ปลัดจรัญชงเลิก แจ็กพอตบนดิน

"มอมเมาหรือไม่"


เมื่อช่วงเช้าวันที่ 5 ต.ค. นายจรัญ ภักดีธนากุล รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงยุติธรรม หลังเรียก พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมผู้บริหารเข้าพบว่า ได้มอบหมายภารกิจให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับไปปฏิบัติ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ อย่างไร ก็ตาม เหตุผลที่เข้ามารับตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อต้องการทำงานให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม

และคิดว่ากระทรวงยุติธรรม น่าจะเป็นผู้เปิดประเด็นความเป็นธรรมในสังคมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณา เช่น กรณีหวยบนดินของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มีการตั้งรางวัลเงินแจ็กพอตของหวยบนดิน ถือว่าเป็นการปลุกระดมมอมเมาประชาชนหรือไม่ เพราะการตั้งรางวัลใหญ่แบบจัดเป็นโปรโมชั่นเหมือนเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ทั้งที่เป็นอบายมุข เรื่องนี้กระทรวงยุติธรรมน่าจะช่วยทำหน้าที่ ปลุกให้ทุกฝ่ายเกิดสำนึก

"ผิดตำตา"


ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรง กระทรวงยุติธรรมจึงน่าจะเข้าไปเป็นผู้ชี้ประเด็นนี้ให้หน่วยราชการที่กำกับดูแลพิจารณา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุง ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้า เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนใหม่เข้ามารับตำแหน่ง จะนำแนวความคิดดังกล่าวไปเสนอ เพื่อขอคำปรึกษาว่าสมควรยกเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรจะจุดประกายออกไปให้สังคมรับรู้

รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า ใครๆ ก็ฝากตนมาในเรื่องนี้ ซึ่งประเทศไทยก็เหมือนบ้าน ถ้าสร้างบรรยากาศว่าทุกคนต้องทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร จึงจะประสบความสำเร็จ ไม่ใช่หวังรวยจากหวย เรื่องนี้ผิดตำตา แต่ยังไม่มีหน่วยราชการใดเข้าไปดำเนินการ ตนต้องขอร้องสื่อว่าไม่ควรลงข่าวคนที่ได้รางวัลแจ็กพอต เพราะเป็นเงินที่ได้มาฟรีๆ สำนักงานสลากไม่ต้องประชาสัมพันธ์ ก็มีสื่อมาตีข่าว ทำให้ประชาชนไม่ต้องทำมาหากิน มัวแต่หมกมุ่น รอคอยแต่วันออกหวย

"ต้องพิจารณาให้รอบคอบ"


ต่อมาผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ดกองสลาก) ถึงแนวคิดของรักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้รับคำตอบว่า ได้รับการยืนยันจากนายจรัญ ภักดีธนากุล ทางโทรศัพท์ว่า ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเรื่องการยกเลิกแจ็กพอตสลากเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว หรือหวยบนดินจริง เนื่องจากเป็นการยกตัวอย่างในระหว่างที่ปลัดกระทรวงยุติธรรม

ได้ตอบคำถามกับสื่อมวลชนถึงการแก้ไขปัญหาสังคม โดยสื่อมวลชนได้หยิบยกประเด็นเรื่องการซื้อหวยบนดินของประชาชนขึ้นมาสอบถาม ว่าเป็นการมอมเมาประชาชนหรือไม่ นายจรัญจึงชี้แจงว่า เป็นเรื่องที่อาจนำมาพิจารณากันได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะมีนโยบายให้มีการยกเลิกตามข่าวที่ออกมา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสำนักงานสลากฯ คงต้องไปพิจารณาในแง่มุมต่างๆ ให้รอบคอบต่อไป

"ถ้ายกเลิกอาจทำให้คนซื้อหวยน้อยลง"


ด้านนายวันชัย สุระกุล รักษาการ ผอ.สำนักงานสลาก กล่าวว่า ได้ส่งข้อมูลเรื่องเงินรางวัลแจ็กพอตหวยบนดินให้ปลัดกระทรวงการคลัง รับทราบแล้ว เบื้องต้นรางวัลแจ็กพอตทั้งลอตเตอรี่และหวยบนดินเป็น การออกตามประกาศของสำนักงานสลาก ซึ่งลงนามโดย พล.ต.ต. สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีต ผอ.สำนักงานสลาก เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2547 และทางคณะกรรมการสลากหรือบอร์ดเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ สำหรับความเห็นส่วนตัวนั้น

