ปลัดยธ.แนะไอเดีย ออกหวย เดือนละงวดเดียว

"ยุติการขายหวยบนดินท่ามกลางเสียงร้องจากผู้ค้าหวย"


หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความการจำหน่ายสลากเลขท้าย 2 ตัวและ 3 ตัว หรือหวยบนดิน ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดำเนินการมา 3 ปีเศษ ว่า ขัดต่อกฎหมาย ส่งผลให้กระทรวงการคลังมีคำสั่งยุติการขายหวยบนดิน 2 งวด คืองวดวันที่ 1 และ 15 ธ.ค. 2549 เพื่อรอการแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ ให้สอดคล้องกับการจำหน่ายหวยบนดิน ท่ามกลางเสียงร้องเรียนจากคนขายหวยที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเช้าวันที่ 20 พ.ย. ตัวแทน จำหน่ายหวยบนดินและคนเดินโพยจากหลายเขตใน กทม. อาทิ เขตสะพานใหม่ ลาดพร้าว จตุจักร บางซื่อ ฯลฯ ราว 30 คน เดินทางมาที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถนนราชดำเนิน ยื่นหนังสือถึงนายวันชัย สุระกุล รักษาการ ผอ.สำนักงานสลากฯ ผ่านไปยังนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลาก ขอให้เร่งรัดการแก้ พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ ให้หวยบนดินสามารถจำหน่ายได้ทันในงวดประจำวันที่ 30 ธ.ค.นี้

"ขอคำตอบจาก ครม."


ทั้งนี้ นายธวัช สถิตวิทยา ตัวแทนจำหน่ายหวยบนดิน ย่านสะพานใหม่ กล่าวว่า คำสั่งงดหวยบนดิน ทำให้คนเดินโพยจำนวนมากเดือดร้อนจากการขาดรายได้ ไปเลี้ยงครอบครัว ขณะที่ส่วนตัวสูญเงินไปหลายแสนบาท การเดินทางมารวมตัวกันวันนี้ เพื่อหวังจะขอคำยืนยันที่ชัดเจนจากผู้บริหารสำนักงานสลากฯ และกระทรวงการคลัง ว่า ในงวดวันที่ 30 ธ.ค.นี้ จะขายหวยบนดินได้ ตามที่ประกาศไว้ เพราะเกรงว่าการนำเสนอกฎหมายเข้าสู่ ครม. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อาจจะสะดุดหรือถูกตีกลับ ไม่สามารถทำได้ตามที่กำหนด

จะให้เวลารัฐบาลรอฟังคำตอบในการประชุม ครม. วันที่ 21 พ.ย. และในวันที่ 17 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันที่ตัวแทนจำหน่ายจะต้องรับหวยบนดินไปขายในงวดวันที่ 30 ธ.ค. จะรอคำตอบว่าจะสามารถขายหวยบนดินได้อีกหรือไม่ หากไม่สามารถขายต่อได้ คาดว่าจะมีการรวมตัวกันทั่วประเทศ และเกิดความวุ่นวายแน่ อย่างไรก็ตามช่วงนี้ทั้งคนซื้อ ตลอดจนคนเดินโพย คงจะหันกลับไปหาหวยใต้ดิน และเมื่อเริ่มขายบนดินใหม่จะทำให้ยอดขายลดลง ทั้งตัวแทนจำหน่ายและคนเดินโพยคงต้องแบกรับภาระของการขาดทุน จึงอยากฝากถึงรัฐบาลชุดนี้ว่าตกลงจะก้าวหน้า หรือถอยหลังกันแน่ และอยากทราบว่าสลากลอตเตอรี่การกุศลก็อยู่ใน พ.ร.บ.การพนันเช่นกันทำไมไม่มีการตีความว่าถูกกฎหมายเหมือนหวยบนดินบ้าง ตัวแทนขายหวยบนดินกล่าว

"กำลังเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด"


ด้านนายวันชัย สุระกุล รักษาการ ผอ.สำนักงานสลากฯ กล่าวว่า จะนำเสนอข้อร้องเรียนถึงประธานคณะกรรมการสลาก ในฐานะผู้บังคับบัญชา ส่วนตัวจะพยายามให้หวยบนดินออกมาขายเร็วโดยเร็วที่สุด แต่ไม่สามารถรับปากได้ว่าจะเข้า ครม.หรือสภาฯได้เร็วหรือไม่ เพราะตนเป็นเพียงผู้ปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินการอยู่

