ประเมินงานด่วน 1 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ประเมินงานด่วน 1 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ประเมิน"งานด่วน" 1 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์

รัฐบาลเตรียมรายงานผลการดำเนินการรอบ 1 ปี ต่อรัฐสภา

นโยบายที่ถูกจับตาคือนโยบายเร่งด่วน 16 ข้อ ที่รัฐบาลประกาศจะทำในปีแรก อาทิ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ฟื้นฟูประชาธิปไตย เร่งรัดผลักดันการปฏิรูปการเมือง

การแก้ปัญหายาเสพติด การป้องกันปราบปรามการ ทุจริตคอร์รัปชั่น การแก้ปัญหาไฟใต้

เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เพิ่มสวัสดิการต่างๆ

นโยบายเหล่านี้ รอบปีที่ผ่านมาการดำเนินการของรัฐบาลคืบหน้า หรือสำเร็จลุล่วงตามที่ประกาศแค่ไหน

มีความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในแต่ละด้าน


′′ธนวรรธน์ พลวิชัย
ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย

นโยบายแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นนโยบายที่ถูกจังหวะและเวลา เพราะที่ผ่านมาประชาชนประสบปัญหาน้ำท่วม

การตรึงราคาพลังงานไว้ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง รวมทั้งการออกประกาศราคาแนะนำสินค้าก็ช่วยลดผลกระทบที่จะตามมาหากเกิดภาวะเงินเฟ้อ

แต่สิ่งที่ห่วงคือไตรมาส 3 รัฐบาลควรเริ่มหาทางออก ค่อยๆ ทยอยให้ราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สร้างความเข้าใจให้ประชาชนให้มากขึ้นด้วย

การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รัฐบาลทำได้ครบตามที่ได้หาเสียงไว้ ทั้งการพักหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้

โดยเฉพาะการเพิ่มค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท จบปริญญา 15,000 บาทต่อเดือน ถือว่าโดนใจแรงงานและผู้มีรายได้น้อยอย่างมาก ทำให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่ายทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดีขึ้น แต่รัฐบาลอย่าลืมเข้าไปดูแลภาคเอกชนที่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

มาตรการภาษีเพื่อลดภาระการลงทุนสำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิตของประชาชน เช่น บ้านหลังแรก รถคันแรก รัฐบาลมีเจตนาดีต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจในธุรกิจที่เกี่ยวข้องดีตามไปด้วย

แต่กรณีรถคันแรกคือการที่รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายด้านการจราจรมารองรับ และขัดแย้งกับความต้องการให้ประชาชนหันมาใช้การขนส่งสาธารณะมากขึ้น ภาครัฐยังต้องทำให้สอดคล้องกันมากขึ้น

การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุนแหล่งสินเชื่อรายย่อย หลักการไม่ผิด แต่ต้องติดตามและประเมินผลว่าเป็นตามวัตถุประสงค์หรือไม่

ทั้งการเพิ่มกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 1 ล้านบาท การตั้งกองทุนพัฒนาศักยภาพสตรีเฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท และตั้งกองทุนตั้งตัวได้วงเงิน 1 พันล้านบาทต่อสถาบันการศึกษา ภาพรวมมองว่านโยบายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีในหลักการ

การยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยการรับจำนำสินค้าสินเกษตร รวมทั้งการออกบัตรเครดิตเกษตรกรมาใช้ การรับจำนำเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก เหมือนไก่กับไข่ ต้องมองว่าทำไมสินค้าเกษตรต้องมีการรับจำนำเพื่อยกระดับราคาใช่หรือไม่

ผลการสำรวจแน่นอนว่าชาวนาพอใจ แต่คนที่ไม่พอใจคือผู้ส่งออกที่ขายข้าวได้น้อยลง ส่งออกข้าวได้น้อยแต่มูลค่ามากขึ้นได้จริงหรือมองว่าการรับจำนำควรทำเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