มองว่าขณะนี้รับตำแหน่งรักษาการ ผอ.สำนักงานสลาก จึงไม่ สามารถตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ได้ คงต้องเป็นการตัดสินใจของผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า หากมีการยกเลิกเงินรางวัลแจ็กพอตหวยบนดินจริง คงทำให้แรงจูงใจในการซื้อหวยบนดินลดลง เพราะคนซื้อหวยบางคนต้องการหวังลุ้นรางวัลแจ็กพอต เหมือนซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง แต่ก็คงไม่ถึงกับขาดทุน เพราะทราบว่าการซื้อหวยบนดินนั้นมากน้อยอยู่ที่ฤดูกาล

"ความเห็นคนขาย"


ส่วนความเห็นของคนขายหวยบนดิน นายวิเชียร อริยะเศวต ตัวแทนจำหน่ายหวยบนดินย่านสุทธิสาร กล่าวว่า หากยกเลิกรางวัลแจ็กพอต คงทำให้ยอดจำหน่ายหวยบนดินได้รับผลกระทบ เพราะรางวัลแจ็กพอตเป็นแรงจูงใจให้คนเล่นหวยบนดิน ถ้าไม่มี ลูกค้าต้องหายไปกว่าครึ่ง ที่สำคัญลูกค้าอาจจะกลับไปเล่นหวยใต้ดินเหมือนเดิม เพราะหวยใต้ดินมีทั้งส่วนลดและยังจ่ายเงินรางวัลสูงกว่า เท่าที่คุยกับลูกค้า ส่วนใหญ่เล่นหวยบนดิน เพราะหวังแจ็กพอตทั้งนั้น ส่วนตัวมองว่ารางวัลแจ็กพอต ไม่ถือเป็นการมอมเมา เพราะหลักการของการทำหวยบนดิน ต้องการที่จะนำรายได้จากหวยใต้ดินกลับขึ้นมาไว้บนดิน ซึ่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จแล้ว ไม่น่าจะต้องมาคิดว่ามอมเมาหรือไม่ น่าจะคิดว่าคนจะกลับไปเล่นหวยใต้ดินอีกหรือเปล่า

ทั้งนี้ สำนักงานสลากฯ ได้นำเงินรางวัลแจ็กพอตมาใช้กับหวยบนดินเป็นครั้งแรก เมื่องวดวันที่ 16 เม.ย.2547 หรือหลังจากที่เปิดขายหวยบนดินมาได้ 17 งวด หรือ 8 เดือนครึ่ง โดยตั้งเงินรางวัลงวดละ 20 ล้านบาท และกำหนดเงื่อนไขการรับรางวัลตามสัดส่วน สำหรับสลากใบละ 20 บาท ถ้าถูกรางวัลแจ็กพอตจะรับเงินรางวัลร้อยละ 25 ของวงเงินรางวัล สลากใบละ 50 บาท จะได้รับเงินรางวัลร้อยละ 50 ของวงเงินรางวัล และสลากใบละ 100 บาท

"หากยกเลิก หวยใต้ดินอาจกลับมาอีก"


จะได้รับเงินรางวัลเต็มวงเงินรางวัล แต่หากไม่มีใครถูกรางวัลแจ็กพอต จะสะสมเป็นเงินรางวัลแจ็กพอตในงวดต่อไป หากครบ 100 ล้านบาทแล้ว ยังไม่มีผู้ถูกรางวัล สำนักงานสลากฯ จะบังคับให้รางวัลแตก โดยนำหมายเลขสลากของหวยบนดินที่ออกจำหน่ายทั้งหมดมาจับออกรางวัลแจ็กพอตใหม่อีกครั้ง เพื่อบังคับให้รางวัลแตกที่ 100 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีผู้ถูกรางวัลแจ็กพอตแล้วกว่า 30 คน โดยล่าสุดเมื่องวดวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ถูกรางวัลแจ็กพอตใบละ 100 บาท ได้รับเงินเต็มวงเงินรางวัล คือกว่า 70 ล้านบาท ดังนั้นเงินรางวัลแจ็กพอตในงวดวันที่ 16 ต.ค.นี้ เท่ากับเริ่มต้นใหม่คือ 20 ล้านบาท

