ประเวศชี้ไทยเข้าสู่มิคสัญญีกลียุคแนะใช้ปัญญาแก้เลี่ยงอำนาจ บวรศักดิ์ชี้ขัดแย้งไม่มีท่าทีจะยุติ


"บวรศักดิ์"แนะทางรอดประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะความขัดแย้งมายาวนานไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงต้องไม่ใช้ความรุนแรง นพ.ประเวศ ชี้ ประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเจอคลื่นลูกที่สี่ไม่รู้ว่าศัตรูคือใครจะสู้อะไรไม่มีใครจะแก้ได้สมัยก่อนยังมีพระเจ้าอยู่หัวลงมาช่วย ระบุต้องใช้ปัญญาแก้ไม่ใช่อำนาจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 11 กันยายน ที่ห้องทิวลิป โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม.สถาบันพระปกเกล้า สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย สสส.และ ทีดีอาร์ไอ. จัดการประชุมวิชาการเพื่อทำข้อเสนอต่อรัฐบาลและสังคม เรื่อง "ทางรอดประเทศไทย" ครั้งที่ 1 โดยมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ร่วมอภิปราย


นายบวรศักดิ์ กล่าวว่าการจัดประชุมทางวิชาการครั้งนี้เพื่อทำข้อเสนอต่อรัฐบาล รัฐสภาและสังคม เรื่องทางรอดของประเทศไทยครั้งที่ 1 โดยที่มีความขัดแย้งในประเทศไทย กำลังตกอยู่ในภาวะความขัดแย้งมายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ถึงปัจจุบัน ความขัดแย้งดังกล่าวไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง สถาบันพระปกเกล้าเป็นสถาบันทางวิชาการ ที่มุ่งพัฒนาประชาธิปไตย ให้เกิดสันติสุข ได้ร่วมกับองค์กรเครือข่าย ที่เกิดจากการรวมตัวขององค์กรต่างๆโดยมีสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยเป็นแกน เรียกว่าเครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย เครือข่ายนี้ไม่ได้ต้องการส่งสัญญาณ คิดแบบเดียวกัน คิดต่างกันไม่ได้ มีความสามัคคีคงเป็นไปไม่ได้ ต้องการบอกกับสังคมว่าในความแตกต่างทางความคิด ในระบบประชาธิปไตย การต่อสู้ทางการเมือง การต่อสู้ทางความคิดเป็นสิ่งปกติ ของสังคมประชาธิปไตย แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะใช้ความรุนแรงทางกาย  ที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่เสรีภาพ ชีวิตและร่างกายของคนที่เกี่ยวข้อง


"เครือข่ายเร่งเห็นว่านอกจากจะไม่ให้สังคมต้องตกอยู่ภายใต้ความหวาดเกรง ต่อความรุนแรง เราจำเป็นต้องหาทางออกให้ประเทศ จึงได้มีการพูดคุยกับระหว่างเครือข่าย ว่าเราจะต้องจัดกิจกรรมไม่เพียงแต่รณรงค์ไม่ใช้ความรุนแรง ต้องมาพูดคุยกัน สำหรับกิจกรรมไม่ให้ใช้ความรุนแรงจัดไปหลายครั้งแล้วไม่ว่าจะเป็นการเดินรณรงค์ จัดประกวดวาดภาพเรื่องสังคมที่มีความหลากหลาย ผมคิดว่าจำเป็นเหลือเกินที่จะมานั่งคิดถึงทางรอดของประเทศไทย"   นายบวรศักดิ์ กล่าว


เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า  กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหามากมายเช่นปัญหาเรื่องความชอบธรรม เรื่องอุดมการณ์ เรื่องบทบาท เรื่องความชอบธรรมถูกท้าทายมาตั้งแต่ รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายรัฐมนตรี เป็นคำถามถึงความชอบธรรมขององค์กรต่างๆ ขององค์กรตรวจสอบเช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ความชอบธรรมของศาลในการเข้าไปเกี่ยวพันกับการเมือง ปัญหากลุ่มนี้ที่ผมเรียกว่าปัญหาความชอบธรรม ซึ่งถกเถียงกันอยู่ และปัญหาที่สำคัญที่สุดคือปัญหาที่เกี่ยวกับความเป็นธรรมในหลายระดับในกติกา รวมถึงความเป็นธรรมในการบริหารบ้านเมืองและการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา


