะไร ?? รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักรัฐศาสตร์ วิเคราะห์ โดยเริ่มจากบอกว่า...ประเทศไทยเคยมี “ปฏิวัติ” ครั้งเดียว คือเมื่อปี 2475 ปฏิวัติหมายถึงการเปลี่ยนแปลงจากระบอบหนึ่งสู่ระบอบหนึ่ง การใช้อำนาจทหารเข้ามายุ่งกับการเมืองจึงควรเรียก
“รัฐประหาร”

ส่วนสาเหตุที่แนวคิดเรื่องนี้เกิดกลับหัวกลับหางต่างจากอดีต แม้ คนไทยบางกลุ่มมองว่าทหารคือม้าขาวที่จะเข้ามาจัดการปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น เนื่องจากทหารมีพลัง มีอำนาจ มีอาวุธ แต่ทหารเองก็ยังรู้สึกละล้าละลัง ก็เนื่องจากยังเข็ดขยาดกับผลพวงภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 2549 ซึ่งหลัง ทำแล้วเกิดผลกระทบมาก และเนื่องจากรัฐประหารกระทำได้ยากขึ้นกว่าครั้งอดีต เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนไป เนื่องจากสังคมโลกที่ไทยเองต้องอาศัยพึ่งพาติดต่อกับประเทศภายนอก ถ้าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย จะคบหาค้าขายก็ลำบาก

“การณ์ก็เลยกลับด้านไปจากยุคก่อน ที่ทหารจ้องจะรัฐประหาร ขณะที่ประชาชนต้าน มายุคนี้ ทหารกลับเป็นฝ่ายวิ่งหนีการทำรัฐประหารเสียเอง” ...รศ.อัษฎางค์กล่าว

ทหารเองก็รู้ว่า “รัฐประหารเสียหายต่อประเทศชาติ”

แต่กลับมีกลุ่มคน “ขุดบ่อล่อรัฐประหาร” กันล้งเล้ง

คนไทยไม่เลือกสีก็ลองคิดดู...ว่าทำไม ? เพื่ออะไร ?

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์