การกำหนดราคาแพงๆ เกษตรกรชอบแน่นอน แต่อย่าลืมว่าต้นตอปัญหายังไม่ได้ถูกแก้ เพราะต้นทุนการผลิตยังสูงเหมือนเดิมและปัญหาตามมาก็คือการระบายข้าว

หากมองภาพรวมก็ต้องบอกว่าประชาชนและชาวนาพอใจ แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาก็ต้องแก้ไขต่อไป

ส่วนการส่งเสริมให้มีการจัดการน้ำอย่างบูรณาการด้วยการสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม ยังไม่เห็นการขุดลอกแม่น้ำ หรือแผนจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 แห่ง ไม่ได้บอกว่าไม่ทำแต่ยังมองไม่เห็นว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้

รวมทั้งการเร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2554-55 เป็นปีมหัศจรรย์ไทยแลนด์ ไม่แน่ใจว่าไทยมีจุดขายแหล่งท่องเที่ยวเดิมๆ ที่ขาดการดูแลรักษา หรือต้องการจะสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เหมือนต่างประเทศ แต่ ณ เวลานี้ผมยังไม่เห็นอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้

′′พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ
ผอ.สำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า

รัฐบาลไม่ได้ทำเรื่องสร้างความปรองดองโดยตรง แต่มุ่งเน้นการแก้กฎหมายในการสร้างปรองดอง ซึ่งมันทำไม่ได้ เพราะเรื่องปรองดองเป็นเรื่องจิตใจ ไม่ใช่ตัวหนังสือ เป็นการเปิดพื้นที่พูดคุย

รูปแบบที่ทำมา นอกจากไม่สำเร็จแล้วยังสร้างปัญหาใหม่ เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ ข้อเสนอที่จะแก้มาตรการต่างๆ การยุบองค์กร ยกเลิกส.ว.สรรหา ล้วนสร้างความขัดแย้ง

การปฏิรูปการเมืองทำได้ต้องปรับโครงสร้าง แต่ยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนเรื่องปรับโครงสร้างเรื่องอะไร ที่เห็นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปรับโครงสร้างหน่วยงานตรวจสอบ แต่ก็เพิ่งเริ่ม และไม่ได้ทำทั้งกระบวนการ เสนอเป็นจุดๆ การขับเคลื่อนไม่เป็นองค์รวม

ส่วนการแก้ปัญหาไฟใต้ ผมไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะตั้งชุดทำงานพิเศษขึ้นมาอีก การแก้ปัญหาอย่าตั้งหน่วยงานใหม่ ควรใช้หน่วยงานปกติที่มีแต่สนับสนุนให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ กำกับนโยบายให้เป็นรูปธรรม รวมถึงใช้หน่วยงานในพื้นที่ติดตามประเมินผลโครงการ/แผนงาน

ในส่วนของการเยียวยาทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงทางการเมือง และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไฟใต้ ผมเห็นด้วย หากไม่เยียวยาหากเกิดความขัดแย้งรอบใหม่จะยิ่งรุนแรงขึ้น

แต่ที่ปฏิบัติอยู่ตอนนี้ไม่ได้นำไปสู่การเยียวยาที่ทุกฝ่ายยอมรับ มีการโต้แย้งทำไมต้องง่ายมากขนาดนั้น เพราะรัฐบาลไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าใช้มาตรฐานอะไร

กระทรวงยุติธรรมยังไม่รู้เลยว่ามาตรฐานมาจากไหน หลักการจ่ายค่าเยียวยาต้องอธิบายให้ชัดเจน ความจริงควรประกาศให้เป็นที่รับรู้

ส่วนการสนับสนุนการทำงานของคอป. ที่เป็นนโยบายด่วนข้อหนึ่งของรัฐบาล

คปอ.เพิ่งหมดวาระลงในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลประสานมาว่าอยากให้ทำต่อ แต่คอป.ต้องการเสนอเพียงเป็นยุทธศาสตร์ให้องค์กรต่างๆ ไปทำต่อเนื่อง

