ปิดตำนาน...34 ปีพรรคปลาไหล

จนถึงวินาทีสุดท้ายก่อนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรคชาติไทย "ป๋าเติ้ง-บรรหาร ศิลปอาชา" หัวเรือใหญ่ของพรรคชาติไทย ยังเชื่อมั่นว่าสถาบันการเมืองนี้จะอยู่ยั้งยืนยงไม่มีวันล่มสลาย

ถึงขั้นยอมขอความกรุณาต่อศาลด้วยการก้มกราบพร้อมน้ำตาคลอเบ้า

"น้ำตาป๋าเติ้ง" ก็ไม่อาจช่วยหยุดยั้งการพิพากษายุบพรรคได้ คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นการปิดตำนานพรรคปลาไหลที่มีมากว่า 34 ปี อย่างไม่อาจกู้คืน โดยเพิ่งจะฉลองครบรอบการก่อตั้งไปเมื่อวันที่ 19 พฤศิจกายนที่ผ่านมา

นอกจากชื่อ "พรรคชาติไทย" จะถูกเว้นวรรคไม่ให้ใครใช้ 5 ปีแล้ว นักการเมืองตระกูล "ศิลปอาชา" ก็ยังส่อแววสูญพันธุ์จากเวทีการเมืองไทยไปด้วย เพราะทั้ง "คุณพ่อบรรหาร-ลูกนา-ลูกท็อป (น.ส.กัญจนาและ นายวราวุธ)" ล้วนเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทย จึงต้องถูกเว้นวรรคการเมืองไปด้วย

หากกจะมี "สายตรง" ของบ้านจรัญสนิทวงศื 55 กลับมาผงาดในสภาได้อีกก็คงต้องส่ง "คุณหญิงแจ่มใส" หรือ "ปาริชาติ" ลูกสาวคนกลางลงมาเล่นการเมืองคั่นเวลาไว้ชั่วคราว !!

"พรรคชาติไทย" ไม่ใช่สมบัติของตระกูลศิลปอาชา ดังที่ "บรรหาร" พร่ำบอกมาตลอดการหาเสียงหลายสมัยที่ผ่านมา เพราะเมื่อวันที่ 19 พฤศิจกายน 2517 "พรรคชาติไทย" ก่อตั้งขึ้นมาโดยมี 3 ทหารเสือจาก "ซอยราชครู"ประกอบด้วย พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร พล.ต.ศิริ สิริโยธิน และ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรค และชู "พล.ต.ประมาณ" นั่งหัวหน้าพรรคคนแรก

จุดมุ่งหมายหลักก็คือสถาปนาพรรคนี้ขึ้นมาเพื่อคานอำนาจกลุ่ม "กลุ่มสี่เสา" ที่มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้นำกลุ่ม

นับจากวันแรกที่ก่อตั้งพรรคจนถึงวันที่ศาลถูกยุบมีหัวหน้าพรรค 5 คน "บรรหาร" เป็นคนสุดท้ายที่นั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค

เมื่อย้อนประวัติศาสตร์ทางการเมืองของพรรคชาติไทยแล้ว ถือเป็นพรรคที่ "โตเร็ว" และโตแบบก้าวกระโดด โดยเห็นได้จากร่วมส่งผู้สมัคร ส.ส.ครั้งแรกเมื่อปี 2518 จนถึงวันนี้พรรคชาติไทยลงสนามเลือกตั้งแล้ว 13 ครั้ง ได้เข้าร่วมจัดตั้งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 10 ครั้ง ในขณะที่ร่วมเป็นฝ่ายค้านเพียง 4 ครั้ง (ระหว่างปี 2539-2540 มีการจัดตั้งรัฐบาล 2 ครั้งทำให้พรรคชาติไทยเปลี่ยนจากฝ่ายค้านเป็นรัฐบาล) และแต่ละสมัยที่ร่วมรัฐบาล คนของพรรคชาติไทยมักได้นั่งกระทรวงสำคัญๆ เสมอ

"พรรคปลาไหล" กลายเป็นสมญานามเรียกพรรคชาติไทย และถือเป็นชื่อที่อธิบายถึงธรรมชาติของพรรคการเมืองนี้ได้เห็นภาพชัดเจนที่สุด โดยในปี 2529 เกิดความขัดแย้งของแกนนำพรรคขึ้น โดยความรุนแรงของความขัดแย้งดังกล่าวถึงขั้นมีการประกาศ "เปลี่ยนม้ากลางศึก" เพราะปลด พล.ต.ประมาณออกจากหัวหน้า แล้วใส่ชื่อ พล.ต.ชาติชาย เป็นหัวหน้าพรรค เพื่อเป็นการ "อ่อนข้อ" ทางการเมือง ก่อนที่จะกระโดดเข้าร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์"

นับจากนั้นมา "ปลาไหล" จึงเป็นชื่อเล่นใหม่ที่เรียกขาน ในยุคที่วัยรุ่นกำลังฮิตเล่นสเก๊ต ก็ยังเอามาเรียกพรรคชาติไทยในเรื่องของการวางเกมการเมืองที่พลิ้วหาใครจับยากว่าเป็น "ปลาไหลใส่สเก๊ต"

วันที่ 2 ธันวาคม 2551 คือวันที่ศาลรัฐฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่มีลูกล่อลูกชนทางการเมืองที่แพรวพราวคลาสสิคที่สุดพรรคหนึ่ง แต่ "บรรหาร ศิลปอาชา" ผู้เฒ่าการเมืองก็ยังประกาศกร้าวว่าจะปลูกสร้างสถาบันการเมืองตามอุดมการณ์เดิมนี้ขึ้นมาอีก เพื่อให้นอมินีรุ่นใหม่ได้ดำรงความเป็นพรรคปลาไหลต่อไป

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์