"สำหรับวัตถุประสงค์ในตอนท้ายอาจจะทำเป็นข้อสรุปข้อเสนอให้สื่อมวลชนให้รัฐบาลให้สภารับไปพิจารณาว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่เวลานี้ รัฐบาลเองต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจนั้น มันจำเป็นแต่มันไม่เพียงพอ มันอาจจะต้องทำสิ่งที่มากกว่าในเวลานี้บ้าง "เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าว


นพ.ประเวศ กล่าวว่า ปัญหาที่ประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ตั้งแต่อย่างน้อยก็ร้อยปี รัชกาลที่ 5 หลังจากนั้นมีความขัดแย้งเกิดการขบถ  ตนได้พูดเรื่องวิกฤตการณ์คลื่นลูกที่สี่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาสิบกว่าปี แต่คลื่นลูกที่สี่ยากกว่าทั้งหมดเพราะความซับซ้อน และไม่รู้ว่าศัตรูคือใคร ถ้ารู้ศัตรูคือใครจะกำหนดยุทธศาสตร์ต่อสู้ได้ แต่ถ้าไม่รู้ก็จะสู้อะไร มันทำให้เกิดความขัดแย้ง เกิดความรุนแรง มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน หลายคนก็พูดว่ามันวิกฤตสุดๆแล้ว ไม่มีองค์กรใดที่จะแก้ได้ และไม่มีคำตอบ นักการเมือง กองทัพก็ไม่มี เมื่อก่อนมีความขัดแย้งก็มีพระเจ้าอยู่หัวลงมาช่วย ขณะนี้ท่านก็มองว่าจะช่วยได้อย่างไร 



"ที่ต้องมาพูดกันถึงทางรอดของประเทศ ก็เพราะมีความรู้สึกกันทั่วๆไปว่า ประเทศไทย วิกฤตสุดๆ ทุกทางและสุดทางไป สุดทางไปหมายถึง สุดปัญญาที่จะแก้ไข เมื่อสุดทางไปแล้วก็จะเกิดความรุนแรง ขนานใหญ่ จนอาจเป็นมิคสัญญีกลียุค จนผู้คนล้มตายจำนวนมากถึงขนาด แล้วจึงเกิดปัญญาร่วม ตกลงกันได้ว่าเราจะไปสู่จุดลงตัวใหม่ได้อย่างไร " นพ.ประเวศ กล่าว


นพ.ประเวศ กล่าวว่า แม้อาการมันจะออกมาว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตสังคม วิกฤตสิ่งแวดล้อม วิกฤตการเมือง แต่ลึกๆ แล้วเป็นวิกฤตแห่งความซับซ้อน ที่สังคมไทยไม่มีปัญญาพอที่จะเข้าใจและเผชิญกับมันได้ ปัญหาที่ยากและซับซ้อนใช้อำนาจแก้ไม่ได้ ต้องใช้ปัญญาเมื่อยังพยายาม แก้ด้วยอำนาจ นอกจากแก้ไม่ได้แล้ว อำนาจมันยังปะทะกันเกิดความรุนแรง


"หลุมดำทางปัญญา ที่ปัญญาไม่พอก็เพราะสังคมไทยตกหลุมดำทางปัญญา หลุมดำหมายถึง แรงดึงดูดมหาศาลที่กลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปในตัวมันหมด หลุมดำทางปัญญาของสังคมไทยล้อมรอบด้วยกำแพง ที่แน่นหนา 4 ด้าน กำแพง 4 ด้านนี้แน่นหนาแข็งแรงที่กักขังสติปัญญาของสังคมไว้อย่างหนาแน่น กำแพง 4 ด้านนั้นประกอบด้วย สังคมแนวดิ่ง ระบบอำนาจรัฐรวมศูนย์ ระบบเศรษฐกิจบริโภคนิยม ระบบการศึกษาที่ไม่มีพลังทางปัญญา " นพ.ประเวศ กล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์