คปอ.ได้รวมเล่มเตรียมนำเสนอต่อสาธารณะ เป็นการเปิดเผยความจริงและยุทธศาสตร์

′′สมพงษ์ จิตระดับ
คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

นโยบายด้านสังคม 1 ปีที่ผ่านมา ดีเฉพาะเรื่องแต่การขับเคลื่อนหรือการแก้ไขปัญหาด้านครอบครัว เด็กและเยาวชนยังไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม

ที่ทำได้ดีคือการแก้ปัญหายาเสพติด ถือว่าโดนใจประชาชน

ในจำนวนกระทรวงด้านสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้คะแนนน้อยสุด ที่เห็นคือการแจกเงินชดเชยน้ำท่วม เงินเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรง แต่งานด้านอื่นสอบไม่ผ่าน เทียบกระทรวงด้านสังคมอื่นๆ พม.รั้งท้าย

ส่วนกระทรวงศึกษาธิการเห็นชัดเจนคือการแจกแท็บเล็ต และนโยบายเฉพาะกิจเป็นเรื่องๆ การแจกแท็บเล็ตเป็นการปฏิรูปการศึกษาในแง่สัญลักษณ์ แต่ยังขาดการขับเคลื่อน ความพิถีพิถันและความรอบคอบ

จะทำให้ดี หวังผลให้เกิดการปฏิรูปจริงๆ ต้องมีการประชุมเชิงปฏิบัติการและทำเป็นแผนงานประเทศ

ภาพรวมด้านสังคมผมให้ 5.5 จากคะแนนเต็ม 10 เนื่องจากเด่นเฉพาะเรื่อง มีข่าวและเด็กและเยาวชนกระทำผิดปรากฏตามสื่อเท่ากับข่าวการเมือง

บ่งชี้สังคมเต็มไปด้วยเรื่องยาเสพติด ความรุนแรงและเรื่องเพศ

ส่วนการดูแลผู้สูงอายุ ชัดเจนระดับหนึ่งเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ ในแง่นโยบายมีผลกับคุณภาพผู้สูงอายุดีขึ้นแต่ไม่ถึงกับเด่น

ส่วนนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค เห็นด้วยควรต่อ ยอดรักษาจุดแข็ง จุดดี แต่ด้านคุณภาพยา การบริการต้องปรับปรุง

การเตรียมการเพื่อส่งออก เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ป้องกันภัยพิบัติ รัฐบาลเตรียมการชัดเจน แต่นโยบายด้านสังคมยังเป็นนโยบายเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนโดยขาดเป้าหมายรวม อยากให้นายกฯ ใส่ใจเรื่องคุณภาพสังคม

′′อิสมาแอ อาลี
อดีตสนช. กรรมการกลางอิสลามฯ

การแก้ปัญหาไฟใต้เห็นชัดการทำงานของศอ.บต. ตั้งใจ โดยเฉพาะเลขาธิการ ศอ.บต. ยึดหลักใช้สันติวิธีเข้าถึงประชาชน แต่ภาพรวมยังไม่มีอะไรที่จะบ่งบอกว่ามีความหวัง

อย่างไรก็ตามคนนอก ผู้สังเกตการณ์อาจเห็นว่าการทำงานไม่คืบแต่คนวงในที่ทำงานอาจมีข้อมูล มีการต่อสาย ที่เราอาจไม่รู้

ดูจากสถานการณ์ขณะนี้มีการจำกัดพื้นที่และเพิ่มระดับความรุนแรง แต่ช่วงเวลา 1 ปี ไม่สามารถประเมินได้ เพราะสถานการณ์รุนแรงเกิดม า 8 ปี เป็นเรื่องใหญ่และซับซ้อน ต้องให้โอกาสคนทำงานอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะพูดได้ว่านโยบายของรัฐบาลถูกทางหรือไม่

ส่วนการเยียวยา สร้างความรู้สึกที่ดีของประชาชนและเห็นความตั้งใจของราชการ เมื่อมีความผิดพลาดก็พร้อมเยียวยาให้คนที่ไม่ได้กระทำผิด ส่วนนี้จะได้ใจประชาชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาต่อไป


 


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์