ส่วนผลกระทบหลังจากหยุดการขายหวยบนดิน คือราคาลอตเตอรี่แพงขึ้นนั้น นายวันชัยกล่าวว่า เตรียม มาตรการแก้ไขไว้แล้ว คือจะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบ และขอความร่วมมือจากผู้ซื้อ หากพบว่าขายเกินราคาขอให้แจ้งมายังสำนักงานสลากฯ จะประสานกับตำรวจไปจับกุมดำเนินคดีพร้อมตัดโควตาลอตเตอรี่ของคนขายด้วย นอกจากนี้ ยังเตรียมทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศและตำรวจ เพื่อกำชับในการตรวจตราผู้ขายลอตเตอรี่เกินราคา รวมถึงปัญหาการกลับมาระบาดของหวยใต้ดินที่ถือเป็นหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งตำรวจรวมทั้งคนที่แจ้งเบาะแสจะได้รับรางวัลนำจับจากสำนักงานสลากฯ หลังการดำเนินคดีสิ้นสุดทั้งสองกรณี

"เพิ่มลอตเตอรี่อีก 8 ล้านฉบับ"


รักษาการ ผอ.สำนักงานสลากฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มีแนวคิดจะเสนอต่อบอร์ดกองสลากเพื่อขอให้เพิ่มจำนวนลอตเตอรี่ในงวดวันที่ 1 ธ.ค.นี้ อีก 8 ล้านฉบับ เพื่อให้พอต่อความต้องการของผู้ซื้อในช่วงที่ไม่มีหวยบนดิน แต่จะเพิ่มหรือไม่ขึ้นอยู่กับบอร์ดเป็นผู้ตัดสินใจ

ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงบ่ายถึงกรณี กระทรวงการคลังสั่งระงับการจำหน่ายหวยบนดิน 2 งวด เพื่อรอแก้ไข พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ให้ถูกต้อง ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด คงจะรอฟังคำชี้แจงของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ในวันที่ 21 พ.ย.นี้ ในที่ประชุม ครม. ก่อน

"เหลือ 15,000 ล้านบาทเข้าเป็นรายได้รัฐ"


ส่วนที่กระทรวงยุติธรรม นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาหวยบนดิน หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่าผิดกฎหมายว่า เรื่องเงินที่เหลืออยู่ 15,000 ล้านบาท ต้องนำเข้าเป็น รายได้แผ่นดินให้หมด และที่เหลือให้ใช้บริหารสำนักงานสลากฯได้เท่าที่จำเป็น ส่วนเงินรายได้ที่จ่ายไม่ถูกต้อง ให้ ดำเนินการเรียกคืนจากผู้ที่รับผิดชอบจากการใช้จ่ายเงินผิดกฎหมายทั้งหมด รวมทั้งการจ่ายภาษีการพนันของรายได้ของหวยบนดิน ต้องเสียภาษีร้อยละ 10 ของรายได้ แบบสลากกินรวบ ไม่ใช่ร้อยละ 0.5 แบบสลากกินแบ่ง ดังนั้น ภาษีของรัฐที่ขาดหายไปนี้ ควรหาผู้รับผิดชอบ หากนำ กลับคืนมาได้ก็ต้องชดใช้ในทางแพ่ง นอกจากนี้ ในส่วนความผิดทางอาญา คนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้เสนอ ผู้อนุมัติ หรือผู้จัดการเรื่องหวยบนดินตั้งแต่ต้นทั้งหมด ถือว่ากระทำ ผิด และต้องรับโทษทางอาญาเป็นรายกระทง งวดละ 1 กระทง รวมทั้งสิ้น 80 กว่ากระทง

นายจรัญยังกล่าวถึงทางออกในการคงหวยบนดินไว้ด้วยว่า รัฐบาลต้องตั้งหลักให้มั่นคงว่า รัฐต้องการหา รายได้จากเงินการพนัน หรือต้องการสยบเจ้ามือหวยใต้ดิน ถ้ารัฐคิดว่าต้องการจะหารายได้จากการขายหวยบนดิน ทิศทางการบริหารจะต้องไปในทิศทางหนึ่ง แต่ถ้ารัฐแน่วแน่ว่าจะไม่หารายได้จากการมอมเมาประชาชน มาตรการที่ดีที่สุดในการที่จะหยุดยั้งเงินนอกระบบอย่างหวยใต้ดิน ขอเสนอว่า ให้ลดการออกสลากกินแบ่งจากปีละ 24 งวด ให้เหลือปีละ 12 งวด เท่ากับเดือนละ 1 งวด และให้เปลี่ยนวันออกสลากจากงวดวันที่ 1 เป็นวันที่ 20 หรือ 21 เนื่องจากช่วงนั้นคนไม่ค่อยจะมีเงินทุ่มซื้อ การเล่นหวยทั้งใต้ดินและบนดินจะน้อยลง แต่รัฐบาลจะขาดรายได้จากที่เคยได้เป็นกอบเป็นกำ ฉะนั้นรัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะเลือกทางไหน

