ปีติพงศ์ ผุดไอเดีย จ้างให้เลิกทำเกษตร

ปีติพงศ์ ผุดไอเดีย จ้างให้เลิกทำเกษตร


นายกฯสั่งตั้งคณะทำงานร่วม กษ.-พณ. วางยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างการเกษตรใหม่ทั้งระบบ "ปีติพงศ์" ลั่นทำสำเร็จ ใน 3-5 ปี ชาวนาไม่เป็นหนี้ ไม่ต้องพึ่งประชานิยมอีกต่อไป แย้มบางพื้นที่อาจจ้างให้เลิกทำเกษตรตลอดชีวิต

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี สั่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อวางยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาภาคเกษตรครบวงจร และต้องเร่งผลักดันให้เกิดในรัฐบาลนี้ โดยจะนำเสนอ ครม. ภายในสองสัปดาห์นี้ ซึ่งต้องดูว่าปริมาณผลผลิตข้าว และยาง ที่แท้จริงในแต่ละปีมีปริมาณเท่าไหร่ รวมทั้งจำนวนเกษตรกรด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามีตัวเลขแฝงจำนวนมาก ทั้งพื้นที่เพาะปลูกและจำนวนครัวเรือนของเกษตรกรจากโครงการประกันราคา และโครงการรับจำนำ

"เราต้องมีฐานข้อมูลเพาะปลูก ปริมาณผลผลิตที่แน่นอนในช่วงสามปี เพื่อนำมาปรับโครงสร้างภาคเกษตรใหม่ทั้งระบบ พร้อมกับจัดการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินไปด้วย โดยเฉพาะที่รุกพื้นที่ป่าอยู่ต้องเอาออก และที่สำคัญต้องลดพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจในสัดส่วนที่มากขึ้น และหันไปเพิ่มคุณภาพการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าเกษตรกรทุกคนประสบความเดือดร้อนจากปัญหาผลผลิตการเกษตร ทุกตัวล้นตลาดมาตลอด ซึ่งผมเห็นปัญหานี้มานานตั้งแต่ทำงานกระทรวงนี้มา เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้มากขึ้น และผมไม่เลือกนโยบายให้เกษตรกรเป็นหนี้สินอีก  ที่เป็นปัญหาหนักสุดขณะนี้คือข้าวกับยาง ซึ่งยุทธศาสตร์นี้คาดว่าจะทำสำเร็จในระยะ 3-5 ปี จะเห็นผลชัดเจนว่าเกษตรกรสามารถอยู่ในอาชีพต่อไปได้โดยไม่พึ่งประชานิยม"นายปีติพงศ์ กล่าว 

รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ได้วางกรอบเบื้องต้นในการให้งบช่วยเหลือเป็น 3 ส่วนคือ 1.ช่วยเหลือในช่วงวิฤกติภัยธรรมชาติเช่นภัยแล้ง น้ำท่วม 2.งบดูแลในชีวิตประจำวัน เช่นส่งเสริมอาชีพอื่น 3.ช่วยเหลือปรับโครงสร้างการผลิตปรับเปลี่ยนไปผลิตพืชอื่น หรือ อาจให้เงินเพื่อเลิกอาชีพไปเลย เพราะทำไปก็เป็นหนี้ และรัฐไม่อยากให้เสี่ยงอีก อย่างไรก็ตามการให้เกษตรกรเลิกอาชีพ ในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเกษตรกรด้วย และหากยังอยู่ในอาชีพต่อไปได้ ก็ต้องปรับปรุงคุณภาพการผลิตบางส่วน โดยใช้แนวทฤษฎีเกษตรผสมผสาน หรือปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่การแปรรูปด้วย

นายปีติพงศ์ กล่าวต่อว่า ในอนาคตเตรียมนำแผนปรับโครงสร้างการเกษตรของสหภาพยุโรปหรืออียู มาปรับใช้กับภาคเกษตรของไทย โดยอียู ได้กำหนดเป็นนโยบายและมีกฎหมายภายในรองรับให้รัฐบาลใช้งบประมาณสนับสนุนภาคเกษตรเป็นเงินจำนวนมหาศาลในแต่ละปี โดยมีสัดส่วนจากจีดีพีภาคเกษตร มาเป็นเกณฑ์อุดหนุนเกษตรกรของเขา หากเราสามารถกำหนดมูลค่าจีดีพีภาคเกษตรทุกชนิดในแต่ละปี จะได้วงเงินช่วยเหลือที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมที่รัฐบาลไหนมาต้องทำต่อเนื่อง


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์