ส่วนการมีรางวัลแจ็กพอตของสลากเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว หรือหวยบนดิน มีไว้เป็นแรงจูงใจให้กับประชาชนไม่ให้หันไปซื้อหวยใต้ดิน และเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้นโยบายหวยบนดินสามารถดึงเงินจากหวยใต้ดินขึ้นมาได้ เฉลี่ยในช่วง 3 ปีเศษไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เงินของหวยใต้ดินในแต่ละปี นั้นมีจำนวนมหาศาล หากมีการยกเลิกรางวัลแจ็กพอตไปอาจทำให้การแก้ไขปัญหาหวยใต้ดินไม่ประสบความสำเร็จได้ เพราะเชื่อได้ว่าประชาชนจะหันกลับไปซื้อหวยใต้ดินเหมือนเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ สำนักงานสลากฯ ยืนยันว่า การเล่นหวยบนดินไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการมอมเมาประชาชน แต่ต้องยอมรับว่าการเล่นหวยของสังคมไทยถือเป็นเรื่องปกติ หากไม่เร่งแก้ไขปัญหาจะทำให้หวยใต้ดินขยายวงมากขึ้นได้

"ไม่อยากให้หวังลาภลอย"


อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังเกิดคำถามขึ้นมากมายต่อแนวคิดยกเลิกแจ็กพอตหวยบนดินของรักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม ปรากฏว่า นายจรัญ ได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้งในเวลา 17.00 น. วันเดียวกันว่า หวยบนดิน หวยใต้ดิน ไม่เกี่ยวกับตน แต่สิ่งที่ไม่ถูกต้องที่มีการกำหนดรางวัลแจ็กพอตให้เป็นการส่งเสริมปลุกปั่นให้ประชาชนหมกมุ่นอยู่ในอบายมุขมากเกินไป

จุดนี้เป็นสิ่งที่ต้องชวนกันคิดเพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งสื่อกรุณาอย่านำกรณีคนถูกหวย ถูกลอตเตอรี่มาลงเป็นข่าวใหญ่หน้าหนึ่ง เพราะเป็นการสอนให้เยาวชนหวังในลาภลอย หวังในสิ่งที่ได้มาฟรีๆ โดยไม่ต้องลงทุน ลงแรงด้วยหยาดเหยื่อแรงงาน ส่วนขั้นตอนการดำเนินการต่อไปคิดว่าท่านผู้รับผิดชอบต้องพิจารณาดู กระทรวงยุติธรรม อยากชี้ประเด็นให้เห็นว่า ยังมีสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรมในสังคมอีกมาก ที่ทำกันโดยไม่มีการพิจารณาให้รัดกุมรอบคอบ

นายจรัญกล่าวอีกว่า กรณีนี้ไม่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของกระทรวงยุติธรรม แต่เป็นตัวอย่างแนวทางของการให้กระทรวงยุติธรรมมีส่วนร่วมในการนำเสนอปัญหาความไม่ถูกต้องเป็นธรรมในสังคม ให้เป็นประเด็นในบ้านเมืองได้คิดทบทวนกัน

"หลักในการปกครองประเทศ"


ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าการออกรางวัลแจ็กพอตไม่ถูกต้องในแง่ของกฎหมายหรือแง่ของจริยธรรม นายจรัญกล่าวว่า ไม่ใช่จริยธรรมและกฎหมาย แต่เป็นหลักการในการปกครองประเทศ ในการดูแลประชาชนของเรา หากคิดว่าประชาชนคือพี่น้องลูกหลานในบ้านเรา เราไม่ควร มอมเมาให้พวกเขาหลงใหลอยู่ในอบายมุขจนเกินควร ตนไม่ได้เคร่งครัดถึงขนาดไม่ให้เล่นการพนัน แต่ไม่ควรส่งเสริมปลุกปั่นให้เห็นว่าการพนันเป็นสิ่งดีงาม ที่จะนำมาถึงความโชคดีมีสุข

เมื่อถามอีกว่า แนวคิดครั้งนี้จะเสนอให้ยกเลิกหวยบนดินด้วยหรือไม่ นายจรัญกล่าวว่า ตนไม่ได้พูดการยกเลิกหวยบนดิน เพราะว่าประโยชน์ที่เกิดแก่สาธารณะและโทษที่เกิดขึ้นยังก้ำกึ่งกัน จะต้องวิเคราะห์กันให้ ละเอียดรอบคอบ แต่สิ่งที่ผิดแน่ๆ คือการโปรโมตให้มีรางวัลแจ็กพอต ให้เกิดเศรษฐีรายใหญ่ร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น โดยไม่ต้องทำงาน สิ่งเหล่านี้เป็นการส่งสัญญาณผิดให้กับเยาวชนในบ้านเรา อยากชวนประชาชนตั้งวงคุยกันเรื่องความยุติธรรมในสังคม ความถูกต้องเป็นธรรมในสังคม ประเด็นแบบนี้ยังไม่มีหน่วยงานเป็นเจ้าภาพ ตนอยากให้กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพที่ทำประเด็นเหล่านี้เสนอต่อสังคม


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์