"แนะถ้าทำหวยบนดินต่อให้จ่ายแพงกว่าหวยใต้ดิน"


ปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าวอีกว่า หากรัฐเลือกจะ ทำหวยบนดินต่อ ควรจะต้องเพิ่มเงินรางวัลให้หวยบนดินมากกว่าหวยใต้ดิน ถ้าหวยใต้ดินจ่ายบาทละ 70 หวยบนดิน ต้องจ่ายบาทละ 75 ถ้าหวยใต้ดินจ่ายบาทละ 500 ในกรณี 3 ตัว หวยบนดินต้องจ่ายบาทละ 600 สำหรับสามตัวโต๊ด หวยบนดินควรจ่าย 120 ถ้าหวยใต้ดินจ่ายให้ 100 ถ้าเป็น เช่นนี้แน่นอนว่า จำนวนคนที่ซื้อหวยใต้ดินจะน้อยลง รัฐ อาจจะต้องจ่ายเงินรางวัลให้มากหน่อย แทนที่จะกันการจ่ายเงินรางวัลไว้ร้อยละ 60 อาจเป็นร้อยละ 65 ซึ่งคงไม่ถึง กับขาดทุนแน่นอน นอกจากนี้ ให้ปรับแก้กฎหมายเพิ่มโทษ เจ้ามือหวย หรือนายบ่อนเถื่อน ไม่มีการรอโทษจำคุก และ เร่งออกกฎหมายฟอกเงินที่จะติดตามริบทรัพย์สินของเจ้ามือ หวยใต้ดิน นายบ่อนทั้งหลาย ต้องออกโดยเร็ว ซึ่งได้เสนอเรื่องนี้เข้าไปที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีกว่า 2 สัปดาห์ แล้ว คาดว่าน่าจะอยู่ในวาระการพิจารณาของคณะ ครม. ที่จะนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติต่อไป

อย่างไรก็ดี ในวันเดียวกัน นายสุวโรช พะลัง อดีต ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่ง น.ส.อรจิต สิงคาลวณิช รองเลขาธิการนายกฯ รับเรื่องไว้ โดยนายสุวโรชกล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วว่าผิด พ.ร.บ.สลาก กินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 รายได้จากการขายหวยบนดิน ก็ควรตกเป็นของแผ่นดิน และนำมาคืนให้กับสังคม

"ทดสอบระบบหวยออนไลน์"


นอก จากนั้นยังได้นำเอกสารที่ชี้ถึงเบาะแสของผู้กระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นนายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีต ผอ.กองสลาก นิติกรในสำนักงานกองสลาก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่เสนอเรื่องดังกล่าว และคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่มีส่วนร่วมในการอนุมัติมติ เมื่อมีการทำผิดกฎหมาย ผู้ที่ทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ และโดยส่วนตัวเห็นว่าเมื่อเป็นสิ่งผิดกฎหมายควรยกเลิกไปเลย เพราะรัฐบาลนี้ต้องการให้สังคมมีคุณธรรม และยึดเศรษฐกิจ พอเพียง จึงควรพิจารณาเรื่องนี้ นอกจากนี้ ตนจะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อ คตส.ด้วย

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานสลากฯได้ทดสอบระบบการจำหน่ายสลากด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือหวยออนไลน์ โดยมีตัวแทน จำหน่ายเข้าร่วมทดสอบ 2,860 ราย จากจำนวน 3,000 ราย ซึ่งมีการซ้อมการอั้นตัวเลขอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จะมีการซ้อมจ่ายรางวัลในวันที่ 22 พ.ย.นี้ ขณะเดียวกัน ผู้บริหารสำนักงานสลากฯ มีการหารือในการแก้ปัญหาในช่วงงดจำหน่ายหวยบนดิน ซึ่งได้สรุปข้อเสนอถึงบอร์ดกองสลากที่ให้เพิ่มจำนวนลอตเตอรี่ ในอัตราส่วน 2-4-8 หรือ 10 ล้านฉบับ โดยจะพิจารณาให้ผู้ที่ขายสลาก หวยบนดินได้รับโควตาที่เพิ่มขึ้นมา เป็นการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวในช่วงที่รายได้ขาดหายไป


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์